มีจริงหรือไม่ ‘ตะบองพลำ’ ยาว 12 เมตร และตะขาบใหญ่ที่สุดในโลกคือ?

ผมเองได้รู้จัก "ตะบองพลำ" ครั้งแรกในสมัยมัธยม ที่ต้องท่องโคลงที่กล่าวถึง ตะบองพลำใหญ่ยง ด้วยความที่ผมกลัวตะขาบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พอคิดว่าในป่ามีตะขาบตัวใหญ่พอจะฆ่าช้างได้ เลยกลัวหนักเข้าไปใหญ่ ...แต่จะว่าไปตะบองพลำมีอยู่จริงหรือเปล่า? ยังไงก็มาลองฟังกันดู

ตะบองพลำ

ไม่รู้ว่ายุคนี้นักเรียนยังต้องท่องกาพย์โคลงกลอนกันอยู่หรือเปล่า … ตะบองพลำใหญ่ยง อยู่ในป่าดงตัวดุจตะขาบไฟแดง มีฤทธิ์มีพิษเรียวแรงพบช้างกลางแปลง เข้าปล้ำเข้ารัดกัดกิน เป็นโคลงฉันท์กาพกลอนที่นักเรียนต้องเรียนกันในสมัยก่อน

ชื่อของโคลงคือ “สัตวาภิธาน” ที่กล่าวถึง “สัตว์พหุบาทา” หรือสัตว์ที่มีมากกว่า 4 เท้า ทั้งสัตว์บก น้ำ ปีก ซึ่งรวม 56 ชนิด ซึ่งแต่งขึ้นโดย พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) ท่านมีชีวิตอยู่ระหว่างปี พ.ศ. 2365 – 2434

ในสมัยเด็ก ผมก็แค่ต้องท่องโคลงบทนี้ให้ผ่านๆ ไปเท่านั้น แต่พอโตขึ้นแล้วกลับมาคิดดู ผมว่าโคลงบทนี้เป็นสิ่งที่ใช้สอนวิทยาศาสตร์ หรือ ชีววิทยา ในยุคแรกๆ เลยก็ว่าได้ มีการพูดถึงสัตว์ที่มีขามากกว่าสี่ขาเอาไว้อย่างเป็นระบบระเบียบ แถมยังทำให้รู้ถึงลักษณะ ตลอดจนพฤติกรรมของสัตว์จำพวกนี้ โดยเจ้าตัวที่ปรากฏอยู่ในโคลงบทนี้ส่วนใหญ่จะเป็นชนิดที่เราก็รู้จักกันดี จะมีก็เพียง “ตะบองพลำ” ที่ดูเหมือนจะเกินจริงมาก และไม่รู้ว่ามีอยู่จริงหรือไม่?

จากโคลงจะทำให้รู้ว่า “ตะบองพลำ” เป็นตะขาบป่าชนิดหนึ่ง มีขนาดใหญ่มากๆ ตัวของมันจะมีสีออกแดง ค่อนไปทางแดงเพลิง ผิดกับตะขาบทั่วๆ ไป และก็คงคล้ายกับตะขาบไฟ มีพิษร้ายแรงมาก ขนาดที่สามารถกัดช้างจนล้มได้

เคยมีเรื่องเล่าของนักเดินป่าที่ได้ไปเจอ “ปล้อง” ของมันแขวนอยู่ในหมู่บ้านแถวๆ ภาคใต้ ว่ากันกันว่า ปล้องนั้นใหญ่เท่ากระด้งฝัดข้าวเลยทีเดียว ชาวบ้านเล่าว่าแค่แขวนปล้องของมันไว้หน้าบ้านเท่านั้น เสือก็ยังไม่กล้าย่างกรายเข้ามา นี้แค่ปล้องเดียวนะถ้าทั้งตัวจะขนาดไหน เดี๋ยวเราลองมาคำนวนเล่นๆ ว่าขนาดทั้งตัวจะยาวแค่ไหน

ถ้า 1 ปล้องใหญ่เท่ากับ 1 กระด้งฝัดข้าว / กระด้งฝัดข้าวทั่วไปจะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 ฟุต / ตะขาบจะมีปล้องประมาณ 15 – 100 ปล้อง ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิด ผมตีขั้นต่ำ “ตะบองพลำ” มี 20 ปล้อง / นั้นหมายความว่า 20 x 2 = 40 ฟุต / 40 ฟุต = 12 เมตรหน่อยๆ

พอคิดว่ามันยาว 12 เมตร ซึ่งมากกว่า 2 เท่าของสะพานลอยคนข้าม ตัวอะไรจะใหญ่ขนาดนี้ จะบอกว่าสำหรับผมแค่ครึ่งฟุต ก็ขนหัวลุกตัวแข็งแล้ว แต่อย่างว่านี่ถือเป็นเรื่องเล่าของสัตว์ในตำนาน ส่วนจะจริงจะเชื่อหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับความเชื่อส่วนบุคคล

แต่มันก็มีเรื่องน่าคิดอยู่ที่ว่า เนื้อหาในโคลงจะเป็นสัตว์ในประเทศไทยที่มีอยู่จริงทั้งหมด แต่ชื่อของตะบองพลำมาจากไหน? ตะบองพลำต้องมาก่อนรัชกาลที่ 5 หรือไม่? หรือจะก่อนนั้นอีก …ถ้าใครทราบเรื่องราวเพิ่มเติมก็เล่าให้ฟังกันบ้างนะครับ

ตะขาบตัวใหญ่ที่สุดในโลกคืออะไร?

Advertisements

จริงๆ แล้วตะขาบที่ใหญ่ที่สุดในโลก ที่ยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร ก็มีอยู่หลายตัว แต่ชนิดที่ขึ้นชื่อก็คือ “ตะขาบยักษ์แอมะซอน” ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Scolopendra gigantea (สโคโลเพนดรา ไจเกนเทีย) มันยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร แต่โดยทั่วไปจะอยู่ที่ 26 เซนติเมตร

ร่างกายประกอบไปด้วยปล้องจำนวน 21-23 ปล้อง ปล้องมีสีทองแดงหรือสีแดงอมม่วง แต่ละปล้องมีขาสีเหลืองอ่อน 1 คู่ ขาแต่ละข้างสามารถเดินได้อย่างรวดเร็ว จะจับเหยื่อด้วยการกัดและรัดก่อนที่จะฆ่า

Advertisements

ตะขาบชนิดนี้อาศัยอยู่ทางเหนือและตะวันตกของทวีปอเมริกาใต้ และตามเกาะแก่งของประเทศตรินิแดดและจาไมกา เป็นสัตว์กินเนื้อ เหยื่อของมันจะเป็น จิ้งจก, กบ, นก, หนู งู และแม้แต่ค้างคาวเป็นอาหาร และยังเป็นตะขาบที่ขึ้นชื่อในเรื่องความดุร้าย

ในเรื่องพิษของตะขาบชนิดนี้ จะเป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ ทำให้เกิดแผลเหมือนถูกตัวต่อต่อย แผลจะบวมอย่างรุนแรง และตามด้วยอาการไข้สูง หากแพ้พิษตะขาบก็อาจตายได้ และแม้ตะขาบชนิดนี้จะดูน่ากลัว แต่ก็เป็นสัตว์เลี้ยงได้รับความนิยมในบรรดาผู้นิยมสัตว์แปลก ๆ แต่ไม่ควรจับมันโดยไม่มีเครื่องป้องกัน

เอาละก็จบแล้วนะครับ สำหรับเรื่อง ตะขาบยักษ์ ‘ตะบองพลำ’ ใครจะเชื่อว่ามีจริงหรือไม่ก็ตัดสินใจกันเอาเอง แต่โดยส่วนตัวผมว่า ตะขาบตัวใหญ่มากๆ ต้องมีในป่าลึก ถ้ายาว 2 – 3 ไม้บรรทัด ก็คิดว่าเป็นไปได้ เพราะในไทยเองก็เพิ่งเจอตะขาบที่ชอบอยู่ใต้น้ำด้วย เรื่องจะมีตัวแปลกๆ ที่ไม่เคยเจอก็เป็นไปได้อยู่แล้ว

สนใจปลาคาร์ป ปลาทอง ปลาสวยงาม คลิ๊ก https://koi360.com/

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements