4 สัตว์ป่าใน ‘สกุลตัวเหี้ย’ ที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย

ตัวเงินตัวทองหรือที่ชอบเรียกรวมๆ กันว่าตัวเหี้ย และแม้คนส่วนใหญ่อาจรู้จักเพียงชนิดเดียว แต่จริงๆ แล้ว ตัวเหี้ยที่มีถิ่นกำเนิดในไทย จะมีอยู่ทั้งหมด 4 ชนิด แต่หากนับ "สกุลเหี้ย" หรือ Varanus (/วา-รา-นัส/) ที่พบได้ทั่วโลก ก็จะมีเกือบ 80 ชนิด แต่ยังไงซะประเทศไทยก็มีแค่ 4 ชนิด และอาจเพิ่มได้อีก 1 ชนิด ที่เคยพบในไทย แต่ก็ไม่มีรายงานการพบมานานมากแล้ว จึงถือว่าไม่มีก็แล้วกัน เอาละเรามาดูกันว่าสัตว์ในสกุลเหี้ยมีอะไรบ้าง ...และต้องไม่ลืมว่าสัตว์ทั้งหมดที่พูดถึงในเรื่องนี้จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง

ชนิดที่ 1 – ตัวเหี้ย หรือ ตัวเงินตัวทอง – Varanus salvator

Advertisements

ตัวเหี้ย หรือ ตัวเงินตัวทอง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Varanus salvator (วารานัส ซัลวาตอร์) เป็นชนิดที่จะนึกถึงเป็นอันดับแรก เมื่อพูดถึงสัตว์ในสกุลนี้ พบได้ทั่วไทยแม้แต่ในกรุงเทพ ตัวเหี้ยมีขนาดใหญ่ที่สุดในสกุลตัวเหี้ยที่พบได้ในประเทศไทย และยังพบเจอได้ง่ายที่สุดอีกด้วย

ตัวเหี้ยถือเป็นกิ้งก่าขนาดใหญ่ มีความยาวประมาณ 200 เซนติเมตร หากนับเฉพาะในสกุล Varanus (/วา-รา-นัส/) ตัวเหี้ยจะใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงมังกรโคโมโด (Komodo dragon) ในประเทศอินโดนีเซียเท่านั้น

ตัวเหี้ยมีลำตัวอ้วนยาว ขาสั้นแต่แข็งแรง นิ้วมีกงเล็บแหลมคม หางช่วยในการทรงตัวตอนวิ่งและว่ายน้ำ ผิวหนังหยาบมีเกล็ดขนาดเล็กปกคลุมทั่วลำตัว มีลายสีเหลืองพาดขวางทางยาว ว่ายน้ำเก่ง ดำน้ำได้นาน ปีนต้นไม้ได้ค่อนข้างดี นิสัยรักสันโดษ และจะดุร้ายหากถูกคุกคาม

โดยปกติตัวเหี้ยถือเป็นสัตว์กินซาก แต่หากมันสบโอกาสก็สามารถล่าเหยื่อตัวเป็นๆ ได้ โดยเฉพาะ ไก่ เป็ด ปู งู หนู นก แน่นอนว่ามันชอบกินปลา และบางทีก็กินพวกเดียวกันที่ตัวเล็กกว่า

ตัวเหี้ยชอบอาศัยอยู่บริเวณใกล้แหล่งน้ำ พบได้ทั่วไปตาม แม่น้ำ ลำคลอง ป่าดิบชื้นและป่าชายเลน แน่นอนว่าบ่อกุ้ง บ่อปลา ก็เป็นที่ๆ ชอบมากๆ มันเป็นสัตว์ที่ปรับตัวให้อยู่ร่วมกับมนุษย์ได้ดี จึงมีโอกาสสูงที่พบมันได้ตามชุมชน ขอให้มีแหล่งน้ำ มีอาหาร ถึงจะเป็นน้ำคุณภาพต่ำ มันก็ยังอยู่ได้ แม้แต่แถวๆ ทำเนียบรัฐบาลก็มีตัวเหี้ยอาศัยอยู่จำนวนมาก

ชนิดที่ 2 – ตะกวด หรือ แลน – Varanus bengalensis

ตะกวด มีรูปร่างคล้ายกับตัวเหี้ย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Varanus bengalensis (วารานัส เบงกาเลนซีส) ซึ่งอยู่ในสกุลเดียวกันตัวเหี้ย จึงมักจะจำสับสนกับตัวเหี้ยอยู่เสมอ แต่ตะกวดจะมีขนาดเล็กกว่าตัวเหี้ยมาก และตำแหน่งโพรงจมูกของตะกวดจะอยู่ไม่ใกล้กับปลายปากเหมือนกับตัวเหี้ย รวมถึงมีปลายปากที่มนทู่กว่า โดยทั่วไปตะกวดจะยาวประมาณ 61 – 175 เซนติเมตร

สีสันของตะกวดจะมีสีน้ำตาลหรือสีดำเกล็ดเป็นสีเหลืองหรือเป็นจุดๆ ซึ่งแตกต่างจากตัวเหี้ยที่มีสีเหลืองผสมอยู่เป็นลายที่ชัดเจน และตะกวดก็ไม่ค่อยชอบอยู่ใกล้แหล่งน้ำ แน่นอนไม่ชอบว่ายน้ำหรือหากินในน้ำเหมือนตัวเหี้ยด้วย

โดยตะกวดชอบอยู่ตามป่าโปร่งมากกว่าป่าทึบ มักอาศัยบนต้นไม้ ปีนต้นไม้เก่ง ชอบนอนผึ่งแดดตามกิ่งไม้ แต่หากินตามพื้นดิน และตะกวดก็ไม่ดุร้ายเท่าไร

ตะกวดนับเป็นสัตว์ป่าที่ถูกล่าและถูกคุกคามจากมนุษย์มากที่สุด จนบางพื้นที่แทบจะไม่เหลือให้พบเจอ ส่วนใหญ่จะพบว่าคนชอบนำตะกวดมาประกอบเป็นอาหาร โดยไม่ทราบว่ามันเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และในนิทานชาดก พระพุทธเจ้าเคยเสวยพระชาติเป็นตะกวดเช่นกัน

ชนิดที่ 3 – ตุ๊ดตู่ – Varanus dumerilii

ตุ๊ดตู่ เป็นตัวเหี้ยที่มีชื่อค่อนข้างน่ารักเลยทีเดียว มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Varanus dumerilii (วารานัส ดูเมอริลิ) มีลักษณะอ้วน ป้อม เกล็ดเป็นสันแข็งขนาดใหญ่โดยเฉพาะตรงคอ ตอนเล็กตรงหัวและคอจะเป็นสีส้ม มีแถบสีดำตัดบริเวณหางตา พอโตขึ้นจากสีส้มจะเปลี่ยนเป็นสีครีม ใต้คอมีสีขาว ผิวหนังลำตัวมีสีเทาอมน้ำตาล โดยตุ๊ดตู่จะมีนิสัยรักสงบ และเชื่องช้า

ตุ๊ดตู่ ถือเป็นสัตว์ที่มีขนาดเล็กที่สุดในวงศ์ตัวเหี้ยที่พบได้ในไทย ยาวได้เต็มที่ประมาณ 50 – 125 เซนติเมตร เป็นสัตว์ขี้อาย มักอาศัยอยู่ในโพรงไม้ จนมีเอ่ยถึงในบทสร้อยสุภาษิตว่า ตุ๊ดเอ๋ยตุ๊ดตู่ ในเรี่ยวในรูช่างอยู่ได้

ในประเทศไทยจะพบตั้งแต่จังหวัดกาญจนบุรี ไปจนถึงคอคอดกระในภาคใต้ ชอบอาศัยอยู่ในป่าที่มีความชื้นสูง หรือป่าชายเลน ชอบกินปูเป็นพิเศษ แต่ก็สามารถกินสัตว์อื่น เช่น หอย, แมลง, ปลา, กบ หรือแม้แต่สัตว์ฟันแทะขนาดเล็ก

ชนิดที่ 4 – เห่าช้าง – Varanus rudicollis

Advertisements

มีความเชื่อว่า “เห่าช้าง” เป็นสัตว์ที่มีพิษ โดยเชื่อกันว่าน้ำลายของเห่าช้างมีพิษ หากถูกกัดจะเป็นอันตรายถึงตาย จริงๆ แล้วเป็นความเชื่อที่ผิด ชื่อของเห่าช้างมาจากเสียงขู่ศัตรูที่ฟังดูคล้ายเสียงขู่ของงูเห่า

เห่าช้าง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Varanus rudicollis (วารานัส รูดิคอลลิส) มีความยาวประมาณ 130 เซนติเมตร ซึ่งเล็กกว่าตัวเหี้ยเล็กน้อย ผิวสีดำเข้ม มีลายขวางจางๆ ที่ลำตัว เกล็ดบนคอมีลักษณะเป็นแหลมๆ คล้ายหนามทุเรียน เห่าช้างเป็นสัตว์ที่ขี้อายและขี้กลัว มีความว่องไว แต่ก็ดุร้ายกว่าเหี้ยชนิดอื่นเล็กน้อย เมื่อเจอศัตรูจะขู่เสียงฟ่อ ๆ เหมือนงูเห่า

เห่าช้างชอบอาศัยอยู่ในป่าทึบและเดินหากินบนพื้นดิน บางทีก็ปีนต้นไม้ เพียงแต่จะปีนไม่เก่ง พบในป่าประเภทป่าดิบชื้นและป่าชายเลนในภาคใต้ของประเทศไทยและพม่า เคยมีรายงานพบที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ชอบกิน ไก่, นก, ปลา, กบ, เขียด สามารถกินได้ทั้งของสดและของเน่า

นอกจาก 4 ชนิดที่พูดถึงไปแล้ว?

ในไทยยังมี “ตัวเหี้ยดำ” ซึ่งพบเป็นครั้งแรกที่อำเภอละงู จังหวัดสตูล และบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย และถูกเรียกว่า Soterosaurus komaini (โซเทอโรซอรัส โคไมนิ) ซึ่งเป็นสกุลย่อยของตัวเหี้ย ต่อมาในปี พ.ศ. 2551 ถูกยุบรวมเป็นชื่อพ้องและกลายเป็นประชากรตัวเหี้ย ที่มีภาวะการมีเม็ดสีเมลานินที่ดำมากเกินไป และถูกไปรวมกับชนิดย่อยที่ชื่อว่า Soterosaurus macromaculatus (โซเทอโรซอรัส มาโครมาคูลาทัส)

ตัวเหี้ยดำ
ตะกวดเหลือง

และชนิดสุดท้ายซึ่งอยู่ในสกุล Varanus ที่มีชื่อว่าตะกวดเหลือง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Varanus flavescens (วารานัส ฟลาวเซนส์) เป็นชนิดที่บอกเอาไว้แต่แรกแล้วว่าไม่พบในประเทศไทยมานานแล้ว โดยลักษณะเด่นของตะกวดเหลืองคือ มีนิ้วเท้าที่สั้น และพื้นลำตัวสีเหลือง อีกทั้งมีพฤติกรรรมไม่ชอบอาศัยอยู่ใกล้แหล่งน้ำหรือที่ชื้นแฉะเหมือนตัวเหี้ย ปัจจุบันพบมากใน อินเดีย, เนปาล, บังกลาเทศ และปากีสถาน …ตะกวดเหลือง อาจถูกเรียกว่า แลนดอน

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements