ปลาเดวิลส์โฮลเป็นปลาที่มีขนาดเล็กเพียงหนึ่งนิ้ว พวกมันติดอยู่ในถ้ำหินปูนที่จมอยู่ใต้น้ำ ในทะเลทรายรัฐเนวาดาตั้งแต่ยุคน้ำแข็งครั้งสุดท้าย ปลาพวกนี้มีอายุขัยเพียงหนึ่งปี และด้วยเหตุนี้ประชากรจึงมีแนวโน้มที่จะแกว่งตัวสูงมาก โดยในปี 2013 ประชากรทั้งหมดลดลงเหลือเพียง 35 ตัว
ขณะที่ Olin Feuerbacher นักชีววิทยาด้านปลา กำลังดูภาพอินฟราเรด ซึ่งสามารถมองเห็นวัตถุในความมืดได้ ตัวอ่อนของลูกปลาตัวเล็กๆ ที่เล็กกว่าเมล็ดพริกไทยก็ว่ายเข้าไปในกรอบของกล้อง นี่เป็นข่าวใหญ่ เมื่อจำนวนประชากรลดลง นั้นหมายความว่าจำนวนปลาทุกตัว ไม่ว่าจะเป็นปลาในธรรมชาติหรือที่เลี้ยง ตัวอ่อนหรือตัวเต็มวัย ล้วนมีความสำคัญต่อการอยู่รอดของสายพันธุ์
จากความสยองขวัญสู่ความหวัง
นักวิทยาศาสตร์ทราบมาเป็นเวลาสองสามทศวรรษแล้วว่า มีด้วงดำน้ำอยู่ในถ้ำหินปูน Devil’s Hole ร่วมกับพวกปลาเดวิลส์โฮล ด้วงชนิดนี้มีมากกว่า 4,300 สายพันธุ์ มีพวกมันอยู่ทุกทวีปยกเว้นทวีปแอนตาร์กติกา Feuerbacher กล่าวว่าเมื่อเขาและนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ลงไปในถ้ำเพื่อนับจำนวนปลา พวกเขามักจะรู้สึกว่าด้วงน้ำพวกนี้กัดที่ขาของพวกเขา
และเมื่อพวกเขาสร้างศูนย์อนุรักษ์ Ash Meadows นักวิทยาศาสตร์พยายามสร้างระบบนิเวศของ Devil’s Hole ซึ่งหมายถึงการนำน้ำ สารตั้งต้น และสาหร่ายมาจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติมาด้วย ดังนั้นความจริงที่ว่าด้วงดำน้ำพวกนี้บางตัวได้ติดมาด้วย ตอนแรกดูไม่เลวร้ายนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไป นักวิทยาศาสตร์เริ่มสงสัยว่าด้วงอาจกำลังกินไข่ของลูกปลา แต่การที่มันสามารถกินตัวอ่อนที่ใหญ่กว่ามันสองเท่าได้ มันไม่ธรรมดา
สงครามกับด้วงน้ำ
ในเดือนมีนาคมปี 2018 นักวิทยาศาสตร์เริ่มเอาด้วงดำน้ำออกจากถัง โดยใช้กับดักจับแมลงในขณะที่พวกมันขึ้นมาหายใจ ในระหว่างการรวบรวมด้วงครั้งแรก ผู้จัดการสถานที่ Jennifer Gumm กล่าวว่าพวกเขาจับด้วงได้ 500 ตัวในสามชั่วโมง และยังพบเศษไข่ปลาจำนวนมาก
นักวิจัยสรุปว่าด้วงพวกนี้กินไข่ปลา และเมื่อกำจัดแมลงออกไปมากขึ้น ลูกปลาก็สามารถอยู่รอดได้มากขึ้น น่าเสียดายที่เรากำลังพูดถึงด้วงขนาดเท่าเมล็ดงาดำในถังขนาด 100,000 แกลลอน ซึ่งหมายความว่าการกำจัดทั้งหมดมันแทบเป็นไปไม่ได้ ..ทีมงานไม่ได้กำจัดด้วงออกจากถ้ำ Devil’s Hole (ของจริง) ด้วยเหตุผลบางประการ
ประการแรก นักวิจัยไม่ทราบว่าสิ่งนี้จะส่งผลกระทบต่อด้านอื่นๆ ของระบบนิเวศอย่างไร Gumm กล่าว ประการที่สอง ยังไม่พบด้วงกินไข่ปลาในธรรมชาติ ประการที่สาม ดูเหมือนด้วงในถ้ำ Devil’s Hole น้อยกว่าในที่เพาะเลี้ยง และอาจเป็นไปได้ว่าในสภาพแวดล้อมที่ประดิษฐ์ขึ้น ทำให้พวกมันจะมีอาหารน้อยกว่าและมีแนวโน้มที่จะกินไข่
ตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิที่แล้ว ทีมงานสามารถนำไข่ที่ผลิตในศูนย์อนุรักษ์และเลี้ยงพวกมันจนโตเต็มวัย ในห้องปฏิบัติการที่แยกจากกัน ต้องขอบคุณการรักษาด้วยยาต้านจุลชีพแบบใหม่ที่ป้องกันไม่ให้เกิดเชื้อราที่เป็นอันตรายกับไข่ “มันคือสิ่งที่ผู้คนพยายามทำมานานกว่า 40 ปี” Feuerbacher กล่าว
Gumm ยังกล่าวว่าขณะนี้มีปลาอยู่ประมาณ 50 ตัวในศูนย์อนุรักษ์ และอีกสิบถึงยี่สิบตัวที่กำลังเติบโตในห้องปฏิบัติการขยายพันธุ์ ซึ่งบางตัวได้เริ่มผลิตไข่แล้ว ซึ่งหมายความว่าขณะนี้นักวิทยาศาสตร์กำลังรวบรวมไข่จากสามแหล่ง ยิ่งไปกว่านั้น ทีมนับจำนวนปลาได้ถึง 187 ตัวในธรรมชาติ
แม้ว่าการค้นพบครั้งใหม่เมื่อเร็วๆ นี้จะเป็นข่าวที่น่าตื่นเต้นสำหรับสปีชีส์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ แต่พวกมันก็อาจให้ผลการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญได้ด้วยเช่นกัน
“เมื่อปลาวิวัฒนาการอย่างโดดเดี่ยว พวกมันสามารถพัฒนาการปรับตัวที่แปลกประหลาด” Prosanta Chakrabarty นักวิทยาด้านสัตว์น้ำจากมหาวิทยาลัยรัฐลุยเซียนากล่าว
ปลาเดวิลส์โฮล (Cyprinodon diabolis) ไม่มีครีบอก และพวกมันได้วิวัฒนาการมาเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในแหล่งอาศัยที่อุ่นกว่าและมีออกซิเจนต่ำกว่าที่ปลาส่วนใหญ่สามารถรับได้
“พวกมันอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีขนาดเล็กกว่าออฟฟิศของผู้คนได้อย่างไร” Chakrabarty พูดว่า “สัตว์ส่วนใหญ่จะไม่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมที่จะอยู่ร่วมกันในพื้นที่เล็กๆ ด้วยจำนวนที่น้อยเช่นนี้ ดังนั้น การค้นหาว่าพวกมันมีชีวิตรอดได้อย่างไร จึงมีความสำคัญต่อนักชีววิทยาด้านวิวัฒนาการ”
ในระหว่างนี้ การต่อสู้กับด้วงจะดำเนินต่อไป และมันจะเป็นแบบนี้ไปอีกหลายปี ทีมงานได้นำด้วงที่กินไข่และลูกปลาหลายพันตัวออกจากที่เพาะพันธุ์ในศูนย์อนุรักษ์ “ช่างเทคนิคของเราทำงานอย่างหนักการเอาพวกมันออกมา” มันเป็นความพยายามเพื่อปลาถ้ำหายากที่สุดในโลก