ปลาแซลมอนซอมบี้คืออะไร?
แม้จะมีปลาหลายชนิดที่อาจได้พบกับความตายหลังจากการวางไข่ แต่มีเพียงปลาแซลมอนเท่านั้นที่ไม่เหมือนสัตว์ชนิดใดบนโลก เพราะพวกมันทั้งหมดจะเข้าสู่กระบวนการพิเศษที่เรียกว่า “ความเสื่อมถอยของร่างกาย” และแม้ความตายของพวกมันจะเป็นเรื่องน่าเศร้า แต่พวกมันไม่ได้ตายอย่างไร้ค่าเลย เพราะสิ่งนี้จึงทำให้ปลาแซลมอนสร้างลูกหลานในรุ่นต่อไปได้เป็นจำนวนมาก และยังช่วยสนับสนุนสายใยอาหารของแม่น้ำอีกด้วย
เท่าที่รู้ในตอนนี้มีปลาแซลมอนแปซิฟิก (Pacific salmon) อย่างน้อย 5 ชนิด ที่ได้รับผลจากความเสื่อมถอยของร่างกาย พวกมันจะเริ่มเน่าเปื่อยระหว่างการอพยพไปยังแหล่งวางไข่ในแม่น้ำ ในกระบวนการนี้ระบบต่างๆ ของพวกมันจะเริ่มปิดตัวลง และมันจะเริ่มกินตัวเองเข้าไป แน่นอนว่าไม่ใช้ปลาแซลมอนทุกตัวจะกลายเป็นปลาแซลมอนซอมบี้ได้
เพราะสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมันได้เจอความยากลำบากอย่างที่สุด อย่างการเดินทางที่ยาวไกล ในระดับน้ำที่สูงและแรงโดยเฉพาะในปลาที่ต้องเดินทางในแม่น้ำขนาดใหญ่ พวกมันจะต้องพลังงานจำนวนมาก มากซะจนพลังงานสำรองที่มันสะสมมาทั้งชีวิตต้องหมดไป
หากเป็นปลาหรือสัตว์ชนิดอื่น พวกมันจะตายเมื่อพลังงานหมดหรือไม่ก็ต้องรีบหาอะไรกิน แต่ปลาแซลมอนพวกนี้ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะมันจะเริ่มเผาผลาญร่างกายของตัวเอง เพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงาน และมันจะว่ายทวนกระแสน้ำอย่างไม่ลดละจนกว่าจะถึงแหล่งวางไข่ ด้วยกระบวนการนี้จึงช่วยรับประกันว่าแซลมอนรุ่นต่อไปจะเกิดขึ้น …แต่สิ่งนี้ก็ต้องแลกมาด้วยราคาที่สูงลิบลิ่ว ซึ่งก็คือ “ความตายอย่างแน่นอน”
แต่เรื่องที่ปลาชนิดนี้ใช้พลังงานจนตัวเองต้องตาย เป็นเพียงครึ่งเดียวของกระบวนการนี้ ความจริงพวกมันยังทำสิ่งที่เรียกว่า “การกดภูมิคุ้มกัน” ซึ่งจะลดผลกระทบจากประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันของปลา
นั้นหมายความว่าปลาจะเข้าสู่ “ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง” และด้วยสิ่งนี้เอง ที่จะนำไปสู่การเสื่อมสภาพของอวัยวะอย่างรวดเร็ว เนื่องจากในช่วงเวลานั้นปลาจะมีความเสี่ยงต่อโรค เชื้อราและแบคทีเรีย
ปัจจัยทั้งหมดนี้ได้สนับสนุนความเสื่อมโทรมของร่างกาย การเน่าเปื่อยและท้ายที่สุดก็คือความตาย และนี่จะอธิบายได้ว่าทำไมปลาแซลมอนอพยพและวางไข่มักถูกเรียกว่าปลาซอมบี้ มันเป็นรูปแบบการสืบพันธุ์แบบสุดโต่งที่เรียกว่า สืบพันธุ์ครั้งเดียวในช่วงชีวิต (Semelparity) เป็นรูปแบบการเสียสละขั้นสูงสุดและเป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมของการออกแบบที่ชาญฉลาดของธรรมชาติ
ทำไม? ปลาแซลมอนซอมบี้ จึงสำคัญต่อระบบนิเวศ
ปลาแซลมอนอพยพ ไม่เพียงจะเป็นแหล่งอาหารสำคัญให้กับสัตว์นักล่าตามธรรมชาติ เช่น หมี นก แม้แต่ซากศพของพวกมันก็ยังสำคัญ
หมีต้องพึ่งพาปลาแซลมอนที่อพยพเป็นอย่างมาก เนื่องจากปลาพวกนี้อุดมไปด้วยโปรตีนและไขมัน ทุกฤดูใบไม้ร่วง พวกหมีจะกลับมาที่แม่น้ำเพื่อเพิ่มพลังงานสำรองสำหรับฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง …หากไม่มีปลาแซลมอนอพยพ มันจะเป็นเรื่องยากมากๆ ที่หมีจะผ่านฤดูหนาวอันทารุณไปได้
หลังวางไข่ปลาแซลมอนที่ตายไปแล้ว ก็มีความสำคัญต่อที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติพอๆ กับปลาแซลมอนที่ยังมีชีวิต ร่างกายที่เน่าเปื่อยของพวกมันจะช่วยให้ประชากรปลาแซลมอนมีสุขภาพดีขึ้น และเพิ่มปริมาณการกลับมาของปลาแซลมอนอีกด้วย
นักวิจัยพบว่าซากของปลาแซลมอนที่เน่าเปื่อย สามารถให้อาหารแก่จุลินทรีย์ แมลง สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังในน้ำ นกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากถึง 137 ชนิด และเพราะในช่วงเวลาที่ปลาแซลมอนวัยอ่อนต้องอยู่ในแม่น้ำ พวกมันต้องกินแมลงและสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเป็นหลัก ความอุดมสมบูรณ์ของอาหารจะเพิ่มอัตราการเติบโตและขนาดตัวตามธรรมชาติของลูกปลา
ในทางกลับกัน ปลาแซลมอนวัยรุ่นที่ตัวใหญ่ขึ้นเพราะได้รับอาหารอย่างดี ก็จะมีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น เมื่อถึงเวลาที่พวกมันกลับมา ก็จะสามารถวางไข่ได้มากขึ้น และด้วยเหตุนี้วัฏจักรชีวิตของปลาแซลมอนที่น่าทึ่งและน่าอัศจรรย์ก็จบลงและเกิดขึ้นมาใหม่
ปลาแซลมอนซอมบี้ กินได้หรือไม่?
คำตอบคือ กินได้ แต่ก็ไม่ควรกิน เนื่องจากเนื้อของพวกมันมีแบคทีเรียและเชื้อโรคมากกว่าเนื้อปลาแซลมอนทั่วไป แถมในช่วงเวลานั้น กลิ่นของพวกมันค่อนข้างแย่ นั้นเพราะเป็นช่วงเวลาที่ร่างกายของพวกมันเน่าเปื่อยจากการเผ่าผาญร่างกายและการกดภูมิคุ้มกัน
ความจริงเคยมีคำอธิบายจากนักตกปลาที่เคยตกปลาแซลมอนซอมบี้ได้ เขาได้อธิบายว่า กลิ่นเหม็นมาก มันเหมือนการผสมผสานระหว่างปลาเน่ากับมะเขือเทศเน่า บางครั้งก็มีกลิ่นของอุจจาระผสมอยู่ด้วย …มันไม่น่ากินมากๆ
ปลาแซลมอนมีกี่ชนิด?
สำหรับปลาแซลมอน (Salmon) ซึ่งอยู่ในวงศ์ปลาแซลมอน ซึ่งจะแบ่งเป็น 5 สกุลหลักคือ ปลาแซลมอน, ปลาเทราต์, ปลาชาร์, ปลาขาวน้ำจืด และปลาเกรย์ลิ่ง
ทั้งนี้หากนับเฉพาะปลาแซลมอน ก็จะแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม คือ ปลาแซลมอนแอตแลนติกและปลาแซลมอนแปซิฟิก โดยปลาแซลมอนแอตแลนติก ที่อยู่ในสกุล Salmo (ซัลโม) เท่าที่รู้ตอนนี้มีอยู่ประมาณ 47 ชนิด แต่ที่เป็นปลาเศรษฐกิจน่าจะมีชนิดเดียว นั้นคือปลาแซลมอนแอตแลนติก (Salmo salar) ซึ่งยาวได้ถึง 150 เซนติเมตร
ส่วนปลาแซลมอนแปซิฟิกที่อยู่ในสกุล Oncorhynchus (ออนโครินคัส) จะมีอยู่ 12 ชนิด แต่ที่เป็นปลาเศรษฐกิจจะมี 6 ชนิด คือ ปลาแซลมอนชินูก, ปลาแซลมอนชัม, ปลาแซลมอนโคโฮ, ปลาแซลมอนมาซู, ปลาแซลมอนชมพู และปลาแซลมอนซ็อกอาย
และสำหรับทั้ง 2 สกุลที่กล่าวไป ก็จะมีปลาบางชนิดที่ถูกเรียกว่า “ปลาเทราต์” อย่างเช่น ปลาเรนโบว์เทราต์ (Oncorhynchus mykiss) ที่อยู่ในสกุลออนโครินคัส ในธรรมชาติปลาชนิดนี้จะว่ายจากทะเลสู่แม่น้ำเพื่อวางไข่แล้วอพยพออกสู่ทะเล แต่สุดท้ายพวกมันก็ไม่เรียกว่าเป็นปลาแซลมอน
ก็จบแล้วนะครับ สำหรับเรื่อง ปลาแซลมอนซอมบี้ และก็เป็นอย่างที่เห็นในเรื่องนี้จะเน้นไปที่กระบวนความเสื่อมถอยของร่างกายของปลาแซลมอน ก็หวังว่าข้อมูลส่วนนี้จะมีประโยชน์กับทุกคนไม่มากก็น้อย