การมาถึงของฮิปโปโคเคน
ฮิปโปที่ถูกเรียกว่า “ฮิปโปโคเคน” เคยเป็นฮิปโปรธรรมชาติ ที่ถูกนำเข้ามาในฐานะสัตว์เลี้ยงของ เอสโกบาร์ ซึ่งพวกมันถูกนำตัวมาในโคลอมเบียในช่วงปี พ.ศ. 2523 (1980) ซึ่งในตอนแรกพวกมันถูกนำเข้ามาทั้งหมด 4 ตัว เป็นตัวผู้ 1 ตัว และตัวเมียอีก 3 ตัว และเพราะเอสโกบาร์รวยมากและยังชอบสัตว์แปลกๆ ในสวนสัตว์ส่วนตัวของเขาจึงมีสัตว์แปลกๆ มากมาย
หลังจากที่เอสโกบาร์ถูกตำรวจสังหารในปี พ.ศ.2536 (1993) สัตว์ส่วนใหญ่ถูกส่งไปยังสวนสัตว์อื่นๆ ยกเว้นฮิปโปที่พิสูจน์ว่า มันยากมากที่จะจับ และถึงจับได้ก็ยากที่จะย้าย พวกเขาจึงทิ้งพวกมันไว้ที่เดิม โดยคิดว่าพวกมันน่าจะตายเพราะไม่อาหารกิน แต่แล้วเจ้าหน้าที่ก็คิดผิด เพราะฮิปโปเหล่านี้ออกไปข้างนอกได้ และแหล่งน้ำแถบนั้นก็กลายเป็นสวรรค์ของฮิปโปพวกนี้ …ความจริงมันทำได้ดีกว่าในถิ่นกำเนิดของพวกมันซะอีก
พวกมันเริ่มผสมพันธุ์และมีลูกหลานมากขึ้น และเดินทางไกลไปตามแม่น้ำเป็นระยะทางกว่า 160 กิโลเมตร หลายครั้งที่พบฮิปโปพวกนี้เดินตามถนน จนเป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุอย่างการถูกรถชนเป็นต้น
สามสิบปีต่อมา หลังเอสโกบาร์ตาย ประชากรของพวกเพิ่มเป็น 80 – 120 ตัว ทั้งหมดอาศัยอยู่ในโคลอมเบีย และถือเป็นหนึ่งในสายพันธุ์รุกรานที่น่ากลัว รัฐบาลและนักวิจัยได้คิดเรื่องจะจัดการพวกมันมาหลายปี ส่วนนักอนุรักษ์ก็มีความกังวลเกี่ยวกับความเสียหายทางนิเวศวิทยา ที่พวกมันทำกับลุ่มน้ำมักดาเลนาของโคลอมเบีย ส่วนกลุ่มสิทธิสัตว์ ก็กังวลว่าเจ้าหน้าที่จะทำรุนแรงกับพวกมัน
รัฐบาลเคยคิดจะฆ่าพวกมันทั้งหมดหรือไม่?
ย้อนกลับไปในปี พ.ศ. 2552 (2009) รัฐบาลโคลอมเบียตัดสินใจที่จะฆ่าพวกมันทั้งหมด แต่ก็ทำให้เกิดเสียงโวยวายจากกลุ่มผู้รักสัตว์ จนแผนนี้ไม่เคยลุล่วงเลย จนเมื่อเดือนกรกฎาคมปี พ.ศ. 2564 (2021) หลุยส์ โดมิงโก ทนายความชาวโคลอมเบียได้ยื่นฟ้องในนามของฮิปโป เพื่อช่วยพวกมันไม่ให้ถูกฆ่า แต่แนะนำให้ทำหมันแทน ซึ่งเจ้าหน้าที่โคลอมเบียก็เห็นด้วย
ด้วยเหตุนี้จึงเกิดแผนคุมกำเนิดขึ้น แต่เพราะการทำหมันด้วยวิธีผ่าตัดแบบดั้งเดิมนั้นอันตรายเกินไป เพราะฮิปโปเป็นสัตว์ขนาดใหญ่และยังดุร้ายมาก จึงทำให้เจ้าหน้าที่ทำหมันได้เพียง 11 ตัว
จนเมื่อต้นเดือนตุลาคมปี พ.ศ. 2564 (2021) หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมระดับภูมิภาค ได้ประกาศความพยายามในการควบคุมประชากรฮิปโป ส่งผลให้มีฮิปโปอีก 24 ตัว ได้รับการจัดการด้วยวิธีใหม่ นั่นคือการยิงลูกดอกที่บรรจุยาคุมกำเนิด มันปลอดภัยและราคาถูกกว่ามาก.. แต่ถึงอย่างงั้นก็ยังคงทำได้อย่างเชื่องช้าอยู่ดี
และแล้วอเมริกาก็เข้ามาเกี่ยว
คดีฟ้องร้องเพื่อช่วยชีวิตฮิปโป ซึ่งใช้ข้อโต้แย้งในการใช้ยาคุมกำเนิด และข้อตกลงดังกล่าวยังคงเปิดโอกาสให้มีช่องโหว่ เพื่อช่วยฮิปโปบางตัวที่จะถูกฆ่า ดังนั้นกองทุนปกป้องสัตว์ของสหรัฐฯ (ALDF) จึงได้ยื่นคำร้องทางกฎหมาย
ซึ่งตามกฎหมายของโคลอมเบีย อนุญาตให้สัตว์ที่ไม่ใช่มนุษย์สามารถฟ้องร้องได้ ซึ่งก็เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของพวกมันได้ แต่ไม่สามารถบังคับพลเมืองสหรัฐฯ ให้จัดทำเอกสารหรือคำให้การ เพื่อสนับสนุนคดีของพวกเขาได้
อย่างไรก็ตามกฎหมายของสหรัฐอนุญาตให้พลเมืองหรือ “ผู้สนใจ” ของโคลัมเบีย ไปที่ศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ เพื่อขอเอกสารและคำให้การ โดยอนุญาตให้กองทุนปกป้องสัตว์ของสหรัฐฯ ยื่นคำร้อง ศาลแขวงสหรัฐให้รับรองโจทก์ ซึ่งเป็น “ชุมชนของฮิปโปโปเตมัสที่อาศัยอยู่ในแม่น้ำมักดาเลนา” เป็นนิติบุคคลเป็นครั้งแรก
สุดท้าย! “ตามคำสั่งของศาล ให้อำนาจฮิปโปที่จะใช้สิทธิทางกฎหมาย เพื่อให้เป็นบุคคลของสหรัฐอเมริกา” ที่นี้เข้าใจกันหรือยังว่าฮิปโปโคเคน ของเอสโกบาร์นั้นไม่ธรรมดา อย่าว่าแต่ฆ่าพวกมันให้หมด แค่จะทำหมันพวกมันให้หมดก็ยังทำไม่ได้เลย เพราะพวกมันได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายเป็นที่เรียบร้อย …ส่วนอนาคตของฮิปโปโคเคนจะเป็นเช่นไร ต้องติดตามกันต่อไป
รู้หรือไม่ อเมริกาเคยจะเลี้ยงฮิปโปเพื่อเอาไว้กินเนื้อ?
แนวคิดนี้เคยถูกนำเสนอขึ้นในปี พ.ศ.2453 (1910) ในขณะที่สหรัฐอเมริกา กำลังประสบปัญหาการขาดแคลนเนื้อสัตว์อย่างรุนแรง การเพิ่มขึ้นของประชากร รวมกับพื้นที่เพาะปลูกที่รกร้าง ส่งผลให้ราคาเนื้อวัวพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากมีความต้องการที่มากขึ้น และเกษตรกรเองก็พยายามดิ้นรนเพื่อให้ทันกับความต้องการ
ในตอนนั้นระบบน้ำในรัฐทางใต้ ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำหรือทะเลสาบก็เต็มไปด้วยผักตบชวา ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่รุกรานที่ถูกนำเข้ามาจากประเทศญี่ปุ่น และมันกำลังเป็นปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ
จนเมื่อนักล่าสัตว์ผู้ทรงอิทธิพลสองคน คิดวิธีแก้ปัญหาขึ้นมาได้ พวกเขาคิดว่าควรนำฮิปโปเข้ามา และปล่อยพวกมันไปยังที่ลุ่มน้ำทางใต้ที่ “ไร้ประโยชน์” ซึ่งเป็นที่ๆ วัวควายไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ โดยพวกเขาอ้างว่า เนื้อฮิปโปมีรสชาติอร่อย และสัตว์เหล่านี้ จะช่วยกินผักตบชวาที่อุดมสมบูรณ์ในหนองน้ำอย่างมีความสุข พวกเราแค่รอให้มันตัวใหญ่ หลังจากนั้นจึงเก็บเกี่ยวเนื้อของพวกมันได้โดยไม่ต้องลงทุนอะไร
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแห่งหลุยเซียน่า โรเบิร์ต บรุสซาร์ด (Robert Broussard) ได้นำเสนอแผนที่ชื่อว่า “Hippo Bill” ขึ้นมาอย่างเป็นทางการ โดยหาเงินทุนได้ $250,000 (ในสมัยนั้น) เพื่อนำเข้าฮิปโปมายังสหรัฐอเมริกา และอย่างที่พวกเขาเรียกกันว่า “เบคอนวัวในทะเลสาบ” จะสามารถใช้เป็นอาหารสำหรับคนอเมริกันได้ภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี
แต่การนำเข้าฮิปโปเป็นเพียงการเริ่มต้น ตามที่บทบรรณาธิการของ New York Times ได้รายงานเกี่ยวกับร่างกฎหมายนี้ว่า ..ยังมีสัตว์อื่นๆ ที่อยู่ในรายการที่จะนำเข้ามาเช่น จามรี , ควายป่าแอฟริกา และสัตว์อื่นๆ อีกจำนวนมาก ซึ่งอาจถูกนำเข้ามาเพื่อการปศุสัตว์
แม้แต่ “แรดขาว” ที่อ่อนโยนก็เขียนไว้ว่ารสชาติเยี่ยม เช่นเดียวกับ “ดิก-ดิก สัตว์ที่คล้ายกวางแต่ตัวเล็กมากๆ” ซึ่งได้รับการอธิบายว่า “เหมาะสมสำหรับงานเลี้ยงคริสต์มาส” แม้แต่ ช้าง ยีราฟ และม้าลายก็อยู่ในเมนูที่เสนอเช่นกัน
โชคดีที่แนวคิดดังกล่าวหายไปในที่สุด และแทนที่จะนำสัตว์ใหม่ๆ มาสู่ภูมิทัศน์ที่มีอยู่ รัฐบาลเลือกที่จะปรับภูมิประเทศ เพื่อรองรับสัตว์ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งถือว่าได้ผลดีในระยะยาว แม้ในตอนนี้จะมีสัตว์รุกรานมากมาย แต่คนอเมริกันก็ไม่จำเป็นต้องกินฮิปโป …จบ