ปลาอะราไพม่า 5+1 สายพันธุ์สุดท้าย ที่มีชีวิตอยู่บนโลก

หลายคนจะเข้าใจว่าปลาอะราไพม่า มีเพียงสายพันธุ์เดียว แต่ความจริงแล้ว พวกมันมีมากถึง 5 สายพันธุ์ ซึ่งนอกจาก อะราไพม่า-กิกะ ที่เป็นสายพันธุ์แรกที่มนุษย์อย่างเรารู้จัก ยังมีอีก 4 สายพันธุ์ที่ยังไม่เป็นที่รู้จักมากนัก นอกจากนี้ยังมีญาติที่ใกล้ติดมากอีก 1 จึงมีข้อมูลน้อยเช่นกัน แต่ไม่เป็นไรเดี๋ยวเรามาทำความรู้จักพวกมันกัน

สำหรับปลาอะราไพม่า (Arapaima) เป็นปลาที่สามารถหายใจด้วยการฮุปเอาอากาศจากผิวน้ำได้โดยตรง มันยาวได้ถึง 3 เมตร และหนักเกิน 200 กิโลกรัม แม้มันจะเป็นปลาแต่หากมันโดนขังอยู่ใต้น้ำนานสักหน่อย มันจะจมน้ำตาย นั้นเพราะอะราไพม่าจำเป็นต้องขึ้นมาที่ผิวน้ำทุกๆ 5 – 20 นาที เพื่อรับอากาศ

อะราไพม่า ทั้ง 5 สายพันธุ์

มันเป็นเวลานานมาก อย่างน้อยก็ในทศวรรษที่ 1800 ที่นักวิจัยคิดว่าอะราไพม่า มีอยู่เพียงชนิดเดียว ซึ่งก็คือ “อะราไพม่า กิกะ” (Arapaima gigas) จนมาถึงช่วงกลางทศวรรษที่ 1800 ก็มีการยอมรับว่าอะราไพม่ามีอยู่ 4 สายพันธุ์ ซึ่งก็คือ

อะราไพม่า กิกะ (Arapaima gigas), อะราไพม่า-มาเป (Arapaima mapae) , อะราไพม่า-อากัซซิซ (Arapaima agassizii) และ อะราไพม่า-อะราไพม่า (Arapaima arapaima) … หลังจากนั้นก็ผ่านมาอีกเกือบ 200 ปี พวกเขาก็พบกับอะราไพม่าสายพันธุ์ที่ 5 และมันถูกตั้งชื่อว่า อะราไพม่า-เลปโตโซมา (Arapaima leptosoma) …ต่อไปเรามาดูเรื่องราวของพวกมันกัน

ชนิดที่ 1 – ปลาอะราไพม่า กิกะ (Arapaima gigas)

Advertisements

อะราไพม่า กิกะ (Arapaima) หรือที่คนไทยนิยมเรียกว่า “ปลาช่อนอเมซอน” จัดเป็น 1 ใน 10 ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เป็นปลาที่อยู่ในวงศ์ปลาอะราไพม่า (Arapaimidae) โดยปลาในวงศ์นี้จะมีทั้งหมด 5 ชนิด บวกอีก 1 ชนิดซึ่งนับเป็นวงศ์ย่อย แน่นอนว่าชนิดที่คนไทยรู้จักมากที่สุดก็คือ “อะราไพม่า กิกะ – Arapaima gigas”

เป็นปลาที่มีถิ่นในแม่น้ำแอมะซอนและลุ่มน้ำสาขาในทวีปอเมริกาใต้ ชาวพื้นเมืองจะเรียกมันว่า ปีรารูกู (Pirarucu) เป็นปลาที่ชาวพื้นเมืองใช้บริโภค ในบางพื้นที่ก็เพาะเลี้ยงกันเป็นปลาเศรษฐกิจ

โดยปลาอะราไพม่าทุกชนิด จะมีลักษณะคล้ายปลาช่อน แต่ตัวใหญ่กว่ามาก มันมีเกล็ดที่ใหญ่และแข็งซึ่งทำหน้าที่เหมือนเกราะป้องกัน มีสีดำเงาเป็นมัน ครีบบนและครีบล่าง มีตำแหน่งค่อนไปทางหาง และมีแถบสีแดงส้มตัดกับพื้นสีดำ มีลำตัวค่อนข้างกลมและเรียวยาว

เป็นปลาที่ไม่มีหนวดและยังเป็นปลาที่มีอัตราการเติบโตที่เร็วมาก ภายในเวลาเพียง 1-2 ปี สามารถเพิ่มน้ำหนักตัวขึ้นถึง 3-5 เท่าได้ และอะราไพม่าที่ยาวที่สุดเท่าที่มีการบันทึกสถิติไว้คือยาว 4.5 เมตร หนักกว่า 400 กิโลกรัม

ชนิดที่ 2 – ปลาอะราไพม่า-อากัซซิซ (Arapaima agassizii)

อากัซซิซ เป็นอะราไพม่าชนิดที่มีข้อมูลน้อย มันเป็นเช่นเดียวกับอะราไพม่าชนิดอื่น ซึ่งสามารถหายใจเอาอากาศได้โดยตรงจากผิวน้ำ และเป็นหนึ่งในปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จัดเป็นปลาหายากที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศบราซิล

น่าเสียดายที่ตัวอย่างของปลาชนิดนี้ที่มีเพียงหนึ่งเดียว ได้ถูกทำลายในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ต่อมามันก็ได้รับการอธิบายในปี 1847 โดยใช้ข้อมูลจากภาพประกอบโดยละเอียดและบันทึกที่เหลืออยู่ของปลาตัวนั้น จนสุดท้ายนักวิจัยจึงยืนยันได้ว่า มันเป็นอะราไพม่าที่แตกต่างไปจากชนิดอื่น

และเนื่องจากขาดความรู้เกี่ยวกับต้นกำเนิดของตัวอย่าง และสถานะปัจจุบันของสายพันธุ์ จึงจัดให้อยู่ในประเภทข้อมูลไม่เพียงพอโดย IUCN

ชนิดที่ 3 – อะราไพม่า-เลปโตโซมา (Arapaima leptosoma)

สำหรับ “เลปโตโซมา” เป็นหนึ่งใน 5 สายพันธุ์ ที่อยู่ในวงศ์ปลาอะราไพม่า (Arapaimidae) และ เลปโตโซมา ก็ถือเป็นน้องเล็กสุดของวงศ์นี้ เนื่องจากเป็นชนิดล่าสุดที่เพิ่งได้รับการอธิบาย ในปี 2013 โดยชื่อเลปโตโซมา (leptosoma) มาจากภาษากรีก คำว่า lepto หมายถึง ผอมเพรียว และ soma หมายถึงร่างกาย ด้วยเหตุนี้ มันจึงเป็นอะราไพม่าที่ดูผอมที่สุดในวงศ์ปลาอะราไพม่า

โดย “เลปโตโซมา” ได้รับการอธิบายจากตัวอย่างที่พบในปี 2001 มันถูกจับได้บริเวณจุดบรรจบของแม่น้ำโซลิมอส (Solimões River) และแม่น้ำพูรัส (Purus River) ในรัฐอามาโซนัส ประเทศบราซิล ก่อนจะได้รับการอธิบายในอีกหลายปีต่อมา และด้วยการค้นพบนี้ จึงทำให้จำนวนของอะราไพม่าเพิ่มเป็น 5 สายพันธุ์

ทั้งนี้ “เลปโตโซมา” มีความแตกต่างจากอะราไพม่าชนิดอื่นหลายประการ อย่างเช่น ครีบหางที่มีลายคล้ายดอกไม้ที่ดูลึกและชัดเจน รูปร่างของโพรงจมูกบนหัวที่ต่างออกไป ลำตัวที่มีความผอมเพรียว และมันก็เป็นปลาที่ยาวได้ถึง 2.5 เมตร หรืออาจมากกว่านั้น

และจากการศึกษาเพิ่มเติม สายพันธุ์ใหม่นี้ น่าจะถูกเพาะเลี้ยงและส่งออกไปต่างประเทศ ในฐานะ “อะราไพม่า-กิกะ (Arapaima gigas)” มานานมากแล้ว เพียงแต่ไม่เคยมีใครรู้ว่ามันเป็นคนละสายพันธุ์เท่านั้น

อะราไพม่า-เลปโตโซมา (Arapaima leptosoma) ในตู้ปลา

น่าเสียดายที่ เลปโตโซมา ก็อยู่ในสถานการณ์ย่ำแย่ไม่ต่างไปจากอะราไพม่า-กิกะ เนื่องจากพวกมันใกล้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ แม้ในตอนนี้จะกู้สถานการณ์มาได้บ้าง แต่ในถิ่นกำเนิดของพวกมันก็มีประชากรน้อยอยู่ดี ในขณะที่ เลปโตโซมา ยังไม่ทราบประชากรที่แท้จริง จึงยากที่จะอนุรักษ์

ชนิดที่ 4 – อะราไพม่า-มาเป (Arapaima mapae)

Advertisements

สำหรับอะราไพม่า-มาเป เป็นชนิดที่มีข้อมูลน้อยถึงน้อยที่สุด เท่าที่เรารู้ตอนนี้คือ มันอยู่ในวงศ์ปลาอะราไพม่า และเป็นชนิดใหม่อย่างแน่นอน โดยอะราไพม่า-มาเป ได้รับการอธิบายในปี 1847 แม้มันจะดูผอมเพรียว แต่มันก็ดูต่างจากเลปโตโซมา เนื่องจากก้านของหางไม่กว้างเมื่อเทียบกับชนิดอื่น และตัวอย่างที่พบมีความยาว 2.3 เมตร

