1. ปลาดุกด้าน (Clarias batrachus)
ปลาดุกด้าน เป็นปลาเพียงชนิดเดียวที่ถูกระบุว่ามาจากประเทศไทย และยังเป็นปลาลำดับแรกที่ถูกพูดถึงใน 100 สายพันธุ์เอเลี่ยนรุกรานที่เลวร้ายที่สุดในโลกอีกด้วย มันเป็นที่รู้จักในชื่อ ปลาดุกเดิน หรือ Walking catfish โดยปลาดุกชนิดนี้รุกรานหนักที่สุดคือทวีปอเมริกาเหนือ
ปลาดุกด้านถือเป็น 1 ใน 5 ปลาดุกน้ำจืดพื้นเมืองของประเทศไทย ซึ่งประกอบไปด้วย ปลาดุกอุย (Broadhead catfish), ปลาดัก หรือ ปลาดุกเนื้อเลน (Blackskin catfish), ปลาดุกลำพัน (Slender walking catfish) และ ปลาดุกลำพันภูเขา (Hillstram walking catfish)
ทั้งนี้ปลาดุกด้าน จะยาวได้ประมาณ 50 เซนติเมตร หนักประมาณ 1.2 กิโลกรัม มีลักษณะคล้ายกับปลาดุกอุย แต่ปลาดุกอุยจะมีลำตัวสั้นป้อมกว่า ส่วนปลาดุกด้านจะมีรูปร่างค่อนข้างยาวเรียว สามารถเคลื่อนที่ไปบนบกได้เป็นระยะทางสั้นๆ อันเป็นที่มาของชื่อปลาดุกเดิน
การรุกรานจากปลาดุกด้านในสหรัฐอเมริกาเริ่มต้นที่ฟลอริดา มีบันทึกเอาไว้ว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2503 – 2505 ได้มีการนำเข้าปลาดุกด้านมาจากประเทศไทย ทั้งนี้ก็เพื่อการค้า จนมาถึงช่วง พ.ศ. 2506 ปัญหาที่เกิดจากปลาดุกด้านก็เริ่มเห็นได้ชัด นั้นเพราะปลาตัวเต็มวัยจำนวนมากเริ่มหลบหนีออกไปจากฟาร์ม รวมถึงมีผู้เพาะเลี้ยงเริ่มปล่อยปลาลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ จนในปี พ.ศ. 2511 ภาครัฐได้สั่งห้ามการนำเข้าและครอบครองปลาดุกด้าน …แต่ก็สายไปแล้ว เพราะปลาดุกด้านก็มีอยู่เต็มไปหมดในฟลอริดาไปซะแล้ว
แต่ปัญหามันไม่ได้จบอยู่แค่นั้น เพราะปลาดุกพวกนี้ไม่ธรรมดา พวกมันไม่เพียงแย่งชิงทรัพยากรจากปลาพื้นเมืองในธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังบุกเข้าไปในฟาร์มเลี้ยงสัตว์น้ำที่มีลักษณะเป็นบ่อพื้นต่ำหรือบ่อดินได้อย่างง่ายดาย ด้วยเหตุนี้ผู้เพาะเลี้ยงจึงต้องมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก เพื่อสร้างรั้วป้องกันปลาจากภายนอก ไม่ให้เข้ามาในบ่อปลาของพวกเขา และจนถึงทุกวันนี้ปลาดุกด้านก็ยังเป็นภัยคุกคามต่อสายพันธุ์ท้องถิ่นของฟลอริดา
2. ปลาไน หรือ ปลาคาร์ปธรรมดา หรือ ปลาคาร์ปยุโรป (Cyprinus carpio)
