8 ปลาน้ำจืดในไทย ที่ใกล้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ

หากได้ดู 8 ชื่อนี้ น้าๆ อาจคิดว่าบางชนิดก็ยังเห็นอยู่นะ แต่คำว่า "ใกล้สูญพันธุ์" มันจะถูกอ้างอิงจากปลาในธรรมชาติเท่านั้น และทั้ง 8 ชนิดนี้ส่วนใหญ่จะพบได้ในไทย และบางชนิดอาจพบได้เฉพาะในไทยเท่านั้นเช่นกัน เดี๋ยวมาดูกันว่ามีชนิดไหนบ้าง

1. ปลาสะนากยักษ์ (Giant salmon carp)

Advertisements

ปลาสะนากยักษ์ (Giant salmon carp) ปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Aaptosyax grypus อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) เป็นปลาที่มีรูปร่างเรียวยาวทรงกระบอก ปากกว้าง ขากรรไกรโค้งคล้ายกรรไกรตัดหมาก ตามีเยื่อไขมันคลุม เกล็ดเล็กมาก ลำตัวสีเงินวาวเหลือบเหลืองทอง ครีบสีส้มเรือๆ มีขนาดประมาณ 60 – 100 เซนติเมตร ใหญ่สุดได้ถึง 1.5 เมตร

ปลาสะนากยักษ์ มีพฤติกรรมมักล่าเหยื่อ คือ ปลาที่อยู่ตามผิวน้ำ ผสมพันธุ์ในฤดูร้อน ลูกปลาวัยอ่อนเลี้ยงตัวในลำธารและแม่น้ำสาขา พบเฉพาะแม่น้ำโขงที่เดียวในโลกเท่านั้น เป็นปลาที่หายากมากปัจจุบันอยู่ในสถานะ “เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์”

2. ปลากระเบนลาว (Mekong stingray)

ปลากระเบนลาว หรือ ปลากระเบนแม่น้ำโขง (Mekong stingray) ชื่อวิทยาศาสตร์ Dasyatis laosensis ปลากระเบนน้ำจืดชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลากระเบนธง (Dasyatidae) มันเป็นปลาที่มีรูปร่างคล้ายปลากระเบนในวงศ์นี้ทั่วไป

ปลากระเบนลาว ส่วนหัวจะออกเป็นรูปทรงห้าเหลี่ยม ตาโต หางมีริ้วหนังบาง ๆ โคนหางมีเงี่ยงแหลมมีพิษ 1 หรือ 2 ชิ้น ที่เมื่อหลุดหรือหักไปแล้วสามารถงอกใหม่ทดแทนได้ ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลนวล กลางหลังมีเกล็ดเป็นตุ่มหยาบ ๆ ลำตัวด้านล่างสีขาว และมีปื้นสีเหลืองอ่อนหรือส้มปน

ความกว้างของลำตัวประมาณ 40 เซนติเมตร พบใหญ่ที่สุด 80 เซนติเมตร ส่วนหางยาว 1.2 เมตร น้ำหนักมากที่สุดมากกว่า 10 กิโลกรัม ..พบเฉพาะแม่น้ำโขงตอนกลาง ในช่วงของประเทศกัมพูชา, ลาว, ไทย และอาจพบได้จนถึงจีนตอนล่าง ปัจจุบันอยู่ในสถานะ “ใกล้สูญพันธุ์”

3. ปลาซิวหัวตะกั่วสุโขทัย (Flying minnow)

ปลาซิวหัวตะกั่วสุโขทัย หรือ ปลาท้องพลุ (Flying minnow, Siamese hatchetfish) ชื่อวิทยาศาสตร์ Laubuka caeruleostigmata เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็ก จำพวกปลาซิวและปลาท้องพลุ ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae)

ปลาซิวหัวตะกั่วสุโขทัย

Advertisements
เป็นปลาที่มีรูปร่างค่อนข้างกว้าง ลำตัวแบนข้างมาก ส่วนท้องเป็นสัน เส้นข้างลำตัวโค้งลงเห็นชัดเจน และขนานกับริมท้อง ครีบอกแหลมยาว ก้านครีบของครีบท้องยื่นยาวเป็นเส้นเดี่ยว ที่หัวและบนหลังตอนหน้าครีบหลังมีจุดสีน้ำเงินเข้ม บนลำตัวหลังช่องเหงือกมีจุดสีดำขนาดใหญ่ 1 จุด และเหนือครีบอกมีจุดสีดำ 4-9 จุด สีของลำตัวทั่วไปเป็นสีขาวอมเขียวแวววาว

มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 7 เซนติเมตร แต่ขนาดโดยเฉลี่ย 4-5 เซนติเมตร จัดเป็นปลาซิวหัวตะกั่ว 1 ใน 2 ชนิดที่พบได้ในประเทศไทย พบกระจายพันธุ์ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนบนและแม่น้ำโขง ..ปัจจุบันอยู่ในสถานะ “เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์”

4. ปลากระเบนราหูน้ำจืด (Giant freshwater whipray)

Advertisements

ปลากระเบนราหูน้ำจืด เป็นปลากระเบนน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เป็นอันดับสองหากรวมปลากระเบนน้ำเค็มเข้าไปด้วย (รองจากปลากระเบนแมนตา) ปลากระเบนราหูน้ำจืด (Giant freshwater whipray) ชื่อวิทยาศาสตร์ Himantura polylepis

ปลากระเบนราหูน้ำจืดมีน้ำหนักได้ถึง 600 กิโลกรัม ความกว้างได้ถึง 2.5–3 เมตร หรือมากกว่านั้น รวมถึงมีความยาวตั้งแต่ปลายส่วนหัวจรดปลายหางที่บันทึกไว้ได้ใหญ่ที่สุด คือ 5 เมตร มีส่วนหางเรียวยาวเหมือนแส้ มีลักษณะส่วนปลายหัวแหลม มีเงี่ยงแหลมที่โคนหาง 2 ชิ้น ซึ่งในปลาขนาดใหญ่อาจยาวได้ถึง 8–10 นิ้ว เมื่อหักไปแล้วสามารถงอกขึ้นได้ เงี่ยงมีพิษที่มีความรุนแรงเทียบเท่ากับพิษของงูกะปะ

สมัยก่อนปลาชนิดนี้สามารถพบได้ในแม่น้ำหลายแห่งของไทย แต่ปัจจุบันได้สูญพันธุ์หมดไปจากที่นี่แล้ว โดยสถานที่ๆ มักพบตัวขนาดใหญ่ คือ แม่น้ำแม่กลอง บริเวณ 20 กิโลเมตรก่อนไหลลงสู่อ่าวไทย ในเขตอำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ปัจจุบันอยู่ในสถานะ “เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์”

5. ปลากระโห้ (Siamese giant carp)

ปลากระโห้ (Siamese giant carp) เป็นปลาเพียงชนิดเดียวที่อยู่ในสกุล Catlocarpio เป็นปลาน้ำจืดที่มีขนาดเกล็ดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นปลาในวงศ์ปลาตะเพียนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอีกด้วย โดยเฉลี่ยมักมีขนาดประมาณ 1.5 เมตร แต่พบใหญ่สุดได้ถึง 3 เมตร หนักได้ถึง 150 กิโลกรัม

ปลากระโห้

Advertisements
ในธรรมชาติพบเฉพาะในแม่น้ำสายใหญ่ ตั้งแต่แม่น้ำแม่กลองถึงแม่น้ำโขง โดยเฉพาะในแม่น้ำเจ้าพระยาในแถบที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทยในหลายจังหวัด และยังพบได้บ้างที่แม่น้ำป่าสัก ในต่างประเทศพบได้ที่ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ..ปัจจุบันอยู่ในสถานะ “เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์”

6. ปลายี่สก (Seven-Stripped Carp)

