ชนิดที่ 1 – ปลากัดปีนัง – Betta pugnax
ปลากัดปีนัง หรือ ปลากัดภูเขา (Penang betta) เป็นปลาที่มีขนาดประมาณ 5 – 7 เซนติเมตร มีรูปร่างคล้ายปลากัดทั่วไป แต่จะมีลำตัวป้อมใหญ่กว่า ครีบหางใหญ่ ตัวผู้มีสีน้ำตาลคล้ำ ข้างแก้มสีฟ้าเหลือบเขียว เกล็ดมีจุดสีฟ้าเหลือบทั้งตัว ครีบสีน้ำตาลอ่อน ครีบหลังและครีบหางมีลายเส้นประสีคล้ำ ครีบก้นมีขอบดำ ตัวเมียสีน้ำตาลอ่อน และมีแถบสีคล้ำพาดตามแนวยาวของลำตัว
ปลากัดชนิดนี้จะไม่ก่อหวอด แต่ตัวผู้จะใช้วิธีอมไข่ไว้ในปากจนกว่าจะฟักตัว เชื่อว่าเกิดจากสภาพแวดล้อมที่พวกมันอาศัยเป็นลำธารที่น้ำไหลเชี่ยวบนภูเขา เป็นปลากัดที่ไม่ก้าวร้าวชอบอาศัยรวมกันเป็นฝูงหลายๆ ตัว ในประเทศไทยพบปลาชนิดนี้ได้เฉพาะทางภาคใต้ตอนล่าง เช่น นครศรีธรรมราช, ตรัง, สตูล มีรายงานการพบบนเกาะตะรุเตาและพื้นที่อาศัยทับซ้อนกับปลากัดอมไข่สงขลา
ชนิดที่ 2 – ปลากัดภาคกลาง – Betta splendens
ปลากัดภาคกลาง หรือ ปลากัด (Siamese fighting fish) เป็นปลากัดที่ยาวได้ประมาณ 5 เซนติเมตร มีลำตัวทรงกระบอกและแบนข้างเล็กน้อย หัวสั้น ปากเล็ก ครีบหางใหญ่ ครีบท้องเป็นเส้นยาว ลำตัวสีน้ำตาลอ่อนเหลือบแดง น้ำเงิน หรือเขียว ตัวผู้จะมีสีสันสวยกว่าตัวเมีย เป็นปลาที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดีมาแต่โบราณ และมักเรียกติดปากว่า “ปลากัดทุ่ง” หรือ “ปลากัดลูกทุ่ง” หรือ “ปลากัดป่า …เป็นสายพันธุ์ปลากัดที่ได้รับการพัฒนามากที่สุด
ปลากัดชนิดนี้มีนิสัยดุร้ายเป็นพิเศษ และเพราะพฤติกรรมที่ชอบกัดกันเอง จึงถูกนำมาเลี้ยงเพื่อกัดต่อสู้กัน จนเป็นการพนันชนิดหนึ่งของคนไทย และได้มีการพัฒนาสายพันธุ์และความสามารถในชั้นเชิงการกัดและในด้านความสวยงามด้วย เป็นปลาที่พบได้ในทุกภาคของประเทศไทย ชอบอาศัยอยู่ในอ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ หนองบึง แอ่งน้ำ ลำคลอง
ชนิดที่ 3 – ปลากัดอีสาน – Betta smaragdina
ปลากัดอีสาน หรือ ปลากัดเขียว (Blue betta) มีความยาวประมาณ 5 – 6 เซนติเมตร เป็นปลากัดประเภทก่อหวอด มีรูปร่างและพฤติกรรมคล้ายกับปลากัดภาคกลาง (Betta splendens) แต่จะมีรูปร่างที่เพรียวยาวกว่า มีเกล็ดสีเขียวมากกว่าทั้งที่ข้างแก้มและลำตัว ในบางตัวอาจมีสีเหลือบฟ้า ครีบมีสีเขียวหรือฟ้าและมีลายประสีดำ พบในแหล่งน้ำตื้นที่นิ่งหรือไหลเอื่อยๆ ในพื้นที่ภาคอีสานของประเทศไทย
ทั้งนี้มีรายงานว่า ปลากัดเขียว ที่พบในพื้นที่บึงโขงหลง ในจังหวัดบึงกาฬ มีลักษณะที่เด่นที่ต่างออกไปคือ โดยก้านครีบหางจะมีการแตกตัว บางตัวอาจแตกได้มากถึง 4 ก้าน และในครีบหางจะมีลายขึ้นเป็นเส้นเต็มช่องระหว่างก้านหาง เริ่มตั้งแต่โคนหางกระจายออกไปจนอาจสุดปลายหาง มองดูคล้ายลักษณะของแมงมุม ปลาที่มีลักษณะเช่นนี้เรียกว่า “ปลากัดป่าหางลาย” หรือ “ปลากัดป่ากีตาร์” ซึ่งในอนาคตอาจถูกแยกให้เป็นปลากัดชนิดใหม่ แต่ในตอนนี้ยังไม่มีการศึกษาเพิ่มเติม
ชนิดที่ 4 – ปลากัดป่าภาคใต้ – Betta imbellis
ปลากัดป่าภาคใต้ (Peaceful betta) มีความยาวประมาณ 5-6 เซนติเมตร มีลักษณะใกล้เคียงกับปลากัดภาคกลางและปลากัดอีสาน แต่จะมีรูปร่างเรียวยาวกว่า มีครีบหลังค่อนไปทางด้านหลังของลำตัว ลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อนเหลือบแดงและน้ำเงิน หลังและครีบก้นสีคล้ำแดงมีแถบสีฟ้าเรืองแสง ปลายครีบก้นมีแต้มสีแดงสด และมีขลิบสีขาว
โดยปกติแล้วปลากัดป่าภาคใต้ จะมีพฤติกรรมก้าวร้าวน้อยกว่าปลากัดภาคกลางและปลากัดอีสาน ในประเทศไทยพบปลาชนิดนี้ได้ที่ภาคใต้ ชอบอยู่ในหนองน้ำ ลำธาร ที่มีเศษใบไม้และโคลน
ชนิดที่ 5 – ปลากัดหัวโม่ง – Betta prima
ปลากัดหัวโม่ง หรือ ปลากัดหัวโม่งจันทบุรี (Mouthbrooder betta) ยาวได้ถึง 10 เซนติเมตร เป็นปลากัดประเภทอมไข่ มีปลายปากที่แหลม ครีบทุกครีบใส่ ลำตัวสีเขียวอ่อน มีแถบสีดำพาดตามความยาวของลำตัว 3 แถบ ตากลมโตสีเหลือง
ปลากัดชนิดนี้เป็นปลาที่มีถิ่นกำเนิดในเขตน้ำไหล จึงต้องการออกซิเจนสูง พบในประเทศไทยบริเวณลำธารน้ำตกแถบภาคตะวันออก ชอบอยู่ตามกอหญ้าริมน้ำตกหรือธารน้ำไหล
ชนิดที่ 6 – ปลากัดอมไข่กระบี่ – Betta simplex
ปลากัดอมไข่กระบี่ เป็นปลากัดอมไข่ที่มีความยาวประมาณ 8 เซนติเมตร ในปลาตัวผู้จะมีสีสวยกว่าตัวเมีย มีครีบหลัง ครีบท้องและครีบหางสีแดง ครีบท้องจะมีริมสีน้ำเงิน ปลาตัวเมียมีขนาดเล็กกว่า หัวแหลมกว่า และสีสันไม่สวยงามเท่าตัวผู้
เป็นปลาที่พบได้เฉพาะในจังหวัดกระบี่และจังหวัดใกล้เคียงเท่านั้น และยังอาศัยอยู่ในลำธารที่ไหลมาจากภูเขาหินปูนที่น้ำมี pH ประมาณ 7.5 – 8.5 ซึ่งถือเป็นปลากัดที่มีความต้องการน้ำที่มีลักษณะเฉพาะ แต่ดูเหมือนน้ำประปาบ้านเราก็มักจะอยู่แถวๆ 7 บวกลบนิดหน่อย บางทีถ้าเอามาเลี้ยงอาจจะง่ายกว่าที่คิด และด้วยความที่มีถิ่นอาศัยที่จำกัด จึงทำให้ปลากัดอมไข่กระบี่ในธรรมชาติ จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงขั้นวิกฤติต่อการสูญพันธุ์
ชนิดที่ 7 – ปลากัดอมไข่สงขลา – Betta ferox
ปลากัดอมไข่สงขลา หรือ ปลากัดฟีร็อกซ์ จัดเป็นปลากัดธรรมชาติที่หาได้ยากมากชนิดหนึ่งในประเทศไทย มันมีขนาดประมาณ 6 เซนติเมตร ถูกพบครั้งแรกในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา อาศัยในแหล่งน้ำที่ไหลบนภูเขา ชอบอาศัยอยู่ตามรากไม้หรือใบไม้ใกล้ฝั่ง พบอยู่ทั่วไปในแหล่งน้ำบนภูเขาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยพบได้เฉพาะภาคใต้เท่านั้น
ชนิดที่ 8 – ปลากัดมหาชัย – Betta mahachaiensis
ปลากัดมหาชัย เป็นปลาที่มีความยาว 4 – 5 เซนติเมตร มีลักษณะคล้ายกับปลากัดภาคกลางและยังมีถิ่นอาศัยที่ซ้อนทับกัน แต่ปลาทั้งสองก็ยังมีความแตกต่างกัน โดยปลากัดมหาชัยจะมีสีของเกล็ดเป็นสีฟ้าอมเขียวหรือสีเขียว และยังดูแวววาวทั้งตัว ลักษณะเกล็ดไล่เรียงตัวกันเหมือนฝักข้าวโพด บนพื้นลำตัวมีสีเข้มตั้งแต่น้ำตาลจนถึงดำสนิท บริเวณแก้มหรือแผ่นปิดเหงือกเป็นขีดสีฟ้า 2 ขีด ครีบอกคู่แรกที่เรียกว่า “ตะเกียบ” เส้นหน้ามีสีฟ้า ครีบหางมีทั้งกลมและปลายแหลมเหมือนใบโพธิ์และมีสีฟ้า
ปลากัดชนิดนี้จะมีถิ่นอาศัยที่จำกัด พบแค่ในเขตจังหวัดสมุทรสาคร, สมุทรสงคราม, สมุทรปราการ และเขตบางขุนเทียนของกรุงเทพมหานครเท่านั้น ทั้งนี้จากการศึกษาดีเอ็นเอ พบว่าปลากัดมหาชัยแยกออกมาจากปลากัดภาคกลางเมื่อราว 3-4 ล้านปีก่อน
ชนิดที่ 9 – ปลากัดช้าง – Betta pi
ปลากัดช้าง หรือ ปลากัดน้ำแดง จัดเป็นปลากัดขนาดใหญ่ มันยาวได้ถึง 12 เซนติเมตร แต่โดยทั่วไปจะยาวประมาณ 9 เซนติเมตร มีลักษณะป้อมสั้น ครีบหลังยาว ครีบท้องเป็นเส้นยาว ครีบก้นยาว ปลายครีบเรียวยาว ครีบหางค่อนข้างใหญ่ หัวโต ปากกว้าง เกล็ดใหญ่ ส่วนหัวละลำตัวมีสีน้ำตาลอ่อนหรือสีน้ำตาลแดง ตัวผู้ใต้ขอบตาจะเป็นสีเข้ม ครีบสีจางมีเหลือบสีเขียวอ่อน ปากสีคล้ำ มีรอยสีคล้ำเป็นรูปโค้งและมีแถบ 2 แถบติดกันที่ใต้คางและริมฝีปากล่าง
พบในป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส ของประเทศไทย โดยอาศัยในน้ำที่มีสีชาหรือสีแดง เป็นปลาที่ไม่ดุร้ายหรือก้าวร้าว จึงสามารถเลี้ยงรวมกันได้หลายตัว
ชนิดที่ 10 – ปลากัดตะวันออก – Betta siamorientalis
ปลากัดตะวันออก ถือเป็นปลากัดชนิดใหม่ล่าสุดของไทย มันได้รับการอธิบายในปี 2012 ซึ่งเป็นปีเดียวกับปลากัดมหาชัย มันเป็นปลาที่ยาวได้ประมาณ 4 เซนติเมตร มีนิสัยก้าวร้าว ชอบอาศัยในแหล่งน้ำที่ไหลช้า เช่น บึง นาข้าว สระน้ำและคลอง ในประเทศไทยพบได้ใน สระแก้ว ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทราและบางอำเภอของจังหวัดชลบุรี
ก็อย่างที่ได้เห็นกัน ปลากัดธรรมชาติสายพันธุ์ดั้งเดิมที่พบในไทย ก็ดูจะมีอยู่หลายชนิด และถึงแม้บางชนิดจะพบได้มากมายในตลาดปลาสวยงาม แต่ในธรรมชาติพวกมันก็อยู่ในสภาพย่ำแย่ แต่ก็เอาเหอหากมองโลกในแง่ดี อย่างน้อยพวกมันก็ยังถูกเพาะพันธุ์และเลี้ยงดูโดยมนุษย์