มดไดโนเสาร์ คืออะไร?
มดไดโนเสาร์ (Dinosaur ant) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า โนโตไมร์มีเซีย มาคอพ (Nothomyrmecia macrops) เหตุที่ได้ชื่อนี้มา เพราะเป็น “ฟอสซิลที่มีชีวิต” และอาจเป็นตัวอย่างที่มีชีวิต ที่ใกล้เคียงมดยุคแรกมากที่สุด โดยมดไดโนเสาร์แยกออกมาจากบรรพบุรุษตัวต่อเมื่อประมาณ 100 ล้านปีก่อน
มดไดโนเสาร์ถือว่าเป็นมดที่คล้ายตัวต่อมากที่สุดในสายพันธุ์มดทั้งหมดที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน จัดเป็นมดที่หายากมาก เป็นมดเฉพาะถิ่นที่พบในออสเตรเลีย พบในป่าดิบที่เก่าแก่และป่ายูคาลิปตัส ปัจุบันอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤติ
มดไดโนเสาร์เป็นมดขนาดกลาง มีขนาด 9.5 – 11 มิลิเมตร เป็นมดที่สร้างอาณานิคมเหมือนกันมดอื่นๆ เพียงแต่ขนาดประชากรจะน้อยมาก ซึ่งจากการสำรวจล่าสุดพบ 30 – 100 ตัวเท่านั้น มดไดโนเสาร์จะออกหากินตั้งแต่หัวค่ำจนถึงรุ่งเช้า และแม้พวกมันจะไม่ออกจากรังหากอุณหภูมิสูงกว่า 5°C แต่! มดงานก็จะออกไปหากินตามลำพัง ในป่ายูคาลิปตัสใกล้ๆ โดยเหยื่อส่วนใหญ่จะเป็นแมลง
อย่างที่บอกมดไดโนเสาร์ถือเป็นมดโบราณ มันมีลักษณะคล้ายตัวต่อ มีหนวดและขาสีเหลือง มีตาขนาดใหญ่ ขากรรไกรล่างสั้นกว่าศีรษะ ขนตามลำตัวสีเหลือง เป็นมดที่มีเหล็กในยาวและจะหดไปอยู่ที่ด้านหลังของช่องท้องได้ โดยเหล็กในสามารถสร้างความเจ็บปวดต่อมนุษย์ได้
ในอาณานิคมที่ตั้งใหม่ของมดไดโนเสาร์อาจมีราชินีมากกว่าหนึ่งตัว ซึ่งราชนีจะลักษณะคล้ายมดงาน แถมยังออกหาอาหารเองเช่นเดียวกับมดงานด้วย แต่เมื่ออาณานิคมโตได้ที่ราชินีจะไม่ออกจากรังและจะเหลือราชินีตัวเดียวด้วย โดยหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้อาณานิคมมดไดโนเสาร์มีขนาดเล็ก อาจเป็นเพราะว่าราชินีจะผลิตมดเพียงรุ่นเดียวในแต่ละปี
แต่ถึงจะวางไข่ครั้งเดียวในหนึ่งปี หากราชินีมดตายไป รังก็ไม่ได้ล่มไปด้วย เนื่องจากจะมีราชินีมดตัวใหม่ขึ้นมาแทนที่ได้ทันที ด้วยวิธีนี้จะช่วยยืดอายุของอาณานิคมมดได้อย่างไม่มีกำหนด
การค้นพบ
ตามบันทึกมดไดโนเสาร์ถูกพบครั้งแรกในปี พ.ศ. 2474 (1931) ใกล้กับภูเขาแร็กเก็ต (Mount Ragged) ในออสเตรเลีย จากนั้นก็ไม่เคยพบอีกเลย แม้จะมีการสำรวจอยู่หลายครั้งแล้วก็ตาม จนในปี พ.ศ. 2520 (1977) …National Insect Collection ได้ออกสำรวจตั้งแต่แคนเบอร์รา (Canberra)โดยหวังที่จะพบอาณานิคมมดไดโนเสาร์อีกครั้ง
วันหนึ่งทีมงานได้แวะพักค้างคืนที่เมืองพูเชรา (Poochera) ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ในเซาท์ออสเตรเลีย (South Australia) และโดยไม่ได้ตั้งใจ พวกเขาบังเอิญได้พบเข้ากับมดไดโนเสาร์จำนวนหนึ่ง มันเป็นการพบสิ่งที่ตามหามานาน แถมอยู่นอกพื้นที่เป้าหมายที่ห่างไกลกันเกือบ 1,300 กิโลเมตร …หลังจากนั้นอีกหลายปีก็มีการพบอีกแต่ก็น้อยมาก
สำหรับมดไดโนเสาร์ถูกอธิบายเป็นครั้งแรกโดยนักกีฏวิทยาชาวออสเตรเลีย จอห์น เอส. คลาร์ก (John S. Clark) ในปี พ.ศ. 2477 (1934) ซึ่งเป็นการอธิบายลักษณะจากตัวอย่างมดสองตัว ซึ่งคาดว่าเป็นมดที่รวบรวมมาจากอาณานิคมแรกที่พบในปี พ.ศ. 2474 (1931) และเพราะความหายาก ประกอบกับลักษณะเฉพาะตัวที่พิเศษ เลยทำให้นักกีฏวิทยาขนาดนามมดชนิดนี้ว่าเป็น “จอกศักดิ์สิทธิ์” ของการศึกษาเกี่ยวกับมด (Myrmecology)