7 เรื่องแปลกของ ‘กีวี’ นกไข่ใหญ่ที่สุดในโลก (เมื่อเทียบกับขนาดตัว)

นกกีวี (kiwi) นกหน้าตาประหลาดที่ตัวเท่าไก่ จัดเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของประเทศนิวซีแลนด์ และผมเชื่อว่าหลายคนรู้จัก "นกกีวี" จาก กีวียาขัดรองเท้า ซึ่งผมก็เช่นกัน แถมยังคิดว่ามันเป็นนกตัวเล็กพอๆ กับ "กระทา" อีกด้วย แต่กีวีของจริงตัวค่อนข้างใหญ่ แถมยังเป็นนกที่วิวัฒนาการขึ้นมาเป็นพิเศษ เพื่ออยู่อาศัยบนเกาะนิวซีแลนด์ซึ่งเคยเป็นเกาะที่ไม่มีนักล่ากินเนื้ออยู่บนพื้นดินเลย และนี่คือ 7 เรื่องแปลกของนกกีวี

1. พวกมันวางไข่ที่ใหญ่จริงๆ

Advertisements

นกกีวีเป็นนกที่ออกไข่ฟองใหญ่ที่สุดในบรรดานกทั้งหมดบนโลก เมื่อเทียบกับขนาดตัว ไข่ของมันสามารถชั่งน้ำหนักได้ถึงหนึ่งในสี่ของน้ำหนักตัวของนกที่โตเต็มวัย

ไข่นกกีวี เพื่อให้เห็นภาพเกี่ยวกับตัวเลขนี้ ถ้าผู้หญิงมีน้ำหนัก 75 กิโลกรัม หากเธอให้กำเนิดทารกโดยใช้ตัวเลขของนกกีวี เมื่อแรกเกิดเด็กจะมีน้ำหนักเกือบ 19 กิโลกรัม ซึ่งปกติมนุษย์แรกเกิดจะหนักประมาณ 2 – 3 กิโลกรัม แถมไข่ของนกกีวียังใช้เวลาฟักนานถึง 3 เดือน โดยตัวผู้จะทำหน้าที่ฟักไข่

2. พวกมันเคยบินได้

นกกีวีถือกำเนิดมาเมื่อกว่า 60 ล้านปีก่อน เพราะเหตุนี้จึงทำให้นักวิจัยสันนิษฐานว่า ต้นกำเนิดของนกกีวีมาจากออสเตรเลีย ซึ่งมาพร้อมกับนกอีมู ด้วยการบินมาที่เกาะนิวซีแลนด์ พร้อมๆ กับการเกิดขึ้นของแผ่นดินนิวซีแลนด์

ส่วนสาเหตุที่ทำให้นกกีวีบินไม่ได้ เนื่องจากในอดีตบนพื้นดินของนิวซีแลนด์ มีอาหารอยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังไม่มีสัตว์กินเนื้อหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่บนพื้นดิน ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามตามธรรมชาติอยู่แม้แต่ชนิดเดียว ด้วยเหตุนี้ปีกจึงเป็นเหมือนอวัยวะส่วนเกินที่ไม่จำเป็น

3. พวกมันไม่มีอุปกรณ์ช่วยบินเหลือเลย

แม้มันจะเหมือนไก่ที่อ้วนกลมที่โดนตัดปีกออก จนมองไม่เห็นปีกแม้แต่น้อย แต่ความจริงแล้วมัน “มีปีก” แต่ปีกของมันก็เล็กมากๆ ซึ่งยาวเพียง 5 เซนติเมตรเท่านั้น เราจะมองไม่เห็นปีกเลยเพราะซ่อนไว้ใต้ขน แถมนกกีวีก็ไม่มีหางอีกด้วย สรุปคือนกชนิดนี้ไม่มีอุปกรณ์ช่วยบินเลยแม้แต่น้อย

4. นกกีวีเป็น “สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกิตติมศักดิ์”

Advertisements

ก่อนอื่นต้องบอกว่านกกีวี “ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม” แต่มันต่างจากนกชนิดอื่นมาก จนนักชีววิทยาบางคนเรียกพวกมันว่า “สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกิตติมศักดิ์”

มันเป็นนกที่มีคุณสมบัติเหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายประการ รวมถึงขนนกที่ให้ความรู้สึกเหมือนผมหรือขนแมวมากกว่า กระดูกที่หนักและมีไขกระดูก และขาที่แข็งแรงใช้สำหรับวิ่ง ส่วนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีถิ่นกำเนิดในนิวซีแลนด์มีเพียงชนิดเดียวคือ “ค้างคาวหางยาว (New Zealand long-tailed bat)” ซึ่งในปี พ.ศ. 2564 ค้างคาวหางยาว ก็ดันได้เป็นนกแห่งปีของนิวซีแลนด์ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่นก

5. พวกมันไม่ใช่สัตว์หากินกลางคืนแต่แรก

เป็นที่รู้กันว่านกกีวีจะออกหากินในเวลากลางคืน โดยนักนักชีววิทยาบอกว่า เพื่อให้รอดตาย พวกมันจึงต้องเปลี่ยนไปหากินเวลากลางคืน เนื่องจากมันเป็นสัตว์โบราณชนิดหนึ่ง มันอยู่ในยุคเดียวกับนักล่าที่ดุร้ายอย่างอินทรีฮาสท์ ซึ่งเป็นนกอินทรีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จึงทำให้บรรพบุรุษของนกกีวี ต้องระแวดระวังตัวตลอดเวลา

Advertisements

และแม้ปัจจุบันอินทรีฮาสท์ได้สูญพันธุ์ไปหมดแล้ว แต่สัญชาตญาณการระแวดระวังตัวของนกกีวีก็ยังคงสืบทอดมาถึงปัจจุบัน

6. พวกมันใกล้สูญพันธุ์

นกกีวีจำแนกออกเป็นชนิดต่างๆ ได้ 5 ชนิด พวกมันทั้งหมดถูกจัดให้เป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ นอกจากพวกมันจะได้รับผลกระทบจากมนุษย์ ยังมีสัตว์ต่างถิ่นอีกหลายชนิดที่ทำให้พวกมันอยู่ยากขึ้นมาก

ในตอนนี้มีนกกีวีเหลืออยู่ประมาณ 70,000 ตัวในนิวซีแลนด์ รัฐบาลประเทศนิวซีแลนด์ประมาณการว่า ประชากรจะลดลงในอัตราประมาณ 27 ตัวต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นฝีมือของ สุนัข แมว เพียงพอน ที่ฆ่าพวกมัน และยังมีหนูที่คอบแข่งขันเพื่อแย่งชิงอาหารกับพวกมัน ที่สำคัญมีนกกีวีเพียง 5% ที่เกิดในป่าและรอดชีวิตจนโตเต็มวัย

7. มันจะอยู่เป็นคู่ผัวเมียเดียวตลอดชีวิต

Advertisements

เมื่อใดที่นกกีวีหาคู่ได้แล้ว มันจะอยู่ด้วยกัน 2 ตัวไปตลอดชีวิต ในฤดูผสมพันธุ์ ระหว่างเดือนมิถุนายน-มีนาคม ทั้งสองตัวจะผสมพันธุ์กันตอนกลางคืน และนกกีวีจะออกไข่ได้ฤดูละ 1 ฟองเท่านั้น ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้จำนวนนกกีวีเพิ่มขึ้นช้า ขณะที่อายุขัยโดยเฉลี่ยของนกกีวีอยู่ที่ 30 ปี นั่นหมายความว่า นกตัวเมียตลอดทั้งชีวิตจะสามารถมีลูกได้อย่างมากที่สุด 30 ตัว

“นกกีวี (kiwi) เป็นนกจำพวกหนึ่งที่บินไม่ได้ มีลักษณะที่แปลกไปจากนกอื่นๆ ด้วยมีวิวัฒนาการที่เป็นของตัวเองอย่างชัดเจน เป็นนกที่ออกหากินเวลากลางคืน มีถิ่นกำเนิดในธรรมชาติอยู่ในนิวซีแลนด์เท่านั้น นกกีวีจัดอยู่ในสกุล Apteryx ในวงศ์ Apterygidae”

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements