4 สายพันธุ์ ‘รุกราน’ ที่นักอนุรักษ์คิดว่าพวกมันอาจพิชิตโลกสำเร็จ

ในบรรดาสิ่งมีชีวิตมนุษย์ฉลาดที่สุด แต่บางทีก็ทำเรื่องผิดพลาดอยู่บ่อยๆ พวกเรานำสัตว์หรือพืชจากพื้นที่อื่นเข้ามา เพราะคิดว่าดี แต่แล้วสิ่งที่นำเข้ามาก็ทำลายสิ่งที่มีอยู่แล้วไป เกี่ยวกับเรื่องนี้มีกรณีศึกษา เป็นเรื่องที่ชาวญีปุ่นแนะนำให้ชาวอเมริกันได้รู้จักกับพืชที่ชื่อว่าคุดสุ (Kudzu) หรือ เจแปนอาโรรุด (Japanese arrowroot) ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 2419 (1876) และดูเหมือนจะชอบซะด้วย เพราะคิดว่าต้นไม้ที่มีใบเต็มไปหมดชนิดนี้มีกลิ่นที่หอม พวกเขาจึงเริ่มเอามาปลูกเพื่อตกแต่งสวน จากนั้นก็เอามาเลี้ยงสัตว์ จนรัฐบาลถึงกับออกคำสั่งให้กองกำลังฝ่ายพลเรือนปลูกคุดสุเพื่อป้องกันการกัดเซาะ ในตอนนั้นยังไม่มีใครไตร่ตรองว่าพืชที่ไม่ใช่พันธุ์พื้นเมืองนี้จะส่งผลอย่างไรในสภาพแวดล้อมใหม่ ... มันเป็นความผิดพลาดครั้งใหญ่ของชาวอเมริกันอีกครั้ง!

ดูเหมือนคุดสุจะเป็นพืชที่ชอบสภาพอากาศในภาคใต้ของอเมริกา มันเพิ่มขึ้นและรุกรามอย่างรวดเร็วเหมือนไฟป่า มันเติบโตได้ถึง 18 เมตรต่อปี แล้วเริ่มปีนขึ้นไปบนอาคาร เสาโทรศัพท์ บ้าน รวมทั้งรถยนต์ ปกคลุมพื้นที่ว่างเปล่าทั้งหมด ทำให้พืชชนิดอื่นไม่สามารถเติมโตได้ โดยเฉพาะพืชหน้าดิน และมันก็ยังคงอยู่จนถึงทุกวันนี้

นี่คือตัวอย่างของการรุกรานอย่างหนึ่งของพืชที่มาจากที่อื่น แต่มันมีตัวอย่างที่ชัดเจนกว่า .. ต่อไปมาดู 4 สายพันธุ์ ‘รุกราน’ ที่นักอนุรักษ์คิดว่าพวกมันอาจพิชิตโลกสำเร็จ

ชนิดที่ 1 – ปลาคาร์พเอเชีย (Asian Carp)

Advertisements

ถ้าพูดถึงปลาคาร์พเอเชีย บางคนอาจคิดไม่ออกมาว่าคือตัวอะไร ถ้าในไทยจะเรียกว่าปลาจีนกัน และปลาในกลุ่มของปลาจีนหลักๆ จะมีอยู่ 3 ชนิดคือ ปลาเฉา ปลาซ่ง และ ปลาลิ่น พวกมันเป็นปลาที่นำเข้ามาจากประเทศจีน ตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2500 แรกๆ ก็ พบได้บ้างในแหล่งจืดของไทย แม้แต่ผมเองสมัยเด็กก็เคยตกได้จากคลองที่แปดริ้ว แต่ตอนนี้ไม่เคยเจอละ

เหตุผลที่ปลาคาร์พเอเชีย ไม่รุ่งเรืองในแหล่งน้ำธรรมชาติของไทย น่าจะมีสองสาเหตุหลักๆ หนึ่งคือ นักวิจัยบอกว่า ปลาพวกนี้ไม่สามารถขยายพันธุ์เองได้ เพราะอุณหภูมิไม่เหมาะสม แต่ก็มีบางคนเคยเจอเป็นลูกปลา ผมว่าน่าจะเพราะมีคนเอามาปล่อย หรือไม่ก็ในช่วงนั้นน้ำมีอุณหภูมิเหมาะสม

ส่วนข้อสองคือพวกมันอาจโตไม่ทันกิน ก็รู้ๆ กันอยู่ว่าบ้านเรากินปลาเก่ง บางพื้นที่จับปลาแบบกวาดล้างไม่เหลือแม้แต่แพลงต้อน …ด้วยเหตุนี้ถ้าเป็นปลาจะมีเพียงไม่กี่ชนิดที่รุกรานไทยได้ พวกที่สำเร็จจะต้องมีพลังการขยายพันธุ์ที่แข็งแกร่งและคนไทยไม่ค่อยกิน เช่น ปลาหมอคางดำ ปลาซัคเกอร์

แต่คงต้องบอกว่า! ในหลายส่วนในโลกโดยเฉพาะในอเมริกา “ปลาคาร์พเอเชีย” พวกมันมีจำนวนมหาศาล เรียกว่าบางพื้นที่นับหมืนนับแสนตัวต่อตารางกิโลเมตรเลยทีเดียว

การมาถึงของปลาคาร์พเอเชียในอเมริกา เริ่มต้นเมื่อเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาจำพวก ปลาดุก หรือ แคท ฟิช นำเข้ามาเพื่อใช้กำจัดสาหร่ายที่มีมากเกินไปในฟาร์มเลี้ยงปลาเชิงพาณิชย์ของพวกเขา มันถูกนำเข้ามาในช่วง พ.ศ. 2503 – 2513 (1960 – 1970) ..แต่แล้วเรื่องน่ากลัวก็เกิดขึ้น เมื่อพวกมันหลุดออกมาและลงไปในแม่น้ำสายหลัก

ปลาพวกนี้เดินทางไปตามแม่น้ำมิสซิสซิปปีและอิลลินอยส์ กินแพลงก์ตอนและสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จำนวนมาก มันกินทุกอย่างจนเหลือเพียงเศษอาหาร …ด้วยเหตุนี้สายพันธุ์พื้นเมืองจึงลดจำนวนลงอย่างมาก!

Advertisements

ปลาคาร์พเอเชียมีพลังในการสืบพันธุ์ที่สูงอย่างไม่น่าเชื่อ พวกมันเติบโตได้เป็นอย่างดี บางตัวหนักเกิน 10 กิโลกรัม มีนักล่าตามธรรมชาติเพียงไม่กี่ตัวที่เอาชนะพวกมันได้ ในแต่ล่ะปีพวกมันทำลายอุตสาหกรรมประมงและการท่องเที่ยวมูลค่า 7 พันล้านดอลลาร์ นี่ยังไม่นับค่าใช้จ่ายที่เจ้าหน้าที่ต้องจับและทำลายปลาพวกนี้ปีละหลายล้านตัว เพื่อลดจำนวนพวกมันอีก ..แต่! ดูเหมือนจะไม่สามารถหยุดปลาพวกนี้ได้เลย

ชนิดที่ 2 – กระต่ายยุโรป (European Rabbits)

กระต่ายน่ารัก แต่ถ้ามันอยู่ผิดที่ผิดทาง มันจะกลายเป็นหายนะ! เป็นสัตว์ร้ายตัวน้อยที่กำลังทำลายดินแดนหลายแห่งทั่วโลก โดยเฉพาะออสเตรเลีย! กระต่ายที่มาจากที่อื่นคือหายนะ แต่หายนะที่พวกมันก่อขึ้นบางอย่างไม่สามารถมองเห็นได้จากคนทั่วไป เช่น การที่พวกมันขุดรูจะก่อให้เกิดดินพังทลาย ซึ่งเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ให้ลองนึกภาพกระต่ายนับแสนตัว พร้อมใจกันขุดรูในสวนแถวบ้านคุณ ถ้าดินจะถล่มก็คงไม่แปลก และพวกมันมีหลายร้อยล้านตัว!

กระต่ายมีอัตราการขยายพันธุ์ที่น่าสะพึงกลัว หากให้ยกตัวอย่าง มีกระต่าย 24 ตัว ถูกปล่อยในออสเตรเลียในปี พ.ศ. 2402 (1859) โดยฝีมือชาวนาอังกฤษ พวกเขากำลังคิดอยากสัมผัสการล่าสัตว์ แน่นอนกระต่ายถูกเอามาจากที่อื่น

จนปัจจุบันพวกมันเพิ่มเป็นหลายร้อยล้านตัว พวกมันสร้างความเสียหายหลายร้อยล้านดอลลาร์ต่อปี และมีส่วนทำให้สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 1 ใน 8 สายพันธุ์ท้องถิ่นต้องสูญพันธุ์ไป

แน่นอนว่าออสเตรเลียมีความพยายามกำจัดกระต่าย แต่! ไม่เคยทำได้สำเร็จ สิ่งแรกที่พวกเขาคิดทำคือสร้างรั้วกันกระต่ายที่ยาวที่สุดในโลกถึง 3 แห่ง มีความยาวรวม 3,256 กิโลเมตร ถ้าพูดให้เห็นภาพอีกหน่อยก็เป็นรั้วที่มีจุดเริ่มต้นจากนราธิวาสไปเชียงราย แล้ว กลับมาที่นราธิวาสอีกครั้งนั้นละ

Advertisements

แต่แผนที่บ้าบิ่นที่สุดและคิดว่าจะทำสำเร็จอยู่แล้วเชียวก็คือ ในปี พ.ศ. 2493 (1950) ออสเตรเลียได้นำไวรัสไมโซมาสายพันธุ์ SLS (Myxoma) ไปทิ้งในแผ่นดินใหญ่ มันทำให้เกิดโรคร้ายแรงในกระต่ายเกือบทุกตัวที่สัมผัส ผลคือมีกระต่ายประมาณ 500 ล้านตัวเสียชีวิต ….เจ้าหน้าที่คิดแผนดีใจ! คิดว่าต้องสำเร็จแน่นอน แต่แล้วก็มีกระต่ายประมาณ 100 ล้านตัว ที่เกิดมีภูมิต้านทานต่อโรคติดตัวไป และมันยังส่งต่อไปยังรุ่นต่อๆ ไป จนตอนนี้ตัวเลขของกระต่ายก็เพิ่มขึ้นอีกครั้ง

ชนิดที่ 3 – คางคกอ้อย (Cane Toads)

คางคกอ้อยมีถิ่นกำเนิดในอเมริกากลางและอเมริกาใต้ จากนั้นมันถูกนำเข้าไปในหลายๆ ประเทศ ทั้งฟลอริดา ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น รวมทั้งเกาะแถบทะเลแคริบเบียนและฮาวาย โดยคางคกอ้อยตัวใหญ่ที่สุดที่ถูกจับได้ถูกเรียกว่า Toadzilla มันหนักถึง 2.7 กิโลกรัม!

คางคกอ้อยถูกนำเข้าโดยเกษตรกร ที่หวังว่าสิ่งมีชีวิตนี้จะสามารถกำจัดศัตรูพืชในท้องถิ่นได้ แต่มันไม่เป็นเช่นนั้น เพราะคางคกตัวนี้กลายเป็นศัตรูพืชอีกชนิดหนึ่งที่กำจัดยากกว่ามาก มันตะกละกินพืชและยังกินสัตว์พื้นเมืองได้หลายชนิดอีกด้วย คางคกชนิดนี้เป็นพิษตั้งแต่ยังเป็นลูกอ๊อดโดยจะเป็นพิษรุนแรงกับสัตว์หลายชนิด แม้แต่จระเข้หากกินคางคกอ้อยโตเต็มวัยลงไปมันก็อาจจะตายได้

คางคกอ้อยมีการสืบพันธุ์ที่น่ากลัวมาก มันทำให้กระต่ายต้องอับอาย ตัวเมียแต่ละตัววางไข่ 8,000 – 25,000 ฟองในแต่ละปี แถมระยะฟักตัวยังแค่ 48 ชั่วโมง นอกจากนี้นักวิจัยยังพบว่า เพื่อให้เติบโตได้เร็ว ลูกอ๊อดจะกินกันเอง และจะกลายเป็นคางคกหนุ่มสาวที่พร้อมจะผสมพันธุ์ภายใน 2 – 3 สัปดาห์เท่านั้น

ในกรณีของออสเตรเลีย ในปี พ.ศ. 2478 (1935) คางคกอ้อย 102 ตัว ถูกนำมาใช้เพื่อต่อสู้กับด้วงอ้อย (Greyback Cane) จนกระทั้งปี พ.ศ. 2553 (2010) ประชากรของคางคกอ้อยได้เพิ่มขึ้นเป็น 1.5 พันล้านตัว พวกมันกระจายไปทั่ว กินพื้นที่เกือบ 1 ล้านตารางกิโลเมตร และพวกมันไม่หยุดจนถึงทุกวันนี้ แน่นอนว่าในอเมริกาก็ไม่ต่างกันนัก

สุดท้ายต้องบอกว่าค้างคกชนิดนี้กินได้เกือบทุกอย่าง มันกินหนู , สัตว์เลื้อยคลานอื่นๆ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ, นก, และแม้กระทั่งค้างคาว สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง กินพืช อาหารสุนัข บางทีมันก็กินของใช้ในครัวเรือน ขยะมันก็กิน

Advertisements

แต่ความหน้ากลัวของมันอีกอย่างคือพิษ เพราะคางคกชนิดนี้มีแนวโน้มสูงที่จะทำให้สัตว์ป่ารวมทั้งสัตว์เลี้ยงขนาดใหญ่ต้องตายเช่นกัน เนื่องจากพิษมีความร้ายแรงเพียงพอจะฆ่าสัตว์หรือแม้แต่กับมนุษย์ที่กินมันหรือแม้แต่แค่เลียตัวคางคก

ชนิดที่ 4 – นกกิ้งโครงพันธุ์ยุโรป (Common Starling)

Advertisements

นกกิ้งโครงพันธุ์ยุโรป เป็นหนึ่งในนก 3 ชนิดที่อยู่ที่อยู่ในรายชื่อ 100 สายพันธุ์เอเลี่ยนรุกรานที่เลวร้ายที่สุดในโลก ซึ่งอีกสองชนิดก็คือ นกเอี้ยง และ นกปรอดก้นแดง โดยนกกิ้งโครงพันธุ์ยุโรปถือว่าเป็นนกที่สวยงาม มันมีขนสีดำมันวาว ในบางช่วงเวลาของปีจะมีจุดสีขาว มีขาเป็นสีชมพู ปากเป็นสีดำในฤดูหนาวและเป็นสีเหลืองในฤดูร้อน

นกชนิดนี้มีชนิดย่อยอยู่ 12 ชนิด ส่วนใหญ่จะอยู่ในยุโรปบริเวณเขตอบอุ่น ไปจนถึงมองโกเลียตะวันออก เป็นนกอพยพที่สามารถบินด้วยความเร็ว 60 – 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ครอบคลุมระยะทางได้มากถึง 1,500 กิโลเมตร ถูกจัดให้เป็นสายพันธุ์รุกรานใน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก อาร์เจนตินา แอฟริกาใต้และฟิจิ

จากการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2547 คาดว่ามีนกกิ้งโครงพันธุ์ยุโรป อาศัยอยู่ทั่วโลกประมาณ 310 ล้านตัว ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 8,870,000 ตารางกิโลเมตร

เฉพาะในอเมริกาเหนือ นกกิ้งโครงพันธุ์ยุโรปเริ่มต้นมาจากนกเพียง 100 ตัว ที่ปล่อยทิ้งไว้ในเซ็นทรัลพาร์คในนิวยอร์ก ซึ่งปล่อยในช่วงปี พ.ศ. 2433 ปัจจุบันมีนกชนิดนี้เกือบ 200 ล้านตัว กระจายพันธุ์ตั้งแต่อลาสก้าไปจนถึงเม็กซิโก นี่แสดงให้เห็นความแข็งแกร่งในการเพิ่มประชากรของนกชนิดนี้

ในอเมริกาใต้ เริ่มต้นจากนกเพียง 5 ตัว ที่ติดมากับเรือของอังกฤษ ส่วนในออสเตรเลียนกชนิดนี้ก็ถูกนำเข้าไปเพื่อกำจัดศัตรูพืชในฟาร์ม เช่นเดียวกับนกเอี้ยงและคางคกอ้อย ซึ่งจนถึงทุกวันนี้สัตว์พวกนี้ก็กลายเป็นศัตรูพืชที่กำจัดได้ยากว่าเดิมซะอีก

ตามรายงานระบุถึงสิ่งที่พวกมันทำได้คือ มันกินพืชทุกชนิด และมักจะรวมฝูงนับแสนตัว ซึ่งสามารถกวาดล้างพื้นที่เกษตรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พวกมันชอบกินองุ่น มะกอก เชอร์รี่ และธัญพืช พวกมันจะถิ่นฐานอยู่ในทุ่งใกล้ๆ พื้นที่เกษตรกรรม เมื่อพืชผลเริ่มออก มันจะเด็ดต้นอ่อนหรือกินตั้งแต่ยังเป็นเมล็ดพืช

ด้วยจำนวนมากมาย พวกมันจึงสามารถขับไล่นกสายพันธุ์ท้องถิ่นออกไปได้ แย่งชิงอาหารและพื้นที่ทำรัง หลายครั้งมีการชนเครื่องบินอีกด้วย!

สำหรับในประเทศไทย นกกิ้งโครงพันธุ์ยุโรปก็มีรายงานการพบอยู่หลายครั้ง อย่างเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ปี พ.ศ. 2545 พบ 3 ตัว ที่บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นรายงานจากบิ๊กเบิร์ดคลับ ต่อมาก็มีการพบในบึงอีกเป็นระยะๆ จนในวันที่ 15 มกราคม ปี พ.ศ. 2560 ก็พบอีก 3 ตัว ในบึงกะโล่ จังหวัดอุตรดิตถ์ ต่อมาในวันที่ 2 มกราคม ปี พ.ศ. 2564 พบอีก 6 ตัว ที่ทุ่งตะพานหิน จังหวัดพิจิตร …คำถามคือ นกชนิดนี้เป็นนกประจำถิ่นไทยหรือไม่? คำตอบคือไม่ใช่ ตอนนี้พวกมันเป็นนกที่หลงทางมา …จบ

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements