นักวิจัยกลุ่มงานวิจัยกีฏวิทยาและจุลชีววิทยาป่าไม้ โดยนางสาวเนตรนภา โพธิ์ศรีทอง นักกีฏวิทยาปฏิบัติการ และดร.แก้วภวิกา รัตนจันทร์ นักกีฏวิทยาชำนาญการพิเศษ ร่วมกับ ดร.วียะวัฒย์ ใจตรง องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ รายงานการพบมด Diacamma assamense Forel, 1897 ครั้งแรกในประเทศไทย
มด Diacamma assamense มีขนาดลำตัวยาว 10-11 มม. สีดำ หัว อก เอว และท้องปล้องแรกมีสันร่อง คล้ายลายนิ้วมือ ส่วนเอวยาวเป็นแท่ง ด้านบนของเอวมีหนามแหลม 1 คู่ โดยมีบทบาทในระบบนิเวศ คือ เป็นตัวห้ำ** กินสัตว์อื่นเป็นอาหาร
การค้นพบดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Thai Specimen 2 : 17-21 (2022) ซึ่งเผยแพร่ผลงานออนไลน์ไปเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา
“สำหรับมดสกุล Diacamma เป็นมดที่ไม่มีราชินี อยู่ในวงศ์ย่อย Ponerinae มีการกระจายจากอินเดียไปยังออสเตรเลียและมีประมาณ 24 สายพันธุ์”
**ตัวห้ำคือ
แมลงตัวห้ำ เป็นแมลงที่ปกติแล้ว หากินเหยื่อที่เป็นแมลงด้วยกันเป็นอาหาร บางชนิดเป็นแมลงตัวห้ำทั้งในระยะที่เป็นตัวอ่อนและตัวเต็มวัย บางชนิดเป็นตัวห้ำเฉพาะระยะตัวอ่อน บางชนิดก็เป็นตัวห้ำตอนเป็นตัวเต็มวัย จะออกหากินเหยื่อโดยการกัดกินตัวเหยื่อ หรือ การดูดกินของเหลวในตัวเหยื่อ มนุษย์ใช้ ประโยชน์จากแมลงตัวห้ำ โดยนำมาใช้กำจัดแมลงศัตรูทางการเกษตร