จากกระแสข่าวการพบปลาฉลามในแม่น้ำตรัง ทำให้สองฝั่งแม่น้ำตรังเกิดความตื่นกลัวเป็นอย่างมากว่าจะยังมีฉลามอาศัยอยู่อีกหรือไม่ หรือมีตัวแม่เข้ามาด้วยหรือไม่ ชาวบ้านจึงงดลงเล่นน้ำในแม่น้ำตรังตลอดสายเป็นการชั่วคราว ขณะที่นายกล้อยยังเชื่อว่าจะยังมีฉลามอยู่ในพื้นที่
ด้านบนเป็นเนื้อหาข่าวย่อๆ จริงๆ แล้วการเจอฉลามหัวบาตรเป็นเรื่องปกติหรือไม่ เราดูกัน
ฉลามหัวบาตร ปกติมากที่จะว่ายในน้ำจืด และต้องกลัวมันหรือเปล่า?
ฉลามหัวบาตรเป็นหนึ่งในฉลามที่พบเจอได้มากที่สุดชนิดหนึ่งในโลก เป็นฉลามที่มีจุดเด่นที่แปลกกว่าฉลามชนิดอื่นหลายๆ อย่าง โดยเฉพาะที่มันสามารถอาศัยในน้ำจืดได้ หากจำเป็นมันสามารถอยู่ในน้ำจืด 100% โดยไม่ต้องกลับไปน้ำเค็มเลย แถมยังออกลูกได้ด้วย
โดยในปี 1937 ชาวประมงสองคนจับฉลามหัวบาตรได้ใกล้เมือง Alton รัฐ Illinois ซึ่งห่างจากปากแม่น้ำที่เมือง New Orleans ถึง 2,800 กิโล และเคยมีรายงานพบและจับพวกมันได้ในแม่น้ำอเมซอน โดยตัวที่ไปไกลสุดพบที่ Iquitos เปรู ซึ่งห่างจากมหาสมุทรถึง 3,500 กิโล
การได้เจอ “ฉลามหัวบาตร” ในน้ำจืดจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะในสมัยก่อนแม้แต่ในแม่น้ำเจ้าพระยายังเคยเจอ แต่ที่ไม่ค่อยได้เจอกันแล้วอาจเพราะน้ำมีมลพิษกับจำนวนที่น้อยลงมาก
ความจริงคือฉลามหัวบาตรมีแรงกัดมากกว่าฉลามขาว (หากตัวเท่ากัน) มันจัดเป็นหนึ่งในปลาที่มีแรงกัดมากสุด จากผลวิจัยในปี 2012 แรงกัดของมันมีมากถึง 5,914 นิวตัน ซึ่งมากกว่าฉลามชนิดอื่นถึง 12 ชนิด มากกว่าฉลามขาวยักษ์และฉลามหัวค้อน
“ปัจจุบันมีการจัดอันดับให้ปลาฉลามหัวบาตรเป็นปลาฉลามที่มีอันตรายต่อมนุษย์มากที่สุด เนื่องด้วยการที่พบกระจายอยู่ทั่วโลกและสามารถเข้ามาอาศัยได้ในน้ำจืดได้”
สุดท้ายถามว่าต้องกลัวหรือเปล่า? ถ้าตัวแค่ไม่กี่โล ไม่น่ากลัวหลอก ถึงฉลามหัวบาตรจะดุร้ายที่สุดก็ตาม แต่ยังไงก็เป็นเรื่องยากที่มันจะทำร้ายมนุษย์ แถมเรื่องที่จะเจอในแม่น้ำประเทศไทยยิ่งยากใหญ่ ..คงยากพอๆ กับเจอจระเข้ไทยแท้ๆ ว่ายในแม่น้ำเจ้าพระยานั้นล่ะ
“ปลาฉลามหัวบาตร (Bull shark) ชื่อวิทยาศาสตร์ Carcharhinus leucas มีรูปร่างอ้วนป้อม หัวกลมป้านมีขนาดใหญ่ ข้อที่สองครีบหลังเป็นกระโดงรูปสามเหลี่ยมมุมป้าน มีนิสัยดุร้าย กินปลาและสัตว์ต่างๆ ในน้ำเป็นอาหาร รวมทั้งอาจทำร้ายมนุษย์ได้ด้วย พบอาศัยในทะเลเขตอบอุ่นและเขตร้อนทั่วโลก โดยเฉพาะบริเวณชายฝั่ง ขนาดโตเต็มที่ได้ถึง 3.5 เมตร น้ำหนักหนักได้ถึง 316.5 กิโลกรัม”
อ่านเรื่องอื่น