ตีปลาจิบ กับทฤษฎีลับ ตีกันยังไงให้ได้ตัว

ตีปลาจิบ เป็นทักษะการตีปลาอีกแขนงหนึ่ง ซึ่งแยกออกมาจากการตีปลาโดยทั่วไป โดยมีข้อแตกต่างจากการตีเหยื่อปลอมประเภทอื่น ตรงที่ว่าเราสามารถที่จะเลือกขนาด หรือมีโอกาสที่จะเห็นมัน ก่อนที่จะส่งเหยื่อออกไป ดังนั้นโอกาสที่เราจะได้ตัวหรือประสพความสำเร็จในการตีปลาในรูปแบบดังกล่าวนั้น จึงมีเปอร์เซ็นต์ มากตามไปด้วย...

ตีปลาจิบ

ตีปลาจิบ เป็นทักษะการตีปลาอีกแขนงหนึ่ง ซึ่งแยกออกมาจากการตีปลาโดยทั่วไป โดยมีข้อแตกต่างจากการตีเหยื่อปลอมประเภทอื่น ตรงที่ว่าเราสามารถที่จะเลือกขนาด หรือมีโอกาสที่จะเห็นมัน ก่อนที่จะส่งเหยื่อออกไป ดังนั้นโอกาสที่เราจะได้ตัวหรือประสพความสำเร็จในการตีปลาในรูปแบบดังกล่าวนั้น จึงมีเปอร์เซ็นต์ มากตามไปด้วย…

ตีปลาจิบ คืออะไร..?

Advertisements

ปลาจิบ นั้นปลาที่ต้องขึ้นมาหายใจบนผิวน้ำ แต่สำหรับเรานั้น ปลาจิบที่เราจะกล่าวถึง ก็เฉพาะแต่ปลาล่าเหยื่อ อย่างพวก ปลาชะโด ปลาช่อน ปลากราย ปลาเหล่านี้เราสามารถตีได้ในขณะที่มันขึ้นหายใจ

ในอดีตทักษะการตีปลาจิบ ยังไม่ได้พัฒนามาเหมือนกับทุกวันนี้ มีเพียงปากต่อปากเท่านั้นว่า ให้เหยื่อข้ามหัวมันไปซักเมตร แล้วก็กรอผ่านวงน้ำที่มันจิบ เพียงแค่นั้นมันก็หันพุ่งเข้ามากัดเหยื่อทันที หลักการที่ว่านี้ยังคงใช้ได้ หากว่าสถานที่นั้นๆ ปลายังไม่ค่อยเขี้ยว

ตีปลาจิบ

วิธีที่ปลาขึ้นมาหายใจ ( ปลาจิบ )

ปลาจิบ แบ่งเป็นรูปแบบใหญ่ๆ ได้ 2 แบบ คือ แบบขึ้นเบา กับแบบขึ้นแรง ในส่วนของปลาที่ขึ้นน้ำเบานั้น โอกาสที่เราจะตีแล้วได้ตัวนั้น ง่ายกว่า แบบที่ขึ้นน้ำแรงๆ เหตุผลสำคัญเพราะ ตัวปลายังอยู่ใกล้กับบริเวณที่มันจิบนั่นเอง ดังนั้นเรายังพอมีเวลาที่จะส่งเหยื่อออกไป ในบริเวณนั้นๆ เพียงพอที่จะให้ปลาได้เห็นและเข้ามากัดได้ เหยื่อที่ใช้ก็จะเป็นเหยื่อประเภทผิวน้ำทั่วไป หรือถ้าเป็นปลั๊กก็ให้ใช้ประเภทดำตื้น

ในส่วนของปลาที่ขึ้นน้ำแรงๆ แบ่งออกได้เป็นสองแบบอีกเช่นกัน คือขึ้นแรงตามธรรมชาติ และขึ้นแรงเพราะตกใจ ถ้าเป็นในกรณีแบบหลังล่ะก็ ไม่ต้องไปตีหรอก เพราะว่าตัวปลาเองนั้นมีความระแวงอยู่ในตัวอยู่แล้ว การที่มันจะให้ความสนใจเหยื่อ จึงลดลงไปมาก ความเร็วในการดำดิ่งลงสู่เบื้องล่าง จึงมีค่อนข้างจะสูง ดังนั้นกว่าที่เราจะตีเหยื่อออกไป คงจะไม่ทันกับการที่ปลาจะมองเห็นเหยื่อของเรา

ต่างกับการที่ปลาขึ้นแรงตามธรรมชาติ อาจมีสาเหตุหรือปัจจัยจากอุณหภูมิของน้ำ บริเวณผิวน้ำ และอากาศในตอนนั้น เช่น หากมีลมพริ้วๆ บริเวณผิวน้ำ การที่จะให้ปลามาลอยตัวช้าๆ เพื่อที่จะหายใจ ปลาเองก็คงจะทำไม่ได้ เหมือนตอนที่แผ่นน้ำยังคงเรียบสนิท ดังนั้น การที่ปลาจะสปีดตัวเองเพิ่มขึ้นเพื่อที่จะให้ปากของมันพ้นจากผิวน้ำ เพื่อที่จะสูดอากาศเข้าปอดได้อย่างแน่นอนนั้น ก็คงจะเป็นสภาพที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า ปลาขึ้นน้ำแรง และยิ่งผิวน้ำมีริ้วคลื่นสูงเท่าไหร่ ความแรงในการสปีดตัวก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น แต่ ไม่ใช่ว่าการที่มันขึ้นน้ำแรงและดูเหมือนว่าจะเร็วนั้น มันจะต้องลงไปสู่เบื้องล่างลึกเร็วตามไปด้วย

โดยส่วนมากถ้าไม่ได้ตกใจอะไร มันก็จะว่ายช้าๆ ด้วยความปรกติ ค่อยๆ ลงลึก เพราะการหายใจต่อหนึ่งครั้ง ถ้าปลาว่ายน้ำยิ่งเร็วเท่าไหร่ การเผาผลาญออกซิเจนที่มันหายใจเข้าไปก็จะมีมากขึ้น ทำให้มันต้องว่ายขึ้นมาหายใจบ่อยๆ เมื่อเราได้ทราบข้อเท็จจริงดังนี้แล้ว เวลาที่ผิวน้ำเกิดริ้วคลื่นและเห็นปลาขึ้นมาหายใจที่ผิวน้ำแรงๆ ไม่ต้องลังเลที่จะตีปลาไปในจุดนั้นๆ ได้เลย

แต่ถ้าถามถึงปัญหาของการตีปลาจิบนั้นหลายๆ คนคงได้เคยทดลองตีมาแล้วแต่ไม่ประสพผลสำเร็จ สาเหตุที่สำคัญมาจาก ทิศทางในการตีทั้งสิ้น การอ่านทิศทางของปลาชะโด ช่อน นั้น เราจะสังเกตง่ายๆ ได้จากวงที่เกิดบนผิวน้ำ ถ้าวงที่เกิดเป็นน้ำหมุนสองวงเล็กๆ หันไปทางไหน ส่วนมากแล้วหัวปลาจะไปในทิศทางตรงข้าม เราตีตักไปในทิศทางนั้นๆ การบอกเล่ารายละเอียดเป็นตัวหนังสืออาจฟังแล้วง่าย แต่ในความเป็นจริง รายละเอียดปลีกย่อยยังมีอีกมาก แต่การเป็นมือปลาจิบ ก็ไม่ได้ยากอย่างที่คิด… เราจะมาเริ่มลงลึกกัน

การดูทิศทาง และตีปลาจิบช่วงเช้า

การดูทิศทางของปลา อย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว การตีปลาจิบที่ง่ายที่สุดก็คือตีตอนเช้าตรู่ ในขณะที่ยังไม่มีใครมากวนมัน ถ้าผิวน้ำเรียบปรี๊ด เหยื่อที่ใช้ได้ผลที่สุด คือ เพ็นซิลรองลงมาคือ กบ (เดินเนียนๆ) ป๊อบเปอร์ และใบพัด เราเริ่มใช้จากเหยื่อที่มีความเงียบก่อน และค่อยๆ ไล่ไปตามลำดับที่ว่ามาเพราะมีหลายสถานที่ๆ โดนเหยื่อประเภทใบพัดหรือป๊อปเปอร์มาแล้ว แทนที่มันจะกัด กลับทำให้มันตกใจก็เป็นได้ แต่ถ้ามันไม่สนใจเหยื่อเงียบ ก็ให้ใช้เหยื่อที่มีเสียงเรียกต่อไปตามลำดับ อันนี้ไม่ยาก ต่อไปถ้าแดดเริ่มออกแต่ผิวน้ำยังคงเรียบอยู่ ให้เปลี่ยนมาเป็นปลั๊กดำตื้น โดยเริ่มจากสีตุ่นๆ ก่อน และพอแดดเริ่มแรงขึ้นก็ให้ใช้สีที่มันสด ๆ หน่อย

ตีปลาจิบ
เหยื่อใบพัด ค่อนข้างได้ผลในช่วงเช้าๆ มาก โดยเฉพาะช่วงน้ำนิ่งๆ แต่มันจะตีไม่ค่อยไกลเท่าไร

ตีปลาจิบ เวลาเริ่มหัดนั้น ถ้าใช้ปลั๊กให้ดูวงน้ำ ที่หัวหันไปข้างนอก หรือหันหัวเข้ามาทางเรา เพราะมันจะควบคุมทิศทาง และสปีดได้ง่ายกว่าปลาที่หันหัวไปทางซ้ายหรือขวา

เริ่มต้น ถ้าปลาหันหัวออกไปข้างนอกในทิศทางเป็นเส้นตรงกับตัวเรา ให้ตีเหยื่อเลยซัก 2-3 เมตร (ในกรณีที่ปลาขึ้นจิบช้าๆ ) พอเหยื่อตกกระทบผิวน้ำ ให้กรอสปีดเหยื่อด้วยความเร็ว 4 รอบ และผ่อนสปีดลงมาเป็นการกรอด้วยสปีดธรรมดา ในขณะนั้นความเร็ว 4 รอบในตอนแรก คุณจะเก็บระยะของสายมาประมาณ 70 ซ.ม. และลึกประมาณ 30-50 ซ.ม. เพราะในช่วงเช้าๆ ปลายังคงว่ายช้าๆ และลงลึกไม่เร็วเท่าไหร่ ถ้าคิดเป็นระยะทางกับสปีดการตี ระยะทั่วไปประมาณ 30 เมตร กว่าที่สายตาจะรับรู้สมองจะสั่งการให้ตี บวกรับระยะเวลาการเดินทางของเหยื่อทั้งหมดกินเวลาไม่ต่ำกว่า 3 วินาที

แต่นี่เป็นเหตุการณ์เฉพาะที่ปลาในช่วงเช้าหรือเหตุการณ์ที่ปรกติ ปลาไม่ตื่นกลัว ปลาจะว่ายค่อนข้างช้า โดยปรกติแล้ว ปลาชะโดหลังจากจิบน้ำแล้ว จะว่ายน้ำได้ระยะทางประมาณวินาทีละเมตร ถ้าใช้เวลาเหยื่อตกกระทบ 3 วินาที มันก็จะเดินทางไปในระยะสามเมตร ในกรณีนี้เป็นช่วงเช้าที่ลดไปครึ่งหนึ่ง เหลือ 1.5 เมตร ถ้ากรอสาย 4-5 รอบด้วยระยะทาง 70-80 ซ.ม. ปลาและเหยื่อจะอยู่ใน เนื้อที่ 1 ตารางเมตร ซึ่งไม่รอดสายตาของมันไปได้ และถ้าตีแม่นพอแล้วละก็ ตัวเหยื่อจะพุ่งเข้าใส่หน้าของมันทันที และในขณะที่ผ่อนสปีดลง ประหนึ่งว่าตกใจเมื่อได้รู้ว่า เหยื่อจะประสานงากับชะโดใจร้าย

Skitter Pop เหยื่อแนะนำ ราคาไม่แรง ใช้ได้ผล ช่วงเช้าๆ คลิกอ่าน

Advertisements

และเมื่อคุณเพิ่มสปีดกลับมาอีกครั้ง ออกอาการหนี… ปั๊ป ปั๊ป “โดนแน่นอน” แล้วถ้าหัวปลาหันเข้ามาหาตัวละก็ ไม่จำเป็นที่จะต้องตีไปให้ไกลกว่าจุดที่มันจิบมาก โดยตีผ่านเลยไปแค่ 50-100 ซ.ม. ก็พอ โดยไล่สปีดให้เหมือนกับหันหัวออกแค่นั้นเอง

เหยื่อควรเป็นเหยื่อที่ดำน้ำไม่เกิน 1 เมตร ถ้าลึกกว่านี้ตัวเหยื่อจะมุดผ่านท้องปลา ทำให้ปลามองไม่เห็น gเพราะ สำหรับการตีปลาจิบนั้น ตัวเหยื่อจะต้องอยู่เหนือกว่าตัวปลา การมองเห็นของปลาจะประสิทธิภาพสูงกว่าเหยื่ออยู่ด้านล่าง