ปลาไน (Eurasian carp) มีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออก เป็นปลาที่รุกรานไปทั่วโลก เป็นปลาน้ำจืดที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 3 ของโลก เชื่อว่าเป็นปลาที่มนุษย์เลี้ยงเป็นชนิดแรกของโลกเพื่อเป็นอาหาร โดยเลี้ยงในประเทศจีนเมื่อประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว
ปลาไน จัดเป็นปลาน้ำจืดขนาดค่อนข้างใหญ่ มีความยาวได้ถึง 1.5 เมตร หนักเกิน 30 กิโลกรัม มีรูปร่างป้อม แบนข้างเล็กน้อย ส่วนหัวลาด ปากมีขนาดเล็ก มีหนวดสั้น 2 คู่ ลำตัวมีสีน้ำตาลคล้ำอมทองหรือน้ำตาลอ่อน ท้องสีจาง บางตัวอาจมีสีสันสดใส เป็นปลาที่วางไข่ได้หลายแสนฟองต่อปี
และแม้ปลาไนจะมีถิ่นกำเนิดในเอเชียตะวันออก แต่ก็เป็นปลาที่ถูกนำไปเลี้ยงแล้วมากกว่า 59 ประเทศทั่วโลก หากพื้นที่ไหนไม่มีนักล่าตามธรรมชาติหรือไม่มีการจับปลาเชิงพาณิชย์ พวกมันจะเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในพื้นที่แถบนั้นเป็นวงกว้าง
เนื่องจากเป็นปลาที่มีอัตราการสืบพันธุ์และพฤติกรรมการกินอาหาร ด้วยการคุ้ยหาอาหารตามพื้น พวกมันอาจทำลาย ถอนราก รบกวน และกินพืชพรรณที่จมอยู่ใต้น้ำ ก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงต่อแหล่งอาหารและแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์พื้นเมืองจำนวนมาก
มีเรื่องที่น่าสนใจอยู่อย่างหนึ่ง ซึ่งได้รับการเปิดเผยในงานวิจัย พวกเขาพบว่าไข่ของปลาไนที่ได้รับการปฏิสนธิแล้วจำนวนหนึ่ง ซึ่งถูกนกน้ำกินเข้าไป จะสามารถอยู่รอดและฟักออกมาเป็นตัวได้ แม้จะผ่านทางเดินอาหารแล้วออกมาจากอุจจาระก็ตาม ด้วยเหตุนี้การแพร่กระจายของปลาชนิดนี้จึงน่ากังวลมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในน้ำจืด
3. ปลากินยุงตะวันตก (Gambusia affinis)
ปลากินยุงตะวันตก (western mosquitofish) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า แกมบูเซีย แอฟฟินิส (Gambusia affinis) เป็นปลาอีกชนิดที่ระบาดไปทั่วโลก ในไทยเองก็มีเช่นกัน โดยปลากินยุงมีถิ่นกำเนิดในอเมริกาเหนือ และยังมีพี่น้องที่ชื่อว่า ปลากินยุงตะวันออก (eastern mosquitofish) ซึ่งมีขนาดเล็กกว่านิดหน่อย
แน่นอนว่าในส่วนนี้จะพูดถึงเฉพาะปลากินยุงตะวันตกเท่านั้น เพราะมันเป็นชนิดที่อยู่ในรายชื่อ 100 สายพันธุ์เอเลี่ยน โดยปลากินยุงชนิดนี้ตัวเมียจะตัวใหญ่กว่าตัวผู้ ซึ่งอาจยาวได้ถึง 7 เซนติเมตร ในขณะที่ตัวผู้ยาว 4 เซนติเมตร ปลากินยุงจะมีลักษณะคล้ายปลาหางนกยูงตัวเมีย มันมีสีเทาหม่น ท้องใหญ่ มีครีบหลังและหางที่โค้งม่น ปากจะเชิดขึ้นด้านบน
ปลาชนิดนี้ถูกตั้งชื่อว่าปลากินยุง ก็เพราะพวกมันถูกเข้าใจว่าชอบกินลูกน้ำของยุง ด้วยเหตุนี้ในหลายประเทศมักจะพูดถึงข้อดีของปลาว่า เป็นการควบคุมยุงด้วยวิธีการทางชีวภาพ แต่ความจริงแล้วปลาพวกนี้จะกินแพลงก์ตอนสัตว์ แมลงตัวเล็กๆ ไร และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังอื่นๆ ลูกน้ำของยุงเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของอาหารที่พวกมันกินเท่านั้น หรือก็คือ หากไม่มีอะไรจะกินมันถึงกินลูกน้ำ
เป้าหมายของการนำเข้าปลากินยุงในหลายๆ ประเทศก็คือการ “ตัวควบคุมทางชีวภาพ” เพื่อลดจำนวนยุงในพื้นที่ ซึ่งหากมองในแง่ดีมันก็ได้ผลในระดับหนึ่ง แต่จากการศึกษาผลกระทบจากปลากินยุงออสเตรเลีย พวกเขาพบว่าในบางพื้นที่ มันทำให้ปัญหาของยุงร้ายแรงยิ่งกว่าเดิมด้วยซ้ำ นั้นเพราะปลากินยุงได้ไปทำลายสัตว์น้ำพื้นเมืองที่แต่เดิมก็เป็นตัวคุมลูกน้ำของยุงอยู่แล้ว
ด้วยเหตุนี้จึงถูกพิจารณาว่า การใช้ปลาชนิดนี้ควบคุมยุง ไม่ใช่ทางเลือกที่ดี นั้นเพราะในกรณีส่วนใหญ่ ปลาพื้นเมืองหลายชนิดก็สามารถควบคุมประชากรยุงได้ การปล่อยปลากินยุงลงไป ก็เท่ากับเป็นการทำลายระบบนิเวศเหมือนในกรณีของออสเตรเลีย นักวิจัยที่นั้นเรียกพวกมันว่าเป็น “สัตว์ที่มีปัญหามากที่สุดในโลก”
อย่างไรก็ตามปลาชนิดนี้ใช้ได้ผลดีในบางพื้นที่ อย่างในกรณีตัวอย่างเมื่อปี พ.ศ. 2463 – 2493 มีนักวิจัยบางคนเชื่อว่า ปลากินยุงมีส่วนสำคัญในการกำจัดโรคมาลาเรียในอเมริกาใต้ รัสเซียตอนใต้ และยูเครน …ความจริงคือปลาพวกนี้ใช้ได้ผลในบริเวณน้ำขังที่ไม่มีความหลากหลายทางชีวภาพหรือมีน้อยมาก
4. ปลากะพงแม่น้ำไนล์ (Lates niloticus)
ปลากระพงแม่น้ำไนล์ (Nile perch) เป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ ที่อยู่ในวงศ์ปลากระพงขาว ปลาชนิดนี้มีหน้าตาคล้ายกับปลากระพงขาว แต่ปลากระพงแม่น้ำไนล์จะครีบหลังที่ยกสูงกว่า และตัวก็ใหญ่กว่า ซึ่งอาจยาวได้ถึง 2 เมตร และอาจหนัก 200 กิโลกรัม จึงเป็นปลาขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์นี้
ปลากะพงแม่น้ำไนล์ มีถิ่นกำเนิดในแม่น้ำไนล์ ทวีปแอฟริกา พบในอียิปต์, เซเนกัล, คองโก, เคนยา เป็นต้น และด้วยขนาดของปลาชนิดนี้ มันจึงเป็นเป้าหมายของนักตกปลาเพื่อเกมกีฬา ถูกจัดให้เป็นหนึ่งในปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ที่สามารถจับได้ด้วยเบ็ดตกปลา
แม้ว่าปลากระพงแม่น้ำไนล์จะมีเนื้อที่ดี และยังตกสนุก พวกมันยังถือเป็นสายพันธุ์รุกรานที่น่ากลัว ปลาชนิดนี้ถูกนำเข้าไปยังทะเลสาบหลายแห่งในแอฟริกา รวมถึงทะเลสาบวิกตอเรีย (Lake Victoria) และทะเลสาบนัสเซอร์ (Lake Nasser) โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสายพันธุ์รุกราน ถือว่ามันคือ 1 ใน 100 สายพันธุ์เอเลี่ยน
ในรัฐควีนส์แลนด์ของออสเตรเลีย จะปรับเงินเป็นจำนวนมาก หากพบผู้ครอบครองปลากระพงแม่น้ำไนล์ที่มีชีวิต เนื่องจากปลาชนิดเป็นคู่แข่งโดยตรงกับปลากระพงขาวพื้นเมืองซึ่งมีขนาดเล็กกว่า
ส่วนในกรณีของทะเลสาบวิกตอเรีย ถือเป็นตัวอย่างที่ถูกพูดถึงมากที่สุด ปลากะพงแม่น้ำไนล์ถูกปล่อยในทะเลสาบวิกตอเรียบริเวณแอฟริกาตะวันออก เมื่อปี พ.ศ. 2493 จนถึงปี พ.ศ. 2546 ปลาชนิดนี้สร้างรายได้ให้กับชาวประมงมากมาย แต่หลังจากนั้นผลกระทบเริ่มเห็นได้ชัดเจนขึ้น
นั้นเพราะปลากระพงแม่น้ำไนล์ได้รบกวนระบบนิเวศอย่างหนัก ในตอนแรกพวกมันกินปลาพื้นเมือง พอปลาพื้นเมืองน้อยลง พวกมันก็เริ่มกินสัตว์ขนาดที่เล็กลงไปอีก จนในที่สุดก็กินแม้แต่ปลาซิลและกุ้งขนาดเล็ก และจนถึงทุกวันนี้ชาวประมงก็จับปลาได้น้อยลงไปมาก พวกเขาไม่สามารถจับปลาได้เหมือนอย่างเคย สุดท้ายแม้แต่การประมงเชิงพาณิชย์ก็พังลง ตามข้อมูลระบุว่าในตอนนี้ที่วิกตอเรีย อาจเหลือเรือลากอวนขนาดเล็ก เพียง 1 ลำ ซึ่งเป็นของสถาบันวิจัย คงเหลือแต่การประมงเล็กๆ ของคนท้องถิ่น และการตกปลาที่เป็นการท่องเที่ยว
5. ปลาแบสปากใหญ่ (Micropterus salmoides)
ปลาแบสปากใหญ่ (Largemouth bass) เป็นปลานักล่าที่มีขนาดใหญ่กว่าปลาพีค็อกแบส (Peacock bass) ที่พบได้ในไทยพอสมควร โดยเจ้าพีค็อกแบสตัวใหญ่ 40 – 50 เซนติเมตร แต่ปลาแบสปากใหญ่ตัวใหญ่ที่สุดที่เคยบันทึกไว้คือ 75 เซนติเมตร หนัก 11.4 กิโลกรัม
ปลาแบสปากใหญ่ เป็นปลาที่มีชื่อเสียงอย่างมาก เนื่องจากมันเป็นปลาที่ใช้ในการแข่งขันตกปลารายการใหญ่ที่สุดในโลก เป็นปลาประจำรัฐของจอร์เจีย และยังพบมากใน รัฐมิสซิสซิปปี้ และ รัฐฟลอริดา เป็นปลาที่มีความอดทนสูง อย่างไรก็ตามพวกมันก็เป็นสายพันธุ์รุกรานในหลายพื้นที่ เป็นต้นเหตุทำให้แหล่งน้ำเสื่อมโทรม หรือ ทำให้สายพันธุ์ท้องถิ่นต้องสูญพันธุ์
ปลาแบสปากใหญ่ถูกนำเข้าไปในหลายประเทศ ในฐานะปลาที่ใช้ในเกมกีฬา ในเกาหลีใต้ มีการนำปลาชนิดนี้ไปปล่อยในเขื่อนหลายแห่ง โดยหวังให้ชาวประมงจับมาสร้างรายได้ แต่แล้วพวกมันกลับกินปลาพื้นเมืองส่วนใหญ่ไป จนต้องจัดตั้งหน่วยงานเพื่อกำจัดปลาชนิดนี้
ในญี่ปุ่นปลาชนิดนี้ทำให้ประชากรปลาพื้นเมืองลดลงอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 โดยเฉพาะปลาบิตเทอร์ลิง (Rhodeus) ในทะเลสาบอิซุนุมะและอูชินุมะ นอกจากนี้ปลาแบสปากใหญ่ ยังถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุทำให้ นกเป็ดผีอติตลัน (Atitlán grebe) ที่อาศัยอยู่ในทะเลสาบอติตลัน (Lake Atitlán) ต้องสูญพันธุ์ไป
6. ปลาเรนโบว์เทราต์ (Oncorhynchus mykiss)
ปลาเรนโบว์เทราต์ (Rainbow trout) เป็นปลาที่อยู่ในวงศ์ปลาแซลมอน (Salmonidae) แต่เดิมปลาชนิดนี้อาศัยอยู่ในสาขาของแม่น้ำที่เย็นและไหลลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกในทวีปเอเชีย และทวีปอเมริกาเหนือ เป็นปลาที่วงจรชีวิตในทะเลและน้ำจืด
ปลาเรนโบว์เทราต์ เป็นปลาที่มีขนาดแตกต่างกันตามแหล่งอาศัย อย่างเช่นปลาที่อยู่ในลำธารน้ำจืดที่โตเต็มวัย จะมีน้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ 0.5 – 2.5 กิโลกรัม ในขณะที่ปลาในทะเลสาบและอยู่ในรูปแบบอะแตดโรมัส (anadromous) อาจหนักได้ถึง 9 กิโลกรัม ปลาชนิดนี้เป็นปลานักล่าที่จะกินสัตว์น้ำต่างๆ แบบไม่เลือก มันกินได้ทั้งแมลงน้ำและปลาขนาดเล็ก
จัดเป็นปลาเนื้อดี และใช้ตกเป็นเกมกีฬา และเพราะแบบนี้ ปลาเรนโบว์เทราต์ จึงถูกนำมาเพาะเลี้ยงในหลายประเทศ เช่น เยอรมนี, ฟินแลนด์, แอฟริกาใต้, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, ญี่ปุ่น ทั้งในประเทศในเขตอบอุ่นและเขตหนาว หรือแม้แต่เขตร้อน อย่างในประเทศไทยไม่มีข้อยกเว้น
โดยปลาเรนโบว์เทราต์ ได้ถูกนำเข้ามาในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2541 โดยเลี้ยงไว้บนดอยอินทนนท์ ในตอนนี้มีหลุดออกมาในธรรมชาติพอสมควร แต่เพราะเป็นปลาน้ำเย็น พวกมันจึงอยู่ได้เฉพาะในแหล่งน้ำบนดอย ผลกระทบจึงยังไม่ชัดเจน
7. ปลาหมอเทศ – ปลานิล (Oreochromis mossambicus)
ในรายชื่อ 100 สายพันธุ์เอเลี่ยนรุกราน มีชื่อของปลาหมอเทศเท่านั้น แต่เมื่อลงรายละเอียดก็พบว่ามันได้รวมเอาปลานิลเข้าไปด้วย โดยทั้งสองชนิดนี้แม้แต่ในประเทศไทยก็ถือว่ามีเยอะมาก เพียงแต่ปลานิลในไทยตอนนี้ถือเป็นปลาน้ำจืดหลักที่คนไทยนิยมกิน จนลืมไปว่าปลาพวกนี้ได้ทำลายสายพันธุ์ท้องถิ่นไปมากแต่ไหน
ปลาหมอเทศมีขนาดประมาณ 40 เซนติเมตร ในขณะที่ปลานิลจะตัวใหญ่กว่า และเพราะอยู่ในสกุลเดียวกัน ปลาทั้งสองชนิดจึงมีหน้าตาที่คล้ายกันมาก และยังผสมกันได้ด้วย พวกมันมีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปแอฟริกา เป็นปลาที่กินได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นพืชหรือสัตว์ พวกมันกินตะกอน อินทรียสาร และจะขยายพันธุ์ด้วยวิธีขุดหลุมคล้ายหลุมขนมครก หากแหล่งน้ำไหนที่ปลาพวกนี้อาศัยอยู่จำนวนมาก หากน้ำแห้งจะพบหลุมมากมายอยู่ที่พื้น
ปัจจุบันสามารถพบปลาพวกนี้ได้ในแหล่งน้ำจืดในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนหลายแห่งทั่วโลก โดยส่วนใหญ่มันถูกนำเข้าไปเพาะเลี้ยงเพื่อเป็นอาหาร ต่อมาก็หลุดออกมา แล้วก็เพิ่มจำนวนประชากรอย่างรวดเร็วในธรรมชาติ จนเป็นเหตุให้ปลาท้องถิ่นในหลากหลายชนิดต้องลดลงหรือสูญพันธุ์ไป
8. ปลาเทราต์สีน้ำตาล (Salmo trutta)
ปลาเทราต์สีน้ำตาล (Brown trout) จัดเป็นปลาแซลมอนชนิดหนึ่ง มีถิ่นกำเนิดอยู่ในยุโรปและเอเชียกลาง และเทือกเขาแอตลาสในแอฟริกา เป็นปลาเทราต์ที่ประกอบด้วยประชากรหลายกลุ่มซึ่งจะถือเป็นชนิดย่อย อย่างเช่น ประชากรกลุ่มน้ำจืดล้วน จะเรียก ซัลโม ทรูตต้า ฟาริโอ (Salmo trutta fario) หรือ ปลาเทราต์แม่น้ำ ซึ่งเป็นชนิดที่จะอาศัยอยู่ในน้ำจืดเท่านั้น และหากเป็นรูปแบบอะแตดโรมัส (anadromous) จะเรียกว่าปลาเทราต์ทะเล หรือ ซัลโม ทรูตต้า มอร์ฟา ทรูตต้า (Salmo trutta morpha trutta)
ปัจุบันปลาเทราต์สีน้ำตาล ถูกนำไปเลี้ยงอย่างกว้างขวางในหลายประเทศ โดยเฉพาะในอเมริกาเหนือและใต้ ออสเตรเลเซีย เอเชีย แอฟริกาใต้และตะวันออก หากเป็นแหล่งน้ำที่เหมาะสม ปลาพวกนี้สามารถสร้างประชากรได้ด้วยตัวเอง โดยปลาพวกนี้ได้เข้าแข่งขันกับปลาเทราต์พื้นเมืองและปลาแซลมอนสายพันธุ์อื่นๆ
พวกมันเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่และเติบโตได้เร็วกว่าสายพันธุ์พื้นเมืองส่วนใหญ่ ด้วยเหตุนี้ประชากรปลาพื้นเมืองจึงลดลงอย่างต่อเนื่อง และแม้จะเป็นกรณีหายาก แต่นักวิจัยก็พบว่า ปลาเทราต์สีน้ำตาลสามารถผสมพันธุ์กับปลาเทราท์สายพันธุ์พื้นเมืองได้ด้วย ด้วยเหตุนี้มันจึงอันตรายมากขึ้น
อะแตดโรมัส หมายถึงอะไร? (anadromous)
หลายคนคงสงสัยถึงคำว่า คำอะแตดโรมัส (anadromous) ซึ่งผมได้พูดถึงไปในส่วนของปลาเทราต์ หากให้อธิบายง่ายๆ ก็คือ รูปแบบของ ปลาเทราต์หรือแซลมอนที่อาศัยอยู่ในทะเล และมีวงจรชีวิตที่จะอพยพไปน้ำจืดเพื่อวางไข่ และเมื่อมันเข้ามาในน้ำจืดมันก็จะตายหลังวางไข่หรืออาจตายก่อนด้วยซ้ำ