สำหรับปลาเสือพ่นน้ำ ได้รับการอธิบายแล้ว 10 ชนิด พบกระจายพันธุ์อยู่ตามแนวชายฝั่งและแม่น้ำขนาดใหญ่ในเขตอินโด-แปซิฟิก ในอดีตประเทศไทยมีรายงานการพบ 3 ชนิด แต่หลังจากที่มีการศึกษาลึกมากขึ้น ก็พบชนิดใหม่อีก 2 ชนิด จึงทำให้ในไทยมีปลาเสือพ่นน้ำรวม 5 ชนิด และมีถึง 2 ชนิด ที่พบเฉพาะที่ไทยเท่านั้น หนึ่งคือปลาเสือพ่นน้ำสยามซึ่งพบที่บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ และ ปลาเสือพ่นน้ำเกล็ดเล็ก ที่ถูกพบเมื่อ 160 ปีก่อน …ต่อไปมาทำความรู้จักเสือพ่นน้ำทีละชนิดกัน
ชนิดที่ 1. เสือพ่นน้ำน้ำกร่อย (Toxotes chatareus)
เสือพ่นน้ำน้ำกร่อย มักถูกอธิบายในชื่อเสือพ่นน้ำธรรมดา มีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร และก็สมชื่อ เพราะเป็นปลาที่ชอบอาศัยอยู่ในน้ำกร่อยแต่ก็มีประชากรที่อาศัยอยู่ในน้ำจืดสนิทเช่นกัน ทั้งนี้ปลาเสือพ่นน้ำชนิดนี้จะมีเกล็ดตามแนวเส้นข้างลำตัว 29 – 36 เกล็ด
เสือพ่นน้ำน้ำกร่อย มีลักษณะค่อนข้างหลากหลาย เพราะมีลวดลายไม่เป็นระเบียบ แถมยังหลากหลายด้วย โดยในกลุ่มประชากรที่อยู่ในน้ำจืดสนิทจะมีลายแต้มที่ใหญ่กว่ากลุ่มที่อยู่ในน้ำกร่อย เป็นปลาที่มีก้านครีบแข็งบริเวณหลังยื่นยาวออกมาอย่างชัดเจน นอกจากนี้ยังมีสีเหลืองอ่อนบริเวณครีบและหาง
พบปลาชนิดนี้ได้แถวๆ ปากแม่น้ำจนถึงตอนกลางของแม่น้ำขนาดใหญ่ สามารถหากินลึกเข้ามาจนถึงบริเวณน้ำจืดสนิทได้ แต่ไม่มีรายงานการพบในเขตน้ำทะเล เป็นปลาเสือพ่นน้ำถูกพบในตลาดปลาสวยงามมากที่สุด
ชนิดที่ 2. ปลาเสือพ่นน้ำน้ำเค็ม (Toxotes jaculatrix)
ปลาเสือพ่นน้ำน้ำเค็ม บางข้อมูลระบุเอาไว้ในชื่อ เสือพ่นน้ำน้ำกร่อย มีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ถูกอธิบายไว้ว่าเป็นปลาเสือพ่นน้ำที่มีเกล็ดขนาดใหญ่ที่สุด มีเกล็ดตามแนวเส้นข้างลำตัว 26 – 30 เกล็ด มีลายแต้มที่เป็นระเบียบขนาดใหญ่ 5 จุด ครีบหลังมีก้านแข็ง 4 ก้าน ครีบและหางมีสีเหลืองอ่อน ปลาเสือพ่นน้ำน้ำเค็ม พบอาศัยบริเวณชายฝั่ง หรือปากแม่น้ำที่มีความเค็มสูง
ชนิดที่ 3. ปลาเสือพ่นน้ำแม่โขง (Toxotes mekongensis)
แต่เดิมปลาเสือพ่นน้ำชนิดนี้ถูกอธิบายในชื่อ เสือพ่นน้ำน้ำกร่อย (Toxotes chatareus) จนในปี พ.ศ. 2561 ก็ได้รับการแก้ไขใหม่ในชื่อปลาเสือพ่นน้ำแม่โขง เสือพ่นน้ำชนิดนี้จัดเป็นปลาขนาดค่อนข้างเล็ก มีความยาวประมาณ 8 เซนติเมตร มีเกล็ดตามแนวเส้นข้างลำตัว 36 – 39 เกล็ด ลายกลางลำตัวมักจะเป็นเส้นยาวจากสันหลังจนถึงท้อง เป็นปลาเสือพ่นน้ำเพียงชนิดเดียวที่พบในแม่น้ำโขงและแม่น้ำสาขาที่ไหลผ่านประเทศไทย
ชนิดที่ 4. ปลาเสือพ่นน้ำสยาม (Toxotes siamensis)
ปลาเสือพ่นน้ำสยาม หรืออีกชื่อคือ เสือพ่นน้ำนครสวรรค์ เป็นหนึ่งใน 14 ปลาน้ำจืดที่มีชื่อ สยามเอ็นซิส อยู่ในชื่อ มันเป็นปลาที่ ยาวได้ประมาณ 10 เซนติเมตร มีเกล็ดที่เล็ก พื้นลำตัวและหางจะเป็นสีเหลืองเข้ม มีลายแต้มสีดำกระจายอยู่ทั่วตัว แต่ส่วนใหญ่ลายจะอยู่กลางลำตัว ชอบอาศัยในน้ำจืดสนิท พบมากในบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ พบขายในตลาดปลาสวยงาม จัดเป็นปลาเฉพาะถิ่นที่พบเฉพาะในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาของไทยเท่านั้น!
ชนิดที่ 5. ปลาเสือพ่นน้ำเกล็ดเล็ก (Toxotes microlepis)
ปลาเสือพ่นน้ำเกล็ดเล็ก เป็นปลาเสือพ่นน้ำในตำนาน จึงมีเรื่องเล่ามากหน่อย โดยเรื่องราวเริ่มต้น 160 ก่อนเป็นอย่างน้อย เมื่อปี พ.ศ. 2401 อองรี โมอู (Henri Houhot) ซึ่งเป็นนักสำรวจชาวฝรั่งเศล วัย 36 ปี เขาได้เดินทางมาสำรวจและเก็บตัวอย่างสิ่งมีชีวิตในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน
ในช่วงเดือนตุลาคม อองรี่เดินทางจากกรุงเทพไปที่อยุธยาและสระบุรี จากนั้นก็กลับมากรุงเทพในเดือนธันวาคม โดยตัวอย่างของสัตว์ที่อองรีรวบรวมมาได้ และถูกส่งกลับไปที่อังกฤษ มีปลาเสือพ่นน้ำรวมอยู่ด้วย 3 ตัว จากนั้นก็ถูกอธิบายโดยนักมีนวิทยาชาวเยอรมัน ซึ่งในตอนนั้นเขาได้ทำงานให้กับพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งลอนดอน และได้อธิบายลักษณะทางอนุกรมวิธานว่าเป็นชนิด ทอกโซเตส ไมโครเลปิส (Toxotes microlepis) และมันคือเสือพ่นน้ำชนิดใหม่ในตอนนั้น
ต่อมาชื่อนี้ได้ถูกใช้กับปลาเสือพ่นน้ำในประชากรที่พบในน้ำจืด หลายลุ่มน้ำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แน่นอนว่าประชากรที่พบทางตอนกลางของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาก็ใช่ชื่อนี้เช่นกัน …ในขณะที่ปลาเสือพ่นน้ำเจ้าของชื่อไมโครเลปิส ตัวจริงมีตัวอย่างเพียงตัวเดียวเท่านั้น
สำหรับตัวอย่างเดียวของปลาเสือพ่นน้ำที่อองรี่ส่งไปที่ลอนดอน ตอนนี้ถูกเก็บรักษาเอาไว้ในชื่อรหัส BMNH 1859.7.1.44 เป็นปลาที่ยาวประมาณ 12 เซนติเมตร มีแต้มสีเข้มรูปไข่ บริเวณตอนบนของแผ่นปิดเหงือก เหนือครีบหู ใต้ส่วนต้นของครีบหลัง และใต้ส่วนกลางของครีบหลัง ไม่มีจุดหรือแต้มใดๆ บริเวณเหนือครีบก้น เป็นปลาที่มีเกล็ดเล็กมาก โดยเฉพาะบริเวณโคนหาง
ปลาเสือพ่นน้ำเกล็ดเล็ก มีเกล็ดตามแนวเส้นข้างลำตัว 45 เกล็ด ในขณะที่เสือพ่นน้ำชนิดอื่นที่พบในไทยจะมีไม่เกิน 40 เกล็ด นอกจากนี้ปลาตัวอย่างมีตาอยู่ห่างจากแนวสันหัวค่อนข้างมาก ซึ่งจากลายและเกล็ดก็เพียงพอที่จะแยกออกมาจากปลาเสือพ่นน้ำชนิดอื่นแล้ว
มีเรื่องที่น่าสนใจอีกประการคือ จากตัวอย่างเสือพ่นน้ำสามตัวที่อองรี่ส่งไปนั้น ตัวอย่างอีกสองตัวแม้จะมีลายที่คล้ายกัน แต่กลับมีเกล็ดตามแนวเส้นข้างเพียง 37 และ 39 เกล็ดเท่านั้น และตาก็มีขนาดใหญ่ซึ่งอยู่บนสุดของแนวสันหัว ซึ่งยังไม่ได้จำแนกว่าเป็นชนิดใด ด้วยเหตุนี้ ตัวอย่างจริงๆ ของ ทอกโซเตส ไมโครเลปิส (Toxotes microlepis) จึงมีเพียงตัวเดียวเท่านั้น