1. งูเห่า – Siamese / Monocellate Cobra
งูเห่า (Siamese / Monocellate Cobra) จัดว่าเป็นงูพิษขนาดกลาง เมื่อโตเต็มวัยจะยาวประมาณ 100 – 180 เซนติเมตร ตัวยาวที่สุดที่เคยวัดได้เป็นของ สถานเสาวภาคือ 225 เซนติเมตร เป็นงูที่แผ่แม่เบี้ยได้โดยการตั้งส่วนหัวและคอขึ้น แล้วจะแผ่ส่วนคอให้ขยายกว้างออก มีลายตรงกลางแม่เบี้ยที่ด้านหลังของส่วนคอ เรียกว่า “ลายดอกจัน” ลักษณะส่วนใหญ่จะเป็นรูปวงแหวนเดี่ยว
งูเห่ามีสีที่หลากหลาย เช่น ดำ, น้ำตาล, เขียวอมเทา เหลืองหม่น และยังมีสีขาวปลอดทั้งลำตัว ซึ่งจะถูกเรียกว่า “งูเห่าสีนวล” โดยบางแหล่งข้อมูลอ้างว่าเป็นงูเห่าอีกชนิดที่พบเฉพาะในจังหวัดสุพรรณบุรี อ่างทองและปทุมธานี แต่! ก็มีแหล่งข้อมูลอื่นที่บอกว่า มันก็คือ งูเห่าหม้อ (N. kaouthia) ที่มีสันแตกต่างออกไป
งูเห่าจะมีพิษทำลายระบบประสาทอย่างรุนแรง ชอบอาศัยบริเวณที่ลุ่มค่อนข้างชื้น โดยเฉพาะในจอมปลวก ทุ่งนา เป็นงูที่ออกหากินในเวลาพลบค่ำโดยหากินตามพื้นดิน พบทั่วทุกภาคของประเทศไทย และยังพบในพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย อินเดีย บังคลาเทศ เนปาล และจีน
2. งูจงอาง – King Cobra
งูจงอาง (King Cobra) บางพื้นที่เรียกว่า บองหลา จัดเป็นงูพิษขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และยังเป็นงูที่มีปริมาณพิษมากที่สุดในโลกอีกด้วย การกัดหนึ่งครั้งของงูจงอางจะส่งพิษเข้าไปในเหยื่อมากที่สุด โดยพิษของงูจงอางจะทำลายระบบประสาทเช่นเดียวกับงูเห่า และแม้พิษจะรุนแรงน้อยกว่างูเห่า แต่เพราะการกัดที่ส่งพิษประมาณมาก จึงทำให้เกิดผลที่รุนแรงกว่า
สำหรับความยาวของงูจงอางจะอยู่ที่ประมาณ 200 – 540 เซนติเมตร ความยาวเฉลี่ย 400 เซนติเมตร ขนาดยาวที่สุดที่เคยบันทึกไว้คือ 585 เซนติเมตร ซึ่งอ้างอิงจากสถานเสาวภา โดยขนาดตัวและสีของงูจงอางค่อนข้างผันแปร ซึ่งเกี่ยวข้องกับขอบเขตทางภูมิศาสตร์ งูจงอางภาคใต้ของไทยจะมีขนาดใหญ่ที่สุด มีสีน้ำตาลอมเขียวหรือสีเขียวอมเทา ลวดลายตามลำตัวไม่ชัดเจน งูจงอางภาคเหนือมีสีเข้มเกือบดำ นิสัยดุ งูจงอางภาคกลางและภาคอีสานมีลายขวางเป็นบั้งๆ ตลอดลำตัว
งูจงอางชอบอาศัยอยู่ในป่าทึบโดยจะชอบอยู่ใกล้แหล่งน้ำ อาศัยอยู่บริเวณที่สูงกว่าระดับน้ำทะเลได้ถึง 2,000 เมตร บ่อยครั้งก็จะเข้ามาบ้านคนเช่นกัน เป็นงูที่พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย
3. งูกะปะ – Malayan Pitviper
งูกะปะ (Malayan Pitviper) อาจเป็นงูที่คนไทยโดนกัดมากที่สุด เนื่องจากสังเกตุเห็นได้ยากและยังชอบนอนอยู่เฉยๆ จนคนเดินเข้าไปใกล้มันจึงกัด พิษของงูกะปะจะมีผลต่อระบบเลือด ทำให้เลือดออกมากผิดปกติ เมื่อถูกกัดไปสักพัก บริเวณรอบแผลที่ถูกกัดจะบวมขึ้นอย่างรวดเร็ว ภายหลังถูกกัดไม่กี่วัน รอยเขี้ยวจะเน่า ผู้ที่ถูกกัดจะเสียชีวิตจากความดันโลหิตต่ำ ซึ่งเกิดจากการเสียเลือดตลอดเวลา
