ประวัติ ‘กระต่าย’ ตัวเล็กที่สุดในโลก ที่ไม่เหลือสายพันธุกรรมบริสุทธิ์อีกแล้ว

หลายคนน่าจะเคยได้ยินคำพูดที่ว่า กระต่ายเป็นสัตว์ที่สามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วจนน่ากลัว คำพูดนี้ถูกต้องเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ใช่ไม่ได้กับกระต่ายที่ชื่อว่า กระต่ายแคระโคลัมเบียเบซิน (Columbia Basin pygmy rabbit) เพราะกระต่ายชนิดนี้ขยายพันธุ์ได้ยาก และพวกมันก็มีน้อยเกินไปด้วย จนในตอนนี้มันเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ หรือถ้านับสายพันธุ์แท้ คงต้องบอกว่าพวกมันสูญพันธุ์ไปแล้ว เพราะกระต่ายแคระโคลัมเบียเบซินสายพันธุ์แท้ตัวสุดท้าย ได้ตายไปในปี พ.ศ. 2551 และนี่คือเรื่องราวโดยสรุปของพวกมัน

กระต่ายแคระโคลัมเบียเบซิน (Columbia Basin pygmy rabbit) เป็นกระต่ายที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก มันมีขนาดประมาณลูกซอฟต์บอล แต่มันเป็นซอฟต์บอลที่นุ่มมาก ตัวเต็มวัยมีน้ำหนักน้อยกว่า 500 กรัม

กระต่ายชนิดนี้ เป็นกระต่ายที่อาศัยอยู่ในอเมริกาเหนือ พวกมันจะขุดโพรงและอยู่ในบริเวณที่มีต้นบรัช (brush) พวกมันจะกินบรัชเฉพาะในฤดูหนาว ในช่วงฤดูร้อนพวกมันจะกินอาหารที่หลากหลายมากขึ้น

แต่แล้วพวกมันก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากทุ่งข้าวสาลี และ แทรกเตอร์ ที่วิ่งไปวิ่งมาในถิ่นที่อยู่ของมัน จนในปี พ.ศ. 2545 กระต่ายชนิดนี้ที่เป็นสายเลือดบริสุทธิ์ เหลือเพียง 16 ตัวเท่านั้น และจนถึง พ.ศ. 2551 กระต่ายแคระโคลัมเบียเบซินตัวสุดท้ายก็จากไป ซึ่งนับเป็นจุดสิ้นสุดของสายพันธุกรรมบริสุทธิ์ของพวกมัน

แต่หากมองในแง่ดี พวกมันยังไม่ได้สูญพันธุ์โดยสมบรูณ์ เพราะในปี พ.ศ. 2547 พวกมันได้ถูกผสมข้ามสายพันธุ์กับกระต่ายแคระจากไอดาโฮ จนเกิดสายพันธุ์กระต่ายแคระโคลัมเบียเบซินรุ่นใหม่ที่แข็งแกร่งขึ้น …แม้จะไม่ใช่สายเลือดบริสุทธิ์ก็ตาม

จนในปี พ.ศ. 2550 กระต่ายแคระที่ได้รับการผสมข้ามสายพันธุ์ จำนวน 20 ตัว ก็ได้รับการปล่อยสู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในอเมริกา …แต่มันก็ไม่ได้เป็นอย่างที่หวัง เพราะในปีเดียวกัน พวกมันทั้งหมดก็หายไปจากป่าอีกครั้ง บางตัวถูกจับโดยมนุษย์ บางตัวถูกล่าโดยสัตว์อื่น และนี่ถือเป็นบทเรียนราคาแพงที่นักวิจัยได้เรียนรู้ในครั้งนี้

จนในปี พ.ศ. 2554 พวกเขาก็ได้ปล่อยพวกมันอีกครั้ง โดยการปล่อยครั้งนี้ได้ฝังไมโครชิป และติดตั้งปลอกคอวิทยุให้กับกระต่ายมากกว่า 20 ตัว นอกจากนี้พวกมันยังถูกปล่อยในเขตเฝ้าระวังพิเศษ ซึ่งเป็นพื้นที่ขนาด 25 ไร่ ที่ล้อมรอบด้วยลวดตาข่าย และในปีเดียวกัน กระต่ายที่ปล่อยไปก็ผสมพันธุ์และให้กำเนิดลูกได้สำเร็จ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบกว่าทศวรรษที่กระต่ายแคระโคลัมเบียเบซินเกิดขึ้นในธรรมชาติ

Advertisements

วันเวลาผ่านไปหลายปี จนพวกมันมีมากกว่า 1,200 ตัวในป่า พวกมันอยู่ในเขตอนุรักษ์ที่มีเนื้อที่ประมาณ 76,000 ไร่ และถึงแม้จะไม่ใช่กระต่ายแคระโคลัมเบียเบซินเลือดบริสุทธิ์ก็ตาม แต่พวกมันก็ใกล้เคียงที่สุดแล้ว

แต่ถึงจะได้รับการปกป้องอย่างดี พวกมันก็ยังมีความเสี่ยงเนื่องจากไฟป่า ซึ่งจะเกิดไฟป่าขนาดใหญ่ 5 – 10 ปี ต่อครั้ง และในปี พ.ศ. 2565 ไฟป่าได้คร่าชีวิตพวกมันไปมากกว่า 40% และเขม่าควันยังทำให้กระต่ายเกือบทั้งหมดที่อยู่ในศูนย์เพาะพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดตายลง .. สุดท้ายอนาคตของพวกมันจึงยังไม่แน่นอน

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
Advertisements