สำหรับชนิดที่ 5 ที่ชื่อว่า อะราไพม่า-อะราไพม่า (Arapaima arapaima) เป็นปลาที่มีข้อมูลน้อยที่สุด จึงต้องขออภัยที่ยังไม่สามารถเอาชนิดที่ 5 มาเล่าให้ฟังได้ แต่มันเป็นชนิดใหม่แน่นอน ..ยังไงถ้ามีข้อมูลจะเอามาให้ดูกัน

ชนิดที่ 6 – ปลาอะโรวานาแอฟริกา (Heterotis niloticus)

สำหรับปลาอะโรวานาแอฟริกา หรือ ปลาตะพัดแอฟริกา (African arowana) เป็นปลาเพียงสายพันธุ์เดียวที่อยู่ในสกุลเฮเทอโรทิส (Heterotis) ซึ่งเป็นสกุลย่อยของวงศ์ปลาอะราไพม่า และยังอยู่ในวงศ์ปลาตะพัดอีกด้วย

โดยปลาชนิดนี้โตเต็มที่จะยาวได้ถึง 60 เซนติเมตร มีรูปร่างออกแนวปลาโบราณ หัวมีลักษณะกลมและสั้น ตาโต ไม่มีหนวด สีออกน้ำตาล นอกจากนี้มันยังมีเอกลักษณ์ของปลาโบราณคือการมีถุงลมขนาดใหญ่ คล้ายปอดที่ช่วยให้หายใจเอาอากาศได้โดยตรง

เป็นปลาที่พบในบริเวณแม่น้ำไนล์ในแอฟริกาตะวันออก, แอฟริกาเหนือและแอฟริกาตะวันตก แถบประเทศอียิปต์, เซเนกัล เป็นต้น และยังเป็นปลาที่ชาวพื้นเมืองใช้ประกอบอาหาร และยังนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ถึงแม้มันจะสีไม่สวยก็ตาม แต่มันก็เป็นปลานิสัยดี ไม่ก้าวร้าวเหมือนปลาชนิดอื่นในวงศ์เดียวกัน ..ต่อไปมาดูกันว่าปลาอะราไพม่าเข้าไทยมาเมื่อไร?

แล้วปลาอะราไพม่า เข้ามาในไทยเมื่อไร?

อะราไพม่า (Arapaima) หรือที่บ้านเรามักจะเรียกว่าปลาช่อนอเมซอน มันเป็นหนึ่งในปลาขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แน่นอนว่าปลาที่หนักได้ถึง 200 กิโลกรัมชนิดนี้ ไม่ได้อยู่ในประเทศไทยตั้งแต่แรก

แล้วปลาชนิดนี้มาถึงไทยเมื่อไร..? ตามที่มีการบันทึกไว้ปลาถูกนำเข้ามาครั้งแรกประมาณปี 1986 และมันก็ได้รับความนิยมอย่างมากในปีต่อมา และบอกตรงๆ ว่าผมเห็นปลาชนิดนี้ครั้งแรกในเดอะมอลล์บางแค อยากบอกว่าในตอนนั้นตืนเต้นมาก เพราะปลามันใหญ่มากๆ

จะว่าไปอะราไพม่าในไทย ก็ถือว่าถูกควบคุมได้ค่อนข้างดี เนื่องจากไม่ค่อยได้ข่าวการจับปลาชนิดนี้ได้ในธรรมชาติเท่าไร อาจเป็นเพราะมันเป็นปลาตัวใหญ่ ราคาแพง และปลาเกือบทั้งหมดก็จะอยู่ในบ่อดิน – บ่อปูน หรือตู้ปลาขนาดใหญ่ในกรณีที่ปลายังมีขนาดเล็ก มันเป็นหนึ่งในปลาที่คนไทยนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม แต่มันก็เป็นปลาเกมราคาแพงที่นักตกปลาชาวไทยอย่างผมอยากตกเช่นกัน

เอาล่ะก็ขอสรุปเรื่องนี้เล็กน้อย สำหรับปลาในวงศ์อะราไพม่าแท้ๆ จะมีอยู่ 5 ชนิด ชนิดที่เรารู้จักมากที่สุดคือ อะราไพม่า-กิกะ ในขณะที่ อะราไพม่า-เลปโตโซมา ถือเป็นชนิดที่เพิ่งได้รับการอธิบายในปี 2013 ซึ่งถือเป็นชนิดล่าสุด และเราอาจพบมันปะปนกับอะราไพม่า-กิกะในไทยแล้ว ส่วนปลาอะโรวานาแอฟริกา ก็พิเศษหน่อย เพราะมันเป็นเป็นวงศ์ย่อยของอะราไพม่าและยังเป็นวงศ์ปลาตะพัดอีกต่างหาก …จบ

ถ้าขี้เกรียจอ่าน กดดูคลิปได้ …ถ้าชอบอย่าลืมกดติดตาม กดกระดิ่งกันนะครับ

Advertisements

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements