คนเก่าแก่มักจะบอกว่าตุ๊กแก ร้องว่า “ตั๊บแก” หมายความว่า ตับของตุ๊กแกมันแก่แล้ว ..ทำไมมันร้องแบบนั้นละ! ก็เพราะว่ามันร้องเรียกให้งูเขียวมาช่วยกินตับที่แก่ของมันนะสิ! สาเหตุที่ต้องให้มากินตับแก่ เพราะตุ๊กแกต้องการยืดอายุไขของมัน ..และเรื่องเล่าก็มีประมาณนี้
ความจริงเป็นเช่นไร?
เรื่องนี้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมี 2 ตัว นั้นคือ งู กับ ตุ๊กแก และต้องบอกว่าตุ๊กแก ในสมัยก่อนมีเยอะมาก มีแทบทุกบ้าน ส่วน งูเขียวพระอินทร์ หรือ งูเขียวดอกหมาก เองก็มีเยอะมากเช่นกัน มันเยอะจนสมัยก่อนเป็นงูสามัญประจำบ้าน
ตุ๊กแกบ้าน (Gekko gecko) เป็นสัตว์เลื้อยคลานพื้นถิ่นของบ้านเรา จุดเด่นมันคือ “อึด ถึกมาก” ด้วยความที่ทั้งสองฝ่ายเป็นสัตว์นักล่า และกินเนื้อที่มีขนาดไล่กัน แถมยังอยู่ในระบบนิเวศเดียวกัน จึงทำให้มีการปะทะกันจนเป็นเรื่องปกติ
งูเขียวพระอินทร์ก็ล่าตุ๊กแกกินได้ ตุ๊กแกก็จับงูกินได้เช่นกัน อยู่ที่โอกาสใครดีกว่า แต่ส่วนใหญ่จะเป็นงูที่เป็นฝ่ายกิน ตัวอย่างก็มีให้เห็นในธรรมชาติเช่นทวีปแอฟริกา สิงโตกับไฮยีน่าก็ห้ำหั่นกัน ทีใครทีมัน อ่อนแอก็แพ้ไป
งูเขียวที่เห็นกันบ่อยๆ ที่ชอบสู้กับตุ๊กแกตามต้นไม้ กำแพง หรือฝาบ้าน คือ งูเขียวพระอินทร์ เป็นงูพิษอ่อนไม่อันตราย อยู่ในกลุ่มงูพิษเขี้ยวหลัง พิษของมันอ่อนมากๆ แทบจะไม่มีผลกับคนเลย ยกเว้นในรายที่แพ้พิษ มันชอบกินสัตว์เล็กๆ กิ้งก่า จิ้งจก ตุ๊กแก หนู กบ พี่กินเอาหมด
การต่อสู้ระหว่างตุ๊กแกกับงูเขียว
ต้องบอกว่าตุ๊กแก อาจจะดุร้ายกว่า ตุ๊กแก อาจดุร้ายกว่างูเขียวพระอินทร์ซะอีก ถ้าน้าๆ ว่าง ลองเอานิ้วไปที่ปากตุ๊กแกดิ ผมว่ามีโอกาสสูงที่มันจะงับนิ้ว แต่ถ้าเป็นงูเขียวพระอินทร์ จะมีโอกาสน้อยกว่า ส่วนใหญ่หนีออกอย่างว่องไว
ตุ๊กแกเป็นสัตว์ที่อึดมากๆ เมื่อมันโดนงูเขียวโจมตี แน่นอนว่ามันต้องสู้ขาดใจ วิธีสู้ของงูเขียวส่วนใหญ่คือการรัดจนกว่าตุ๊กแกจะหมดแรงข้าวต้ม ซึ่งปกติจะรัดนานมากๆ บางทีงูจะหมดแรงก่อนด้วยซ้ำ และเมื่อตุ๊กแกหมดแรง ก็ถึงขั้นตอนการกิน! ที่ทำให้เกิดเรื่องเล่าที่เป็นตำนาน
เพราะตุ๊กแก ขึ้นชื่อเรื่องกัดไม่ปล่อย
มาถึงขั้นตอนที่ทำให้เกิดเรื่องเล่าซะที เมื่อตุ๊กแกหมดแรง งูเขียวตัวเล็กๆ ต้องเริ่ม “กินตุ๊กแกจากส่วนหัวของมัน” เพราะหากกินที่หางจะกินยากมาก พองูเขียวไปถึงหัวกำลังจะงาบหัวตุ๊กแก ถ้าเกิดงูคิดผิด ตุ๊กแกดันยังไม่หมดแรง แน่นอนสิ่งที่ตุ๊กแกจะทำคือการ “กัด” หัวงูเขียว
ตุ๊กแกเป็นสัตว์ที่กัดแล้วไม่ยอมปล่อยง่ายๆ มันกัดแน่นจนถึงขนาดมีคำโบราณที่ว่า “หากถูกตุ๊กแกกัด มันจะไม่ปล่อยง่ายๆ จะต้องรอให้ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า” คงนึกภาพออกกันนะว่ามันกัดแล้วปล่อยยากแค่ไหน
พอตุ๊กแกกัดงูเขียวที่หัวเท่านั้นล่ะ มันก็จะติดคาอยู่อย่างงี้ แล้วก็ถึงช่วงประลองกำลัง ใครมีมากกว่า การประลองนี้อาจใช้เวลาเป็นชั่วโมง หรือนานกว่า จนคนเดินเจอ แล้วก็คิดว่า “เฮย! ตุ๊กแก เรียกงูให้เข้าไปกินตับมัน” ถ้าไม่เจอคน บางทีพวกมันก็หมดแรงตายทั้งคู่ก็มี
ด้วยบทสรุปนี้เอง ทำให้เรื่องที่บอกว่างูเขียวมากินตับตุ๊กแก ไม่น่าจะใช่เรื่องจริง เพราะแท้จริงแล้ว ต่างฝ่ายต่างเป็นสัตว์นักล่าที่ฉวยโอกาส ด้วยกันทั้งคู่ หากใครเผลอก็เสร็จอีกฝ่าย หรือน้าๆ มีความเห็นว่าไงก็คอมเมนท์บอกกันได้