นก 3 ชนิด ที่อยู่ในรายชื่อ 100 สายพันธุ์เอเลี่ยนรุกรานที่เลวร้ายที่สุดในโลก

จากเรื่องก่อนได้พูดถึง ปลา 8 ชนิด ที่อยู่ในรายชื่อ 100 สายพันธุ์เอเลี่ยนรุกรานที่เลวร้ายที่สุดในโลก มาถึงเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องของนกบ้าง โดยนกที่อยู่ในรายชื่อจะมีอยู่ 3 ชนิดเท่านั้น ซึ่งจะมี นกเอี้ยง นกปรอดก้นแดง และ นกกิ้งโครงพันธุ์ยุโรป ...มาดูเรื่องราวของพวกมันกันเลย

1. นกเอี้ยง (Common myna)

Advertisements

นกเอี้ยงธรรมดา (Common myna) หรือ นกเอี้ยงสาลิกา หรือเรียกว่าสั้นๆ ว่า นกเอี้ยง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า อะคริโดเรส ทริสติส (Acridotheres tristis) เป็นนกที่อยู่ในวงศ์นกเอี้ยงและนกกิ้งโครง นกพวกนี้ค่อนข้างใกล้เคียงกับอีกาตรงที่ ฉลาดและสามารถปรับตัวให้เข้ากับเขตเมืองหรือชุมชนของมนุษย์ได้

นกเอี้ยง มีความยาวประมาณ 25 เซนติเมตร มีขาเรียวเล็ก หัวและคอสีดำ ปากและหนังรอบตาสีเหลือง ลำตัวสีน้ำตาล ขอบปีกและปลายหางสีขาว หน้าอก, ท้อง และก้นสีน้ำตาลอ่อน ตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน ชอบหากินตามพื้นดิน อาจเข้าไปปะปนกับนกชนิดอื่น บางทีก็ต่อสู้กันเองหรือทะเลาะวิวาทกับนกชนิดอื่น

ถิ่นกำเนิดของนกชนิดอยู่คือ ทวีปเอเชีย ตั้งแต่ อินเดีย, อัฟกานิสถาน, พม่า ภูมิภาคอินโดจีน ญี่ปุ่นทั้งในแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะริวกิว ส่วนในประเทศไทย สามารถพบได้ทั่วทุกภาค และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของไทยอีกด้วย

ปัจจุบันได้ถูกนำไปปล่อยในพื้นที่อื่นที่ไม่ใช่ถิ่นกำเนิด จนในที่สุดก็กลายเป็น 1 ใน 100 สายพันธุ์เอเลี่ยนรุกรานที่เลวร้ายที่สุดในโลก โดยในออสเตรเลียยกให้นกชนิดนี้เป็น “สัตว์รบกวนและเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด”

นกเอี้ยงถูกนำเข้าไปในหลายประเทศทั่วโลก เช่น แคนาดา ออสเตรเลีย อิสราเอล นิวซีแลนด์ อเมริกา แอฟริกาใต้ ตามหมู่เกาะในมหาสมุทรแอตแลนติก แม้แต่ในพื้นที่แห้งแล้งอย่างอุทยานแห่งชาติครูเกอร์ นกพวกนี้ก็เริ่มสร้างอาณานิคมที่แข็งแกร่งจนนักอนุรักษ์เป็นกังวล

Advertisements

ตัวอย่างหนึ่งในประเทศออสเตรเลีย ในเมืองแคนเบอร์รา ระหว่างปี พ.ศ. 2511 – 2514 (1968 – 1971) ได้มีการปล่อยนกจำนวน 110 ตัว จนในปี พ.ศ. 2534 (1991) เจ้าหน้าที่ของเมืองก็พบกว่า มีนกเอี้ยงมากถึง 15 ตัวต่อตารางกิโลเมตร อีกสามปีต่อมา พวกมันเพิ่มเป็น 75 ตัว ต่อตารางกิโลเมตร และยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จนในปี พ.ศ. 2551 (2008) นกเอี้ยงก็ได้รับการโหวตให้เป็น “สัตว์รบกวนและเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด” ในออสเตรเลีย แถมพวกมันยังได้รับฉายาว่า “หนูบิน” เนื่องจากเป็นนกที่มีจำนวนมากและมีพฤติกรรมคล้ายหนู อย่างการบุกรุกรังของสัตว์ชนิดอื่น เช่น การแย่งชิงรังของนกหัวขวาน การทำลายไข่ และลูกนกของนกชนิดอื่น อย่างไรก็ตามมีความเห็นทางวิทยาศาสตร์ไม่มากนัก เกี่ยวกับเรื่องขอบเขตของผลกระทบต่อสายพันธุ์พื้นเมือง …หรือก็คือนกพวกนี้สร้างความรำคาญให้กับผู้คนในเมืองมากกว่า

ในฮาวาย นกเอี้ยงถูกนำเข้ามาเพื่อควบคุมหนอนและแมลง แต่สุดท้ายพวกมันก็ถูกร้องเรียนโดยเกษตรกรและคนในเมืองอยู่บ่อยครั้ง จนได้ชื่อว่าเป็นสัตว์รบกวนประเภทนกอันดับที่สี่ในอุตสาหกรรมผลไม้ของฮาวาย ซึ่งส่วนใหญ่พวกมันมักจะสร้างความเสียหายให้กับผลไม้ที่กำลังสุก และแม้กว่าครึ่งจะเป็นฝีมือของนกพื้นเมืองหรือนอกต่างถิ่นชนิดอื่น แต่ปัญหานี้มักจะโยนให้นกเอี้ยงที่เป็นนกต่างถิ่นมากกว่า

2. นกปรอดก้นแดง (Red-vented bulbul)

นกปรอดก้นแดง (Red-vented bulbul) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า พิคโนโนทัส คาเฟอร์ (Pycnonotus cafer) อยู่ในวงศ์นกปรอด (Pycnonotidae) ซึ่งอยู่ด้วยกันทั้งหมด 109 ชนิด สำหรับในประเทศไทยพบได้ 36 ชนิด โดยชนิดที่มีชื่อเสียงมากในไทยดูเหมือนจะเป็น นกปรอดหัวโขน หรือ นกกรงหัวจุก (Pycnonotus jocosus) ซึ่งเป็นนกที่อยู่ในรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครอง แต่ในตอนนี้กำลังมีความพยายามในการผลักดันให้เป็นสัตว์ที่เลี้ยงได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

Advertisements

ในตอนแรกนกปรอดก้นแดง ถูกระบุว่ามีถิ่นกำเนิดในแอฟริกา เนื่องจากในปี พ.ศ.2303 นักสัตววิทยาชาวฝรั่งเศส ได้เก็บตัวอย่างแรกของนกชนิดนี้ ได้ที่แหลมกู๊ดโฮปในแอฟริกาใต้ แต่จากการตรวจสอบเพิ่มเติมก็พบว่ามันไม่เป็นอย่างที่คิด แถมยังไม่ได้รับการยอมรับจากคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยการตั้งชื่อทางสัตววิทยา จนในปี พ.ศ. 2309 นักธรรมชาติวิทยาชาวสวีเดน ก็ปรับปรุงข้อมูลแล้วเปลี่ยนถิ่นกำเนิดของนกปรอดก้นแดงว่าเป็นเป็นประเทศศรีลังกาและอินเดีย

สำหรับนกปรอดก้นแดง ถือเป็นนกประจำถิ่นที่พบได้ทั่วไปในอนุทวีปอินเดียรวมถึงศรีลังกา ทอดยาวไปจนถึงพม่า บางส่วนของภูฏานและเนปาล โดยนกปรอดก้นแดง มีความยาว 20 เซนติเมตร สามารถระบุตัวได้ด้วยหงอนที่สั้น ทำให้หัวมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส ลำตัวมีสีน้ำตาลเข้มมีลายเป็นเกล็ด ส่วนหัวมีสีเข้มกว่าหรือดำ ตะโพกเป็นสีขาวในขณะที่ตูดเป็นสีเหลือง ส้ม หรือ แดง มีหางยาวสีดำ ปลายเป็นสีขาว

ทั้งนี้นกปรอดก้นแดง เพิ่งจะมีรายงานการพบในประเทศไทยเมื่อไม่กี่ปีก่อน และก็มีข้อมูลเกี่ยวกับนกชนิดนี้น้อยมากแถมไม่ตรงกันอีก บางแหล่งข้อมูลก็ระบุว่าเป็นนกที่พบได้เฉพาะในสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี และบางแหล่งข้อมูลระบุไว้ว่าเป็นชนิดย่อยของนกปรอดก้นแดง ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า พิคโนโนทัส คาเฟอร์ เมลเลินชิมัส (Pycnonotus cafer melanchimus) โดยจะพบในภาคใต้ตอนกลางของพม่าและภาคเหนือของประเทศไทย

และเนื่องจากนกชนิดนี้ถูกพบในส่วนอื่นๆ ของโลก อย่างเช่น ในนิวซีแลนด์ อาร์เจนตินา ตองกา และฟิจิ รวมถึงบางส่วนของซามัว ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และ หมู่เกาะคุก โดยนกปรอดก้นแดงเป็นนกที่ชอบอาศัยอยู่ในป่าเปิด ที่ราบ และพื้นที่เพาะปลูก ด้วยเหตุนี้จึงถูกมองว่าเป็นศัตรูพืชเนื่องจากมีนิสัยกัดกินพืชผล สุดท้ายจึงกลายเป็น 1 ใน 100 สายพันธุ์เอเลี่ยนรุกรานที่เลวร้ายที่สุดในโลก

3. นกกิ้งโครงพันธุ์ยุโรป (Common Starling)

นกกิ้งโครงพันธุ์ยุโรป (Common Starling) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า สเตอร์นัส วอการิส (Sturnus vulgaris) เป็นนกที่อยู่ในวงศ์นกเอี้ยงและนกกิ้งโครง (Sturnidae) มีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร มีขนสีดำมันวาว ในบางช่วงเวลาของปีจะมีจุดสีขาว มีขาเป็นสีชมพู ปากเป็นสีดำในฤดูหนาวและเป็นสีเหลืองในฤดูร้อน

Advertisements

โดยนกชนิดนี้มีชนิดย่อยอยู่ 12 ชนิด ส่วนใหญ่จะอยู่ในยุโรปบริเวณเขตอบอุ่น ไปจนถึงมองโกเลียตะวันออก เป็นนกอพยพที่สามารถบินด้วยความเร็ว 60 – 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และครอบคลุมระยะทางได้มากถึง 1,500 กิโลเมตร ถูกจัดให้เป็นสายพันธุ์รุกรานใน ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แคนาดา สหรัฐอเมริกา เม็กซิโก อาร์เจนตินา แอฟริกาใต้และฟิจิ

โดยจากการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2547 คาดว่ามีนกกิ้งโครงพันธุ์ยุโรป อาศัยอยู่ทั่วโลกประมาณ 310 ล้านตัว ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมด 8,870,000 ตารางกิโลเมตร

นกกิ้งโครงพันธุ์ยุโรป ที่พบในอเมริกาเหนือทั้งหมด สืบเชื้อสายมาจากนก 100 ตัว ที่ปล่อยทิ้งไว้ในเซ็นทรัลพาร์คในนิวยอร์ก โดยเริ่มปล่อยในช่วงปี พ.ศ. 2433 ปัจจุบันมีนกกิ้งโครงพันธุ์ยุโรปเกือบ 200 ล้านตัว กระจายพันธุ์ตั้งแต่อลาสก้าไปจนถึงเม็กซิโก นี่แสดงให้เห็นความแข็งแกร่งในการเพิ่มประชากรของนกชนิดนี้

ประชากรในอเมริกาใต้เริ่มต้นจากนกเพียง 5 ตัว ที่มาติดมากับเรือของอังกฤษ ส่วนในออสเตรเลียนกชนิดนี้ก็ถูกนำเข้าไปเพื่อกำจัดศัตรูพืชในฟาร์ม เช่นเดียวกับนกเอี้ยงและคางคกอ้อย ซึ่งจนถึงทุกวันนี้สัตว์พวกนี้ก็กลายเป็นศัตรูพืชไปซะเอง

สำหรับในประเทศไทย นกกิ้งโครงพันธุ์ยุโรปก็มีรายงานการพบอยู่หลายครั้ง อย่างเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ปี พ.ศ. 2545 พบ 3 ตัว ที่บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นรายงานจากบิ๊กเบิร์ดคลับ ต่อมาก็มีการพบในบึกอีกเป็นระยะๆ จนในวันที่ 15 มกราคม ปี พ.ศ. 2560 ก็พบอีก 3 ตัว ในบึงกะโล่ จังหวัดอุตรดิตถ์ ต่อมาในวันที่ 2 มกราคม ปี พ.ศ. 2564 พบอีก 6 ตัว ที่ทุ่งตะพานหิน อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร

ถามว่านกกิ้งโครงพันธุ์ยุโรป เป็นนกประจำถิ่นไทยหรือไม่? คำตอบคือไม่ใช่ แต่มีรายงานว่าเป็นเพราะนกชนิดนี้ ประสบความสำเร็จอย่างมากใน นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ อเมริกาเหนือ ฟิจิ และหมู่เกาะแคริบเบียนหลายแห่ง จึงทำให้ประชากรบางส่วนของพวกมัน จึงอพยพมายังประเทศไทย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และนิวกินีได้นั้นเอง

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
Advertisements