นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร หรือ นกนางแอ่นตาพอง (White-eyed River-Martin) ชื่อวิทยาศาสตร์ Pseudochelidon sirintarae เป็นนกจับคอนหนึ่งในสองชนิดของสกุลนกนางแอ่นแม่น้ำในวงศ์นกนางแอ่น “พบบริเวณบึงบอระเพ็ดในช่วงฤดูหนาวเพียงแห่งเดียวในโลก แต่อาจสูญพันธุ์ไปแล้วตั้งแต่ปี 1980”
ชื่อสกุล Pseudochelidon (Hartlaub, 1861) มาจากภาษากรีกโบราณ คำหน้า ψευδο/pseudo แปลว่า “ปลอม” และคำหลัง χελιδον/chelidôn แปลว่า “นกนางแอ่น” และชื่อสปีชีส์ได้รับพระราชทานพระนามของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีมาตั้งชื่อนกชนิดนี้
ชนิดของ Pseudochelidon ทั้งเอเชียและแอฟริกาแตกต่างกันในขนาดของปากและตา แสดงว่ามีระบบนิเวศวิทยาการกินอาหารที่แตกต่างกัน นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรอาจกินอาหารที่มีขนาดใหญ่กว่า สปีชีส์ในประเทศไทยนั้นปากพอง ปากอ้าแข็ง (เนื้อด้านในของปาก) ไม่เหมือนนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกาที่นุ่ม มีเนื้อมาก และปากอ้าได้กว้างน้อยกว่า
จนในปี 1972 มีการเสนอว่านกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรมีลักษณะต่างจากนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกา ซึ่งพอที่จะแยกออกเป็นสกุล Eurochelidon แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมจากผู้แต่งคนอื่นๆ อย่างไรก็ตามองค์การชีวปักษานานาชาติ (BirdLife International) ได้ใช้เป็นชื่อสกุล Eurochelidon ในปัจจุบัน
ประวัติการค้นพบ
นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรถูกพบในปี 1967 โดยนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้ดักจับนกนางแอ่นจากบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อศึกษาเรื่องการอพยพย้ายถิ่นของสัตว์ต่างๆ
จนช่วงเดือนมกราคม – กุมภาพันธ์ 1968 “กิตติ ทองลงยา” ได้ค้นพบนกตัวหนึ่งที่แตกต่างจากนกนางแอ่นชนิดอื่นที่จับได้ นกตัวนี้มีขนาดใหญ่กว่านกนางแอ่นทั่วไปมาก ขนเป็นสีดำคล้ำ ตาขาวและใหญ่ ปากและสะโพกสีขาว หางกลมมน ขนหางคู่กลางมีแกนยื่นออกมาอย่างชัดเจน
จากการตรวจสอบขั้นต้นยังไม่สามารถที่จะจำแนกนกชนิดนี้เข้ากับนกสกุลใดๆ ของประเทศไทยได้ กิตติจึงเก็บตัวอย่างของตัวเบียน คือ เห็บ เหา และไร ของนกส่งไปให้สถาบันสมิธโซเนียน และพิพิธภัณฑ์บริติชช่วยตรวจและวิเคราะห์หาชนิดของนกดังกล่าว ผลก็คือมันมีเหาชนิดเดียวกับนกนางแอ่นแม่น้ำสกุล Pseudochelidon ซึ่งพบในแถบลุ่มน้ำคองโกของแอฟริกา
จากนั้นได้ทำการเปรียบเทียบลักษณะอวัยวะต่างๆ ภายในของนกตัวนี้กับตัวอย่างนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกา (Pseudochelidoninal eurystominal) ก็พบว่านกตัวนี้จะต้องเป็นนกในสกุล Pseudochelidon อย่างแน่นอน แต่เนื่องจากว่านกในสกุลนี้เคยมีเพียงชนิดเดียวคือนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกา ดังนั้นนกที่ค้นพบที่บึงบอระเพ็ดนี้ นักปักษีวิทยาทั่วโลกจึงยอมรับว่าเป็นนกสกุล Pseudochelidon ชนิดใหม่ของโลก
ลักษณะของนก
นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรเป็นนกนางแอ่นขนาดกลาง มีความยาวจากปากจดหางประมาณ 12 -13 ซม. ความยาวเฉพาะหาง มากกว่า 9 ซม. ลำตัวสีดำสนิท มีเหลือบสีน้ำเงิน-เขียวเข้มบางส่วน บริเวณตะโพกสีขาวแยกบริเวณหลังสีดำเหลือบสีน้ำเงิน-เขียวเข้มและตอนบนของหางสีเดียวกันออกจากกัน หัวสีเข้มกว่าหลัง บริเวณคางมีกระจุกขนสีดำคล้ายกำมะหยี่ไปถึงหลังส่วนบน ปีกสีดำ หางสีดำเหลือบเขียว ขนหางมนกลมแต่ขนคู่กลางมีแกนยื่นออกมาเป็นเส้นเรียวยาวประมาณ 10 ซม.ปลายแผ่เล็กน้อย มองเห็นได้ชัดเจน
ชาวบ้านในบริเวณที่ค้นพบเรียกนกชนิดนี้ว่า “นกตาพอง” เนื่องจากลักษณะของตาที่มีวงขาวล้อมรอบ ขอบตาขาวเด่นชัด นัยน์ตาและม่านตาสีขาวอมชมพูเรื่อๆ ปากกว้างสีเหลืองสดแกมเขียว มีแต้มสีดำรูปโค้งที่ปากบน ขาและเท้าใหญ่แข็งแรงมีสีชมพู ไม่ส่งเสียงร้องในฤดูหนาว และเสียงร้องในช่วงผสมพันธุ์ยังไม่ทราบ
ไม่ทราบชีววิทยาการขยายพันธุ์ของนก
แหล่งผสมพันธุ์วางไข่ของนกนั้นยังไม่มีการค้นพบ จึงไม่ทราบในชีววิทยาการขยายพันธุ์ของนกเลย แต่คาดกันว่ามันน่าจะคล้ายกับนกนางแอ่นแม่น้ำแอฟริกาโดยทำรังตามโพรงบริเวณตลิ่งทรายริมแม่น้ำ วางไข่ชุดละ 2-3 ฟอง อาจเป็นในเดือนเมษายน-พฤษภาคม ก่อนฝนจากมรสุมจะทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้น
แต่ความแตกต่างทางกายวิภาคของรูปร่างเท้าและขาทำให้รู้ว่ามันไม่สามารถขุดโพรงได้ ในฤดูหนาวพบว่ามันเกาะนอนอยู่ในฝูงนกนางแอ่นชนิดอื่นๆ ที่เกาะอยู่ตามใบอ้อและใบสนุ่น บางครั้งก็พบอยู่ในกลุ่มนกกระจาบและนกจาบปีกอ่อน
นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรพบในบริเวณ “บึงบอระเพ็ด” เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรอาจเป็นนกอพยพ แต่ไม่รู้ที่มา รวมทั้งพื้นที่แหล่งผสมพันธุ์วางไข่ยังไม่เป็นที่ทราบอาจเป็นหุบเขาที่มีแม่น้ำไหลผ่านอย่างภาคเหนือของประเทศไทยหรือทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน
และแม้ว่าจะไม่ได้พบมาหลายสิบปี แต่เพราะยังไม่ได้รับการสำรวจอย่างครอบคลุม จึงยังไม่ถูกประกาศให้เป็นสัตว์สูญพันธุ์ ..นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรจัดอยู่ในบัญชีที่ 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ (CITES) นอกจากนี้นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรยังจัดเป็นสัตว์ป่าสงวนตามพระราชบัญญัติคุ้มครองและสงวนสัตว์ป่า
สุดท้ายบึงบอระเพ็ดได้รับการประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ ก็เพื่อจะปกป้องนกชนิดนี้ แต่จากการสำรวจค้นหานกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรที่เหลือรอด โดยการสำรวจที่บึงบอระเพ็ดหลายครั้ง การสำรวจแม่น้ำยม แม่น้ำน่าน และแม่น้ำวังในภาคเหนือของประเทศไทยปี 1969 และการสำรวจของแม่น้ำในภาคเหนือของประเทศลาวในปี1996 กลับประสบความล้มเหลว