งูกะปะมีความยาวประมาณ 50-80 เซนติเมตร และอาจยาวได้ถึง 100 เซนติเมตร ลำตัวสีน้ำตาลแดงหรือน้ำตาลเทา มีลายรูปสามเหลี่ยมสีน้ำตาลเข้มขอบขาวเรียงเป็นแถวอยู่สองข้าง ส่วนหัวสีน้ำตาลเข้ม มีเส้นสีน้ำตาลอ่อนหรือสีขาวนวลพาดจากปลายจมูกผ่านขอบบนของลูกตาไปที่มุมขากรรไกรบนปลายจมูกแหลมเชิดขึ้น
เป็นงูที่ชอบขดตัวนอนนิ่งๆ อยู่ตามซอกหิน ใต้ใบไม้ร่วง ในสวนยางพารา พบทั่วทุกภาคของประเทศไทย รวมถึงลาว กัมพูชา เวียดนามใต้ มาเลเซีย และเกาะชวาของอินโดนีเซีย
4. งูแมวเซา – Siamese Russell’s Viper
งูแมวเซา (Siamese Russell’s Viper) เป็นงูที่มีรูปร่างอ้วนป้อม ลำตัวจึงดูสั้น ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อนแต้มลายเป็นวงสีน้ำตาลเข้มกระจายอยู่ทั่วตัวโดยมีขอบด้านในสีดำ หัวเป็นรูปสามเหลี่ยมปกคลุมด้วยเกล็ดขนาดเล็ก ลวดลายบนหัวมีสีน้ำตาลเข้มมองดูคล้ายหัวลูกศร เวลาตกใจหรือถูกรบกวนมักขดตัวเป็นวง พร้อมทั้งทำเสียงขู่คล้ายแมวหรือเสียงของยางรถยนต์รั่ว เป็นงูที่ฉกกัดได้รวดเร็วแทบไม่ทันตั้งตัว ทั้งๆ ที่ขดตัวอยู่ในลักษณะปกติ
งูแมวเซามีพิษต่อการแข็งตัวของเลือดโดยตรง และยังทำให้เกิดอาการไตวายได้ เป็นงูที่ชอบอาศัยอยู่ตามที่ดอนแห้ง ทุ่งนา ขดตัวนอนตามโพรงดิน ซอกหินหรือพงหญ้ารก เป็นงูที่ไม่ชอบขึ้นต้นไม้ พบมากบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศไทย และยังพบในพม่า กัมพูชา จีนตอนใต้ ไต้หวัน และเกาะชวาของอินโดนีเซีย
5. งูสามเหลี่ยม – Banded Krait
งูสามเหลี่ยม (Banded Krait) มีความยาวประมาณ 100 – 180 เซนติเมตร ลำตัวมีสีดำสลับเหลือง ดูเป็นปล้องขนาดใกล้เคียงกันตลอดตัว ทั้งส่วนบนและส่วนท้อง โดยส่วนท้องจะมีสีจางกว่า ลักษณะเด่นที่สุดของงูชนิดนี้คือ แนวของกระดูกสันหลังจะยกตัวสูงเด่น ทำให้เห็นเป็นรูปสามเหลี่ยมชัดเจน เป็นงูที่รักสงบ หากไม่ถูกรบกวนจะไม่ฉกกัด
พิษของงูสามเหลี่ยมจะทำลายระบบประสาท ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจเป็นอัมพาตชั่วคราว และจะนำไปสู่สมองขาดออกซิเจน หากไม่ได้รับการช่วยเหลือจะตายหรือพิการได้ นอกจากนี้พิษยังทำลายระบบเลือดจนทำให้ไตวายได้อีก
เป็นงูที่พบได้ทุกภาคในประเทศไทย พบได้มากในภาคใต้ รวมถึงป่าพรุโต๊ะแดง ออกหากินในเวลากลางคืน มักขดนอนตามโคนกอไม้ไผ่, ป่าละเมาะ, พงหญ้าริมน้ำ
6. งูทับสมิงคลา – Malayan Krait
งูทับสมิงคลา (Malayan Krait) เป็นงูที่ได้ชื่อว่ามีพิษร้ายแรงมากๆ ชนิดหนึ่ง มีความยาวประมาณ 100 – 150 เซนติเมตร ลำตัวยาวและตรงกลางของหลังดูเป็นสัน แต่ไม่สูงเท่างูสามเหลี่ยม มีสีดำสลับขาวเป็นปล้องตลอดความยาวลำตัว มีเกล็ดดำแซมอยู่ในปล้องขาว ส่วนท้องมีสีขาว ส่วนบนของหัวมีสีดำปนเทา ส่วนหางเรียวยาวและปลายหางแหลม เป็นงูที่ว่องไวปราดเปรียวและพิษมีความรุนแรงกว่างูสามเหลี่ยม
พิษของงูทับสมิงคลาจะส่งผลต่อระบบประสาทและระบบเลือด จะทำให้เกิดอาการชักกระตุก ปวดท้อง มีเลือดออกที่ใต้ผิวหนังเป็นจุดๆ เลือดออกตามไรฟัน และไอเป็นเลือด หากไม่ได้รับการรักษาจะตายในที่สุด
งูทับสมิงคลา ชอบอาศัยตามพื้นดินที่ลุ่มชื้นใกล้แหล่งน้ำ พบทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยจะพบมากทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ นอกจากนี้ยังพบในประเทศลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย
7. งูเขียวหางไหม้ท้องเหลือง – White-lipped Pitviper
งูเขียวหางไหม้ท้องเหลือง (White-lipped Pitviper) เป็นงูที่มีความยาวประมาณ 70 – 90 เซนติเมตร เป็นงูที่มีรูปร่างค่อนข้างอ้วน ปกคลุมด้วยเกล็ดที่มีสันชัดเจน ลำตัวและหัวเป็นสีเขียวอ่อนส่วนหัวเป็นรูปสามเหลี่ยมปกคลุมด้วยเกล็ดขนาดเล็กและเรียบ ส่วนท้อง ริมฝีปาก และคางมีสีเหลือง ขาว หรือสีเขียวอ่อนกว่าสีของลำตัว ในงูตัวผู้มักจะมีเส้นข้างตัวสีขาว พาดผ่านเกล็ดลำตัวแถวนอกสุดตั้งแต่คอถึงหาง หางจะสีน้ำตาลแดง
สำหรับพิษของงูชนิดนี้จะส่งผลต่อระบบเลือด มักพบอยู่ในสวนใกล้บ้านคน พบได้ทั่วทุกภาคของประเทศไทย และมีการแพร่กระจายใน พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม เกาะมาเก๊า ไต้หวัน จีนตอนใต้ บังคลาเทศ และอินเดีย
8. งูเขียวหางไหม้ตาโต – Big-eyed Pitviper
งูเขียวหางไหม้ตาโต (Big-eyed Pitviper) มีความยาวประมาณ 60 – 70 เซนติเมตร ลำตัวค่อนข้างเพรียว มีสีเขียวแก่หรือสีเขียวอมฟ้า ส่วนท้องมักมีสีเขียวอมฟ้าโดยเฉพาะริมฝีปากล่างและคาง ส่วนหัวเป็นรูปทรงสามเหลี่ยมค่อนข้างอ้วนป้อมดูใหญ่กว่าลำคออย่างชัดเจน ลักษณะเด่นคือมีดวงตากลมโตสีเหลืองขนาดใหญ่กว่างูเขียวหางไหม้ทุกชนิด
พิษของงูเขียวหางไหม้ตาโต จะส่งผลต่อระบบเลือด ซึ่งมีความรุนแรงพอสมควร แต่ก็ยังเบากว่างูเขียวหางไหม้ท้องเหลือง เป็นงูที่ชอบอาศัยอยู่ตามต้นไม้ในสวนใกล้บ้านเรือน หรือใกล้แหล่งน้ำลำธาร พบมากเป็นพิเศษที่ภาคกลางของประเทศไทย นอกจากนี้ยังพบในประเทศกัมพูชา เวียดนาม และลาวตอนใต้
9. งูลายสาบคอแดง – Red-necked Keelback Snake
งูลายสาบคอแดง (Red-necked Keelback Snake) มีความยาวประมาณ 80 – 130 เซนติเมตร ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเขียวมะกอก ส่วนหัวมีสีเขียวมะกอก มีขีดสีดำพาดจากมุมตาไปยังริมฝีปากบน ลักษณะเด่น คือ ส่วนคอมีสีเเดงอมส้ม จัดเป็นงูพิษอ่อนที่พิษอาจออกฤทธิ์รุนเเรงต่อระบบโลหิต ในบางรายที่ถูกกัดอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
งูลายสาบคอแดง เป็นงูที่ชอบอาศัยอยู่ตามพื้นดินในเขตพื้นที่ราบลุ่มของป่าร้อนชื้น พบทั่วทุกภาคของประเทศไทย รวมถึงพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซียตอนเหนือ สิงคโปร์ อินโดนีเซีย จีน อินเดีย และเนปาล