ปลาเดวิลส์โฮลคืออะไร?
ปลาเดวิลส์โฮล (Devils Hole pupfish) ชื่อวิทยาศาสตร์ Cyprinodon diabolis เป็นสายพันธุ์ปลาที่ถูกระบุว่า “ใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤต” เป็นปลาตัวเล็กๆ มีสีน้ำเงิน มีขนาดไม่เกิน 3 เซนติเมตร และถูกอธิบายครั้งแรกในปี พ.ศ.2473
เป็นปลาเพียงชนิดเดียวที่อาศัยอยู่ภายในหลุมปีศาจ (Devils Hole) อุทยานแห่งชาติหุบเขามรณะ ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดที่แห้งแล้งที่สุดในโลก โดยหลุมปีศาจแห่งนี้ยังมีปริศนามากมาย ที่นักวิจัยยังไม่สามารถทำความเข้าใจได้
ปลาเดวิลส์โฮล เป็นปลาที่เกิดและโตอยู่ภายในหลุมปีศาจ มันคือสัตว์ชนิดแรกของอเมริกา ที่ได้รับการคุ้มครองในฐานะสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ เท่านี้ยังไม่พอ ปลาเดวิลส์โฮล มีการคุ้มกันในระดับพิเศษ ซึ่งพื้นที่รอบหลุมปีศาจ ถูกประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งชาติ เป็นผลให้พื้นที่หลายตารางกิโลเมตรถูกล้อมรอบด้วยรั้วถึงสองชั้น พร้อมกล้องคอยจับตาดูทั้งบนบกและใต้น้ำตลอด 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ยังมีการประกาศให้เป็นอนุสรณ์สถานแห่งชาติ ทั้งนี้เพื่อขจัดปัญหาทั้งหมดที่มนุษย์ต้องการใช้ประโยชน์จากที่ดินแถบนั้น แม้แต่การสูบน้ำใต้ดินก็ไม่อนุญาติให้ทำ และเพราะแบบนี้ ปลาเดวิลส์โฮลจึงได้ชื่อว่า ปลาน้ำจืดที่โดดเดี่ยวที่สุดในโลก
ทำไมจึงไม่สูญพันธุ์ ทั้งๆ ที่มีเลือดชิดที่สุด
ในตอนนี้ปลาเดวิลส์โฮลมีอยู่ราวๆ 263 ตัว พวกมันทั้งหมดอาศัยอยู่ในหลุมปีศาจเพียงแห่งเดียว โดยเขตอาศัยของพวกมันมีขนาดเพียง 3 x 6 เมตรเท่านั้น
ทั้งนี้ปลาเดวิลส์โฮล อาศัยอยู่ในน้ำที่ค่อนข้างร้อนและคงที่ 33 องศาเซลเซียส และยังมีออกซิเจนที่ต่ำมาก พวกมันเป็นปลาชนิดเดียวที่อาศัยอยู่ในหลุมปีศาจ มันแยกจากญาติของพวกมันนับหมื่นปี
แม้จำนวนปลาจะดูเล็กน้อย แต่หากมองขนาดของที่อาศัยของมันแล้ว ดูจะแออัดไปเลยด้วยซ้ำ แต่ด้วยจำนวนประชากรไม่ถึง 300 ตัว สิ่งนี้จึงส่งผลลัพธ์ทางพันธุกรรมของพวกมันอย่างมาก
เมื่อเดือน พฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2565 นักวิจัยรายงานเรื่องนี้ในวารสารวิทยาศาสตร์ the royal society พวกเขาพบว่าจีโนมของลูกปลาเดวิลส์โฮลนั้นเหมือนกัน 58% นี่เทียบเท่าการผสมพันธุ์ของพี่น้องเต็มรูปแบบ 5 – 6 รุ่น
การศึกษานี้นักวิจัยได้จัดลำดับจีโนมของลูกปลาเดวิลส์โฮลจำนวน 8 ตัว และตัวอย่างที่เก็บรักษาเอาไว้ตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2523 อีกหนึ่งตัวอย่าง ..พวกเขาพบว่าปลาขาดยีนที่สำคัญบางอย่าง เช่น ยีนที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสเปิร์ม ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก แต่! เป็นเรื่องน่าแปลกใจที่พวกมันยังขยายพันธุ์ได้?
นอกจากนี้ปลาเดวิลส์โฮล ยังขาดยีนที่ช่วยให้พวกมัน สามารถอยู่รอดในสภาพแวดล้อมที่มีออกซิเจนต่ำได้ ซึ่งน่าแปลกใจเพราะภายในหลุมปีศาจมีออกซิเจนต่ำมากๆ แต่ทำไมมันยังอยู่ได้อย่างสบาย ..ตอนนี้นักวิจัยได้แต่ตั้งคำถามและคอยหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไป
เป็นที่รู้กันว่า “จีโนมเป็นเขตแดนที่ซับซ้อน” ทีมนักวิจัยวางแผนที่จะศึกษาพันธุศาสตร์ของปลาอย่างละเอียดมากขึ้น เพื่อพิจารณาว่า ยีนแต่ละตัวของพวกมันกำลังทำอะไรอยู่ และพวกมันจะชดเชยการสูญเสียจีโนมได้อย่างไร หากพวกเราเข้าใจพวกมันมากขึ้น เราอาจจะแก้ไขปัญหาที่เกิดจากเลือดชิดหรืออะไรที่คล้ายๆ กัน กับสัตว์ชนิดอื่นๆ ได้
สำหรับการผสมพันธุ์ระหว่างพี่น้อง ซึ่งถือว่ามีมานานแล้วสำหรับปลาเดวิลส์โฮล เนื่องจากพวกมันถูกแยกออกมาจากประชากรกลุ่มอื่นอย่างสิ้นเชิง และถึงแม้พวกมันจะยังไม่สูญพันธุ์ในตอนนี้ แต่ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา พวกมันเคยสูญเสียประชากรเกือบทั้งหมดไปถึง 2 ครั้ง นั้นคือ ในปี พ.ศ. 2549 พวกมันเหลือแค่ 38 ตัว หลังจากนั้นประชากรก็เพิ่มขึ้นจนเกือบร้อยตัว จนในปี พ.ศ. 2556 พวกมันก็เหลือ 35 ตัว
และเพื่อรับประกันความอยู่รอดของประชากรปลาเดวิลส์โฮล นักวิจัยได้สร้างหลุมปีศาจจำลอง ซึ่งมีน้ำ 379,000 ลิตร เพื่อนำประชากรบางส่วนของปลาเดวิลส์โฮลมาขยายพันธุ์เพิ่ม แม้ในช่วงแรกจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่หลังผ่านมาหลายปี นักวิจัยก็สามารถขยายพันธุ์ปลาชนิดนี้ในที่เลี้ยงได้สำเร็จ แม้จะไม่มากแต่ก็ถือเป็นข่าวดี