ผมเชื่อว่าหลายคนคงคิดไม่ถึงว่า ในไทยจะมีปลาแขยงมากมายขนาดนี้ ความจริงมันเป็นเรื่องค่อนข้างยากที่จะรวบรวมข้อมูลของปลาแขยงทั้ง 24 ชนิดนี้มาได้อย่างถูกต้อง เนื่องจากทั้งชื่อสามัญไทย อังกฤษ หรือแม้แต่ชื่อวิทยาศาสตร์ บางทีก็ไม่ตรงกันในหลายแหล่งข้อมูล ด้วยเหตุนี้ ผมจึงอ้างอิงข้อมูลจากหนังสือปลาน้ำจืดไทย ของ ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ เพราะผมว่าหนังสือเล่มนี้น่าจะอัพเดทที่สุดแล้ว และหากใครสนใจหนังสือดีๆ เล่มนี้ สามารถติดต่อสั่งซื้อได้ที่เพจหนังสือปลาน้ำจืดไทย by Nonn Panitvong ..และต่อไปนี้จะเป็น 24 อันดับ ‘ปลาแขยง’ หายากและพบได้ในประเทศไทย
อันดับที่ 24.ปลาแขยงใบข้าว (Mystus singaringan)
ปลาแขยงใบข้าว มีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร เป็นปลาที่มีลำตัวค่อนข้างยาว ฐานครีบไขมันกว้าง พื้นลำตัวสีน้ำตาลอ่อนจนถึงเหลือง และไม่มีลวดลายบนตัว จัดเป็นปลาแขยงที่พบได้มากที่สุดในไทย พบได้ในแหล่งน้ำจืดเกือบทุกที่ ยกเว้นลุ่มน้ำสาละวิน และ ลุ่มน้ำตะนาวศรี เป็นปลาอยู่ได้ทั้งในน้ำไหลและน้ำนิ่ง สถานะปัจจุบันคือ ความเสี่ยงต่ำ (LC) ประเมินเมื่อปี พ.ศ. 2562
อันดับที่ 23.ปลาแขยงข้างลาย (Mystus mysticetus)
ปลาแขยงข้างลาย มีความยาวประมาณ 12 เซนติเมตร เป็นปลาที่มีลำตัวค่อนข้างยาว หัวมีขนาดเล็กและแบนราบเล็กน้อย มีตาค่อนข้างใหญ่และอยู่บริเวณด้านข้างของแก้ม ซึ่งปลาแขยงข้างลายชนิดอื่น ตาจะเฉี่ยงไปทางด้านบน ลำตัวมีสีคล้ำน้ำตาลถึงสีดำ หรือน้ำตาลอมเขียว บริเวณส่วนท้องเป็นสีขาวเงิน มีแถบสีขาวหรือสีเงินวาวขนาดค่อนข้างใหญ่ พาดไปตามความยาวของลำตัวจนถึงโคนหางจำนวน 2 แถบ มีจุดดำอยู่หลังช่องเหงือก
ปลาแขยงข้างลาย จัดเป็นปลาแขยงที่พบได้บ่อยในลุ่มน้ำเจ้าพระยา และยังสามารถพบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำจืดเกือบทั่วประเทศ ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง สถานะปัจจุบันคือ ความเสี่ยงต่ำ (LC) ประเมินเมื่อปี พ.ศ. 2554
อันดับที่ 22.ปลาแขยงดานกระโดงสูง (Bagrichthys majusculus)
ปลาแขยงดานกระโดงสูง หรือ ปลาดุกมูนเกสูง มีความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร มีส่วนหัวสั้น จะงอยปากเล็ก ตาเล็กมาก มีหนวดสั้น และยังมีครีบหลังที่สูงเป็นพิเศษ ปลาในสกุลนี้หากถูกจับมาจากธรรมชาติใหม่ๆ จะมีลายแถบสีขาวหรือเหลืองพาดตามแนวเฉียงของลำตัว ส่วนท้องจะเป็นสีขาว แต่หากถูกเลี้ยงในน้ำใสนานๆ จะเปลี่ยนเป็นสีดำล้วน เว้นแต่ส่วนหางและหนวด โดยหนวดจะเปลี่ยนเป็นสีขาวสว่าง ซึ่งตัดกับสีดำของลำตัวเป็นอย่างดี
ปลาแขยงดานกระโดงสูง จะไม่อยู่รวมกันเป็นฝูง จึงมักพบอยู่กับปลาหน้าดินชนิดอื่นๆ พบได้ในแหล่งน้ำจืดทั่วประเทศ แต่ก็เห็นตัวไม่ง่ายเช่นกัน เพราะในช่วงกลางวันมันจะซ่อนตัว และออกหากินเฉพาะกลางคืนเท่านั้น สถานะปัจจุบันคือ ข้อมูลไม่เพียงพอ (DD)
อันดับที่ 21.ปลาแขยงดานกระโดงต่ำ (Bagrichthys obscurus)
ปลาแขยงดานกระโดงต่ำ หรือ ปลาดุกมูนเกต่ำ มีความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ลักษณะโดยรวมเหมือนปลาแขยงดานกระโดงสูง ต่างกันตรงที่มีครีบหลังสั้นกว่า ในกรณีที่ถูกเลี้ยงในตู้นานๆ หนวดก็จะไม่ขาวสว่างเท่า เป็นปลาที่พบได้ในแหล่งน้ำเดียวกับปลาแขยงดานกระโดงสูง สถานะปัจจุบันคือ ความเสี่ยงต่ำ (LC) ประเมินเมื่อปี พ.ศ. 2554
อันดับที่ 20.ปลาแขยงหิน (Pseudomystus siamensis)
ปลาแขยงหิน หรือ ปลากดหิน มีความยาวประมาณ 9 เซนติเมตร เป็นปลาที่มีสีและลวดลายสวยมากชนิดหนึ่ง โดยทั่วไปแล้วจะมีพื้นลำตัวสีน้ำตาลแดง มีแถบสีอ่อน 3 แถบ ความกว้างของแถบ จะขึ้นอยู่กับอายุของปลา เป็นปลาที่พบได้ในแหล่งน้ำจืดเกือบทั่วประเทศไทย นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม สถานะปัจจุบันคือ ความเสี่ยงต่ำ (LC) ประเมินเมื่อปี พ.ศ. 2554
อันดับที่ 19.ปลาแขยงข้างลาย (Mystus atrifasciatus)
ปลาแขยงข้างลาย มีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร มีลำตัวที่ป้อมสั้นกว่าเมื่อเทียบกับปลาแขยงชนิดอื่นในสกุลเดียวกัน มีหัวกลมสั้น ฐานครีบไขมันยาว ลายแถบสีดำจะอยู่บริเวณกลางลำตัว ซึ่งอยู่แนวเดียวกับเส้นข้างลำตัว แถบสีขาวที่ขนาบด้านบนและล่างจะมีขนาดเล็กและดูจางกว่า ปลาแขยงข้างลาย (Mystus mysticetus) ที่อยู่ในอันดับ 23
เป็นปลาที่พบได้ไม่มากนักใน ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำแม่กลอง แต่จะพบได้มากในลุ่มแม่น้ำโขง สถานะปัจจุบันคือ ความเสี่ยงต่ำ (LC) ประเมินเมื่อปี พ.ศ. 2554
อันดับที่ 18.ปลาแขยงข้างลายหัวเหลี่ยม (Mystus multiradiatus)
ปลาแขยงข้างลายหัวเหลี่ยม มีความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ลักษณะโดยรวมคล้ายกับปลาแขยงข้างลายชนิดอื่น แต่จะมีส่วนหัวที่แบนและกว้างกว่า มีลายแถบสีดำพาดทับเส้นข้างลำตัว ประกอบด้วยแถบสีขาวขนาดเล็กทั้งบนและล่าง
เป็นปลาที่พบใน ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำแม่กลองและจะพบได้มากในลุ่มแม่น้ำโขง แต่ก็พบได้น้อยกว่าปลาแขยงข้างลายอันดับที่ 28 สถานะปัจจุบันคือ ความเสี่ยงต่ำ (LC) ประเมินเมื่อปี พ.ศ. 2554
อันดับที่ 17.ปลามังกง (Mystus gulio)
ปลามังกง หรือ ปลาอีกง มีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร มีลักษณะลำตัวค่อนข้างกลม พื้นลำตัวมักจะสีเทาอมทองหรือเทาอมม่วง ท้องมีสีขาว ส่วนหัวกลมและมีขนาดค่อนข้างใหญ่ มีหนวดที่สั้นกว่าปลาแขยงชนิดอื่น ครีบไขมันมีขนาดเล็กมาก
พบอาศัยบริเวณปากแม่น้ำที่เป็นน้ำจืดจนถึงน้ำกร่อย ตั้งแต่ภาคตะวันออกจนถึงภาคใต้ของไทย พบมากที่อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ว่ากันว่า คำว่า “บางปะกง” นั้นก็เรียกเพี้ยนมาจากคำว่า “บางมังกง” อีกทีหนึ่ง นอกจากนี้ปลามังกงยังมีชื่อเรียกอื่นๆ อีกมากมาย เช่น ปลากดหมู, ปลากด, ปลาแขยงกง สถานะปัจจุบันคือ ความเสี่ยงต่ำ (LC) ประเมินเมื่อปี พ.ศ. 2562
อันดับที่ 16.ปลาแขยงเขาใต้ (Batasio fluviatilis)
ปลาแขยงเขาใต้ มีความยาวประมาณ 7 เซนติเมตร มีพื้นลำตัวสีเหลืองอ่อน มีลายแถบสีดำแนวเฉียงอยู่บนลำตัวบริเวณก่อนถึงครีบหลัง และมีจุดสีดำขนาดค่อนข้างใหญ่อยู่แถวใต้ครีบไขมัน พบอาศัยอยู่ที่ภาคใต้ ในแหล่งน้ำขนาดเล็กโดยเฉพาะในลำธารฝั่งที่ไหลลงทะเลอันดามัน เป็นปลาที่พบได้มากในถิ่นอาศัยที่เหมาะสม สถานะปัจจุบันคือ ความเสี่ยงต่ำ (LC) ประเมินเมื่อปี พ.ศ. 2562
อันดับที่ 15.ปลาแขยงเขาลายแถบดำ (Batasio feruminatus)
ปลาแขยงเขาลายแถบดำ มีความยาวประมาณ 7 เซนติเมตร มีพื้นลำตัวสีเหลืองอ่อนกว่าปลาแขยงเขาใต้ มีลายแถบสีดำแนวเฉียงอยู่บนลำตัวบริเวณก่อนถึงครีบหลัง และมีแถบสีดำพาดไปตามแนวนอนตามแนวเส้นข้างลำตัวไปจนสุดโคนหาง เป็นปลาที่มีฐานครีบไขมันกว้างจนชิดกับฐานครีบหลัง พบอาศัยอยู่ในลุ่มแม่น้ำกษัตริย์และสุริยะ สถานะปัจจุบันคือ ข้อมูลไม่เพียงพอ (DD)
อันดับที่ 14.ปลาแขยงเขาลายเสือแม่น้ำสุริยะ (Batasio affinis)
ปลาแขยงเขาลายเสือแม่น้ำสุริยะ มีความยาวประมาณ 7 เซนติเมตร เป็นปลาที่มีรูปร่างคล้ายปลาแขยงเขาลายแถบดำ มีพื้นลำตัวสีเหลืองอ่อน ในปลาขนาดเล็กจะมีลายแถบสีดำ 6 แถบ เมื่อปลาโตขึ้นจะเหลือ 3 แถบ ซึ่งจะเฉียงลงไปทางหาง ฐานครีบไขมันไม่แตะกับฐานครีบหลัง มักพบปลาชนิดนี้อยู่ร่วมกับปลาแขยงเขาลายแถบดำ พบอาศัยอยู่ในลุ่มแม่น้ำกษัตริย์และสุริยะ สถานะปัจจุบันคือ ข้อมูลไม่เพียงพอ (DD)
อันดับที่ 13.ปลาแขยงกลับหัว (Mystus leucophasis)
ปลาแขยงกลับหัว หรือ ปลากดกลับหัว หรือ อัพไซด์ดาวน์แคทฟิช (Upside-down catfish) มีความยาวประมาณ 25 เซนติเมตร เป็นปลาแขยงแปลกๆ ที่จะว่ายน้ำกลับหัว ชอบเอาท้องไปแปะกับโขดหินหรือกิงไม้ใต้น้ำในลักษณะกลับหัว ปลาแขยงกลับหัวจะมีลำตัวป้อมสั้นกว่าปลาแขยงชนิดอื่นๆ พื้นลำตัวจะเป็นสีดำ มีจุดสีขาวเล็กๆ กระจายอยู่ทั่วไป
เป็นปลาที่พบได้มากในประเทศพม่า ในไทยจะพบน้อยกว่าในลุ่มแม่น้ำสาละวิน แม่น้ำกษัตริษ์และสุริยะ จัดเป็นปลาที่นิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม สถานะปัจจุบันคือ ความเสี่ยงต่ำ (LC) ประเมินเมื่อปี พ.ศ. 2552
อันดับที่ 12.ปลาแขยงเขาลายเสือแม่กลอง (Batasio tigrinus)
ปลาแขยงเขาลายเสือแม่กลอง มีความยาวประมาณ 7 เซนติเมตร มีลายและลักษณะโดยรวมคล้ายปลาแขยงเขาลายเสือแม่น้ำสุริยะ แต่จะมีครีบกระโดงหลังที่สั้นกว่า ฐานครีบไขมันแคบและหน้าทู่กว่า จัดเป็นสิ่งมีชีวิตถิ่นเดียว ที่พบกระจายพันธุ์ในลุ่มน้ำแม่กลองตอนบน และตามแนวป่าทางตะวันตกแถวๆ จังหวัดราชบุรีและเพชรบุรี สถานะปัจจุบันคือ ข้อมูลไม่เพียงพอ (DD)
อันดับที่ 11.ปลาแขยงนวล (Mystus velifer)
ปลาแขยงนวล มีความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร มีลำตัวค่อนข้างยาว ส่วนหัวแคบ ลำตัวมีสีขาวเงิน ไม่มีลายใดๆ บนตัว เราสามารถแยกปลาแขยงนวลออกจากปลาแขยงที่ไม่มีลายชนิดอื่นที่พบในไทย ตรงที่ฐานครีบไขมันสั้น เคยเป็นปลาที่พบได้มากมายในแหล่งทั่วประเทศไทย แต่ตอนนี้ลดลงไปมากจนในแหล่งน้ำบางแห่งถึงกลับหายไปเลย ถ้าจะพบมากหน่อยก็จะเป็นบริเวณปากแม่น้ำและลุ่มแม่น้ำตอนล่าง สถานะปัจจุบันคือ ข้อมูลไม่เพียงพอ (DD)
อันดับที่ 10.ปลาแขยงแถบขาว (Mystus albolineatus)
ปลาแขยงแถบขาว มีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร ลักษณะทั่วไปจะคล้ายกับปลาแขยงในสกุลเดียวกัน แต่จะมีแถบสีขาวเพียงเส้นเดียว พาดขนานไปกับเส้นข้างลำตัว หลังยกสูง และมีฐานครีบไขมันกว้าง
เป็นปลาที่พบไม่บ่อยนักในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ลุ่มแม่น้ำโขง ชอบอยู่ตามน้ำไหลบริเวณไม้ยืนต้นที่จมอยู่ใต้น้ำ สถานะปัจจุบันคือ ความเสี่ยงต่ำ (LC) ประเมินเมื่อปี พ.ศ. 2554
อันดับที่ 9.ปลาแขยงธง (Mystus bocourti)
ปลาแขยงธง มีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร จุดเด่นที่สุดของปลาชนิดนี้คือ มีก้านครีบหลังยาวมากซะจนดูคล้ายธง หางและส่วนฐานครีบไขมันยาวกว่าปลาแขยงส่วนใหญ่ ลำตัวมีลายแถบสีจางๆ แลดูไม่ชัดเจน
เป็นปลาที่พบได้ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำแม่กลอง ลุ่มแม่น้ำโขง แต่ก็พบได้ไม่มากนัก อาจพบมากในบางพื้นที่และในฤดูกาลที่เหมาะสม และเพราะเป็นปลาที่ดูสวยงาม จึงนิยมนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม สถานะปัจจุบันคือ มีความเสี่ยง (VU) ประเมินเมื่อปี พ.ศ. 2550
อันดับที่ 8.ปลาแขยงเขาหางจุด (Mystus castaneus)
ปลาแขยงเขาหางจุด มีความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร เป็นปลาที่มีลำตัวค่อนข้างสั้นป้อม มีสีพื้นลำตัวเหลืองทองอมน้ำตาล จุดเด่นที่สุดของปลาแขยงชนิดนี้คือ มีจุดสีดำขนาดค่อนข้างใหญ่อยู่บริเวณโคนหาง และมีฐานครีบไขมันที่ยาว ชอบอยู่ในลำธารและแม่น้ำขนาดเล็กที่ไหลค่อนข้างแรง
ในประเทศไทย พบอาศัยอยู่ในแหล่งน้ำภาคตะวันออก ในเขตจังหวัดจันทบุรี ระยอง และ ตราด แต่ปัจจุบันประชากรปลาที่อยู่ในภาคตะวันออกลดลงไปมากๆ เนื่องจากมีการทำลายลำธารบริเวณที่ราบด้วยการขุดลอกและสร้างฝ่ายที่มากเกินไป ส่วนประชากรที่ภาคใต้จะพบเฉพาะในแหล่งน้ำที่ไหลลงสู่อ่าวไทย สถานะปัจจุบันคือ ความเสี่ยงต่ำ (LC) ประเมินเมื่อปี พ.ศ. 2562
อันดับที่ 7.ปลาแขยงใบข้าวสาละวิน (Mystus falcarius)
ปลาแขยงใบข้าวสาละวิน มีความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร มีลำตัวที่ยาว พื้นลำตัวมีสีเงินหรือขาว ส่วนหลังยกสูง ฐานครีบไขมันกว้าง ที่บริเวณส่วนหน้าของโคนครีบหลังจะมีจุดสีดำ จัดเป็นปลาที่พบได้ค่อนข้างยากในประเทศไทย เนื่องจากพบได้เฉพาะในลุ่มน้ำสาละวิน สถานะปัจจุบันคือ ความเสี่ยงต่ำ (LC) ประเมินเมื่อปี พ.ศ. 2552
อันดับที่ 6.ปลาแขยงทราย (Mystus rhegma)
ปลาแขยงทราย มีความยาวประมาณ 12 เซนติเมตร มีลำตัวที่ยาว หัวสั้นและเล็ก ฐานครีบไขมันยาว ลายแถบสีเข้มของปลาแขยงชนิดนี้ จะอยู่บริเวณกลางลำตัว ส่วนแถบด้านบนและล่างจะขั้นด้วยแถบสีจางๆ ที่มีขนาดเกือบจะเท่ากัน
พบในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำแม่กลอง และลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง จัดเป็นปลาแขยงที่หาได้ยาก พบหากินบริเวณท้องน้ำที่เป็นพื้นทรายในระดับน้ำค่อนข้างลึก สถานะปัจจุบันคือ ข้อมูลไม่เพียงพอ (DD)
อันดับที่ 5.ปลาแขยงข้างลายสีทองสั้น (Mystus pulcher)
ปลาแขยงข้างลายสีทองสั้น มีความยาวประมาณ 8 เซนติเมตร มีลักษณะโดยรวมคล้ายปลาแขยงข้างลายสีทองยาว แต่ลำตัวจะสั้นกว่า และมีฐานครีบไขมันแคบกว่ามาก เป็นปลาที่มีพื้นลำตัวสีเหลืองทอง มีจุดสีดำขนาดใหญ่อยู่ที่ด้านหลังแผ่นปิดเหงือกและที่โคนหาง ส่วนลายบนตัวไม่ค่อยชัด
เป็นปลาที่พบได้ค่อนข้างมากในประเทศพม่าและประเทศแถบเอเชียใต้ แต่สำหรับในประเทศไทยถือว่าพบได้ยาก ซึ่งจะพบได้ในลุ่มแม่น้ำสาระวินเท่านั้น เป็นปลาที่ชอบอาศัยอยู่ในลำธารเล็กๆ สถานะปัจจุบันคือ ความเสี่ยงต่ำ (LC) ประเมินเมื่อปี พ.ศ. 2552
อันดับที่ 4.ปลาแขยงข้างลายสีทองยาว (Mystus rufescens)
ปลาแขยงข้างลายสีทองยาว มีความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร มีลักษณะโดยรวมคล้ายปลาแขยงข้างลายสีทองสั้น แต่จะมีลำตัวที่ยาวกว่าและมีฐานครีบไขมันกว้างกว่า เป็นปลาที่พบได้ยากและในไทยพบได้เฉพาะในลุ่มแม่น้ำสาระวิน สถานะปัจจุบันคือ ความเสี่ยงต่ำ (LC) ประเมินเมื่อปี พ.ศ. 2552
อันดับที่ 3.ปลาแขยงหน้าหนู (Pseudomystus stenomus)
ปลาแขยงหน้าหนู มีความยาวประมาณ 6 เซนติเมตร เป็นปลาที่มีลำตัวทรงกระบอก หน้าสั้นทู่ พื้นลำตัวสีน้ำตาลแดง มีลอยประสีเหลืองประปราย
พบในภาคตะวันออกและภาคใต้ของไทย แต่เพราะมีการทำลายลำธารที่ราบ เช่นการสร้างฝ่ายและขุดลอกแหล่งน้ำ ซึ่งถือเป็นแหล่งอาศัยที่สำคัญของปลา ด้วยเหตุนี้ ปลาแขยงชนิดนี้จึงกลายเป็นปลาหายากในไทย สถานะปัจจุบันคือ ความเสี่ยงต่ำ (LC) ประเมินเมื่อปี พ.ศ. 2562
อันดับที่ 2.ปลาแขยงหินหน้ายาว (Leiocassis poecilopterus)
ปลาแขยงหินหน้ายาว มีความยาวประมาณ 12 เซนติเมตร มีลำตัวยาวแบนข้างเล็กน้อย มีหัวที่แหลมยาว ครีบทุกครีบมีขนาดค่อนข้างใหญ่ ลายบนลำตัวเป็นสีน้ำตาลสลับสีเหลืองดูเปรอะไม่เป็นระเบียบ
เป็นปลาที่อาศัยอยู่ในลำธารบริเวณที่ราบภาคใต้ของไทย มักซ่อนตัวอยู่ตามจุดที่มีน้ำไหลแรง จัดเป็นปลาที่หาได้ยากในไทย แต่จะพบได้มากกว่าในประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย สถานะปัจจุบันคือ ความเสี่ยงต่ำ (LC) ประเมินเมื่อปี พ.ศ. 2562
อันดับที่ 1.ปลาแขยงหินใต้ (Pseudomystus leiacanthus)
ปลาแขยงหินใต้ มีความยาวประมาณ 6 เซนติเมตร เป็นปลาที่มีลำตัวกลมและยาวกว่าปลาแขยงหิน (Pseudomystus siamensis) ที่อยู่ในอันดับที่ 20 ของรายการนี้ และที่ลำตัวก็มีลายพาดสีเหลืองขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย
เป็นปลาที่พบได้มากในประเทศประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ส่วนในไทยพบได้น้อยมาก พบอาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ เฉพาะบริเวณลำธารน้ำไหลในป่าพรุ สถานะปัจจุบันคือ ความเสี่ยงต่ำ (LC) ประเมินเมื่อปี พ.ศ. 2561