ปลาอะราไพม่า (Arapaima) เป็นปลาที่สามารถหายใจด้วยการฮุปเอาอากาศจากผิวน้ำได้โดยตรง มันยาวได้ถึง 3 เมตร และหนักเกิน 200 กิโลกรัม แม้มันจะเป็นปลาแต่หากโดนขังอยู่ใต้น้ำนานสักหน่อย มันจะจมน้ำตาย นั้นเพราะอะราไพม่าจำเป็นต้องขึ้นมาที่ผิวน้ำทุกๆ 5 – 20 นาที
มันเป็นเวลานานมาก อย่างน้อยก็ในทศวรรษที่ 1800 ที่นักวิจัยคิดว่าปลาอะราไพม่า มีอยู่เพียงชนิดเดียว ซึ่งก็คือ “ปลาอะราไพม่า กิกะ” (Arapaima gigas) จนมาถึงช่วงกลางทศวรรษที่ 1800 ก็เริ่มมีการยอมรับว่ายังมีปลาอะราไพม่าอยู่อีก 4 สายพันธุ์
ซึ่งก็คือ อะราไพม่า กิกะ (Arapaima gigas), อะราไพม่า-มาเป (Arapaima mapae) , อะราไพม่า-อากัซซิซ (Arapaima agassizii) และ อะราไพม่า-อะราไพม่า (Arapaima arapaima) … ผ่านมาอีกหลายปี พวกเขาก็พบกับอะราไพม่าสายพันธุ์ที่ 5 และมันถูกตั้งชื่อว่า อะราไพม่า-เลปโตโซมา (Arapaima leptosoma)
อะราไพม่า-เลปโตโซมา (Arapaima leptosoma)
สำหรับ “อะราไพม่า-เลปโตโซมา” เป็นหนึ่งใน 5 สายพันธุ์ ที่อยู่ในวงศ์ปลาอะราไพม่า (Arapaimidae) และ เลปโตโซมา ก็ถือเป็นน้องเล็กสุดของวงศ์นี้ เนื่องจากเป็นสายพันธุ์ล่าสุดที่เพิ่งได้รับการอธิบาย ในปี 2013 โดยชื่อเลปโตโซมา (leptosoma) มาจากภาษากรีก คำว่า lepto หมายถึง ผอมเพรียว และ soma หมายถึงร่างกาย ด้วยเหตุนี้ มันจึงเป็นอะราไพม่าที่ดูผอมที่สุดในวงศ์ปลาอะราไพม่า
โดย “เลปโตโซมา” ได้รับการอธิบายจากตัวอย่างที่พบในปี 2001 มันถูกจับได้บริเวณจุดบรรจบของแม่น้ำโซลิมอส (Solimões River) และแม่น้ำพูรัส (Purus River) ในรัฐอามาโซนัส ประเทศบราซิล จนได้ถูกอธิบายในอีกหลายปีต่อมา และด้วยการค้นพบนี้ จึงทำให้จำนวนของอะราไพม่าเพิ่มเป็น 5 สายพันธุ์
เลปโตโซมา มีความแตกต่างจากอะราไพม่าชนิดอื่นหลายประการ อย่างเช่น ครีบหางที่มีลายคล้ายดอกไม้ที่ดูลึกและชัดเจน รูปร่างของโพรงจมูกบนหัวที่ต่างออกไป ลำตัวที่มีความผอมเพรียว และมันก็เป็นปลาที่ยาวได้ถึง 2.5 เมตร หรืออาจมากกว่านั้น
และจากการศึกษาเพิ่มเติม สายพันธุ์ใหม่นี้น่าจะถูกเพาะเลี้ยงและส่งออกไปต่างประเทศ ในฐานะ “อะราไพม่า-กิกะ (Arapaima gigas)” มานานมากแล้ว เพียงแต่ไม่เคยมีใครรู้ว่ามันเป็นคนละสายพันธุ์เท่านั้น
น่าเสียดายที่ อะราไพม่า-เลปโตโซมา ก็อยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่ไม่ต่างไปจาก อะราไพม่า-กิกะ เนื่องจากพวกมันใกล้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ แม้ในตอนนี้จะกู้สถานการณ์มาได้บ้าง แต่ในถิ่นกำเนิดของพวกมันก็มีประชากรน้อยอยู่ดี ในขณะที่เลปโตโซมา ยังไม่ทราบประชากรที่แท้จริงจึงยากที่จะอนุรักษ์