1. ปลาขยุยโรคี่ (Akysis patrato) พบในลุ่มน้ำแม่กลอง
ปลาขยุยโรคี่ (Akysis patrator) ได้รับอธิบายว่าถูกพบในระบบของแม่น้ำแม่กลอง บริเวณภาคตะวันตกของประเทศไทย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ได้พบกับปลาในสกุลอคิส Akysis มันเป็นปลาที่มีลำตัวสีน้ำตาลอ่อน ลายสีน้ำตาลช็อกโกแลตเลอะๆ ฐานครีบด้านหน้ายาวเกือบถึงฐานครีบหลัง
ปลามีขนาดเล็ก เงี่ยงคมมีหนามแหลมเป็นหยัก และมีต่อมพิษเล็กๆ จนเป็นที่มาของคำแปล ในภาษากะเหรี่ยงว่า “ปลาที่ทำให้เกิดความเจ็บปวด” โดยลักษณะตามตัวจะมีตุ่มสากเล็กๆ กระจัดกระจาย
2. ปูมดแดง อาจารย์ซุกรี สายพันธุ์ที่พบในภาคใต้ของไทย
ปูมดแดง อาจารย์ซุกรี (Phricotelphusa sukreei) มีลักษณะกระดองสีแดง ขายาว พบอยู่บนต้นไม้เตี้ยๆ บริเวณเทือกเขาสูงทางภาคใต้ตอนล่างที่มีความชื้นสูง ในจังหวัดพัทลุงหรือเทือกเขาสูงทางภาคใต้ของไทย
ลักษณะของปูจะมีขาเดินที่ยาวมาก หากมองอย่างผิวเผินๆ จะคล้ายปูน้ำจืดแถบจังหวัดนครศรีธรรมราช แต่สามารถแยกแยะได้ง่ายด้วยสีที่แดงสดใส …ที่มาของชื่อปู เป็นการตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติแก่ รศ.ดร.ซุกรี หะยีสาแม อดีตคณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่มีส่วนสนับสนุนทีมงานตลอดหลายปีที่ผ่านมา
3. หอยมุกภูเก็ต พบที่บริเวณเกาะดอกไม้ประเทศไทย
หอยมุกภูเก็ต (Shell of Pinctada phuketensi) ถูกพบโดยนักวิจัยคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ มันถูกพบที่เกาะดอกไม้ จ.ภูเก็ต เป็นหอยที่อาศัยอยู่ในทะเลที่ความลึกประมาณ 5-10 เมตร เป็นหอยที่มีลักษณะคล้ายหอยมุกแกลบ แต่ขนาดเล็กกว่า ผิวมีความวาวสูง มีประกายเป็นสีรุ้ง นักวิจัยกล่าวว่า มันจะเป็นหอยที่นำมาผลิตไข่มุกขนาดเล็กได้ดี
4. กุ้งเต้นเจาะรากไม้ สกุลใหม่ของโลก
“กุ้งเต้นเจาะรากไม้” (Thailandorchestia rhizophila) เป็นกุ้งชนิดใหม่และสกุลใหม่ของโลก ถูกพบในป่าชายเลนอ่าวพร้าว เกาะกูด จ.ตราด เป็นสัตว์ในซับไฟลัมครัสเตเชียน ซึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับกุ้ง ปู แต่มีขนาดเล็กกว่า ลำตัวแบนข้าง มีขาเดิน 7 คู่ ต่างจากกุ้งที่เรารู้จักกันที่มีขาเดิน 5 คู่
โดยปกติกุ้งเต้นจะพบอาศัยในน้ำ แต่สำหรับกุ้งเต้นชนิดนี้ ที่เพิ่งวิวัฒนาการจากทะเลขึ้นมาบนบก แต่ยังมีลักษณะความเป็นสัตว์น้ำอยู่ คือหายใจด้วยเหงือก พบอาศัยบริเวณที่เป็นรอยต่อระหว่างน้ำจืดและน้ำทะเล เช่นบริเวณปากแม่น้ำหรือป่าชายเลน และอาศัยอยู่กับรากไม้และไม้ผุตลอดชีวิต
5. หยาดอำพันภูจอง ผึ้งผู้โดดเดี่ยว พบในไทยเท่านั้น
ผึ้งหยาดอำพันภูจอง (Phuchong rotund resin bees) เป็นผึ่งหายากที่เพิ่งมีการค้นพบ โดยปัจจุบันยังพบผึ้งชนิดนี้ได้เฉพาะในผืนป่าของอุทยานแห่งชาติภูจอง ซึ่งอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น ผึ้งชนิดนี้มีลักษณะการดำรงชีวิตที่แปลกประหลาด เพราะโดยทั่วไปผึ้งที่ให้น้ำหวานจะมีการแบ่งวรรณะและอยู่รวมกันเป็นจำนวนมาก
แต่สำหรับผึ้งหยาดอำพันภูจองนั้นต่างออกไป พวกมันจะดำรงชีวิตแบบโดดเดี่ยว ซึ่งตัวเมียจะสร้างรังและดูแลเพียงลำพัง มันจะสะสมยางไม้มาเพื่อสร้างรัง จนกลายเป็นท่อยางไม้ที่สวยงาม ภายในจะเป็นห้องย่อย ซึ่งตัวเมียจะใช้เพื่อวางไข่ สะสมอาหารไว้ให้ตัวอ่อน แล้วจะปิดห้อง รอให้ไข่ฟักเป็นตัวอ่อนกินอาหารที่แม่มันสะสมไว้ จนกลายตัวเต็มวัยต่อไป