ปลายี่สก หรือ ปลายี่สกทอง เป็นปลาน้ำจืด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Probarbus jullieni อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน (Cyprinidae) เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ ขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่พบมีความยาว 1 เมตร และมีน้ำหนักถึง 40 กิโลกรัม

เป็นปลาที่หัวค่อนข้างโต มีหนวดสั้น 1 คู่ อยู่มุมปากบน ปากเล็กยืดหดได้ อยู่คล้อยลงมาใต้ส่วนหัว สีของลำตัวเหลือง มีแถบสีดำ 7 แถบ พาดไปตามความยาวของลำตัว แถบสีดำเหล่านี้จะพาดอยู่ระหว่างรอยต่อของเกล็ด ตาสีแดง ครีบทุกครีบสีชมพู

ชอบอยู่ตามแม่น้ำที่พื้นเป็นกรวด หิน หรือทราย พบตามแหล่งน้ำใหญ่ของภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสาน เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำน่าน แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง นอกจากนี้แล้วยังพบได้ที่แม่น้ำปะหังในรัฐปะหังของมาเลเซีย ปัจจุบันอยู่ในสถานะ “ใกล้สูญพันธุ์”

7. ปลาตะพัด (Arowana)

Advertisements

ปลาตะพัด หรือที่เรียกว่า ปลาแอโรวานา (Arowana) ชื่อวิทยาศาสตร์ Scleropages formosus เป็นปลาน้ำจืด ในวงศ์ปลาตะพัด (Osteoglossidae) จัดได้ว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์มีชีวิตชนิดหนึ่ง นับว่าเป็นปลาที่ใกล้สูญพันธุ์ในธรรมชาติ เนื่องจากเป็นปลาที่สืบพันธุ์ยาก ประกอบกับแหล่งที่อยู่ถูกทำลาย

เป็นปลาได้รับความนิยมอย่างสูงของนักเลี้ยงปลาสวยงาม ในฐานะของปลาสวยงาม ราคาแพง และถือเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พุทธศักราช 2535 ปัจจุบันอยู่ในสถานะ “ใกล้สูญพันธุ์”

8. ปลาบึก (Mekong Giant Catfish)

ปลาบึก (Mekong giant catfish) เป็นปลาน้ำจืดไม่มีเกล็ดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ขนาดตัวเต็มวัยยาวประมาณ 3 เมตร มีน้ำหนักมากกว่า 250 กิโลกรัม แต่เดิมเป็นปลาเฉพาะถิ่น (endemic species) ที่พบเฉพาะในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาเท่านั้น

ปลาบึกได้รับฉายาว่า “ราชินีแห่งแม่น้ำโขง” และมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “ไตรราช” ขณะที่ชาวจีนจะเรียกว่า “ปลาขงเบ้ง” (จีน: 孔明鱼) เนื่องจากมีปรัมปราเล่าว่า ขงเบ้งเมื่อครั้งยกทัพมาทำศึกในภาคใต้ของจีนนั้นได้เกิดเสบียงอาหารขาดแคลน จึงอธิษฐานแล้วโยนกุนเชียงลงในน้ำกลายเป็นปลาขนาดใหญ่เพื่อเป็นเสบียงของกองทัพ คือ ปลาบึก

Advertisements
เป็นเรื่องจริงที่จำนวนปลาบึก เหลืออยู่ในธรรมชาติน้อยมากๆ และอยู่ในกลุ่มสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ (Endangered Species) โดย ปัจจุบันสหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ จัดปลาบึกอยู่ในกลุ่ม “เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์”

ก็ถือว่าหมดแล้วสำหรับปลาทั้ง 8 ชนิด บางชนิดกรมประมงสามารถเพาะพันธุ์ได้สำเร็จแล้ว อย่างเช่นปลาบึก ปลายี่สก แต่ปลาพวกนี้จะไม่ถูกนับเป็นปลาธรรมชาติ และถูกห้ามปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติเช่นกัน แต่ก็มีการปล่อยตามเขื่อนทุกๆ ปี แต่บางชนิดอาจสายเกินไปที่จะอนุรักษ์

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements