ช่วงเวลาของจระเข้ทั้งสอง
มาดูช่วงเวลาที่จระเข้ทั้งสองตัวออกอาละวาดกันซะหน่อย โดยตามหลักฐานแล้ว “ไอด้างเกยไชย” มีชื่อก่อน และด้วยความที่อยู่ในช่วง ร.5 เรืองที่จะมีการบันทึกภาพยังไม่มี หรือแม้แต่จดบันทึกก็แทบไม่มีเช่นกัน ผมสรุปมาให้คร่าวๆ ก่อน
ไอ้ด่างเกยไชย
- ช่วงเวลา : รัชกาลที่ 5 (พ.ศ. 2396 – พ.ศ. 2453)
- ขนาดตัว : ใหญ่ แต่ไม่มีบันทึกขนาด
- จำนวนคนที่ตาย : ไม่มีบันทึก (มีแต่เรื่องเล่า)
- จระเข้ตายเพราะ : เล่าว่าถูกปราบได้ด้วยหอกของหมอจระเข้ 2 คน
ไอ้ด่างบางมุด
- ช่วงเวลา : พ.ศ. 2507
- ขนาดตัว : คาดคะเน 8 เมตร (ขนาดจริงหลังจระเข้ตาย = 4 เมตรกว่า)
- จำนวนคนที่ตาย : 6 คน
- จระเข้ตายเพราะ : ถูกระเบิด C-3 โดยทีม พ.ต.จำนงค์ พิมาน
ตำนานของ “ไอ้ด่างเกยไชย”
หลักฐานที่เกี่ยวกับไอ้ด่างเกยไชย มีเพียง 2 บรรทัด (ไม่นับเรื่องที่ชาวบ้านเล่า) โดยเรื่องราวของไอ้ด่างเกยไชย มีบันทึกอยู่ในสมุดบันทึกของกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เมื่อคราวที่ท่านเสด็จไปตรวจราชการที่เมืองเหนือ ได้บันทึกเกี่ยวกับไอ้ด่างเกยไชยไว้สั้นๆ 2 บรรทัด มีใจความว่า
“ที่นี่มีศีรษะของจระเข้ใหญ่ เป็นจระเข้กินคน ชาวบ้านเล่าลือกันว่าเป็นจระเข้เจ้า มีพระยาคนหนึ่งได้นำเอาศีรษะจระเข้นี้เข้ากรุงเทพ ฯ และได้ขายต่อให้ชาวต่างชาติไป เป็นอันจบกันสำหรับเรื่องราวของศีรษะจระเข้ใหญ่”
*บันทึกของท่านตอนนี้ สามารถสืบค้นได้ที่หอสมุดแห่งชาติ ท่าวาสุกรี
เรื่องเล่าไอ้ด่างเกยไชย ไม่สามารถบอกได้ว่า เริ่มกินคนเมื่อไร รู้เพียงแค่ช่วง รัชกาลที่ 5 และเกิดขึ้นที่ ตำบลเกยไชย และเนื่องจากในยุคนั้น แทบจะไม่มีการจดบันทึก ภาพถ่ายก็ยังไม่มี จึงยากที่จะได้รู้เรื่องจริงของไอ้ด่างเกยไชย จนมันเหมือนเป็นนิทานและตำนานเล่าบิดเบือนกันไป จนมีเอาไปผสมกับไอ้ด้างบางมุด
เรื่องเล่าไอ้ด่างเกยไชย (สำนวนที่ 2)
ไอ้ด่างเกยไชยเป็นชื่อจระเข้ อยู่ที่ ต.เกยไชย อ.ชุมแสง จ.นครสวรรค์ เล่ากันมาว่าสมัยก่อน ที่เกยไชยมีวังตะกอน หรือ ปากแม่น้ำที่มีความลึกมากมีจระเข้ชุกชุมเรียกว่า “วังไอ้เข้”
ชาวบ้านสมัยนั้น จะลงอาบน้ำในแม่น้ำแต่ละครั้งต้องเอาไม้ปักทำรั้วเพื่อป้องกันจระเข้ และจระเข้ชื่อดังตัวหนึ่งที่ชาวบ้านรู้จักดีคือไอ้ด่าง ชาวบ้านที่สัญจรไปมาเพื่อหาปลาจะถูกไอ้ด่างทำร้ายอยู่เป็นประจำ
หัวไอ้ด่างนั้นมีสีขาวอยู่มาก รูปร่างใหญ่ ความยาวจากปากถึงขากรรไกรยาวประมาณ 1 วา หัวสูงจากพื้น 5-6 ศอกความยาวของลำตัวประมาณความกว้างของแม่น้ำ
ด่างเกยไชยเลยเปรียบเสมือนเรือข้ามฟากของเจ้าพ่อจุ๊ย โดยศาลเจ้าพ่อจุ๊ยนั้นตั้งอยู่ตรงวังตะกอน ชาวเกยไชยนับถือกันมากด่างเกยไชยอายุยืนและดุร้ายทำร้ายผู้คนมามากมาย
ไม่นานนักก็มีชาวบ้านขี้เมาใช้เรือไม้มาเพื่อท้าทายไอ้ด่าง เป็นเรือท้องแหลมที่ชาวจีนเรียกว่าเรือไหหลำ ด่างเกยไชยว่ายตามมาและหนุนเรือข้าวจนคว่ำ พอได้โอกาสชาวเรือใช้สามง่ามทิ่มแทงตามท้องจนเป็นแผลมากมาย ไอ้ด่างทนไม่ไว้ จึงเอาหัวมาเกยหาด หน้าวังตะกอน จึงถูกยิงซ้ำจนตาย ชาวบ้านเลยผ่าท้องไอ้ด่าง พบของมีค่ามากมายแล้วเอาหัวไอ้ด่างเกยไชยไปไว้ที่ศาลเจ้าพ่อจุ๊ยจึงเรียกว่า เกยไชยเพราะชื่อจระเข้ “ไอ้ด่างเกยไชย”
จริงๆ แล้วมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับไอ้ด่างเกยไชยสำนวนที่ 1 และ 3 อยู่ แต่ที่อ่านแล้วสมเหตุสมผลที่สุดคือเรื่องที่ผมเอาให้น้าๆ ได้อ่านกัน ส่วนเรื่องอื่นเหมือนนิทานมากไปหน่อย และมีเรื่องรักๆ เหมือนเอาเรื่องไกรทองไปผสม เลยขอตัดออกไป
จากเรื่องเล่าสำนวนที่ 2 มีการคาดคะเน (ไม่มีหลักฐาน) ปากยาวประมาณ 2 เมตร แค่ปากนะ ถ้าทั้งตัวไม่เป็นสิบเมตรเลยเหรอ ทั้งหมดนี้ไม่มีหลักฐานนะครับ ขึ้นอยู่กับความเชื่อ
ตำนาน “ไอ้ด่างบางมุด”
ถึงแม้จะบอกว่าเป็นตำนานแต่นี่คือเรื่องที่เกิดขึ้นจริง “ไอ้ด่างบางมุด” ย้อนกลับไปเมื่อช่วง ตุลาคม พ.ศ. 2507 ข่าวจระเข้ขนาดใหญ่ปรากฏตัวมาในคลองบางมุด จ.ชุมพร และไล่กัดกินคนตามตลิ่งเริ่มแพร่สะพัดไปทั่ว จากเสียงเล่าลือของคนใช้เรือสัญจรกลายเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ใหญ่โต
29 ตุลาคม พ.ศ.2507 หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง ลงภาพแผนที่โดยสังเขปของคลองบางมุด พร้อมคาดการณ์ว่าเป็นเส้นทางที่จระเข้ยักษ์ “ไอ้ด่าง” ออกอาละวาดล่าคนเป็นอาหาร นอกจากนี้คำเล่าลือว่า เมื่อประมาณ 7-8 ปี ก่อนหน้านั้น เชื่อว่าจระเข้ยักษ์ตัวนี้ เคยออกอาละวาดไล่กัดคนในแม่น้ำแสงแดด อ.เมืองชุมพร มาแล้ว 1 คน ครั้งนั้นชาวบ้านออกล่าตัวก็หาไม่เจอ จนถึงวันที่ ชาวบ้านแถบนั้นเชื่อว่า “จระเข้ตัวนั้นมันกลับมาแล้ว”
หนังสือพิมพ์สมัยนั้น เขียนบรรยายว่า คลองบางมุดเป็นลำน้ำสายใหญ่ ลึกยิ่งกว่าคลองบางกอกน้อยในกรุงเทพฯ น้ำมีลักษณะใสเขียว มีทางแยกไปถึงแม่น้ำหลายสาย เช่น แม่น้ำชุมพร, แม่น้ำตะโก และ แม่น้ำตาปี จังหวัดสุราษฎร์ธานี จนกระทั่งทะลุทะเลที่บริเวณสามเหลี่ยมปากน้ำชุมพร และตรงสามเหลี่ยมนี้เองที่เชื่อมไปยังแม่น้ำแสงแดดได้ ชาวบ้านจึงเชื่อว่า “มันเป็นตัวเดียวกัน!”
ลือกันว่าจระเข้ยาว 4 วา นั้นเท่ากับ 8 เมตร!
แน่นอนว่าจระเข้ขนาด 8 เมตรเป็นขนาดเกินจริงไปมาก (เพราะมันเป็นขนาดก่อนจับได้) ชาวบ้านเล่าว่าจระเข้ยักษ์ตัวนี้ มีลักษณะคอด่างสีขาวตัดกับส่วนหน้า ลำตัวดำสนิท ไม่มีตะไคร่น้ำจับเกาะทั่วตัว ชาวบ้านขนานนามว่า “ไอ้ด่าง” มีขนาดยาวตั้งแต่หัวจรดท้ายถึง 4 วาเศษ เฉพาะส่วนหัวยาวประมาณ 2 ศอกเศษ ลำตัวใหญ่กว่าถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร และเมื่อมันกินคนแล้ว มันจะอิ่มและซ่อนตัวนาน 15 วัน แล้วค่อยลอยหาเหยื่อรายใหม่ (อันนี้คือที่เล่ากันก่อนจับได้)
หลังไอ้ด่างบางมุดกินคนไปหลายคน “ความกลัวขยายตัว จนให้รางวัลค่าหัวตั้งทีมไล่ล่า!” ด้วยเหตุนี้เรือนับร้อยลำมุ่งตรงไปที่คลองบางมุด นักล่ามากวิชา ทั้งเวทมนตร์คาถา อาวุธมากมาย ฉมวก ไฟฟ้า ปืน อวน กระทั่งระเบิดก็เอามาใช้
“เวลาผ่านไปนับเดือน มีการตั้งรางวัล 8,000 บาท ก็ยังไม่สามารถล่าสำเร็จ”
จนวันที่ 20 พฤศจิกายน 2507 เป็นวันตายของ “ไอ้ด่างบางมุด” สิบเอกจำนง พิมาน (ยศในตอนนั้น) พร้อมเพื่อนทหาร รวมกัน 4 คน ได้แกะรอยไล่ล่าไอ้ด่างมา 2 วันเต็ม กระทั่งตามไปถึง “วัง” ที่มันใช้กบดานอยู่ และเมื่อรู้แน่ชัดจึงหย่อนระเบิดที่บรรจุในกระป๋องไปที่วังของมัน
ตูม! ระเบิดลูกแรกดูเหมือนจะได้ผล มันพยายามหนี สิบเอกจำนงและพวกไม่รอช้า หย่อนระเบิดตามไปอีกชุด ตูม…ตูม ระเบิดลูกหนึ่งโดนกลางหลังของมัน ทำให้กระดูกสันหลังของมันหักไม่สามารถหนีต่อไปได้ จากนั้นก็ช่วยกันล่ามไว้กับเรือ และลากมันขึ้นมา
หลังจากนั้นไอ้ด่างบางมุดก็ตายอย่างช้าๆ และหลังจากที่ฆ่าไอ้ด่างสำเร็จ ก็ต้องตกตะลึง! เพราะเมื่อผ่าท้องจระเข้ยักษ์ พบกะโหลก 2 หัว และได้วัดขนาดที่แท้จริงของ “ไอ้ด่างบางมุด” มันยาว 4 เมตรเศษ ..เป็นอันจบเรื่องราว