แมงกะพรุนน้ำจืด คืออะไร?
แมงกะพรุนน้ำจืด ถือเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ซึ่งแมงกะพรุนจำพวกนี้ส่วนใหญ่จะพบในทะเล แต่จะมี 10 กว่าชนิดเท่านั้นที่พบได้ในน้ำจืด โดยแมงกะพรุนน้ำจืด จัดอยู่ในสกุล Craspedacusta (คราส-พี-ดา-คัส-ต้า) ในประเทศไทยมีแมงกะพรุนน้ำจืดที่ได้รับการยืนยันเพียง 1 ชนิด ซึ่งก็คือแมงกะพรุนน้ำจืด “สายพันธุ์น้ำไหล” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Craspedacusta sowerbii (คราสพีดาคัสต้า โซเวอร์บี) และจากที่กรมประมงอธิบายไว้ว่า
แมงกะพรุนน้ำจืด (Freshwater jellyfish) สายพันธุ์น้ำไหล ถูกประกาศให้เป็นสัตว์น้ำประจำจังหวัดเพชรบูรณ์ ชาวบ้านเรียกแมงกะพรุนชนิดนี้ว่า “แม่ยุ้มวะ” ซึ่งพบได้แห่งเดียวในประเทศไทย ยืนยันการพบในไทยเมื่อปี พ.ศ. 2555 บริเวณแก่งบางระจันและแก่งวังน้ำเย็นของลำน้ำเข็ก นับเป็นการพบแมงกะพรุนน้ำจืดสายพันธุ์น้ำไหลแหล่งที่ 2 ของโลก หลังจากพบที่สหรัฐอเมริกา
แมงกะพรุนชนิดนี้ มีลำตัวขนาดเล็กมาก สีขาวใสโปร่งแสงเส้นผ่าศูนย์กลางลำตัว 1-2 เซนติเมตร เมื่อจับขึ้นมาจากน้ำจะดูคล้ายคอนแทคเลนส์ ขอบร่างกายมีหนวดเล็กๆ ที่มีผิวเป็นปุ่มเล็กๆ จำนวนมาก ซึ่งเป็นเข็มพิษ เมื่อสัมผัสจะเกิดอาการคันหรือปวดแสบปวดร้อนได้
แต่ดูเหมือนหนวดพิษจะใช้ได้กับเหยื่อที่เหมาะสมอย่างเช่น แพลงก์ตอนสัตว์อย่างไรน้ำเป็นต้น อย่างไรก็ตามยังไม่มีการพิสูจน์ว่าหนวดจะมีความสามารถในการเจาะผิวหนังมนุษย์ได้ และก็ไม่มีรายงานการบาดเจ็บจากแมงกะพรุนน้ำจืดเช่นกัน
ร่างกายแมงกะพรุนน้ำจืดจะมีลักษณะคล้ายร่ม มีเนื้อเยื่อบางๆ ทอดผ่านไปบริเวณขอบในแนวรัศมี 5 ส่วนเท่าๆ กัน โดยแนวเหล่านี้จะมีอวัยวะสร้างเซลล์สืบพันธุ์ ที่มีลักษณะสีขาวขุ่นหรือสีส้มพาดไปในแนวรัศมีเช่นกัน บริเวณขอบด้านในของร่างกายที่มีลักษณะคล้ายร่ม มีกล้ามเนื้อบางๆ เรียงตัวในแนววงแหวนโดยรอบ และจะว่ายน้ำได้โดยการกระพือขอบร่มเป็นจังหวะๆ
แมงกะพรุนน้ำจืดชนิดนี้ อาศัยอยู่ในแก่งบางระจันและแก่งวังน้ำเย็นของลำน้ำเข็ก จังหวัดเพชรบูรณ์ ชอบอยู่บริเวณที่น้ำไหลค่อนข้างแรง จะพบเห็นได้ง่ายในช่วงเวลาแดดออก เป็นแมงกะพรุนน้ำจืดที่มีความเปราะบางและอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อม จึงเป็นดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์ของระบบนิเวศบริเวณลำน้ำเข็กได้เป็นอย่างดี
แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์ของแมงกะพรุนน้ำจืดชนิดนี้จะไม่สู้ดี เนื่องจากในปี พ.ศ. 2565 มีรายงานว่าแมงกะพรุนน้ำจืดหายไปจากลำน้ำเข็ก ซึ่งโดยปกติในช่วงเดือน มีนาคม – เมษายน ของทุกปี จะพบเห็นแมงกะพรุนน้ำจืดลอยขึ้นมาบนผิวน้ำให้เห็นเยอะมาก แต่ช่วงหลังเริ่มเห็นน้อยลงเรื่อยๆ กระทั่งปี พ.ศ. 2565 กับเห็นแมงกะพรุนน้ำจืดน้อยที่สุดตั้งแต่มีการค้นพบในบริเวณนี้ ..ส่วนในปี พ.ศ. 2566 ยังไม่มีรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้
เหตุที่ทำให้แมงกะพรุนน้ำจืดหายไป จะให้น้ำหนักไปที่น้ำในลำน้ำเข็กถูกปนเปื้อนจากสารเคมี เนื่องจากมีการเพาะปลูกผักบริเวณป่าต้นน้ำเหนือแก่ง ซึ่งมีชาวบ้านมาเช่าที่ดินเพื่อทำแปลงผักกันหลายราย มีการใช้สารเคมี ปุ๋ย และยาฆ่าแมลงค่อนข้างมาก อาจมีการปล่อยสารเคมีเหล่านี้ลงสู่ลำน้ำเข็กได้ และก็ส่งผลกับแมงกะพรุนน้ำจืดที่อ่อนไหวกับเรื่องนี้เป็นพิเศษ
และนอกจากแมงกะพรุนน้ำจืด ที่พบในลำน้ำเข็ก ยังมีชนิดที่พบใน แม่น้ำป่าสัก, บึงบอระเพ็ด และในแหล่งน้ำจืดอีกหลายแห่งในภาคอีสาน โดยมักพบในแหล่งน้ำที่เป็นน้ำนิ่ง โดยชนิดที่พบเรียกว่า Craspedacusta sinensis (คราสพีดาคัสต้า ไซเนนซิส) และอีกชนิดคือ Craspedacusta iseana (คราสพีดาคัสต้า อิเซียน่า) แต่ก็มีนักวิจัยบางกลุ่มเชื่อว่าแมงกะพรุนน้ำจืดพวกนี้เป็นชนิดเดียวกัน แต่ถึงอย่างงั้นก็ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจน