ชนิดที่ 1 – ปลาจาดถ้ำ (Poropuntius speleops)
ปลาจาดถ้ำ (Cave Poropuntius) เป็นปลาน้ำจืด จัดเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของประเทศไทย พบได้ในลำธารใต้ถ้ำที่อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ เพียงแห่งเดียวเท่านั้น
โดยปลาจาดถ้ำจะแตกต่างจากป ลาจาดที่อยู่ภายนอกมาก แต่ก็เป็นเช่นเดียวกับปลาถ้ำชนิดอื่นๆ คือพวกมันไม่มีดวงตา ลำตัวมีชมพูหรือเผือก และถึงจะเป็นปลาจาด แต่พวกมันเกือบจะไม่มีเกล็ดเหลืออยู่เลย สำหรับขนาดของปลาชนิดนี้จะอยู่ที่ประมาณ 20 เซนติเมตร … เป็นปลาที่อยู่ในสถานะไม่มั่นคง
ชนิดที่ 2 – ปลาพลวงถ้ำ (Neolissochilus subterraneus)
ปลาพลวงถ้ำ เป็นปลาน้ำจืด จัดเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของประเทศไทย ซึ่งพบได้แห่งเดียวในโลกคือ ที่ถ้ำพระวังแดง อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จังหวัดพิษณุโลก เป็นปลาที่มีรูปร่างคล้ายกับปลาพลวง (N. stracheyi) ซึ่งอยู่ในสกุลเดียวกัน แต่จะมีตาที่เล็กและมีหนังบางๆ คลุมอยู่ เกล็ดมีขนาดใหญ่และยังบางกว่าปลาพลวง ลำตัวมีสีขาวซีดอมชมพู ในปลาขนาดเล็กจะตาโตกว่าและมีลำตัวสีเงินจาง
ปลาขนาดเล็กจะชอบหากินอยู่บริเวณปากถ้ำ ในขณะที่ปลาใหญ่จะเข้าไปลึกกว่า ทั้งนี้ก็เพื่อกินอินทรียสารจากมูลค้างคาว เป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 30 เซนติเมตร ซึ่งเป็นปลาถ้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่ก็โดนแย่งตำแหน่งไปโดย ปลาถ้ำที่เพิ่งค้นพบในถ้ำอุมลาดอว์ (Um Ladaw Cave) ประเทศอินเดีย เพราะตัวนั้นยาวมากกว่า 30 เซนติเมตร… เป็นปลาที่อยู่ในสถานะไม่มั่นคง
ชนิดที่ 3 – ปลาผีเสื้อถ้ำ (Cryptotora thamicola)
ปลาผีเสื้อถ้ำ (Waterfall climbing cave fish) เป็นปลาน้ำจืด จัดเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของประเทศไทย พบอาศัยอยู่ในถ้ำบางแห่งในเขตอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นปลามีพฤติกรรมเกาะติดอยู่กับหิน บริเวณแก่งหรือน้ำตกที่ไหลแรง จนดูเหมือนมันจะชอบปีนกำแพง
ปลาผีเสื้อถ้ำเป็นปลาขนาดเล็ก ที่ยาวได้ประมาณ 3 เซนติเมตร มันไม่มีดวงตา ลำตัวสีชมพูหรือขาวและมีครีบที่ใหญ่มาก จะอาศัยอยู่ในส่วนลึกของถ้ำ อย่างน้อยต้องลึก 500 เมตรจากทางเข้า ชอบอยู่ในบริเวณที่น้ำไหลแรง อาศัยกินจุลินทรีย์และสารอินทรีย์ของถ้ำ … เป็นปลาที่อยู่ในสถานะไม่มั่นคง
ชนิดที่ 4 – ปลาค้อถ้ำ (Nemacheilus troglocataractus)
ปลาค้อถ้ำ หรือ ปลาค้อถ้ำวังบาดาล (Blind cave loach) เป็นปลาน้ำจืด จัดเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของประเทศไทย พบอาศัยอยู่ในลำธารภายในถ้ำวังบาดาล อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เพียงแห่งเดียว พวกมันไม่มีดวงตาลำตัวไม่มีสี และยาวได้ประมาณ 7 เซนติเมตร … เป็นปลาที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤต
ชนิดที่ 5 – ปลาค้อตาบอด (Schistura oedipus)
ปลาค้อตาบอด เป็นปลาน้ำจืดและเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของประเทศไทย มีความยาวประมาณ 5 เซนติเมตร พบในระบบถ้ำในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน จัดเป็นหนึ่งในปลาถ้ำที่มีขนาดเล็กที่สุดที่พบในประเทศไทย
เป็นปลาที่ไม่มีดวงตาและไม่มีสี ชอบอาศัยอยู่ในลำธารถ้ำที่น้ำไหลเร็วมาก ซึ่งจะค่อยกินจุลินทรีย์และสารอินทรีย์ เป็นปลาที่มีความไวต่อการรบกวนสูงมาก โดยเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพน้ำ …เป็นปลาที่อยู่ในสถานะไม่มั่นคง
ชนิดที่ 6 – ปลาค้อจารุธานินธร์ (Schistura jaruthanini)
ปลาค้อจารุธานินธร์ เป็นปลาน้ำจืดที่มีความยาวประมาณ 7 เซนติเมตร เป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของประเทศไทย พบที่ถ้ำคลองงู อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นปลาที่ถูกพบโดยคุณกิตติพงษ์ จารุธาณินทร์ นักสำรวจ นักกฎหมาย และนักเลี้ยงปลาสวยงามที่มีชื่อเสียงชาวไทย …เป็นปลาที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤต
ชนิดที่ 7 – ปลาค้อถ้ำพระวังแดง (Schistura spiesi)
ปลาค้อถ้ำพระวังแดง เป็นปลาน้ำจืดที่ยาวได้ประมาณ 13 เซนติเมตร ลักษณะลำตัวค่อนข้างป้อม สีเนื้ออมชมพูและเหลืองอ่อน มีดวงตาที่เล็กมากและมีปากที่หนา เป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของประเทศไทย พบในถ้ำพระวังแดง อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง จังหวัดพิษณุโลก และจะอาศัยอยู่ในส่วนลึกของถ้ำ ตั้งแต่ 100 เมตรขึ้นไป … เป็นปลาที่อยู่ในสถานะไม่มั่นคง
ชนิดที่ 8 – ปลาค้อถ้ำพระไทรงาม (Schistura deansmarti)
ปลาค้อถ้ำพระไทรงาม (Smart’s Blind Cave Loach) เป็นปลาน้ำจืดที่ยาวประมาณ 15 เซนติเมตร เป็นสัตว์เฉพาะถิ่นของประเทศไทย พบในถ้ำพระไทรงาม อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก
ปลามีลักษณะคล้ายกับปลาค้อทั่วไป แต่จะมีลำตัวสีชมพูเทาๆ และดูโปร่งแสงจนเกือบจะเห็นอวัยวะภายใน มีปากที่เล็ก ปากบนและปากล่างจะมีหนวดอย่างละ 2 เส้น ตาเล็กมากและจมอยู่ภายในหัว ชอบอาศัยอยู่ตามซอกหิน ซึ่งจะคอยจับแพลงก์ตอนหรือปรสิตที่อยู่ในถ้ำกิน …เป็นปลาที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ขั้นวิกฤต
ชนิดที่ 9 – ปลาชะโอนถ้ำ (Pterocryptis buccata)
ปลาชะโอนถ้ำ (Cave sheatfish) เป็นปลาน้ำจืดที่พบได้เฉพาะในประเทศไทย อาศัยอยู่ในถ้ำวังบาดาล อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งลักษณะของปากถ้ำจะเป็นช่องเขาขนาดเล็กที่อยู่บนเขา และวนลึกลงไปจนถึงระดับน้ำด้านล่าง ซึ่งจะเป็นแอ่งน้ำขนาดประมาณสนามเทนนิส
ปลาชะโอนถ้ำจะมีขนาดประมาณ 20 เซนติเมตร ลำตัวมีสีขาวเผือก ดวงตามีขนาดเล็กและเป็นสีแดง เป็นปลาที่หายากมาก ตามข้อมูล ในปี พ.ศ. 2545 ได้มีคณะสำรวจชาวไทยเข้าไปในถ้ำ และจับปลากลับมาได้ประมาณ 10 ตัว จากนั้นก็ไม่มีรายงานการพบปลาชนิดนี้อีก แม้จะมีการสำรวจอีกหลายครั้งก็ตาม …เป็นปลาที่อยู่ในสถานะข้อมูลไม่เพียงพอ
ชนิดที่ 10 – ปลาตะพัด หรือ ปลาอโรวาน่า (Scleropages formosus)
ปลาตะพัด หรือ ปลาอโรวาน่า (arowana) เป็นหนึ่งในปลาที่มีราคาแพงที่สุดในโลก จัดได้ว่าเป็นซากดึกดำบรรพ์มีชีวิตชนิดหนึ่ง และเป็นปลาที่ใกล้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ โดยเฉพาะตะพัดสายพันธุ์ไทยนั้นสูญพันธุ์ไปแล้ว
ในอดีตปลาชนิดนี้ อาศัยอยู่ในแม่น้ำที่มีสภาพใสสะอาด มีนิสัยค่อนก้าวร้าว ขี้ตกใจ ยาวได้ประมาณ 90 เซนติเมตร พบได้ในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย กัมพูชา โดยปลาในแต่ละแหล่งน้ำจะมีสีสันแตกต่างหลากหลายกันออกไป …แต่ในปัจจุบันพบพวกมันได้ในฟาร์มและในตู้ปลาทั่วโลก
ชนิดที่ 11 – ปลาติดหิน หรือ ปลาค้างคาว (Oreoglanis siamensis)
ปลาติดหิน หรือ ปลาค้างคาว และชนิดที่เรารู้จักกันดีก็คือ ปลาค้างคาวดอยอินทนนท์ (Siamese freshwater batfish) เป็นปลาน้ำจืดเฉพาะถิ่นของประเทศไทย ที่พบได้เฉพาะในอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ จังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น และจะพบได้ที่ระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,200 เมตรขึ้นไป
โดยปลาชนิดนี้ถือเป็นปลาต้นแบบ ของปลาในสกุลปลาค้างคาว หรือ ปลาติดหิน ที่เรียกว่า Oreoglanis (/ออ-รี-โอ-แกลน-อิส/) โดยปลาในสกุลนี้ที่พบในไทยมีอย่างน้อย 8 ชนิด
เป็นปลาความยาวประมาณ 15 เซนติเมตร มีลักษณะที่แตกต่างไปจากปลาหนังชนิดอื่น ตรงที่ครีบหลังและครีบอกไม่มีก้านแข็ง ลำตัวเรียวยาวหัวและอกแบนราบ มีหนวด 4 คู่ ปากมีขนาดเล็กอยู่ด้านล่าง ครีบอกและริมฝีปากมีลักษณะคล้ายถ้วยดูด ใช้สำหรับดูดเกาะติดกับกรวดหินในน้ำ ลำตัวมีสีน้ำตาลอมเขียว …เป็นปลาที่อยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์
ชนิดที่ 12 – ปลาเสือตอลายใหญ่ (Datnioides pulcher)
สำหรับ ปลาเสือตอลายใหญ่ (Siamese tigerfish) ซึ่งเคยพบอยู่ในประเทศไทย โดยเฉพาะในบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ ได้สูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติแล้ว บางทีที่เห็นในตู้ปลาก็อาจไม่ใช่ปลาเสือตอลายใหญ่ไทยก็เป็นได้ แต่เป็นปลาที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน …ส่วนรายละเอียดของปลาชนิดนี้ผมได้อธิบายไว้ยาวมากๆ ยังไงก็ขอให้ไปกดดูได้ที่ลิงค์
ชนิดที่ 13 – ปลาหมูอารีย์ (Ambastaia sidthimunki)
ปลาหมูอารีย์ เป็นปลาน้ำจืดขนาดเล็ก มีลักษณะแบนข้าง ลำตัวเรียวยาวเล็กน้อย มีสีเหลืองสด หลังและกลางลำตัวมีแถบสีดำพาด และมีบั้งสีดำพาดลงมาจากสันหลังถึงด้านท้อง มีหนวด 3 คู่ มีความยาวเต็มที่ไม่เกิน 10 เซนติเมตร แต่โดยทั่วไปยาวแค่ 3 เซนติเมตร
เป็นปลาที่อาศัยอยู่ในลุ่มแม่น้ำแม่กลอง ในเขตจังหวัดราชบุรีจนถึงรอยต่อจังหวัดกาญจนบุรี โดยปลาหมูอารีย์เป็นปลาที่ได้รับการยอมรับว่า เป็นปลาหมูชนิดที่มีสีสันสวยงามมากที่สุด และมันก็เสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์เช่นกัน แต่โชคยังดีที่ในตอนนี้สามารถเพาะขยายพันธุ์ได้แล้ว แน่นอนว่าพบพวกมันได้ในตลาดปลาสวยงาม