ปลาดุกเป็นปลาที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืด น้ำที่ค่อนข้างกร่อย หรือแม้แต่ในหนองน้ำที่มีน้ำเพียงเล็กน้อย เพราะว่าปลาดุกเป็นปลาที่มีอวัยวะพิเศษช่วยในการหายใจเช่นเดียวกับปลาช่อน จึงสามารถดำรงชีวิตอยู่ในน้ำที่มีออกซิเจนเพียงเล็กน้อย ได้เป็นอย่างดี อีกทั้งเป็นปลาน้ำจืดที่คนไทยนิยมรับประทาน
สำหรับประเทศไทยพบปลาดุกในคลอง หนอง บึง ต่างๆ ทั่วทุกภาค เป็นปลาที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำจืดทั่วไป ปลาดุกที่พบในประเทศไทยมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด 5 ชนิด แต่ที่เป็นที่รู้จักกันดีมีเพียง 2 ชนิด คือปลาดุกอุย และปลาดุกด้าน
การกำเนิดดุกบิ๊กอุย
ในปี พ.ศ. 2530 ได้มีการนำพันธุ์ปลาดุกจากประเทศลาวมาเลี้ยงในไทย โดยกรมประมงได้ให้ชื่อว่าปลาดุกเทศ (ปลาดุกยักษ์ หรือ ปลาดุกรัสเซีย) มีถิ่นกำเนิดในทวีปแอฟริกา เป็นปลาที่โตเร็วมาก กินอาหารได้แทบทุกชนิด ทนทานต่อโรคและสภาพแวดล้อมสูงเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่
แต่ปลาดุกชนิดนี้มีเนื้อเหลว สีซีดขาว ไม่น่ากิน ต่อมานักวิชาการไทยประสบความสำเร็จในการผสมเทียมข้ามพันธุ์ระหว่างปลาดุกอุยเพศเมีย และปลาดุกยักษ์เพศผู้ จนได้ปลาลูกผสมที่เรียกกันติดปากว่า “บิ๊กอุย” ..และนี่คือการกำเนิดของบิ๊กอุยอย่างย่อๆ
ปลาดุกอุย
ปลาดุกอุย หรือ ปลาดุกนา (Broadhead catfish) ปัจจุบันเป็นปลาที่หายากในธรรมชาติ เพราะมันถูกแทนที่ด้วยปลาดุกอื่น โดยปลาดุกอุยเป็นปลาที่มี มีรสชาติดี เนื้อนุ่มและมันมาก ในภาษาใต้ เรียกปลาดุกอุยว่า “ดุกเนื้ออ่อน”
ลักษณะสีของลำตัวค่อนข้างเหลือง มีจุดประตามด้านข้างของลำตัว 9-10 แถบ เมื่อโตขึ้นจะเลือนหายไป ผนังท้องมีสีขาวถึงเหลือง หัวค่อนข้างทู่ ที่สังเกตได้ชัด คือ ส่วนกะโหลกท้ายทอยป้านและโค้งมนมาก
ข้อดี
- ราคาสูงกว่าสายพันธุ์อื่น
- รสชาติอร่อย เนื้อนุ่มและมันมาก
ข้อเสีย
- ทนทานต่อโรคต่ำกว่าสายพันธุ์อื่น
- เหมาะจะเลี้ยงแค่บ่อดิน ไม่เหมาะกับบ่อปูนหรือบ่อพลาสติก
- ลูกพันธ์หายาก มีฟาร์มเพาะพันธุ์น้อย
“ยังมีปลาดุกอีกชนิดที่มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นปลาดุกอุย นั้นคือ “ปลาดุกด้าน” มันถือเป็นปลาน้ำจืดเศรษฐกิจที่สำคัญอีกชนิดหนึ่ง ถูกนำมาปรุงเป็นอาหารต่างๆ เช่น ปลาดุกย่าง, ปลาดุกฟู แต่ในบทนี้ผมจะไม่ขอพูดถึงมากนัก”
ปลาดุกบิ๊กอุย
ปลาดุกบิ๊กอุยถือเป็นปลาดุกกลายพันธุ์ เป็นลูกผสมเกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างพ่อพันธุ์ปลาดุกรัสเซียกับแม่พันธุ์ปลาดุกอุย มีลักษณะภายนอกคล้ายปลาดุกอุย
จุดสังเกต คือ กะโหลกท้ายทอยจะแหลมเป็นหยักเช่นเดียวกับปลาดุกรัสเซีย เป็นปลาที่เลี้ยงง่าย ทนทานต่อโรคเช่นเดียวกับปลาดุกรัสเซีย แต่มีเนื้อคล้ายปลาดุกอุย คือ เนื้อออกสีเหลือง นุ่ม รสชาติอร่อย เป็นปลาที่รู้จักกันโดยทั่วไป เช่น ทำปลาดุกย่าง
ข้อดี
- เลี้ยงง่าย
- ทนทานต่อโรค
- มีตลาดรองรับเยอะ หาคนรับซื้อง่าย
ข้อเสีย
- โตช้ากว่าดุกรัสเซีย (แต่ก็เร็วกว่าดุกอุยอยู่ดี)
ปลาดุกรัสเซีย
เป็นที่น่าสงสัยที่ว่า ปลาดุกบ้านเกิดไม่ได้มาจากรัสเซียที่เป็นเมืองหนาว แต่มันเป็นปลาพื้นเมืองของทวีปแอฟริกาต่างหาก แต่มันกลับถูกเรียกปลาดุกรัสเซียอย่างติดปาก
ปลาดุกรัสเซียเป็นสายพันธุ์ที่มีขนาดใหญ่เมื่อเจริญเติบโตเต็มที่ อาจจะใหญ่ถึง 9-10 กิโลกรัม จึงถูกเรียกว่า ปลาดุกยักษ์ ลักษณะลำตัวเรียวยาว หัวใหญ่และแบน กะโหลกเป็นตุ่ม ๆ ไม่เรียบ กระดูกท้ายทอยมีลักษณะเป็นหยัก 3 หยัก ตัวมีสีเทา ไม่มีจุดประตามลำตัว เมื่อโตขึ้นจะปรากฏลายคล้ายหินอ่อน มีอัตราการเจริญเติบโตเร็วมาก ต้านทานโรคและสภาพแวดล้อมสูง
ข้อดี
- เลี้ยงง่าย โตเร็วมาก กินอาหารได้ทุกชนิด
- ทนทานต่อโรค
- เลี้ยงในท่อซีเมนต์ก็ได้
ข้อเสีย
- ถ้าเลี้ยงในบ่อดินมักกัดเซาะขอบบ่อ ทำให้บ่อเสียหายได้
- มีตลาดรองรับน้อยกว่าบิ๊กอุย ส่วนใหญ่นำไปขายเนื้อทดแทนปลาดุกบิ๊กอุยเพราะถูกกว่า
- หากนำไปทำปลาดุกร้า เนื้อจะไม่พองเหมือนปลาดุกบิ๊กอุย
- ตลาดปลาสดไม่นิยมเพราะลำตัวมีสีเทาดำ
- กินจุ ถ้าผอมจะหัวโต
- ราคาขายถูกกว่าปลาดุกบิ๊กอุย
เอาล่ะก็ขอจบเรื่องปลาดุกแต่เพียงเท่านี่ ก็ไม่รู้ว่าจะมีประโยชน์กับน้าๆ บ้างหรือเปล่า แต่อย่างน้อยก็ทำให้ผมดูปลาดุกเป็นแล้ว วันดีคืนดี เกิดตกได้จะได้รู้ว่าตัวไหนอร่อย ตัวไหนไม่อร่อย ..ส่วนปลาดุกอุยธรรมชาติผมว่าสมัยนี่คงหายากซะหน่อย ส่วนที่ชอบปล่อยทำบุญกันเยอะๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นปลาดุกรัสเซียที่เป็นตัวทำลายล้าง ก็ไม่รู้ว่าจะได้บุญหรือบาปกันแน่เหมือนกัน