เตรียมปลดล็อก ตัวเหี้ย และ นกแอ่นกินรัง

หลายคนชอบพูดกันว่า ทำไมต้องคุ้มครอง ตัวเหี้ย หรือ ตัวเงินตัวทองด้วย! ร่างกฎหมายใหม่นี้ดูเหมือนจะสมใจหลายคน ที่ว่าจะปลดล็อกตัวเงินตัวทอง ซึ่งดูเหมือนจะมีเต็มไปหมด แต่ผมว่าถึงจะไม่ปลดล็อก ก็ยังแอบตีกันอยู่ แต่! อย่าเพิ่งคิดว่า ต่อไปถ้าตีเอาในธรรมชาติแล้วจะไม่ผิด เพราะการปลดล็อกนี้ เป็นการเปิดให้ขออนุญาตเลี้ยงได้ หรือก็คือ เพิ่ม ตัวเงินตัวทอง กับ นกแอ่นกินรัง เข้าไปในรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครองที่เลี้ยงได้นั้นเอง ป่ะเดี๋ยวมาดูกฎใหม่เขาว่ากันยังไง

จากรายงานเมื่อวานนี้ หรือ วันที่ 5 พฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2567 ที่ประชุมคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ครั้งที่ 2/2567 เห็นชอบตามที่กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เสนอให้พิจารณาร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2 ฉบับสำคัญ ได้แก่ การกำหนดให้ตัวเงินตัวทอง เป็นสัตว์ป่าชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ และการกำหนดชนิดสัตว์ป่าคุ้มครองที่อนุญาตให้เก็บ ทำอันตราย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งเป็นรังนกแอ่นได้

ในกรณีของตัวเงินตัวทอง

Advertisements

ตัวเงินตัวทอง หรือ ตัวเหี้ย จากเดิมที่มีสัตว์ป่าคุ้มครองที่เลี้ยงได้ 62 ชนิด จะเพิ่มเป็น 63 ชนิด โดยจะเพิ่มตัวเงินตัวทอง ในชื่อวิทยาศาสตร์ วา-รา-นัส ซัล-วา-ทอร์ (Varanus salvator) เข้าไป

เนื่องจากพบว่า! ปัจจุบันมีการเลี้ยงเพื่อเป็นสัตว์สวยงาม จึงถือว่าเป็นสัตว์ที่มีศักยภาพในการใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หนังของตัวเงินตัวทองมีลายละเอียด นุ่ม เหนียว ทนทาน มีการใช้ประโยชน์ในผลิตภัณฑ์เครื่องหนังที่หลากหลาย ซึ่งเมื่อประกาศแล้วผู้ที่มีความสนใจ ที่จะประกอบกิจการเพาะพันธุ์ สามารถขออนุญาตเพื่อเพาะพันธุ์ได้

จากลายละเอียดที่พูดไป จะเห็นว่า! ไม่ได้อนุญาตให้ไปตีหัวตัวเงินตัวทองในธรรมชาติแต่อย่างใด และหากต้องการเลี้ยง ต้องการขายชิ้นส่วน ยังไงก็ต้องขออนุญาติ! แต่ผมว่า! งานนี้ ประชากรในธรรมชาติน่าจะเพิ่มขึ้น ไม่มากก็น้อยอะนะ …ส่วนใครจะเอาไปเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงผมเองก็ไม่แน่ใจ

ในกรณีของนกแอ่นกินรัง

ในส่วนของนกแอ่น จะต่างจากตัวเงินตัวทอง โดยร่างประกาศนี้ มีการกำหนดนกแอ่นที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองเอาไว้ 2 ชนิด ได้แก่ นกแอ่นกินรัง (Aerodramus fuciphagus หรือ Aerodramus germani) และ นกแอ่นหางสี่เหลียม หรือ นกแอ่นรังดำ (Aerodramus maximus) ที่จะอนุญาตให้เก็บ ทำอันตราย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งรังได้

นกแอ่นกินรัง (Aerodramus fuciphagus หรือ Aerodramus germani)
นกแอ่นหางสี่เหลียม หรือ นกแอ่นรังดำ (Aerodramus maximus)

ทั้งนี้ก็เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในการใช้ประโยชน์ จากรังนกแอ่นอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และ! สามารถนำไปสู่การกำหนดหลักเกณฑ์ในกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายด้านอาคาร กฎหมายด้านสาธารณสุข เป็นต้น

ทั้งนี้ ร่างประกาศทั้ง 2 ฉบับ ได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณาตามกฎหมายของกรมอุทยานฯ และคณะอนุกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าเรียบร้อยแล้ว คงอีกไม่นานที่จะประกาศใช้

อ่านเรื่องอื่น

Advertisements