เรื่องราวของ ‘ปลากองแห่งป่าต้นน้ำว้า’ การทวนน้ำของปลานับแสน

ปลากอง เป็นเรื่องราวการว่ายทวนน้ำของปลาปากหนวด หรืออีกชื่อ ปลาปีกแดง พวกมันมีพฤติกรรมการวางไข่ที่พิเศษ และอาจจะเหลือเพียงไม่กี่แห่งในเมืองไทย นอกจากการว่ายทวนน้ำในระดับน้ำลึกแค่ 3 - 5 cm มันยังชอบวางไข่ในวันพระอีกด้วย มันจึงเป็นเรื่องที่น่าคิดว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เดี๋ยวมาอ่านเรื่องราวของพวกมัน ที่ผมได้รวบรวมมาให้ ถ้าชอบก็อย่าลืมแชร์ไปให้น้าๆ ท่านอื่นอ่านกันนะ

ปลากอง
“ปลาปากหนวด หรือ ปลาปีกแดง ปลาน้ำจืด มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hypsibarbus vernayi อยู่ในวงศ์ปลาตะเพียน มีรูปร่างและขนาดใกล้เคียงปลาตะพากเหลือง ต่างกันตรงที่ครีบก้นไม่ยาวถึงโคนหางเหมือนปลาตะพากเหลือง ครีบและหางเป็นสีแดงเข้มหรือสีส้ม และถิ่นที่อยู่พบในภาคอีสาน, ภาคเหนือ และภาคกลางแถบ จังหวัดเพชรบุรี, ราชบุรี พบน้อยกว่าปลาตะพากเหลือง คือพบเป็นบางฤดูกาล”

ปลาปีกแดงเมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดประมาณ 0.7 – 1 กิโลกรัม พฤติกรรมการวางไข่ของปลาปีกแดง จะแปลกและแตกต่างจากปลาชนิดอื่น โดยปลาชนิดนี้จะวางไข่ในช่วงเดือน ธันวาคม – เมษายน ของทุกปี (บางข้อมูลว่าเฉพาะเดือนมีนาคม) ซึ่งเป็นกลางฤดูหนาวถึงฤดูร้อนของปีถัดไป

โดยแม่น้ำในฤดูนี้ ส่วนมากจะใสมองเห็นพื้นท้องน้ำอย่างชัดเจน แต่ที่น่าสนใจไปอีกก็คือ ปลาจะมารวมฝูงกันวางไข่บริเวณหาดน้ำตื้นๆ ความลึกแค่ 3-5 ซม. เท่านั้น และจะใช้เวลาวางไข่เป็นเวลา 9-10 ชั่วโมง ดังนั้น จึงยิ่งทำให้การมองเห็นพฤติกรรมการวางไข่ของปลาได้นานและชัดเจนยิ่งขึ้น

ปลากองในอดีต ..หาดปลาแห้ง

Advertisements

อันนี้เป็นเรื่องราวที่ผู้ใหญ่เล่าให้ฟัง โดยในอดีตผู้ใหญ่มักจะพูดถึง “ปลาเผื่อหรือปลาเล่น” ซึ่งหมายปลาที่มากองจะซ้อนๆ กันอยู่ตามหาดแม่น้ำจนปลาที่อยู่ด้านบนโดนแสงแดดจนแห้งตาย จนมีหมู่บ้านหนึ่งในจังหวัดน่านมีชื่อว่า “บ้านหาดปลาแห้ง”

“อดีตนั้นพฤติกรรมปลากองเคยเกิดขึ้นที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก โดยปลาที่ขึ้นมากองเรียกว่าปลาตะพาก (Puntius garuphan)”

ในปี 2548 มีโครงการฟื้นฟูทรัพยากรพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำจืดของไทย ซึ่งเป็นโครงการตามพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้ผลิตพันธุ์สัตว์น้ำท้องถิ่นมอบให้เครือข่ายชาวบ้านในจังหวัด ที่ชื่อว่า “กลุ่มฮักเมืองน่าน” นำไปปล่อย โดยผ่านพิธีกรรมที่เรียกว่า “พิธีสืบชะตาแม่น้ำ” จนทำให้มีแหล่งอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำเกิดขึ้นในลำน้ำน่าน และลำน้ำสาขากว่า 150 จุด

ทำไมปลากองถึงตรงกับวันพระ?

นอกจากทำให้ชาวบ้านมีปลาบริโภคมากขึ้นแล้ว ผลพลอยได้จากพฤติกรรมการวางไข่ของปลาปีกแดง นอกจากจะมีความน่าตื่นตาตื่นใจแก่นักท่องเที่ยว ยังมีสิ่งที่อธิบายได้และอธิบายยังไม่ได้เกิดควบคู่กับการมา “กอง” ของปลาปีกแดง

คือในวันที่ปลาปีกแดงกอง ส่วนใหญ่ตรงกับวันพระ จากการติดตามพฤติกรรมและเก็บสถิติการขึ้นมากองของปลาในปี พ.ศ. 2548 พบว่า ปลามากองทั้งหมด 9 ครั้ง และปี พ.ศ. 2549 อีก 6 ครั้ง จะตรงกับวันพระไม่ว่าข้างขึ้นหรือข้างแรม 50 เปอร์เซ็นต์ อีก 50 เปอร์เซ็นต์ ที่จะคลาดเคลื่อนจากวันพระ 1-2 วัน

Advertisements

โดยเฉพาะในวันมาฆบูชาจะเกิดขึ้นทุกปี และแต่ละจุดที่เกิดปลากอง มักจะเกิดในวันเดียวกัน ประเด็นถัดมาในวันที่จะเกิดปลากองจะมีลางบอกเหตุ ดังนี้

  1. เมฆบนท้องฟ้าจะมีลักษณะสีขาวหม่นซ้อนๆ กันอยู่คล้ายเกล็ดปลา
  2. บรรดานกเค้าแมวจำนวนมากจะโฉบบินส่งเสียงร้อง กบเขียดจะรวมฝูงกันส่งเสียงร้องในตอนหัวค่ำ ซึ่งน่าจะเตรียมตัวมากินปลาที่มากอง และไข่ปลาที่จะเกิดขึ้นนั้นเอง

ปลากอง ที่พบในจังหวัดน่าน ดูเหมือนมันจะน้อยลงทุกที จากที่เคยมีปีล่ะหลายครั้ง จนตอนนี้มีการบอกเล่าว่าพบได้เพียงปีล่ะครั้ง ผู้เขียนเองก็หวังว่าทั้งนักท่องเที่ยว และชาวบ้านจะช่วยกันดูแลรักษาสิ่งนี้ต่อให้พวกมันได้อยู่จนถึงรุ่นลูก หลานๆ ของเราได้ดูกันต่อไป

คลิปชีวิตอันแสนมหัศจรรย์ของ “ปลากอง” ณ “ป่าต้นน้ำว้า”

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements
Advertisements
แหล่งที่มากรมประมง.2530