ตีปลาจิบช่วงสายๆ

เข้าสู่ช่วงที่ 2 ประมาณ 8 โมงเช้าเป็นต้นไป แดดจะเริ่มออกเต็มที่ ผิวน้ำอยู่ในระดับที่เรายังมองเห็นทิศทางของวงน้ำ เหตุการณ์และสภาพของบรรยากาศในช่วงนี้ เชื่อว่าหลายๆ คนคงท้อกับพวกมันเป็นที่สุด เพราะตีเท่าไหร่ก็ไม่กิน สาเหตุเป็นเพราะการว่ายของปลาเพิ่มสปีดขึ้น มุมและองศาการดำอาจจะเป็นมุมชันเพราะฉะนั้นเหยื่อที่ใช้ควรเป็นเหยื่อประเภทดำลึก

หัวใจของการตีปลาจิบนั้น คือ ทำอย่างไรเหยื่อกับปลาต้องมาเจอกันให้ได้

Advertisements

ขั้นแรก เราต้องมารู้จักกับเหยื่อที่เราจะใช้เสียก่อนว่า มันดำน้ำได้ลึกเท่าไหร่ ตัวอย่างเช่น เหยื่อ 2 ตัวที่มีองศาของลิ้นที่ไม่เท่ากัน โดยเหยื่อที่ใช้ส่วนตัว ผมจะใช้เหยื่อที่มีองศาในการดำประมาณ 30-50 องศา เพราะมีระยะ ไกลกว่า 30 เมตรนั้น ในระยะการเดินทาง 3 เมตรแรก จะต้องทำความลึกได้ 2 เมตรได้เป็นอย่างน้อยจากสปีดที่เร็ว

เหยื่อทั่วไปที่ขายกันอยู่ในท้องตลาดบ้านเรา ผมเองไม่สามารถจะระบุได้ว่าเหยื่อตัวไหนน่าใช้กว่ากัน เพราะเท่าที่ใช้มาก็ใช้ได้หมดนั้นล่ะ แต่ถ้าจะให้เลือกคงจะดูจากวัสดุที่นำมาผลิตมากกว่าว่าจะทนทานแค่ไหน และส่วนตัวไหนดำลึกมากน้อยแค่ไหน ต้องลองลากดู เหตุผลก็คือ เหยื่อที่ซื้อมานั้น ต้องเปลี่ยนตัวเบ็ดใหม่ทั้งหมดอยู่แล้ว เพื่อให้หนาขึ้น รองรับกับแรงที่จะเกิดจากพละกำลังของปลา

ตกปลาชะโด
พอคิดจะตกชะโด เชื่อว่า จะต้องนึกถึงเหยื่อตัวนี้กันแน่ มีหลายขนาด และความลึกให้เลือกใช้

อ่านเรื่องของ Rapala Risto คลิก

ตีปลาจิบ ต้องดูวงน้ำให้เป็น

ในเมื่อเหยื่อพร้อมแล้ว เรามาดูวงน้ำกัน อย่างที่กล่าวมาในข้างต้น วงน้ำที่ประสพความสำเร็จมากที่สุดในการตี คือไม่หันเข้าก็หันออก เพราะจะเหลือโจทย์เพียงแค่ความลึกเท่านั้นที่เราจะต้องหาสิ่งที่ยากที่สุดของการตีปลาจิบคือ การดูวงน้ำและเผื่อระยะการตี วงน้ำที่เกิดขึ้นมันเป็นเพียงสัญญาณเดียว ที่มันจะทิ้งร่องรอยให้เราตามหามัน ว่าถ้าเราอ่านว่าปลาหันหัวไปทางขวา มันไม่ใช่แค่เพียงตีเหยื่อดักไปทางขวางสองเมตร แล้วก็กรอสายกลับมา ถ้ามันง่ายอย่างนั้น ปลาชะโดคงถูกตกหมดไปนานแล้ว

ความชำนาญและจินตนาการเป็นสิ่งสำคัญ สำหรับศาสตร์ชนิดนี้

เพราะเมื่อไหร่ที่เราอ่านว่าปลาตัวนั้นหันหัวไปทางขวาหรือซ้าย ต้องคำนึงถึงระยะทางจากวงจิบถึงตัว บวกระยะเวลาการเดินทางของเหยื่อกระทบน้ำ และที่สำคัญวงน้ำจะบอกว่าปลาตัวนั้นดำน้ำลงไป ด้วยมุมชันมากหรือน้อย หากวงน้ำเป็นก้นหอยกลมๆ หมุนวนๆ หมุนอยู่กับที่หรือปางใดทางหนึ่งแบบช้าๆ ให้ตั้งสมมุติฐานว่า ปลาปักหัวลง แต่ถ้าวงน้ำหมุนวนและพุ่งออกไปเรื่อยๆ ก็หมายความว่า ปลาโบกหางดันตัวมันไปในทิศทางที่เป็นมุมราบกว่า ดังนั้นพื้นฐานของการตีจิบแบบนี้ต้องอาศัยความชำนาญเข้ามาเสริมเป็นส่วนประกอบ

เอาละ หลับตานึกภาพตามไปด้วยนะ (เพราะไม่มีภาพให้ดู) ก่อนอื่นถ้ามองจากวงน้ำแล้วคิดว่ามันหันไวไปทางซ้าย ห่างจากจุดที่ยืน ประมาณ 30-40 เมตรและไม่รู้ว่ามันไปทางซ้ายแบบราบ หรือแบบลึก ก็ให้จำลักษณะวงน้ำแบบนั้นไว้ แล้วทดสอบตีทั้งสองแบบ แบบปลาปักหัวลงมุมชัน (ลึก) อย่างที่กล่าวมาข้างต้น จากที่สายตาเรามองเห็นจนกระทั่งเหยื่อกระทบผิวน้ำ กินเวลาอย่างน้อย 3-4 วิ (สำหรับมือใหม่)

ขณะที่เราตั้งสมมุติฐานว่า ปลาคงจะต้องเดินทางไปได้อย่างน้อย 3-4 เมตร แต่ก็ไม่ได้แปลว่ามันจะต้องลงไปลึกถึง 3-4 เมตรเพราะมันไมได้ว่ายปักหัวลงทำมุม 90 องศา แต่อาจจะอยู่ในช่วง 2-3 เมตร การตีดักทางนั้น ก็ให้ใช้เหยื่อประเภทลิ้นยาว ที่ดำน้ำได้ ตั้งแต่ 2 เมตรขึ้นไปตีดักไปทางซ้าย(ด้านหัว) 2 – 2.5 เมตร เลยไปข้างหน้า 3.5 เมตร (กรอด้วยสปีดค่อนข้างเร็ว (มาก) 7 รอบ สำหรับรอกเบทรอบ 6.2 และ 10 รอบสำหรับ รอกรอบ 5.1 ตอนนี้แหละที่ปลากับเหยื่อน่าจะอยู่ใกล้กันที่สุดแล้ว จึงค่อยผ่อนสปีดลงมาชัก 4-5 รอบ ก่อนที่จะเริ่มเร่งสปีดขึ้นไปอีกครั้ง

.. ปั๊ก… แต่ถ้าเป็นแบบที่มันลงราบ ก็เพียงแต่วางตำแหน่งของเหยื่อ ให้ไปทางซ้าย 3-4 ตีเลยไป 3-4 เมตรเช่นกัน การมาร์คตำแหน่งของเหยื่อนั้น ความละเอียดและแม่นยำจะทำให้การ ตีปลาจิบ ประสพความสำเร็จได้อย่างคาดไม่ถึงทีเดียว

สิ่งที่ต้องสังเกตอีกอย่างหนึ่งคือถ้าปลาได้กัดเหยื่อแล้วไม่ติด พอเรานำเหยื่อมาตรวจสอบดูพบว่าบริเวณหลังของเหยื่อมีรอยฟัน ถ้าเป็นรอยที่เป็นมุมโค้งบนหลังเหยื่อก็แปลว่าปลามันกัดเหยื่อจากมุมบน แปลว่าเหยื่อลึกกว่าตัวปลา

ในไม้ต่อๆ ไป ลองตีให้สั้นลงอีกนิด กรอให้ช้าลงอีกหน่อย เหยื่อของเราจะดำน้อยลง เป็นวิธีแก้ปัญหาที่ได้ผลที่สุด แล้ว สุดท้ายต้องบอกว่า ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ มันจะเป็นแนวทางได้ สิ่งที่ต้องทำต่อคือการนำไปฝึก และปรับใช้ให้เหมาะกับตัวของเราเอง ..สู้ๆ

Advertisements