นกกาเหว่าคืออะไร?
นกกาเหว่า (Asian koel) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Eudynamys scolopaceus มันเป็นนกที่อยู่ในวงศ์คัคคู (Cuckoos) พบในเอเชียใต้ จีน เอเชียอาคเนย์รวมทั้งประเทศไทย พวกมันเป็นนกประเภทปรสิต ความยาวรวมหางประมาณ 39-46 เซนติเมตร หนัก 190-327 กรัม
ตัวผู้พันธุ์ต้นแบบมีสีดำแกมน้ำเงินเป็นเงา มีปากเทาเขียวสีจาง ม่านตาเป็นสีแดงเข้ม มีขาและเท้าสีเทา ส่วนตัวเมียพันธุ์ต้นแบบมีสีออกน้ำตาล มีลายออกแดงที่หัว ส่วนหลัง ตะโพกและปีก เป็นสีน้ำตาลมีจุดขาวหรือเหลือง ที่ท้องมีสีขาว ส่วนสปีชีส์ย่อยอื่น จะต่างกันทั้งขนาดและสี
และเนื่องจากนกกาเหว่ามี 2 สีที่แตกต่างกันมาก นั้นคือ นกกาเหว่าดำ และนกกาเหว่าลาย จนทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นชนิดที่ต่างกัน แต่จริงๆ แล้วมันคือ ตัวผู้มีสีดำและตัวเมียมีสีน้ำตาลลาย แถมยังมีเสียงร้องแตกต่างกันด้วย โดยตัวผู้มักจะร้อง “กา-เหว่า” ส่วนตัวเมียร้องเสียงสูงออกเป็น “คิก-คิก-คิก…” แต่เสียงก็อาจต่างออกไปขึ้นอยู่แหล่งอาศัย
ทำไมจึงเป็นแม่ที่ร้ายกาจที่สุดในธรรมชาติ
เหตุผลที่นกชนิดนี้เป็นแม่ที่ร้ายกาจที่สุดในธรรมชาติ ส่วนหนึ่งเพราะมันจะไม่เลี้ยงลูก มันเลือกที่จะวางไข่ไว้ในรังของนกชนิดอื่น และเมื่อลูกนกกาเหว่าเกิดมา สิ่งแรกที่มันทำคือพยายามเอาชนะคู่แข่ง อย่างน้อยมันต้องกินเก่งกว่าโตเร็วกว่า ซึ่งจะทำให้ลูกนกเจ้าบ้านอดตายในที่สุด แต่อะไรที่รับประกันว่าแม่นกกาเหว่าจะวางไข่สำเร็จ และอะไรที่ทำให้ลูกนกกาเหว่าเกิดมาแข็งแกร่งกว่าลูกนกเจ้าของรัง?
เคล็ดลับง่ายๆ ของนกกาเหว่าที่ทำให้มันวางไข่ได้สำเร็จ โดยที่เจ้าของบ้านจับไม่ได้ก็คือการที่ไข่ของมันเลียนแบบไข่เจ้าบ้านได้ แต่! มันไม่ใช่แค่นี้ เพราะในหนึ่งฤดูกาล นกกาเหว่าตัวผู้สามารถผสมพันธุ์กับนกตัวเมียได้หลายตัว โดยที่ยีนของตัวผู้จะไม่มีผลกระทบต่อสีของไข่ที่ผลิตขึ้นมา หรือก็คือสีและลักษณะของไข่จะขึ้นอยู่กับแม่นก
สิ่งนี้เป็นกุญแจสำคัญเพื่อป้องกันไม่ให้ไข่มีสีที่แตกต่างจากไข่ของเจ้าบ้านที่แม่นกได้หมายหัวเอาไว้แล้ว มันจะช่วยลดความเสี่ยงที่ไข่จะถูกปฏิเสธโดยเจ้าบ้าน …แต่ที่พูดมายังไม่พิเศษพอ เพราะมันมีวิธีที่พิเศษมากกว่านี้
นกกาเหว่าสลับไข่ได้อย่างไร?
เมื่อแม่นกกาเหว่าเลือกรังแล้ว มันจะเริ่มทำตัวเป็นสตอล์กเกอร์ มันจะเฝ้ามองรังเป้าหมายอยู่เป็นเวลาหลายวัน มันต้องรู้เวลาที่เจ้าบ้านผสมพันธุ์ เวลาที่วางไข่ เวลาที่รังว่าง ทั้งนี้ก็เพื่อให้แน่ใจว่าจะสลับไข่ได้สำเร็จ และเพื่อให้แน่ใจว่าไข่นกกาเหว่าจะฟักออกจากไข่ก่อนของเจ้าบ้าน ซึ่งจะสำคัญสำหรับขั้นตอนที่ลูกนกกาเหว่าจะยืดรังได้สำเร็จ
โดยปกติแล้วนกส่วนใหญ่ จะวางไข่ในช่วงเช้า จากนั้นมันจะอยู่ใกล้รังหลังจากวางไข่ในช่วงระยะหนึ่ง แต่นกกาเหว่าจะต่างออกไป เพราะมันสามารถวางไข่ในช่วงเวลาที่มันคิดว่าเหมาะสมได้ แต่ถึงอย่างงั้นก็มักเลือกเวลาตอนบ่ายหรือตอนหัวค่ำ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นกส่วนใหญ่ออกจากรัง
แต่หากรังเป้าหมายยังมีพ่อแม่นกเฝ้า มันอาจให้พ่อนกกาเหว่าช่วยล่อให้นกพวกนั้นออกห่างจากรับ …และเมื่อถึงตอนนั้น แม่นกกาเหว่าจะเริ่มสลับไข่อย่างลับๆ
เมื่อรังไม่มีนกตัวอื่นเฝ้า แม่นกกาเหว่าจะเข้ามาในรังอย่างรวดเร็ว จากนั้นมันจะผลักไข่ออกจากรัง หรืออาจถึงขั้นกินเข้าไปหนึ่งถึงสองฟอง จากนั้นมันจะแทนที่ด้วยไข่ของมันเอง ก่อนที่มันจะจากไปอย่างรวดเร็วอีกครั้ง ที่เหลือเชื่อคือ สิ่งที่มันทำทั้งหมดนี้ใช้เวลาเพียง 10 – 20 วินาที เท่านั้น
ทั้งนี้ในแต่ละปีนกกาเหว่าสามารถวางไข่ได้ถึง 50 ฟองในรังต่างๆ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดจะประสบความสำเร็จ ในขณะที่นกเจ้าบ้านมีวิวัฒนาการมาเพื่อวางไข่ที่มีลวดลาย เพื่อให้ยากต่อการปลอมแปลง นกกาเหว่าเองก็มีวิวัฒนาการวางไข่ปลอมด้วยการสร้างไข่ที่มีลวดลายเช่นเดียวกับเจ้าบ้านได้
มีการศึกษาหนึ่งระบุว่าเป้าหมายหลักของนกกาเหว่า ได้เปลี่ยนจาก “อีกา” มาเป็น “นกเอี้ยง” นั้นเพราะนกเอี้ยงมีจำนวนมาก จนได้กลายมาเป็นนกสามัญประจำประเทศไทย ตั้งแต่ช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และดูเหมือนนกเอี้ยงจะง่ายต่อการจัดการมากกว่าอีกา
เคล็ดลับสุดยอดที่ทำให้ไข่นกกาเหว่าฟักก่อนไข่เจ้าบ้าน
โดยปกติแล้วไข่ของนกกาเหว่าจะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 11 – 13 วัน ซึ่งสัมพันธ์กับระยะฟักตัวไข่ของเจ้าบ้าน แต่เพื่อให้แน่ใจว่าไข่ของมันจะฟักออกมาก่อน นกกาเหว่าจะมีกลยุทธ์อื่นเพิ่มเติมนั้นคือ
นกส่วนใหญ่วางไข่ภายใน 24 ชั่วโมงหลังการตกไข่ นั้นก็คือหลังจากที่ไข่ได้รับการปฏิสนธิ ไข่จะเดินทางผ่านท่อนำไข่ซึ่งจะมีการเติมไข่ขาวและเปลือกเพื่อสร้างไข่ และเมื่อถึงเวลาวางไข่ตัวอ่อนก็มีความพร้อม
อย่างไรก็ตามนกกาเหว่ายังมีวิธีพิเศษเพิ่มเติม มันจะเก็บไข่ไว้และฟักไข่ภายในตัว นานกว่าปกติถึง 24 ชั่วโมงก่อนจะวางไข่ อุณหภูมิร่างกายของนกกาเหว่าอยู่ที่ประมาณ 40 องศาเซลเซียส ในขณะที่ไข่นอกร่างกายจะถูกฟักที่อุณหภูมิประมาณ 36 องศาเซลเซียส
อุณหภูมิที่สูงกว่านี้หมายความว่าเมื่อนกกาเหว่าวางไข่ มันจะมีค่าเท่ากับการเริ่มต้นของพี่น้องบุญธรรมประมาณ 31 ชั่วโมง ..นั้นคือไข่นกกาเหว่าจะฟักก่อนไข่เจ้าบ้านอย่างน้อย 1 วัน
และเมื่อลูกนกกาเหว่าเกิดออกมา สิ่งแรกที่มันทำคือการสะสมพลังงาน โดยปกติลูกนกกาเหว่าจะไม่ค่อยมีพฤติกรรมการทำลายคู่แข่ง แต่ก็เคยมีรายงานว่าอาจดันไข่ออกจากรัง แต่สิ่งที่ลูกนกทำแน่ๆ คือ เติบโตเร็วอย่างแข็งแรงและแย่งกินจนลูกนกเจ้าบ้านอดตายไปเอง
และมันก็เป็นนกที่ออกแบบมาเพื่อการแย่งชิงตั้งแต่เกิด จึงไม่แปลกหากจะยึดครองรังได้สำเร็จ และสุดท้ายแม่นกบุญธรรมก็ต้องเลี้ยงดูมันจนเติบโต หลังจากแม่นกบุญธรรมเลี้ยงมันจนอ้วนตุ๊บ จนบินได้มันก็จะเปิดตูดจากไปโดยไม่ขอบคุณสักคำ
สำหรับแนวคิดเรื่องการฟักไข่ภายในตัวนก ได้รับการหยิบยกขึ้นมาโดยนักสะสมไข่มาตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 – 19 ซึ่งเขาแปลกใจที่เห็นการพัฒนาของตัวอ่อนขั้นสูงของนกกาเหว่า แต่สิ่งที่เขาคิดได้ถูกปฏิเสธโดยชุมชนวิทยาศาสตร์ จนต้องรอถึง 200 ปี จึงจะสามารถทดลองเรื่องนี้ได้ จนยืนยันว่าแนวคิดนี้เป็นเรื่องจริง
และแม้ว่าวิธีที่นกกาเหว่าจะดูโหดร้าย แต่ก็ยังเป็นธรรมชาติของสัตว์ และยังมีนกที่ดูโหดกว่านกกาเหว่าอีก มันคือ “นกฮันนีไกด์” ซึ่งมีคนชอบพูดว่าเป็นคู่หูฮันนีแบดเจอร์ แต่จริงๆ ทั้งมนุษย์และฮันนีแบดเจอร์นั้นล่ะที่ตามตูดนกชนิดนี้ไปหารังผึ้ง
นั้นเพราะนกชนิดนี้เกิดมาเพื่อค้นหารังผึ้ง มันตัวเล็กกว่านกกาเหว่า แต่ก็มีวิธีวางไข่ที่คล้ายกัน แต่มันแข็งแกร่งและลูกของนกฮันนีไกด์ก็โหดกว่ามากด้วย มันจะไม่เล่นเกมยาวเหมือนนกกาเหว่า แต่เมื่อเกิดมา มันสังหารลูกนกตัวอื่นจนหมดและมันจะทำลายไข่ที่เหลืออีกด้วย มันเป็นนกที่มีจะงอยปากที่แข็งแรงตั้งแต่เกิด มันอาจสังหารลูกนกทั้งรังได้ภายใน 1 ชั่วโมงหลังมันเกิด
ก็อย่างที่ได้ดูกันไป นกกาเหว่าที่ถือว่าเป็นปรสิตชนิดหนึ่ง พวกมันพิเศษและไม่ค่อยมีอะไรที่แน่นอน ทั้งตัวผู้ตัวเมียที่แตกต่างกัน มันต่างกันแม้แต่เสียงร้อง แถมยังบังคับไข่ให้อยู่ภายในตัวเพื่อเวลาที่เหมาะสมได้อีก สำหรับในยุคแม้นกชนิดนี้จะถูกระบุว่าความเสี่ยงต่ำที่จะสูญพันธุ์ แต่ผมเองก็ไม่ค่อยจะเห็นมันสักเท่าไร คิดว่านกกาเหว่าในประเทศไทยคงจะมีประชากรน้อยลง และในตอนนี้พวกมันก็เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองในประเทศไทย