ปลาบู่เสือคืออะไร..?
ปลาบู่เสือ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า บราชี่โกบิอัส ซวล (Brachygobius sua) ซึ่งเป็นปลาบู่ขนาดเล็กในสกุลของปลาบู่หมาจู่ แต่เส้นทางการอธิบายของปลาชนิดนี้ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะปลาชนิดนี้ถูกย้ายไปอยู่สกุลอื่นๆ จนทำให้ข้อมูลเกิดความสับสนอยู่ไม่น้อย
ปลาบู่เสือ มีขนาด 2.7 เซนติเมตร ถูกพบครั้งแรกโดย ดร. สมิธ (Dr.Hugh M.Smith) ซึ่งเป็นเจ้ากรมรักษาสัตว์น้ำ คนแรกของประเทศไทย ปัจจุบันกรมรักษาสัตว์น้ำก็คือกรมประมง โดยในครั้งแรกปลาบู่เสือ ถูกจัดให้อยู่ในสกุล ไทยโกเบียลา (Thaigobiella) ซึ่งเป็นสกุลที่ตั้งขึ้นมาใหม่ในปี พ.ศ. 2474
โดยปลาบู่เสือ ตัวที่ถูกจับมาเป็นตัวอย่าง มีเพียงตัวเดียวเท่านั้น ซึ่งจับได้จากคูน้ำในเขตกรุงเทพ โดยในเอกสารระบุปลาบู่ชนิดนี้ในชื่อ ไทยโกเบียลา ซวล (Thaigobiella sua) และอธิบายว่า เป็นปลาบู่ขนาดเล็ก มีพื้นลำตัวสีเหลืองอ่อน มีลายสีดำพาดอยู่ 4 ชุด ลายเด่นที่สุดคือชุดที่อยู่ใต้ครีบหลังที่สอง ซึ่งจะแยกออกเป็นสองเส้นอย่างชัดเจน และยังไม่พบปลาบู่ชนิดอื่นจากสกุลเดียวกัน
และเพราะมีเพียงตัวอย่างเดียว จึงมีภาพประกอบเพียงภาพเดียว ก่อนจะส่งไปเก็บรักษาไว้ที่ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติสมิธโซเนียน ประเทศสหรัฐอเมริกา
ต่อมาในปี พ.ศ. 2488 ดร. สมิธ (Dr.Hugh M.Smith) ก็ได้เขียนหนังสือ The fresh-water fishes of Siam or Thailand เขาได้ระบุว่า ตัวอย่างปลาบู่เสือตัวแรกและตัวเดียวที่มีอยู่ ได้สูญหายไปหลังจากนั้นไม่นาน และได้ย้ายปลาบู่เสือให้มาอยู่ในสกุลปลาบู่หมาจู่ หรือ บราชี่โกบิอัส (Brachygobius)
นอกจากนี้ ดร. สมิธ ยังบอกอีกว่า ปลาบู่เสือมีชุกชุมในพื้นกรุงเทพ แต่น่าแปลกใจที่เมื่อกลับมาตรวจสอบตัวอย่างที่รวบรวมมาได้ในยุคนั้น ก็ไม่มีปลาบู่ตัวไหนที่มีลวดลายหรือลักษณะใกล้เคียงกับปลาบู่เสือเลยแม้แต่ตัวเดียว
จนในปี พ.ศ. 2543 ดร. เฮเลน ลาร์สัน นักมีนวิทยา ผู้เชี่ยวชาญวงศ์ปลาบู่ ได้ย้ายปลาบู่เสือไปเป็นชื่อพ้องของปลาบู่หมาจู ชนิด บราชี่โกบิอัส แซนโทโซนัส (Brachygobius xanthozonus) หรือ ปลาบู่บัมเบิลบี (Bumblebee fish) ด้วยเหตุนี้ หากค้นหาชื่อวิทยาศาสตร์ของปลาบู่เสือ ก็จะได้ข้อมูลของปลาบู่บัมเบิลบี
หลังจากนั้นอีก 20 กว่าปี หรือเมื่อต้นปี พ.ศ. 2564 ดร. เฮเลน ได้ส่งภาพและข้อความมาบอกผู้เขียนหนังสือปลาน้ำจืดไทย ซึ่งก็คือ ดร.นณณ์ ว่ามีตัวอย่างปลาบู่ตัวหนึ่งจากแม่น้่ำคาบิลี (Kabili River) ซึ่งอยู่ใน ซานดากัน (Sandakan) รัฐซาบาห์ ประเทศมาเลเซีย โดยปลาตัวดังกล่าวมีรูปร่างและลวดลายเหมือนกับคำบรรยายและภาพวาดของปลาบู่เสือมากจนคิดว่าน่าจะเป็นชนิดที่มีอยู่จริง และเป็นที่สงสัยว่า ปลาบู่เสือในประเทศไทยนั้นหายไปไหนหมด? …สถานภาพในตอนนี้ ปลาบู่เสือ ยังไม่ถูกประกาศว่าสูญพันธุ์ อาจเพราะการมีอยู่ของปลาชนิดนี้ยังไม่ชัดเจน
สำหรับในประเทศไทย หากอ้างอิงตามหนังสือของ ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ ได้ระบุว่า ปลาที่อยู่ในสกุลปลาบู่หมาจู มีทั้งหมด 9 ชนิด ในประเทศไทยพบแล้วอย่างน้อย 7 ชนิด ซึ่งทั้งหมดจัดเป็นปลาที่มีขนาดเล็ก จนถึงเล็กมาก โดยเล็กที่สุดมีขนาดเพียง 1 เซนติเมตร นั้นก็คือ ปลาบู่หมาจูแคระ (Brachygobius sp. Dwarf) อาศัยในแหล่งน้ำจืด 100% พบในลุ่มน้ำเจ้าพระยาจนถึงภาคใต้ของไทย