น้าๆ หลายคนไปตกปลาตามหมายชายฝั่งทะเล หรือไปเช่าเรือออกตกกันกลางทะเลมาแล้ว ได้ตัวบ้างไม่ได้บ้างก็แล้วแต่ดวงของผู้ตกปลา และความสามารถของไต๋หรือเจ้าของเรือ แต่เรื่องนั้นเป็นเพียงส่วนประกอบ เพราะในความเป็นจริงคือ “ธรรมชาติ” ที่เป็นคำตอบที่แท้จริง
การตกปลากลางทะเลหรือริมฝั่ง
ต้องอาศัยกฎของกระแสน้ำไหล ไต๋เรือผู้เชี่ยวชาญเขาจะสังเกตน้ำและลมว่าไหลไปในทิศทางใด ไปตกปลากันทางทิศเหนือทิศใต้หรือเกาะหรือกองหินใต้น้ำ ปลาอะไรจะกินเมื่อน้ำลมไหลไปทิศทางเดียวกัน หรือน้ำไหลไปทางลมไปทางอะไรจะเกิดขึ้น
ชื่อลมและชื่อน้ำจะเรียกเหมือนกัน ซึ่งแล้วแต่ละฟากฝั่งของอ่าวในประเทศไทย อย่างอ่าวปากน้ำชุมพร ก็เรียกไปอย่างหนึ่ง เช่นลมพัดหลวง (ลมบกพัดออกทะเลหรือจากทิศเหนือสู่ทิศใต้) จะเรียกกระแสน้ำไหลจากทิศเหนือสู่ทิศใต้ว่าน้ำพัดหลวงเหมือนกัน เวลาตกปลาข้างตัวเกาะต้องจอดและหันหัวเรือสู้ลม ต้องทอสมอให้จมโคลนแล้วปล่อยเรือให้พอดี กะว่าตีเหยื่อเข้าหาตัวเกาะแล้วเหยื่ออยู่ชายหินปะการังยิ่งดี จะเรียกปลาหิวโซออกมาจากรูหินปะการัง เข้ากระชากเหยื่อได้อย่างง่ายดาย
ตกริมฝั่งก็ต้องดูกระแสน้ำขึ้นลง
ปลาจะหากินตามแนวกระแสน้ำนี้และต้องดูและดูกระแสลมอีกเหมือนกัน ใช่ว่าน้ำขึ้นแล้วไปตกปลาเลย อันนี้อาจจะยากสักหน่อย สำหรับน้าๆ มือใหม่ ที่เริ่มชอบกีฬาตกปลานี้เพราะต้องพกเอาดวง ไปด้วย ก่อนอื่นสังเกตสีน้ำก็ได้ ถ้าน้ำขุ่นเหมือนน้ำชา (เกิดจากอิทธิพลของคลื่นใต้น้ำ) ก็กลับบ้านไปนอนก่อน
แต่ถ้าน้ำใสแจ๋วเกินไปก็ลองๆนั่งดูสักครึ่งหรือค่อนคืน น้ำทะเลที่จะตกปลาชายฝั่งได้ดีต้องเป็นสีน้ำที่ไม่ขุ่นไม่ใสจนเกินไป สีน้ำอย่างนี้ทอดดีเพราะปลากระบอกจะเข้ามาแฉลบตัวกินขี้โคลน อุปสรรคอีกอย่างหนึ่งสำหรับคนตกปลาชายฝั่งก็คือเมื่อตีเหยื่อออกไปแล้วน้ำจะเป็นสีนีออนสายเอ็นจะเป็นทางยาวลงไป ถ้าอย่างนี้ก็เก็บเบ็ดเก็บรอกกลับไปนอนอย่าเสียเวลาหลับนอนเลย
กระแสน้ำอย่างหนึ่งที่สร้างอารมณ์หงุดหงิดก็คือกระแสน้ำงอน (ไม่เกี่ยวกับลม) คือกระแสน้ำบนครึ่งไหลไปทิศใต้ แต่กระแสน้ำอีกครึ่งหนึ่งคือกระแสน้ำล่างไหลไปทิศเหนือ ปลากินเหยื่อเหมือนกันแต่การฉวยเหยื่อของปลาจะกัดเหยื่อเพียงครึ่งหนึ่ง จะไม่ฉวยเหยื่อทั้งตัวเหมือนกระแสลม กระแสน้ำ ไปในทิศทางเดียวกัน คล้ายๆ ว่าไม่ค่อยเต็มใจกินเหยื่อ บางครั้งดึงตัวขึ้นมากลางน้ำ สะบัดหลุดเฉยๆ
แต่ถ้าติดเบ็ดขึ้นมาน้าๆ เคยสังเกตไหมว่าเบ็ดจะเกี่ยวเพียงริมฝีปากปลาจะหลุดอยู่แล้ว หรือปลาดิ้นสองสามครั้งก็หล่น และบางทีตะขอไม่ทันเกี่ยวตัวปลามันดิ้นอีกเฮือกก็พบกับอิสระ เจ้าตัวที่หลุดลงน้ำที่แหละจะรีบหนีเตลิดเปิดเปิง ยิ่งถ้าช่วงที่ปลากำลังกินหยื่อดีๆ หลุดไปสักตัวจะพาเพื่อนๆ หนีไปหมด โดยปลาตัวอื่นจะนึกว่าพาเหยื่อหนีก็จะตามกันไป แต่พากันหายไปแป๊บเดียวก็จะกลับมากัดเหยื่ออีกหากกระแสน้ำ กระแสลมยังเหมือนเดิม
การกินเหยื่อของปลามีนิสัยที่ไม่เหมือนกัน ถ้าสังเกตแรงกระชากของชนิดปลา ปลามี 3 ชนิด ชนิดที่หากินตามกลางทะเล
1. ผิวน้ำ : ปลาหากินผิวน้ำก็มีกระโทงเหว (เต๊กเล้ง) กระโทงปากแดง อินทรี สาก ทูน่า(ปลาโอ) โต้มอญฯ
2. กลางน้ำ : ปลาหากินกลางน้ำก็มีอินทรี สาก ปลาตระกูลประมง สีจิ้น หนวดพราหมณ์ โฉมงาม(หน้าดินก็กิน) สีครองหางเหลี่ยมฯ แรงกระชากครั้งแรกแน่นหนักหน่วงแต่ไม่รุนแรง แต่แรงวิ่งเหมือนเอาฝาหม้อข้าวผูกหย่อนลงน้ำแล้วดึง เหมือนกันเลย
3. หน้าดิน : ปลาหน้าดินก็มีเก๋า อั้งเกย ปลาตระกูลกะพงทั้งหลาย สร้อยนกเขา ปากหนา ปากแหนบ (เหมือนแหนบถอนหนวด) หางบ่วงมุน กระเบนฯ แรงกระบากปลาพวกนี้รุนแรงเพราะเข้าชาร์จเหยื่อแล้วจะพาไปขยอกในรูหินปะการังทันที