31 ปี ของการจากไป วันสืบนาคะเสถียร (1 กันยายน)

1 กันยายน ของทุกปีเป็นวันสำคัญที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และ “วันสืบ นาคะเสถียร” เป็นการรำลึกถึงการจากไปของนักอนุรักษ์ที่สร้างความตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นอดีตหัวหน้าเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ผู้ทุ่มเททั้งชีวิตในการอนุรักษ์ป่า และพยายามที่จะปลุกจิตสำนึกของคนไทยให้เห็นถึงความสำคัญของป่าไม้และสัตว์ป่า และในปีนี้เป็นก็ครบรอบ 31 ปี ของการจากไปของ สืบ นาคะเสถียร

ด้วยความที่ต้องรับแรงกดดันกดดันหลาย ๆ ด้าน และเพื่อเป็นการเรียกร้องต่อหน่วยงานภาครัฐให้ใส่ใจต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างแท้จริง สืบจึงตัดสินใจประท้วงด้วยการฆ่าตัวตายด้วยอาวุธปืนในบ้านพักของสืบที่ห้วยขาแข้ง

วันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2533 สืบยังคงปฏิบัติงานตามปกติ และได้เตรียมจัดการทรัพย์สินที่หยิบยืมและทรัพย์สินส่วนตัว และอุทิศเครื่องมือเครื่องใช้ในการศึกษาวิจัยด้านสัตว์ป่าให้แก่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ สั่งให้ตั้งศาลเคารพดวงวิญญาณเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตในการรักษาป่าห้วยขาแข้ง ในช่วงหัวค่ำของสืบยังคงปฏิบัติตัวพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ตามปกติดั่งเช่นเคยทำ ครั้นช่วงดึกสืบขอลากลับไปบ้านพัก โดยกลับไปเตรียมจัดการทรัพย์สินที่เหลือและได้เขียนจดหมายหกฉบับ มีเนื้อหาสั้น ๆ ชี้แจงการฆ่าตัวตาย

จนกระทั่งเช้ามืดวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2533 มีเสียงปืนดังขึ้นจากบ้านพักของสืบหนึ่งนัด จนกระทั่งช่วงก่อนเที่ยงของวันจึงได้มีเจ้าหน้าที่ของกรมฯ เข้าไปดู ซึ่งก่อนหน้าเข้าใจว่าสืบไม่สบาย และเมื่อเข้าไปพบร่างของสืบนอนตะแคงข้างห่มผ้าเรียบร้อย พอเข้าไปใกล้จึงได้เห็นอาวุธปืนตกอยู่ข้าง ๆ และเห็นบาดแผลที่ศีรษะด้านขวา สืบได้จบชีวิตลงอย่างเตรียมตัวและพร้อมอย่างสงบ

จดหมายลาตายของสืบ นาคะเสถียร
จดหมายของ สืบ นาคะเสถียร

สองสัปดาห์ต่อมา ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่จึงประชุมกำหนดมาตรการป้องกันการบุกรุกป่าห้วยขาแข้ง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ สืบได้พยายามขอให้ประชุมมาแล้วหลายครั้ง จึงมีผู้กล่าวว่า ถ้าไม่มีเสียงปืนในวันนั้น ก็ไม่มีการประชุมดังกล่าว

20 เรื่องราวของ ‘สืบ นาคะเสถียร’

Advertisements
  1. เคยอยากสอบเข้าคณะสถาปัตย์ แต่สุดท้ายได้มาเรียนที่คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
  2. เพื่อนเรียกพี่สืบว่า ‘ต่วย’ (ที่มาจากชื่อนิตยสาร ต่วย’ตูน) เพราะเป็นคนวาดรูปเก่ง มีความสามารถในทางศิลปะ มักวาดการ์ตูนล้อเลียนให้เพื่อน
  3. สืบเป็นคนที่วิ่งเข้าเส้นชัยได้คนแรกๆ ในงานประเพณีงานแข่งวิ่งมาราธอน 15 กิโลเมตร คณะวนศาสตร์ เขาเคยฝึกว่ายน้ำทุกวัน วันละหลายพันเมตร เพื่อไปเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัย และยังเป็นนักกีฬาโปโลน้ำของมหาวิทยาลัยอีกด้วย
  4. ในบรรดาศิษย์เก่าวนศาสตร์รุ่น 35 จำนวนทั้งหมด 120 คน มีคนสนใจงานด้านอนุรักษ์เพียง 5 คนเท่านั้น
  5. การทำรังวางไข่ของนกบางชนิดที่อ่างเก็บน้ำบางพระ จ.ชลบุรี คืองานวิจัยชิ้นแรกของเขา
  6. สืบเคยส่งบทกลอนเข้าประกวดคำขวัญด้านสัตว์ป่า–ป่าไม้และได้รางวัล
  7. พรานที่มาส่องล่าสัตว์กลางคืนถูกจับกุมนับร้อยคนจากฝีมือของสืบ ในช่วงที่เขาทำงานอยู่ที่เขาเขียว
  8. สไลด์ภาพสัตว์ป่าหายาก การบุกรุกทำลายป่า รวมถึงวิดีโอต่างๆ สืบบันทึกข้อมูลไว้อย่างเป็นสัดเป็นส่วน และไม่เคยหวงหากใครอยากนำไปเผยแพร่
  9. ปี พ.ศ. 2528 เขาเคยไปลงพื้นที่วิจัยชีวิตกวางผากับ ดอกเตอร์แซนโดร โรวาลี ที่ดอยม่อนจอง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
  10. การเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่ที่ออกสำรวจวิจัยกวางผาในวันนั้นทำให้สืบเข้าใจถึงความเสี่ยงอันตรายที่แท้จริงของนักพิทักษ์ป่า
  11. ครั้งหนึ่งมีงูจงอางพุ่งออกมาจากโพรงไม้ สืบออกเรือตามไปช่วยเพราะงูจะหมดแรงตายก่อนที่จะว่ายข้ามแม่น้ำไปถึงอีกฝั่งทั้งๆ ที่ไม่เคยจับงูพิษมาก่อน ระยะทางจากจุดที่จับงูห่างจากโรงพยาบาลไม่ต่ำกว่า 6 ชั่วโมง สุดท้ายงูจงอางตัวนั้นก็ถูกยัดลงกระสอบอย่างปลอดภัย
  12. สืบค้นพบรังนกกระสาคอขาวปากแดงครั้งแรกในประเทศไทยระหว่างทำโครงการอพยพสัตว์ที่เขื่อนเชี่ยวหลาน
  13. รศ.ดร. นริศ ภูมิภาคพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บอกว่าสืบไม่ใช้คำว่า ‘ไอ้-อี’ เรียกใคร แม้แต่กับลูกน้องของตัวเอง
  14. ตอนที่ ‘ฝน’ – ชินรัตน์ นาคะเสถียร ลูกสาวของสืบ อายุประมาณ 8-9 ขวบ เธอมักจะเห็นพ่อในสภาพที่เหน็ดเหนื่อยตลอด สืบมักจะชวนชินรัตน์คุยเรื่องอาชีพในอนาคต และชวนเก็บฝักจามจุรีข้างทางไปปลูกเมื่อขับรถไปต่างจังหวัด
  15. สืบเคยยืมเงินแม่เดือนละ 20,000 บาทโดยที่ไม่บอกแม่ว่านำไปจ่ายเงินเดือนให้ลูกน้องเพราะระบบราชการตกเบิกช้า
  16. เขาเคยจัดดนตรี ‘คนรักป่า’ ขึ้นเพื่อนำเงินมาตัดชุดลาดตระเวนให้ลูกน้อง หรือทำประกันชีวิตให้กับพนักงานพิทักษ์ป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งทุกคน
  17. สืบตัดสินใจมาเป็นหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งแทนการไปเรียนต่อปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์
  18. 18 : สืบให้ความรู้กับชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ด้วยการจัดนิทรรศการและทำสื่อต่างๆ จากภาพที่เขาถ่ายเองและล้างอัดเอง และแน่นอนว่าเขาใช้เงินส่วนตัวทุกครั้ง
  19. เวลาที่เข้าป่า สืบมักจะย้ายไปนอนคนเดียวเพราะรู้ดีว่าตัวเองมีค่าหัว และอาจจะมีคนลอบทำร้ายได้
  20. ก่อนกระทำอัตวินิบาตกรรม สืบเขียนพินัยกรรมและจัดสรรสิ่งของทั้งหมดไว้อย่างเป็นสัดส่วน และข้อความในจดหมายที่เสียบไว้ใต้หมอน สืบเขียนไว้ว่า “ผมมีเจตนาที่จะฆ่าตัวเอง โดยไม่มีผู้ใดเกี่ยวข้องในกรณีนี้ทั้งสิ้น”
ที่มา adaybulletin.com

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements