ตุ่นปากเป็ดเป็นสัตว์ประจำถิ่นของออสเตรเลีย ตุ่นปากเป็ดมีลำตัวแบน หัวเรียวท้ายเรียว ในตัวเต็มวัย ตัวผู้จะมีความยาวประมาณ 50 เซนติเมตร หนัก 1.7 กิโลกรัม ตัวเมียมีความยาวประมาณ 44 เซนติเมตร หนัก 0.9 กิโลกรัม
นอกจากบริเวณปากและเท้าแล้ว ตุ่นปากเป็ดมีขนปกคลุมตลอดตัว และยังมีขนถึงสองชั้น ขนชั้นนอกยาวและหยาบ สีน้ำตาลเข้ม ส่วนขนชั้นในเป็นขนอ่อน เส้นละเอียดและหนาแน่น มีตั้งแต่สีเทาจนถึงสีน้ำตาลเข้ม ซึ่งจะกันน้ำได้ ช่วยรักษาอุณหภูมิของร่างกายให้คง ในช่วงที่ตุ่นปากเป็ดดำลงไปในน้ำที่เย็นจัด … ต่อไปเป็น 8 ข้อเท็จจริงของตุ่นปากเป็ด
ข้อที่ 1 – แต่เดิมคนคิดว่าตุ่นปากเป็ดเป็นสัตว์ที่ปลอมขึ้นมา
เนื่องจากลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของตุ่นปากเป็ด มันเป็นการรวมของสัตว์หลายชนิด เช่น ปากและเท้าที่เหมือนมาจากเป็ด ลำตัวและขนเป็นของนาก และหางก็เป็นของบีเวอร์
ทั้งหมดนี้มันจึงดูเป็นเรื่องหลอกลวง โดยครั้งแรกที่ชาวยุโรปที่เดินทางมาที่ออสเตรเลียและพบเข้ากับตุ่นปากเป็ด ในปี 1798 พวกเขาได้วาดภาพและส่งกลับไปตรวจสอบ ที่นั้นไม่มีใครเชื่อว่ามีสัตว์แบบนี้อยู่จริงๆ แม้แต่นักธรรมชาติวิทยา จอร์จชอว์ (George Shaw) ก็ยังเคยอธิบายไว้ในปี 1799 บอกว่าเป็นสัตว์ที่ไม่น่าจะมีอยู่จริง …นั้นเพราะเขาคิดว่ามันเป็นของที่เอาไว้หลอกเอาตังค์ผู้คน
ข้อที่ 2 – ตุ่นปากเป็ดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีพิษ!
น้อยมากๆ ที่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะมีพิษ แต่ตุ่นปากเป็ดเป็นสัตว์มีพิษ พิษของมันไม่ได้เกิดจากการกัดด้วยปาก แต่จะส่งผ่านเท้าหลังของมัน และพิษจะมีเฉพาะตัวผู้เท่านั้น โดยพิษสามารถทำร้ายมนุษย์ได้แต่ก็ไม่ถึงตาย ในกรณีที่เป็นสัตว์ขนาดเล็กหากโดนพิษก็อาจตายได้
ข้อที่ 3 – ตุ่นปากเป็ดเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่วางไข่
นอกจากจะเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีพิษแล้ว ตุ่นปากเป็ดยังเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่วางไข่อีกต่างหาก จริงๆ แล้วจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่ค่อยมีใครรู้เกี่ยวกับวงจรชีวิตของตุ่นปากเป็ด เท่าที่รู้คือตัวผู้จะไม่มีส่วนในการเลี้ยงดูลูกหลังจากผสมพันธุ์ ตัวเมียจะตั้งครรภ์ไข่เป็นเวลา 2 – 4 สัปดาห์จากนั้นก็จะเป็นขั้นตอนการฟักไข่อีกสัปดาห์ …สรุปคือมันวางไข่เหมือนไก่
ข้อที่ 4 – น้ำนมตุ่นปากเป็ดสามารถต่อสู้กับซุปเปอร์บั๊กได้
เนื่องจากตุ่นปากเป็ดไม่มีวิธีที่ปลอดเชื้อในการส่งน้ำนมไปให้ลูกๆ มันจึงจำเป็นต้องมีการป้องกันเพิ่มเติมจากแบคทีเรียที่อยู่ในสภาพแวดล้อม โดยในปี 2010 นักวิจัยค้นพบว่า นมของตุ่นปากเป็ดมีคุณสมบัติในการต้านเชื้อแบคทีเรีย ที่ทำให้เกิดการดื้อยาปฏิชีวนะได้
ส่วนซุปเปอร์บั๊ก (Superbugs) ก็คือเชื้อแบคทีเรียที่ดื้อยาต้านแบคทีเรียหลายชนิดในคราวเดียวกัน หรือก็คือการดื้อยา ผู้ติดเชื้อ ซุปเปอร์บั๊ก จึงมีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก การใช้ยาต้านแบคทีเรียอย่างพร่ำเพรื่อจะเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดซุปเปอร์บั๊ก
ข้อที่ 5 – ตุ่นปากเป็ดไม่มีกระเพาะอาหาร
เป็นสิ่งที่น่าแปลกใจและก็เหลือเชื่อด้วย เมื่อพบว่าตุ่นปากเป็นที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่ไม่มีกระเพาะอาหาร อาหารที่พวกมันกินจะไปอยู่ที่ลำไส้โดยตรง ไม่มีถุงน้ำย่อยหรือแม้แต่กรดที่จะช่วยย่อยอาหารที่มันกินเข้าไป แต่ยังไงซะมันก็ยังมีวิธีพิเศษของมันอยู่ดี
ข้อที่ 6 – ตุ่นปากเป็ดไม่มีฟัน
นอกจากจะไม่มีกระเพาะแล้ว มันยังไม่มีฟันอีกด้วย แล้วพวกมันจะกินได้อย่างไง? วิธีของมันคือ ตุ่นปากเป็ดดำน้ำเพื่อหาอาหาร พวกมันจะกวาดกรวดจากก้นแม่น้ำเข้าไปด้วย หลังจากนั้นอาหารและกรวดจะเต็มปาก มันจะเริ่ม “เคี้ยว” โดยการบดกรวดและเหยื่อเข้าด้วยกัน นี่คือวิธีกินของตุ่นปากเป็ด
ข้อที่ 7 – ตุ่นปากเป็ด “มองเห็น” ด้วยปากของพวกมัน
เมื่อตุ่นปากเป็ดลงน้ำ มันจะมองไม่เห็นและไม่ได้กลิ่นอะไรเลย นั้นเพราะรอยพับของผิวหนังที่ปกคลุมดวงตาของพวกมันเอาไว้ จะทำหน้าที่เหมือนผนึกกันน้ำ
อย่างไรก็ตามปากที่เหมือนเป็ดของพวกมัน จะมีตัวรับไฟฟ้าและคลื่นแม่เหล็กที่ยอดเยี่ยม มันสามารถตรวจจับการเคลื่อนไหวได้ด้วยสิ่งนี้ เมื่อมันตรวจพบเหยื่อที่พื้น มันจะเริ่มขุดหาสิ่งนั้นและกินมันเข้าไป
ข้อที่ 8 – พวกมันเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์
ตุ่นปากเป็ด ถูกระบุว่าใกล้ถูกคุกคามในบัญชีแดงของ สหภาพระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) นักวิจัยระบุว่า “มีความจำเป็นอย่างเร่งด่วนในการดำเนินการอนุรักษ์ระดับชาติ สำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีลักษณะเฉพาะนี้”
ทั้งนี้ภัยคุกคามของพวกมันก็คือ การสูญเสียถิ่นที่อยู่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลภาวะ และการตกเป็นเหยื่อของสายพันธุ์ที่รุกราน เช่น สุนัขจิ้งจอก และในตอนนี้ยังต้องเพิ่มภัยคุกคามใหม่อย่าง “เขื่อน” เข้าไปได้ด้วย
งานวิจัยใหม่พบว่าเขื่อนขนาดใหญ่ได้จำกัดการเคลื่อนไหวของตุ่นปากเป็ด จนทำให้ประชาการของพวกมันต้องแยกจากกัน สิ่งนี้ได้เพิ่มความเสี่ยงในการผสมพันธุ์ และจำกัดการแลกเปลี่ยนยีนที่จำเป็นต่อการรักษาประชากรตุ่นปากเป็ดที่มีสุขภาพดี
แม้เขื่อนจะมีประโยชน์กับมนุษย์ แต่ก็เป็นภัยคุกคามสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพน้ำจืดทั่วโลก เฉพาะในประเทศออสเตรเลีย ก็มีเขื่อนขนาดใหญ่ถึง 77% หรือ 383 แห่ง จาก 495 แห่ง ที่มีกำแพงสูงเกิน 10 เมตร นี่นับเฉพาะเขื่อนที่อยู่ในภูมิภาคที่พบตุ่นปากเป็ดอาศัยอยู่ …ด้วยเหตุนี้พวกมันจึงอยู่ในอันตราย
แล้วก็เป็นอย่างที่เห็น “ตุ่นปากเป็ด” แปลกประหลาดตั้งแต่ภายนอกยันภายใน ทั้งเหมือนจะรวมเอาชิ้นส่วนสำคัญของสัตว์หลายชนิดเข้ามา ทั้งมีพิษ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกนมที่วางไข่ได้ ไม่มีฟัน ไม่มีกระเพาะอาหาร แต่พอคิดว่ามีถิ่นกำเนิดในออสเตรเลีย ความคิดว่าแปลกก็ลดลงเล็กน้อย เพราะแถวนั้นสัตว์แปลกๆ เยอะจริงๆ
สนใจปลาคาร์ป ปลาทอง ปลาสวยงาม คลิ๊ก https://koi360.com/