ปลาตะพัดเอเซีย ตะพัดไทย และตะพัดลายงู

ปลาตะพัด ชื่อภาษาอังกฤษ (Asian Arowana) ส่วนชื่อวิทยาศาสตร์: Scleropages formosus เป็นปลาน้ำจืดโบราณชนิดหนึ่ง ลำตัวยาวประมาณ 1 เมตร มีน้ำหนักมากกว่า 7 กิโลกรัม ลำตัวแบน ด้านข้างส่วนท้องแบนเป็นสันคม เกล็ดมีขนาดใหญ่และหนา เกล็ดบนเส้นข้างตัวมี 21-24 เกล็ด ครีบหลังและครับก้นตั้งอยู่ค่อนไปทางปลายหาง ครีบอกค่อนข้างยาวประมาณหนึ่งในสามของความยาวลำตัว ครีบหางมนกลมปากกว้างมากเฉียงขึ้นด้านบน ที่ตอนปลายขากรรไกรล่างมีหนวดขนาดใหญ่แต่สั้น 1 คู่

ถิ่นอาศัย

Advertisements

ปลาตะพัดมีเขตแพร่กระจายพันธุ์ตั้งแต่ประเทศไทย ไปถึงมาเลเซีย และอินโดนีเซีย พบอาศัยอยู่ในลำธารน้ำไหลเอื่อยๆ ในบริเวณจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด และแม่น้ำลำคลองหลายสายในจังหวัดสุราษฎร์ธานี และสตูล มักเป็นลำธารที่มีน้ำค่อนข้างขุ่นมีลักษณะเป็นกรดน้อยและท้องน้ำเป็นหินปนทราย

อาหาร อาหารได้แก่ปลาขนาดเล็ก กบ เขียด ลูกกุ้งและสัตว์น้ำอื่น ๆ รวมทั้งสัตว์บกขนาดเล็กที่ตกลงไปในน้ำ

สถานภาพปัจจุบัน เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535

ปลาตะพัดลายงู ปลาที่ใกล้เคียงตะพัดไทยที่สุด เสี่ยงสูญพันธุ์

วัยเจริญพันธุ์

ปลาชนิดนี้มีลักษณะการสืบพันธุ์ที่แปลกจากปลาอื่น ๆ โดยวางไข่จำนวนน้อยฟอง แม่ปลาที่มีน้ำหนักตัว3-6 กิโลกรัม จะวางไข่เพียง 40-100 ฟอง ไข่แต่ละฟองมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางกว้างเฉลี่ย 1.72 เซนติเมตร เมื่อวางไข่ออกมาแล้วจะฟักไข่โดยการอมเอาไว้ในปากจนกระทั่งไข่ถูกฟักออกเป็นตัว และจะคอยดูแลลูกปลาหากมีศัตรูเข้ามาใกล้ แม่ปลาจะอ้าปากออกให้ลูกปลาเข้าไปหลบภายในปากหรือ พาหนีไปให้พ้นอันตราย

ขนาดและน้ำหนัก ลำตัวยาวประมาณ 1 เมตร มีน้ำหนักมากกว่า 7 กิโลกรัม

สาเหตุของการใกล้จะสูญพันธุ์ : สาเหตุการคุกคามคือการจับมากเกินขนาด และการสูญเสียถิ่นอาศัยที่เป็นลำธารในป่าดงดิบราบต่ำ

รูปแบบการใช้ประโยชน์และการค้า : ใช้ประโยชน์ในรูปของปลามีชีวิต เพื่อเป็นปลาสวยงามที่มีราคาสูง และมีความนิยมมาก ลักษณะปลามีสีเหลืองทอง สีแดง หรือสีเขียว มากกว่าปลาที่มีสีน้ำเงิน ประเทศมาเลเซีย เป็นประเทศหนึ่งที่สามารถเพาะพันธุ์ได้สำเร็จสามารถส่งออกจำหน่ายได้โดยฟาร์มที่ผ่านการรับรองจาก CITES ซึ่งสามารถส่งไปจำหน่ายยังประเทศต่าง ๆ ได้เช่น ไทย สิงคโปร์ ฮ่องกง จีน ญี่ปุ่น เป็นต้น ส่วนในยุโรป และอเมริกามีความนิยมน้อย

สำหรับประเทศไทยกรมประมงประสบผลสำเร็จในการเพาะพันธุ์ปลาตะพัดเขียว ในปี 2531 ส่วนฟาร์มเอกชนยังไม่ปรากฎรายงานอย่างเป็นทางการว่าสามารถเพาะพันธุ์ได้ ปัจจุบันในประเทศไทย มีฟาร์มที่ได้รับอนุญาตให้เพาะพันธุ์ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร

กฎหมายคุ้มครอง

เป็นปลาที่อยู่ใน บัญชี 1 ของอนุสัญญา CITES และ เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่เพาะพันธุ์ได้ ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 โดยห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการโดยมิได้รับอนุญาต ดังนี้

1. ห้ามเก็บ กัก ดัก จับ ยิง ฆ่า หรือทำอันตรายด้วยประการอื่นใด
2. ห้ามเพาะพันธุ์
3. ห้ามครอบครอง
4. ห้ามค้า
5. ห้ามนำเข้า ส่งออก หรือ นำผ่าน

ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปีปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อ่าน : ปลาน้ำจืด

Advertisements
แหล่งที่มาองค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์