ปูเยติ (Kiwa hirsuta) ถูกค้นพบโดยบังเอิญจากการที่มีเรือดำน้ำลงไปสำรวจทะเลที่ความลึก 2,200 เมตร (7,200 ฟุต) และพบว่ามีตัวแปลกๆ เกาะอยู่ที่รอยแยกตรงพื้นทะเล ด้วยลักษณะที่มีขนปกคลุมจึงถูกเรียกว่า “เยติ” และมีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Kiwa hirsuta
ข้อมูลโดยสรุปของปูเยติ
- ที่อาศัย : มหาสมุทรแปซิฟิกใต้ ลึกมากกว่า 2 พันเมตร
- อายุขัย : 10 – 20 ปี
- ขนาด : 15 เซนติเมตร
- น้ำหนัก : 2 – 5 ปอนด์
- สี : สีขาวซีด สีเทา และสีเหลือง
- อาหาร : แบคทีเรีย หอยแมลงภู่
- ศัตรูตามธรรมชาติ : หมึกยักษ์
- สถานะการอนุรักษ์ : ไม่มีข้อมูล
ปูเยติ จัดอยู่ในวงศ์ Kiwaidae ที่มาของชื่อมาจากลักษณะของขนสีขาวบนตัวและก้ามที่มีความคล้ายคลึงกับขนของเยติ (Yeti) มนุษย์หิมะ แห่งเทือกเขาหิมาลัยตามความเชื่อของชาวเชอร์ปา
นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับหน้าที่ของขนบนลำตัวของปูเยติออกเป็นสองแนวความคิดคือ แนวคิดแรกเห็นว่าขนเหล่านี้น่าจะมีเอาไว้เพื่อเป็นกับดักแบคทีเรีย ที่ปูเยติกินเป็นอาหาร ในแนวคิดนี้ดูเหมือนน่าเชื่อถือ เพราะมีการทดสอบไปบ้างแล้ว นักวิจัยพบว่า ปูเยติจะดักจับแบคทีเรียเอาไว้ที่ขน และเลี้ยงเอาไว้เพื่อใช้เป็นอาหารต่อไป
แต่อีกฝ่ายแย้งว่าขนมากมายเหล่านี้น่าจะมีหน้าที่ในการกรองธาตุที่มีพิษ ที่พ่นออกมาจากช่องใต้ทะเลลึกมากกว่า นอกจากนี้ปูเยติ ยังมีก้ามที่มีลักษณะสีสันสวยงาม โดยมักจะยื่นก้ามเข้าไปในน้ำแร่ร้อนที่พ่นออกตามรอยแยกของพื้นทะเล และสิ่งนี้ก็ยังปริศนาอีกประการที่นักวิจัยยังไขไม่ได้