อ.ธรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล เผยปีนี้พะยูนตายน้อยลงกว่าปีที่แล้ว รวมไปถึงข่าวดีเตรียมยก “ขนอม” เป็นพื้นที่คุ้มครองทะเลแห่งใหม่
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความว่า ในปีนี้จำนวนพะยูนตายไม่ถึง 10 ตัว น้อยกว่าปีที่แล้ว ที่มีพะยูนตายกว่า 20 ตัว เหตุผลหนึ่งอาจมาจากโควิด ทำให้ทะเลสงบ จึงเป็นจังหวะดีมากสำหรับการอนุรักษ์สัตว์หายาก หนึ่งในนั้นคือ พื้นที่คุ้มครองทะเลขนอมเพื่อพะยูนและโลมา
ทะเลขนอมสวยมาก คำนี้ยืนยัน เพราะเมื่อ 10 ปีก่อน ผมเคยนั่งเรือขึ้นลงเลียบชายฝั่งเป็นเดือน เพื่อติดตามศึกษาโลมาสีชมพู ชายฝั่งพร้อมสรรพ ทั้งในด้านภูมิสัณฐาน หาดทราย หาดหิน และที่สำคัญคือหินแพนเค้กที่พบอยู่เพียง 3-4 แห่งทั่วโลก
เรานั่งเรือหางยาวของพี่ๆ เลาะมาตามฝั่ง เจอโลมาทุกครั้ง บางหนถึงขั้นว่ายเข้ามาเอาตัวถูเรือ สุดปลายทางก่อนวกกลับคือรอยต่ออำเภอดอนสัก ตรงนี้มีเกาะเกือบติดฝั่ง เรียกว่าเกาะท่าไร่ ในน้ำมีดงหญ้าทะเลผืนใหญ่เขียวปี๋ เป็นแหล่งหญ้าที่สำคัญสุดๆ ทำให้รอบๆ อุดมสมบูรณ์ คุณๆ ที่ไปท่าเรือเฟอร์รี่แล้วเห็นโลมาสีชมพู ส่วนหนึ่งก็เพราะดงหญ้าตรงนี้แหละ (ห่างไป 3 กม.เท่านั้น) ยังรวมถึงพะยูนผู้กินหญ้าทะเลโดยตรง
รายงานล่าสุดปี 63 มีพะยูนในอ่าวบ้านดอน 5 ตัว ว่ายน้ำไปมา เมื่อนำทุกอย่างมารวมกัน หากเราประกาศชายฝั่งขนอมเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเล จะเป็นประโยชน์มาก
“คุ้มครอง” ในที่นี้ไม่ใช่ห้าม ชาวบ้านยังหากุ้งหอยปูปลาได้ โดยมีมาตรการช่วยดูแลแหล่งหญ้าทะเลไว้ เช่น ห้ามเปลี่ยนสภาพ ห้ามทิ้งตะกอน มลพิษ ห้ามทำการประมงที่ส่งผลกระทบโดยตรงกับระบบนิเวศ สัตว์หายาก ฯลฯ รวมถึงควบคุมการท่องเที่ยวให้ยั่งยืน เช่น ห้ามให้อาหารโลมา มีกติกาในการนำเรือเข้ามาชมสัตว์ ที่สำคัญคือให้คนท้องที่มีส่วนร่วมจริงจัง ตามแผนคือจัดตั้งอนุกรรมการขนอมภายใต้กฎหมาย ขึ้นตรงกับกรรมการทะเลจังหวัด
จากผลการศึกษาในสมัยก่อน เรื่อยมาจนถึงแผนทำร่วมกันทุกฝ่าย ทั้งกรมทะเล ชาวบ้าน นักวิชาการ ฯลฯ จนถึงวันนี้ แผนพื้นที่คุ้มครองชายฝั่งขนอมจะได้รับการพิจารณา เพื่อนำเสนอคณะกรรมการทะเลชาติต่อไป
หากทุกอย่างราบรื่น ทะเลไทยจะมีพื้นที่คุ้มครองเพิ่มขึ้น ตอนนี้เรามีเกาะกระ เกาะมันใน เกาะโลซิน วันนี้จะมีการพิจารณาอีก 4 แห่ง (รวมขนอม) ตามเป้า SDG 14 และยุทธศาสตร์ชาติ ไทยควรมีพื้นที่คุ้มครอง 10% ของพื้นที่ทะเล ภายในปี 2030 ตอนนี้เกือบ 7% แล้ว หากเราช่วยกันผลักดันต่อไป อีก 10 ปียังเป็นไปได้
แต่วันนี้ ดีใจมากครับ เพราะขนอมกำลังจะเป็นพื้นที่คุ้มครองทางทะเลแห่งใหม่ อะไรต่างๆ ที่ช่วยกันทำมา แม้ต้องใช้เวลา แต่สุดท้ายแล้วไม่เสียหลาย หญ้าทะเล โลมา พะยูน และชาวขนอม / บ้านดอน จะได้ประโยชน์อย่างมาก และคำว่ายั่งยืนจะเกิดขึ้นในทะเลชายฝั่ง ที่ผมกล้ายืนยันว่าสวยที่สุดแห่งหนึ่งของไทย
พะยูน (Dugong)
พะยูนมีลำตัวรูปกระสวยคล้ายปลาโลมา สีเทาอมชมพูหรือสีน้ำตาลหรือสีน้ำตาลเทา สีของส่วนท้องอ่อนกว่า วัยอ่อนมีลำตัวสีเทาอมชมพูและส่วนท้องสีชมพู ส่วนหัวยาวประกอบด้วยปาก รูจมูก และมีลักษณะคล้ายริมฝีปากที่หนาและขนาดใหญ่ เรียกรวมกันว่า MUZZLE มีขนสั้นๆ ประปรายตลอดลำตัวและขนเส้นใหญ่อยู่อย่างหนาแน่นบริเวณปาก ตาและหูขนาดเล็ก ส่วนของหูเป็นรูเปิดเล็กๆไม่มีใบหู รูจมูกมีลิ้น ปิด-เปิด
เฉพาะด้านหน้าของส่วนหัวโผล่ขึ้นเหนื่อผิวน้ำเพื่อหายใจ ลิ้นเปิดรูจมูกเปิดขึ้นขณะหายใจเข้าและปิดลงก่อนที่พะยูนจะจมตัวลงที่ใต้ผิวน้ำ พะยูนหายใจทุกๆ1-2 นาที มีครีบ Flipper) ด้านหน้าอยู่สองข้างของลำตัว และมีหัวนม (Nipple) อยู่ด้านหลังของฐานครีบทั้งสองเพศ ในตัวเมียระยะโตเต็มวัยมีหัวนมใหญ่ชัดเจน (ความยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร) ส่วนในตัวผู้หัวนมเป็นเพียงตุ่มเล็กๆ ครีบทั้งสองข้างเปลี่ยนแปลงมาจากขาคู่หน้า ภายในครีบประกอบด้วยนิ้ว 5 นิ้ว ครีบทำหน้าที่ในการเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนที่และช่วยในการขุดหญ้าทะเล พะยูนว่ายน้ำโดยใช้การพัดโบกของครีบหาง
ที่มา
ไทยรัฐ
เฟสบุค : Thon Thamrongnawasawat
dnp.go.thปลาพรมหัวเหม็น กินได้ รสอร่อย หรือแค่สวยงาม?