7 สัตว์น้ำสายมู ปล่อยแล้วไม่ได้บุญ

สัตว์น้ำสายมู หรือก็คือสัตว์น้ำที่คนชอบเอามาปล่อยเพราะคิดว่าได้บุญนั้นล่ะ หรือแม้แต่สงสาร แต่บอกเลยว่าไม่ใช่สัตว์น้ำทุกชนิดที่ปล่อยแล้วจะได้บุญ ยังมีหลายชนิดที่ปล่อยแล้วจะโดนสาบส่งตามหลังมาด้วย และนี่คือ 7 อันดับสัตว์น้ำสายมู ปล่อยแล้วไม่ได้บุญ

ชนิดที่ 1 – ปลาดุก

Advertisements

ปลาดุก! ผมยกให้เป็นปลาที่คนนิยมปล่อยมากที่สุดในบรรดาสัตว์น้ำสายบุญแล้ว โดยเฉพาะไอ้คำว่า “ปลาดุกหน้าเขียง” เนีย ปล่อยกันทีเป็นหลักร้อยกิโลกรัม หรืออาจเป็นตันเลยทีเดียว แถมคนปล่อยยังหน้าชื่นตาบาน โพสต์ในสื่อโซเชียล และสุดท้ายก็โดนด่า! …และเหตุแบบนี้ก็เกิดวนไปวนมาแบบไม่จบสิ้น ซึ่งก็ไม่รู้ว่าทำไมจึงมีคนไม่รู้ว่า ปลาดุก ไม่ว่าจะเหตุผลอะไร ก็ไม่ควรปล่อยลงไปในแหล่งน้ำธรรมชาติ

ทำไมจึงไม่ควรปล่อยลงในแหล่งน้ำธรรมชาติน่ะเหรอ? ก็เพราะปลาดุกอย่างน้อย 90% ในประเทศไทยเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ แน่นอนว่าปลาดุกที่ปล่อยโดยสายมูนั้นแย่กว่านั้น เพราะ 99.99% เป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ และแม้คุณพยายามไปหาพันธุ์ปลาดุกไทย เช่น ปลาดุกลำพัน ปลาดุกด้าน ปลาดุกอุย มาปล่อย คุณก็ไม่ควรปล่อยลงในน้ำมั่วๆ อยู่ดี

ชนิดที่ 2 – ปลานิล

แม้จะไม่ค่อยเห็นปลานิลขายตามหน้าวัด แต่ก็มีปลานิลจำนวนมากที่ถูกซื้อจากตลาดปลามาปล่อยในธรรมชาติ ไม่ว่าจะเพื่อหวังดีเพราะคิดว่าปล่อยแล้ว จะได้มีปลาในแม่น้ำลำคลอง หรือเขื่อนเยอะๆ หรือจะเพื่อหวังจะได้บุญ แต่! บอกเลยว่าคุณไม่จำเป็นต้องปล่อยปลานิลเลย เพราะปลานิลเป็นปลาที่มีประชากรมากที่สุดในแหล่งน้ำจืดไทยแล้ว

ในบางพื้นที่ แค่เพียงคุณสูบน้ำเข้าบ่อจากคลองโดยไม่ป้องกันดีๆ คุณก็จะได้บ่อปลานิลโดยไม่ต้องลงทุนอะไรมาก! … ปลานิลเป็นปลาเศรษฐกิจอันดับ 1 ของประเทศไทย มันมีความสำคัญซะจนหลายคนลืมไปว่า นี่คือเอเลี่ยนสปีชีส์ที่สร้างความเสียหายให้กับสัตว์น้ำท้องถิ่นของไทย

แน่นอนว่ามีปลาหลายชนิดที่ต้องสูญพันธุ์ไปโดยที่ไม่ทันได้รับการศึกษา หลายชนิดกลายเป็นปลาหายาก หลายชนิดต้องคอยให้กรมประมงปล่อยคืนสู่แหล่งน้ำ …ด้วยเหตุนี้ ปลานิลจึงไม่ใช่ปลาที่คุณควรปล่อยลงในแหล่งน้ำ

ชนิดที่ 3 – ปลาหมอสี

ปลาในกลุ่มของปลาหมอสีที่ถือว่าสร้างความเสียหายในกับประเทศไทยในตอนนี้ มีอยู่ 3 ชนิด หนึ่งคือ ปลาหมอสีคางดำ สองปลาหมอมายัน สามปลาหมอบัตเตอร์ และหากให้พูดถึงชนิดที่ถือว่าเป็นภัยพิบัติที่สุดคือ ปลาหมอสีคางดำ แน่นอนว่าสำหรับปลาหมอสีคางดำในตอนนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกเอามาปล่อยโดยสายมู

Advertisements

เช่นเดียวกับปลานิล ปลาในกลุ่มปลาหมอสี ไม่ค่อยจะได้เห็นแถวหน้าวัด แต่มันเป็นปลาที่มักถูกซื้อมาจากตลาดปลา แล้วก็ถูกนำมาปล่อย! ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นปลาหมอบัตเตอร์ เพราะหาง่ายและราคาถูก แถมตอนตัวจิ้วๆ หน้าตาคล้ายปลานิลมากๆ หลายคนที่ซื้อไปปล่อยก็คิดว่าเป็นปลานิลเช่นกัน

ชนิดที่ 4 – ปลาไหล

Advertisements

ปลาไหลเป็นหนึ่งในปลาที่นิยมปล่อยตามวัด! มันเป็นปลาถิ่นไทย ด้วยเหตุนี้หลายคนน่าจะสงสัยกันว่า ทำไมมันจึงอยู่ในรายชื่อปลาที่ปล่อยไปแล้วจะไม่ได้บุญหลอกน่ะ …เหตุผลง่ายๆ คือ ปลาไหลเกือบทั้งหมดที่คุณปล่อยไป จะตายในเวลาไม่นาน …ที่ตายเพราะพวกมันจะจมน้ำตาย

ปลาไหล เป็นปลาที่อาศัยในน้ำตื้นมากๆ พื้นที่รกและโคลน ในธรรมชาติจึงพบในตามแหล่งน้ำนิ่งขนาดเล็ก ไร้นา ป่าต้นธูป มันต้องขึ้นมาหายใจคล้ายปลาช่อน แต่มันไม่ได้ว่ายน้ำเก่งเหมือนปลาช่อน มันจะจมน้ำตายหากน้ำแรงและไม่มีที่ซ่อนตัวให้มัน แน่นอนว่าคนปล่อยปลาสายมูส่วนใหญ่ จะเลือกปล่อยในที่สะดวกสบาย จึงปล่อยตามคลอง แม่น้ำ หน้าวัด หลังวัด ติดถนน …และเมื่อพวกมันลงน้ำไป ก็จะจมน้ำตาย

ชนิดที่ 5 – ปลาซัคเกอร์

ไม่อยากเชื่อว่า จนถึงทุกวันนี้ก็ยังมีคนปล่อยปลาซัคเกอร์เพื่อทำบุญอยู่ และแม้ว่ามันจะเป็นปลาที่กรมประมงประกาศให้เป็นปลาต้องห้าม สำหรับเลี้ยงและจำหน่าย แต่ก็มีเลี้ยงและจำหน่ายอยู่ดี มันเป็นปลาปล่อยตามวัด ที่เรียกว่าปลาราหู

Advertisements

ปลาซัคเกอร์ ถือเป็นหนึ่งในเอเลี่ยนสปีชีส์ที่สร้างความเสียหายมากที่สุดในโลก! มันอดทนอย่างที่สุด อยู่ในน้ำจืดได้เกือบทุกสภาพ คอยกินไข่ปลาท้องถิ่น ขุดดินจนสภาพแหล่งน้ำเดิมเปลี่ยนไป และแม้ว่าในสมัยนี้ปลาซัคเกอร์ในไทยเริ่มจะถูกกิน แต่ก็ยังไม่ยังไม่เร็วพอ เมื่อเทียบกับการขยายพันธุ์และการปล่อยโดยสายมู …การปล่อยปลาซัคเกอร์ มักจะปล่อยในปริมาณที่ไม่มากนักและปล่อยแบบเงียบๆ จึงไม่ค่อยพบเห็นภาพการปล่อยในโซเชียลมีเดีย ไม่ค่อยถูกด่าตามหลังเหมือนปลาดุก แต่ถึงอย่างงั้นก็อย่าได้ปล่อยปลาชนิดนี้

ชนิดที่ 6 – เต่านา!

ในประเทศไทย มีเต่าน้ำจืดและเต่าบกที่ถือว่าเป็นสัตว์ท้องถิ่นอยู่ 16 ชนิด และหากนับเฉพาะเต่านาก็มี 2 ชนิด หนึ่งคือ เต่านาอีสาน และ เต่านาหัวใหญ่ ทั้งสองค่อนข้างคล้ายกัน และหากถามว่าชนิดไหนถูกจับมาขายให้กับสายมูมากกว่ากัน ก็คงต้องตอบว่า ไม่แน่ใจเหมือนกัน เพราะบางทีผมก็เห็น เต่าบัวถูกขายในชื่อเต่านาเหมือนกัน

ในกรณีของเต่านา จะคล้ายกับปลาไหล เพราะยังไงมันก็เป็นเต่าไทย จึงไม่ผิดอะไรที่จะปล่อย แต่ไม่ได้บุญหลอก เพราะปล่อยไปโอกาสตายก็สูง แถมบางทีก็ถูกจับกลับมาขายใหม่อีก เต่าพวกนี้เป็นเต่าที่ชอบน้ำตื้นและนิ่ง มีที่ให้มันเกาะอาศัยตามผิวน้ำ เพราะพวกมันจำเป็นต้องหายใจนั้นเอง

ด้วยเหตุนี้เมื่อคุณปล่อยพวกมันลงไปในแม่น้ำที่ไหลและลึก ส่วนใหญ่มันจะจมหายไปตลอดกาล หรือดีหน่อย อาจได้เห็นมันขึ้นมายืนแถวๆ น้ำตื้น หรือตามบรรไดได้สำเร็จ และสุดท้ายก็จะถูกจับมาขายใหม่ …. การปล่อยเต่านาให้รอด ต้องเป็นคลองเล็กๆ มีทางราบขึ้นลงได้ง่าย มีพืชพันธุ์ให้เกาะอาศัย …ซึ่งนักปล่อยสายมูส่วนใหญ่คงไม่สนใจ คิดว่าปล่อยไปก็จบ

ชนิดที่ 7 – เต่าญี่ปุ่น

Advertisements

เต่าญี่ปุ่น หรือ เต่าแก้มแดง ถูกปล่อยลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ มักจะมาจาก 2 กรณี หนึ่งคือ พวกที่เลี้ยงแล้วเบื่อ สุดท้ายแอบเอาไปปล่อย สองคือ พวกที่ซื้อมาเพื่อปล่อย ทั้งที่รู้ว่าเป็นเต่าญี่ปุ่นหรือแม้แต่โดนหลอกโดยแม่ค้าว่าเป็นเต่านา …ซึ่งไม่ว่ากรณีไหนก็ไม่ควรปล่อยเลย

เต่าญี่ปุ่น มันก็คล้ายเต่านา มันชอบอยู่ในแหล่งน้ำที่เหมาะสม แต่เพราะมันเป็นเอเลี่ยนสปีชีส์ แถมยังนิยมเลี้ยงตามบ้าน จึงมีพวกมันจำนวนมากที่ถูกนำมาปล่อยเพราะขาดความรับผิดชอบ จนสุดท้ายก็แย่งถิ่นที่อยู่ของเต่าท้องถิ่น และหลายคนอาจจะไม่รู้ว่าเต่าญี่ปุ่นก้าวร้าวกว่าเต่านามาก จึงถือเป็นเต่าที่อันตรายชนิดหนึ่ง …สัตว์น้ำต่างถิ่นที่คุณเลิกเลี้ยง หากหาคนดูแลต่อไม่ได้ ปล่อยตายไปจะดีกว่า เพราะยังไงซะพวกมันก็มีมากพอแล้วในบ่อน้ำตามสวนสาธารณะ

ก็หมดแล้วสำหรับสัตว์น้ำ 7 ชนิด ซึ่งจริงๆ ก็ยังมีอีกหลายชนิดที่ถูกเอามาปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติ เพียงแต่ไม่ค่อยได้รับการพูดถึงสักเท่าไร ส่วนเรื่องที่ว่าทำไมจึงไม่ควรปล่อยปลาต่างถิ่น! เหตุผลหลักๆ คือ ไม่ว่าจะเป็นที่ไหน ทรัพยากรย่อมมีจำกัด การปล่อยปลาจำนวนมาก ไม่ได้หมายความปลาจะเพิ่มขึ้น กลับกัน! จะมีปลาจำนวนมากที่หายไป ซึ่งที่หายไปส่วนใหญ่มักจะเป็นปลาท้องถิ่นซะด้วย การจะปล่อยปลา ผมว่าควรเลือกปลาถิ่นไทย เช่น ปลาตะเพียน ยี่สกไทย ปลาสร้อย ปลากราย อะไรพวกนี้ ส่วนปลาช่อนผมว่าไม่จำเป็นต้องปล่อยหลอก มีเยอะเกินจะพอแล้ว

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements