ถ้าหากว่าจะตั้งคำถามกับนักตกปลาที่นิยมการใช้เหยื่อปลอมอย่างเราๆ ท่าน ๆ ว่า เหยื่อปลอมประเภทไหนที่ใช้แล้วให้ความรู้สึกตื่นเต้นเร้าใจมากที่สุด.?
คำตอบที่ได้จากมือเหยื่อปลอมส่วนใหญ่ในปัจจุบันก็คงหนีไม่พ้นเหยื่อประเภทผิวน้ำ (Top Water, Surface หรือ Floating) ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นกบไม้ กบกระโดด กบติดใบพัด ปลั๊กผิวน้ำ บัซเบท ฯลฯ และที่ฮ็อทฮิทติดเทรนด์ก็พวกเหยื่อตระกูลป๊อบเปอร์ การสร้างแอ็คชั่นให้เหยื่อแต่ละชนิด แต่ละยี่ห้อก็ว่ากันไป ทั้งตามที่ผู้ผลิตแนะนำ และตามความถนัดหรือประสบการณ์ของนักตกปลาแต่ละคน แต่ที่แน่ ๆ เหยื่อประเภทนี้ให้ความสะใจสุด ๆ เวลาโดนปลาชาร์จ เสียงตูม ! สนั่น ปลาชาร์จแล้วพลิกตัวตลบลงสะบัดหางน้ำกระจายพร้อม ๆ กับสายถูกกระชากตึงรั้งเอาคันโค้งวูบลง เป็นเอกลักษณ์สำคัญของเหยื่อประเภทนี้
ในช่วงที่ริตีเหยื่อปลอมใหม่ ๆ ผมเคยแสดงความเห็นกับ “พี่เล็ก แปดริ้ว” (ขออนุญาตเอ่ยนาม) ไว้ว่า ตีเหยื่อปลอมนี่เหมือนอะไรมันขาดหายไปนิดนึง คือมันเงียบ ๆ ชอบกล ไม่เหมือนกับลงเรือออกทะเล หรือเฝ้าปลาตามบ่อ หรือหมายธรรมชาติ คงสงสัยกันล่ะสิครับว่าอะไรมันเงียบ ก็ที่ขาดหายไปคือเสียงร้องหรือสัญญาณเสียงของรอกไงครับ เสียงสวรรค์ของนักตกปลาที่ได้ยินเมื่อไหร่มีอันต้องผวาเข้าหาคันเบ็ดกันทุกคน กินข้าวอยู่ในซุ้มตามบ่อ เป็นต้องวางช้อนผวาพรวดไปคว้าคัน ลงเรือออกทะเลขนาดทำธุระอยู่ในห้องน้ำท้ายเรือ ได้ยินเสียงรอกร้องยังทะลึ่งจำเสียงรอกตัวเองได้อีกแน่ะ ตะโกนลั่นออกมาจากออกห้องน้ำบอกเพื่อน เฮ้ย ! คันตรู ๆ ใครอย่ายุ่งนะ เดี๋ยวตรูวัดเอง อีกอย่างหนึ่งคือ การตกปลาที่ต้องวางหรือปักคันเบ็ดรอปลา ถ้าถูกปลาชาร์จคามือในขณะที่ยังไม่ทันวาง หรือปักคันนี่นับเป็นอะไรที่เท่มาก ถ้าเหยื่อลงน้ำปุ๊บปลาชาร์จปั๊บ เมื่อตวัดติดแล้ว ก็จะเห็นท่าอัดปลาที่แสนสง่าผ่าเผยตามมาทันที เผลอ ๆ มีหันมายักคิ้วให้เพื่อนในซุ้มหรือในเก๋งเรืออีกแน่ะ ดู่ ดู๊ ดู ดูมันทำ….เอิ๊ก ๆๆๆ
พอมาตีเหยื่อปลอมซึ่งแน่ล่ะ เวลาปลาชาร์จเหยื่อมันต้อง คามือ ทุกตัวแน่นอน เพราะ…
ต้องถือคันเบ็ดไว้ตลอดเวลา เสียงสัญญาณของรอกแสนเร้าใจที่หายไป ก็พอจะกล้อมแกล้มกันได้ด้วยเหยื่อผิวน้ำนี่แหละ แล้วเหยื่อปลอมประเภทอื่นล่ะ ? ไม่มีอะไรที่ตื่นเต้นเร้าใจมั่งหรือ ?
มีสิครับ…แต่ที่จะแนะนำ มันเป็นความตื่นเต้นแบบสุขุมลุ่มลึกหน่อย รวม ๆ แล้วเป็นวิธีการตกปลาด้วยเหยื่อปลอม ที่ความตื่นเต้นเกิดจากการ ลุ้น และความภูมิใจคือเราเป็นผู้ทำให้เหยื่อมันมีชีวิต
ผมเคยกล่าวถึงประเด็นนี้ไว้นานแล้วว่า นักตกปลาหลาย ๆ คนคงได้ยินมา หรืออาจจะเป็นคำตอบหนึ่ง
สำหรับคำถามที่ว่า ได้อะไรจากการตกปลา ? คำตอบที่คุ้นหูที่สุดได้แก่ ได้สมาธิ ได้ความสงบ ฝึกความอดทน ระหว่างรอปลากินเหยื่อ ทำให้เป็นคนใจเย็น คิดอะไรที่สร้างสรรค์ได้หลายอย่างในระหว่างที่รอคอยปลากินเหยื่อ
แล้วในระหว่างตกปลา เคยถามตนเองบ้างไหมว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า ?
มาถึงโจทย์ใหม่ ๆ… การตกปลาด้วยเหยื่อปลอม มีวิธีไหนบ้างที่ทำให้ใจเย็น ใจจดจ่อจนเกิดสมาธิ ?
พูดถึงกีฬากอล์ฟ ก็แค่ตีให้ลูกลงหลุม แต่กว่าลูกจะลงหลุมได้ ทำไมมันมีอะไรซับซ้อน ต้องวางแผน ยากเย็น และละเอียดอ่อนถึงปานนั้น ?
เซนส์ของคันเบ็ดทำไมมีความสำคัญ ? ผมตีเหยื่อปลอมทีไร ก็ลากเหยื่อสร้างแอ็คชั่นมาตามปกติ รู้สึกตัวปลาก็ติดเบ็ดเรียบร้อยแล้วทุกที
ผมตีเหยื่อปลอมมานาน ใช้เหยื่อมาแทบทุกประเภท ได้ปลามานักต่อนัก ไม่มีอะไร ตีไปลากมา ปลาไม่กัด ตีใหม่ ปลากัด ก็อัดขึ้นมา ไม่เห็นยาก แต่ก็เหมือน ๆ จะอิ่มตัว เริ่มเฉย ๆ แล้วครับ
ผมฟังแต่เพลงร็อค ฮาร์ดคอร์ แรง ๆ เร็ว ๆ กระตุ้นตัวเองให้มีพลัง มีไฟ อยู่นิ่งไม่ได้ จนผมกลัวว่าจะกลายเป็นคนสมาธิสั้นไปซะก่อน ถ้าผมเปลี่ยนแนวไปฟังเพลงคลาสสิกบ้าง อย่างซิมโฟนีของโมสาร์ท บาค บีโธเฟน ไชคอฟสกี้ หยั่งเงี้ยะ พอจะทำให้ผมเยือกเย็น สงบขึ้นบ้างมั้ย ? แล้วผมจะโดนเพื่อน ๆ หาว่าทำตัวแปลกแยกมั้ยครับ ?
คำตอบของคำถามข้างต้นสำหรับนักตกปลาด้วยเหยื่อปลอม มีอยู่ในเหยื่อปลอมที่เราเรียกกันว่า เหยื่อยาง (Soft Bait)
ตามผมมาสิครับ…
เหยื่อยางถือกำเนิดขึ้นในโลกมาเนิ่นนานกว่า 60 ปีแล้ว
จากการที่ฝรั่งเค้าพยายามสร้างเหยื่อปลอมที่เลียนแบบสิ่งมีชีวิตที่เป็นอาหารตามธรรมชาติของปลาให้มีความใกล้เคียงมากที่สุด เหยื่อปลอมมาตรฐานก่อนที่เหยื่อยางจะเกิดขึ้นจะมีรูปแบบเลียนแบบลูกปลาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งการเสาะหาวัสดุมาสรรสร้างไม่ใช่เรื่องยาก แต่เมื่อเกิดแนวคิดจะสร้างเหยื่อเลียนแบบ หนอน ไส้เดือน จิ้งจก ขึ้นมา ถ้าขืนเอาไม้มาเหลาเป็นรูปหนอนตัวแข็งทื่อ ตีลงน้ำไปคาดว่าคงจะหาปลาหน้ามืดมากัดได้ยากแน่นอน นอกจากปลามันเข้าใจว่าหนอนตัวนี้อยู่ในขั้นของการเป็น ดักแด้ กินได้ แฮ่ ๆๆๆ
เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคของพลาสติก
สูตรทางเคมีของส่วนผสมของเนื้อพลาสติกถูกคิดค้นออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ตรงกับความต้องการที่จะนำพลาสติกนั้นไปใช้งาน ทั้งเนื้ออ่อน เนื้อแข็ง ทนไฟ ทนความร้อน และหนึ่งในสูตรนั้นคือการผสมเนื้อพลาสติกเพื่อใช้ทดแทน ยางธรรมชาติ ที่เรียกว่า ยางเทียม เหยื่อปลอมที่ทำจากพลาสติกเนื้อนุ่มนิ่มจากเมืองนอกเมืองนาจึงถูกคนไทยเรียกด้วยความถนัดปากว่า เหยื่อยาง ทั้งที่ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับยาง (Rubber) และฝรั่งอั้งม้อเจ้าของภาษาเองเค้าก็จัดให้เหยื่อประเภทนี้อยู่ในกลุ่มของ Soft Plastic Bait
สูตรของเนื้อพลาสติกได้ถูกพัฒนาจนทำให้มีความ เหนียว นุ่ม ยืดหยุ่น เมื่อนำมาทำเหยื่อปลอมโดยผสมสีกับวัสดุอื่นที่ต้องการลงไปแล้วนำไปทำละลายก่อนหยอดในแบบพิมพ์ (Mold) ที่ทำไว้ ทั้งรูปแบบของหนอน ไส้เดือน จะมีความใกล้เคียงกับธรรมชาติมาก โยนให้ไก่ในเล้า ไก่ก็จิก โยนให้กบในบ่อเลี้ยง กบก็งับ (ต่อมาทั้งไก่ทั้งกบนอนหงายท้อง) โยนใส่สาว ๆ สาว ๆ ก็กรี๊ด (เป็นวิธีเทสต์แอ็คชั่นส่วนตัว) โยนใส่กระทะแม่ค้าขายหนอนรถด่วน อันนี้โดนแพ่นหัวแน่ครับ ไม่แนะนำ
Hard Bait กับ Soft Bait
สิ่งที่เหมือนกันคือ นักตกปลาต้องเป็นผู้สร้างแอ็คชั่นให้เหยื่อ จะด้วยการลากยาว ลากช้าลากเร็ว ลากแล้วหยุด ลากแบบกระตุก (ป๊อบเหยื่อ) แต่สำหรับ Soft Bait แล้ว การใช้งานจะเป็นไปในลักษณะอ้อยอิ่ง เรื่อย ๆ มาเรียง ๆ หน่อย และมีแอ็คชั่นพิเศษคือ การโรยตัวด้วยความพริ้วไหว การดีดดิ้นระริกระรี้ ดูมีชีวิตชีวา ยั่วประสาทปลานักล่าได้มากกว่าเล็กน้อย และในเหยื่อยางบางรูปแบบที่มีการค้นคว้าพัฒนามาเป็นอย่างดี ยังสร้างคลื่นสั่นสะเทือนใต้น้ำที่มีความถี่ในระดับที่เรียกร้องความสนใจจากปลาได้อีก บางรูปแบบก็สร้างฟองอากาศเล็ก ๆ หรือปล่อยกากเพชรละเอียดระยิบระยับเป็นทางให้ปลาติดตาม ราวนางเอกหนังอินเดียวิ่งร้องเพลงข้ามภูเขาส่าหรีปลิวว่อนให้พระเอกวิ่งตาม ประมาณว่า Come on Baby, Im Here (เวลาอ่านให้บีบเสียงเล็ก ๆ ขึ้นจมูกเล็กน้อย) ว่ากันหยั่งงั้นเลย เหยื่อยางบางประเภทยังลอยน้ำได้ นับเป็น Jerk Bait ประเภทหนึ่ง
เหยื่อยางมีกี่ประเภท
ถ้าไม่ลงรายละเอียดถึงวัสดุที่ใช้ทำและคุณสมบัติพิเศษอื่น ๆ ที่ผู้ผลิตใส่ลงไปในตัวเหยื่อ ก็สรุปเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 2 ประเภท คือ
- เหยื่อที่มีรูปแบบเหมือนกับสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติที่เป็นอาหารของปลา เช่น หนอน ไส้เดือน กบ ปลา จิ้งจก กุ้ง ปู จิ้งหรีด แมลงสาป ตั๊กแตน ตะขาบ ปลิง เป็นต้น เหยื่อแบบนี้สร้างขึ้นโดยมีต้นแบบที่ชัดเจน มีตัวเป็น ๆ ให้เห็นทั่วไป นักตกปลาเพียงเลือกใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่เท่านั้น
- เหยื่อที่มีรูปแบบแตกต่างกับสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติโดยสิ้นเชิง เหยื่อพวกนี้จะถูกค้นคว้า วิเคราะห์ และพิสูจน์ออกมาก่อนการผลิตแล้วว่า เวลาใช้งานจะเกิดแอ็คชั่นที่ทำให้ปลาเข้าใจว่าเป็นอาหารได้ ได้แก่ Grub, Bug, Hog, Tube, หนอนสองหาง หนอนหางใบโพธิ์ หนอนหางปลา หนอนขนมีหาง หนอนบั้ง เป็นต้น เหยื่อแบบนี้ ทำให้การตกปลาด้วยเหยื่อยางมีรสชาติและท้าทาย เพราะต้องอาศัยจินตนาการและประสบการณ์ในการเลือกใช้ รวมถึงการสร้างแอ็คชั่นที่แตกต่างกันออกไปตามลักษณะของเหยื่อ
ทุกท่านคงรู้ ๆ อยู่กันอยู่ว่า ปลาล่าเหยื่อน้ำจืดระดับสุดยอดของเมืองมะกันกับพี่ยุ่น ที่ทำให้บรรดานักตกปลาหลงใหลคลั่งไคล้ ทำให้วงการตกปลาด้วยเหยื่อปลอมมีเม็ดเงินหมุนสะพัดในปริมาณมหาศาลในแต่ละปี อุปกรณ์ เหยื่อ ต่าง ๆ ล้วนถูกพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อพิชิตพี่ท่าน และพี่ท่านเองก็เป็นส่วนสำคัญในการสร้างนักตกปลาระดับโปร ฯ ขึ้นมา ใช่แล้วครับ พี่ท่านคือ ปลาแบส (Bass) ที่นักตกปลาไทยหลายท่านใฝ่ฝันอยากสัมผัส (แต่ไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวงที่จะให้มาแพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำเปิดของเมืองไทย)
หนึ่งในเหยื่อปลอมที่ได้รับการยอมรับว่าใช้ได้ผลดีที่สุดกับปลาแบสทุกสายพันธุ์ก็คือเหยื่อยางนี่แหละครับ ความที่ว่าปลาแบสนิยมบริโภคเหยื่อมีชีวิต และชอบอยู่บริเวณใต้กิ่งก้านสุมทุมพุ่มไม้ริมฝั่งในทะเลสาป บ่อยครั้งที่หนอนตัวอวบอ้วนร่วงจากกิ่งไม้ หรือจิ้งจกเล่นไล่จับกันบนกิ่งไม้แล้วพลาดหล่นป๋อมลงไปดิ้นกระแด่ว ๆ ในน้ำ พี่แบสท่านก็ได้อาหารโปรตีนชั้นยอดไป
แล้วปลาล่าเหยื่อของเมืองไทยล่ะ…
พูดถึงเฉพาะปลาน้ำจืดนะครับ หลัก ๆ ที่ตั้งใจตกกันด้วยเหยื่อปลอม ก็คงนับกันได้ไม่ยาก กะพง ช่อน กระสง ชะโด กระสูบ บู่ ถูกพิชิตด้วยสารพัดเหยื่อปลอมมานักต่อนัก สุดแต่ว่าใครชอบและถนัดใช้เหยื่อประเภทไหน
เหยื่อปลอมกับปลาช่อน…
ปลาช่อน (Snakehead Fish) ปลาเศรษฐกิจคู่บ้านคู่เมืองที่เราคุ้นเคย ปลาน้ำจืดเนื้อดีที่ทำอะไรก็อร่อย พบเจอกันได้ทั่วไปแทบทุกแหล่งน้ำ (รวมทั้งตลาดสดทั่วไป ) ปลาช่อนเป็นปลาที่มีอวัยวะพิเศษที่สามารถหายใจจากอากาศได้โดยตรงนอกจากการกรองออกซิเจนจากน้ำผ่านเหงือกเหมือนปลาอื่นทั่วไป ปลาช่อนจึงไม่ค่อยอินังขังขอบกับสภาพแวดล้อมเท่าไหร่นัก น้ำนิ่งฉันก็อยู่ได้ น้ำไหลฉันก็อยู่ดี แต่โดยทั่วไปจะพบว่าปลาช่อนนิยมอยู่ในบริเวณน้ำตื้น ๆ แถบชายตลิ่ง ขึ้นจิบอากาศเป็นระยะ ๆ ปลาช่อนเป็นปลาล่าเหยื่อที่ขึ้นชื่อในเรื่องความดุ แต่เนื่องจากนิสัยส่วนตัวเป็นพวกชอบซุ่มรอเหยื่อมากกว่าว่ายตามหาเหยื่อ (นิสัยคล้าย ๆ ผม) กลยุทธ์นี้ทำให้ปลาช่อนได้เปรียบในการล่า เพราะปิดโอกาสที่เหยื่อจะรู้ตัวว่ามีศัตรูว่ายรี่เข้าหา เหยื่อตามธรรมชาติของปลาช่อนได้แก่ กบ เขียด ปาด ลูกปลา จิ้งจก ถ้าเคลื่อนที่ผ่านบริเวณจุดที่มันซุ่มอยู่ล่ะก็ มักจะไม่ได้กลับบ้าน ถ้าเหยื่อเคลื่อนที่เร็วมาก มีโอกาสบ้างที่ปลาช่อนจะพุ่งตัวออกมาไล่ตาม แต่มักจะเป็นระยะสั้น ๆ เมื่อเห็นว่าไม่ทันหรือเกินระยะตามพิกัดของ GPS มันก็จะเลิกตาม ค้อนให้ควั่บนึงแล้วว่ายกลับไปซุ่มคอยใหม่ที่จุดเดิม อีกโอกาสหนึ่งที่ปลาช่อนตามเหยื่อคือมันรู้สึกว่ากัดโดนและฟันของมันขบเข้าไปในตัวเหยื่อแล้ว เหยื่อกำลังได้รับบาดเจ็บ มันก็จะตามซ้ำ ถ้ามันกัดเหยื่อได้เต็มที่และคาบอยู่ในปากมั่นคงแล้วธรรมชาติของมันจะม้วนลงลึก ซุกอยู่กับพื้นหรือมุดลงโคลน หรือว่ายเข้าหาแนวกำบังเพื่อกลืนเหยื่อ แต่บ่อยครั้งโดยเฉพาะในจุดที่น้ำตื้น ปลาช่อนกัดมุดโคลนแล้วจะคาบเหยื่อไว้นิ่งเฉย เหมือนจะรอให้เหยื่อตายสนิทก่อนที่จะกลืนลงไป
ถามถึงเหยื่อปลอมที่ใช้ได้ผลกับการตกปลาช่อน อันดับแรกที่นึกถึงไม่พ้นเหยื่อประเภท Blade และ Vibration Blade หรือที่พี่ไทยเราเรียกว่า กระดี่เหล็ก ที่ออกอาละวาดพิชิตปลาช่อนในแหล่งน้ำทั่วทุกภาคมาช้านาน เป็นเหยื่อตัวแรก ๆ ที่นักตกปลาที่ตั้งใจตกปลาช่อนหยิบจากกล่องมาใช้ และมันก็ผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่าได้ผลดีจริง
ถึงปลาช่อนจะเป็นปลาล่าเหยื่อซึ่งยัดเยียดความตายให้กับเหยื่อของมัน แต่ตัวมันเองก็มีความระแวดระวังภัยสูงเช่นกัน ปลาช่อนมันรับรู้ถึงความผิดปกติได้ไวมาก ถ้ามันกัดเหยื่อปลอมไม่ได้จังหวะที่ติดเบ็ดจริง ๆ เพียงสัมผัสคมเล็กน้อย มันก็คายเหยื่อทิ้งได้เร็วพอ ๆ กับที่มันกัด แถมยังมีเมมโมรีอีกว่า ไอ้ตัวเมื่อกี้ที่ฉันกัดเนี่ยมันกินไม่ได้ ต่อไปต้องระวังแล้ว ถึงแม้จะยังพิสูจน์ไม่ได้ว่านานแค่ไหนที่ปลาช่อนเข็ดเบ็ด แต่สำหรับวันนั้น ถ้าพลาดปลาตรงจุดไหน ย้ายไปตีจุดใหม่ได้เลยครับ
เหยื่อยางกับปลาช่อน…
หลายคนที่ให้ความสนใจในการใช้เหยื่อยางตกปลาช่อน และติดต่อมาสอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับผม มักจะถูกผมถามก่อนเสมอว่า คุณคิดว่า คุณได้ปลาช่อนจากเหยื่อประเภทอื่นถึงจุดที่อิ่มตัวหรือยัง หรือไม่ก็ คุณคิดว่าคุณต้องการตกปลาช่อนเพียงเพื่อให้ได้ตัว หรือคุณต้องการความสนุกจากการตกปลาช่อน มีคำจำกัดความที่ผมคิดขึ้นเองว่า การตกปลาช่อนด้วยเหยื่อยาง คือการทำเรื่องง่าย ๆ ให้เป็นเรื่องยาก แต่เพลิน งงล่ะสิครับ อิ ๆ
เหยื่อยางแทบทุกประเภทใช้ได้ผลกับปลาช่อน ทั้ง Grub หรือไส้เดือนยางประกอบหัวจิ๊ก ปลายางประกอบหัวจิ๊ก เหยื่อเหล่านี้มีน้ำหนักจากหัวจิ๊กที่ประกอบอยู่ ทำให้ตีได้ระยะและความแม่นยำ การสร้างแอ็คชั่นก็อยู่ในลักษณะเดียวกับกระดี่เหล็ก คือ ลากช้า ๆ มากับหน้าดิน ให้หางโบกระริก ๆ มาช้า ๆ สลับการกระตุกเบา ๆ บางครั้ง เวลาปลาช่อนกัดมักจะติดเบ็ดทันที หรือถ้าไปพบปลาที่มีความระแวดระวังสูง พอมันรู้สึกถึงคมเบ็ด ก็คายทันทีเหมือนกัน
ทำไมถึงต้อง TEXAS RIG
(เข้าเรื่องซะที)
วิธีการเข้าสายเกี่ยวเหยื่อยางมีมากมายหลายวิธีเหลือเกินครับ องค์ประกอบหลักคือ ชนิดเหยื่อที่ใช้ กับวิธีการสร้างแอ็คชั่น บางวิธีใช้กับการจอดเรือคร่อมบริเวณที่ปลาอยู่แล้วหย่อนเหยื่อลงไปสร้างแอ็คชั่นอยู่กับที่ บางวิธีใช้สำหรับบริเวณที่มีกระแสน้ำไหล แต่สำหรับการตกปลาช่อนบ้านเราซึ่งส่วนใหญ่ใช้วิธีตีส่งเหยื่อออกไปจากริมฝั่งแล้วลากกลับเข้ามา ดูเหมือนการเข้าสายแบบเท็กซัสริก (TEXAS RIG) จะค่อนข้างเหมาะสมและได้ผลดีเป็นที่คุ้นเคยกับนักตกปลาช่อน ที่สำคัญมันทำได้ไม่ยาก อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบก็หาได้ทั่วไป สุดท้ายก็คือตัวนักตกปลากับปลา
ปัญหาสำคัญที่พบในการใช้เหยื่อปลอมตกปลาช่อนบ้านเราคือ
- อุปสรรคต่าง ๆ ในแหล่งน้ำ เหยื่อปลอมประเภทที่พวงเบ็ด หรือคมเบ็ดโชว์ตัวอะร้าอร่าม ทำตัวเป็นเทศบาลเก็บกวาดทุกอย่างที่ก้นบ่อขึ้นมาดูเล่น ตั้งใจตกปลาช่อน แต่ตีไปไม่กี่สิบไม้ ถุงพลาสติก หญ้า สาหร่าย พืชใต้น้ำอื่น ๆ กองพะเนินอยู่ข้างตัวแทนปลา ได้แต่จุ๊ยปาก จิ๊กจั๊ก ๆ บ่นพึมพำ ปลดขยะเสร็จตีไปใหม่ เบ็ดสะบัดมาเกี่ยวสายเข้าให้อีกลากยังไงเหยื่อก็ไม่ออกแอ็คชั่น เฮ้อ….เซ็งสิครับ
- ปลาช่อนบ่อนี้ทำไมมันรู้มากจัง เปลี่ยนสารพัดเหยื่อ กระดี่ก็แล้ว ปลายางก็แล้ว ปลั๊กดำตื้นก็แล้ว ไม่เอาเลย เวลากัดโดนนิดเดียวก็โดดถลุยเหยื่อทิ้งกันเห็น ๆ หยามกันชัด ๆ
- หมายที่เข้าวันนี้มันรกจริง ๆ ผักบุ้ง ผักตบ ใบบัว เต็มไปหมด มีช่องเปิดให้เห็นน้ำนิดเดียว ปลาช่อนก็ดันขึ้นจิบให้เห็นถี่ยิบ จะส่งเหยื่ออะไรเข้าไปดีเนี่ย กลัวจะลากกลับมาทั้งกอ
การเข้าสายหน้าเหยื่อยางสไตล์เท็กซัสริก (TEXAS RIG) มาแก้ไขปัญหาที่ว่านี้ได้ครับ
แต่นั่นยังไม่เท่ากับประเด็นที่ผมเกริ่นนำมาตั้งแต่ต้น คือ มันเป็นวิธีที่ทำให้การตกปลาช่อนตามปกติ กลายเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมีขั้นมีตอน เป็นศิลปะ เป็นความท้าทายได้จริง ๆ สำหรับมือ Hard Bait ทั่วไป ที่ดูเหมือนกับว่าจะอิ่มตัวแล้วกลับมาเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่กับเหยื่อยางจะพบว่า เออ…จริงแฮะ ไอ้การหลอกปลานี่ทำมานานแล้ว แต่การชิงไหวชิงพริบกับปลา หรือโดนปลาหลอกมั่งนี่มันก็สนุกดี
ถ้าอยากรู้ว่าเมื่อสัก 10 ปี ก่อนที่เหยื่อประเภทหนอนยางหน้าตาแปลก ๆ สีสรรสวย ๆ กับเบ็ดเกี่ยวหนอนยางทรง J เป็นแค่ของประดับตู้โชว์ในร้านค้าอุปกรณ์ นาน ๆ จะมีลูกค้าสักคนไปถามราคา บางทีเจ้าของร้านยังนึกราคาไม่ออกเพราะไม่ได้ขายให้ใครนานแล้ว แต่ถึงทุกวันนี้กลายเป็นหนึ่งในเหยื่อฮิตติดตลาดที่ขายดิบขายดี มีพัฒนาการต่อเนื่องให้เห็นออกมาในรูปแบบที่ชวนให้เป็นเจ้าของและอยากลองใช้ เจ้าพ่อเหยื่อปลอมแบรนด์ดัง ๆ พากันผลิตออกมาไม่ขาดสาย ทั้งรูปร่าง สีสัน กลิ่น จนน่ากินเองมากกว่าซื้อไปตกปลา มันเป็นหยั่งงั้นได้ไง
คนตกปลา เวลาตกปลา ก็ย่อมอยากได้ปลา เป็นที่แน่นอนว่าเวลาเราเดินเข้าร้านอุปกรณ์ จะหาเลือกซื้อเหยื่อปลอมสักตัว ก็ต้องหาข้อมูล ข้อมูลที่ว่าในสมัยก่อน อาศัยการสืบทอดกันแบบปากต่อปาก มีคนที่ตกปลาด้วยเหยื่อแบบนั้นถ่ายรูปลงหนังสือบ่อย ๆ มีการโฆษณา + กับการแนะนำของเจ้าของร้าน ว่าเหยื่อชนิดไหนที่ใช้ได้ดี เป็นที่ยอมรับว่าใช้ได้ผล
วลีอมตะที่ว่า “เหยื่อที่ดีที่สุด ต้องตกนักตกปลาให้ได้ก่อนปลา” เมื่อก่อนเป็นจริง 100 %
แต่ใช้ไม่ค่อยได้ผลกับเหยื่อยาง ..เพราะไม่ค่อยมีใครรู้ว่าจะใช้มันยังไง คนที่รู้และใช้เป็นก็ไม่ค่อยมีโอกาสได้ถ่ายทอดสู่วงกว้าง และเพราะนักตกปลาส่วนใหญ่เคยชินกับเหยื่อปลอมที่ใช้ด้วยการตีออกไป ลากกลับมา ให้เหยื่อออกแอ็คชั่นเองตามการออกแบบ ไม่เคยชินกับการสร้างแอ็คชั่นให้เหยื่อ
และนักตกปลาไทยส่วนใหญ่เริ่มต้นชีวิตการตกปลาด้วยเหยื่อสด ไม่ว่าจะเป็นเหยื่อมีชีวิต เหยื่อตาย หรือเหยื่อจากธัญพืช ฯลฯ โดยการส่งเหยื่อออกไป แล้วรอให้ปลามากิน เมื่อเหลือบมองเหยื่อยางในตู้ / ในซอง เห็นหน่วยก้านแล้วด้วยความเคยชิน ก็คิดว่าคงจะใช้โดยการเกี่ยวเบ็ดแล้วส่งลงน้ำไปรอให้ปลามากินเป็นแน่ แต่ไหงสีสันมันจัดจ้าน หรือมัวซัว รูปร่างก็พิลึกอย่างนั้น ปลามันจะกินได้ไง (ฟะ)
บางตัวก็เลียนแบบไส้เดือนชัด ๆ แล้วไส้เดือนจริง ๆ มันไม่ได้หากยากนี่
ไม่เอา ไม่ซื้อ !!!
TEXAS RIG ดียังไง
ผมขอเลี่ยงไม่กล่าวถึงว่า TEXAS RIG คืออะไร มีต้นกำเนิดจากไหน (จริง ๆ ชื่อมันก็บอกอยู่แล้ว ) เพราะคง search หาข้อมูลกันได้ไม่ยาก แต่จะกล่าวถึงเอกลักษณ์ที่สำคัญของความเป็น TEXAS RIG อยู่ 2 ประการ คือ
- เวลาเกี่ยวเหยื่อยางต้องซ่อนคมเบ็ด
- Worm Weight (ตะกั่วที่ออกแบบสำหรับเหยื่อยาง มีหลุม (Hollow) อยู่ด้านท้ายให้ครอบไปบนหัวเหยื่อยาง) เวลาใช้งาน จะอยู่ติดหรือครอบไปบนหัวเหยื่อยาง
เพื่ออะไร ? ไม่มีอะไรซับซ้อน…
- น้ำหนักของตะกั่วช่วยให้ส่งเหยื่อไปได้ไกล และตรงเป้าหมายมากขึ้น
- ประเด็นสำคัญ ด้วยรูปทรงของตะกั่ว Worm Weight ทำให้เหยื่อยางเดินทางผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ในแหล่งน้ำไปได้อย่างสะดวก
สารพัด RIG หลาย ๆ รูปแบบ มีการเกี่ยวเหยื่อแบบซ่อนคมเบ็ด เบ็ดจะไม่ไปเกี่ยวอุปสรรคต่าง ๆ ก่อนปลาจะเข้ากัด
แต่ RIG แบบ TEXAS เวลาลากหรือกระตุก (Jerk) ตะกั่วจะอยู่ที่หัวเหยื่อยาง ช่วยในการ แหวก มุด ลอด ผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกมากขึ้น
แล้วทำไมไม่ใส่อุปกรณ์ที่ล็อคให้ตะกั่วติดกับหัวเหยื่อไปเลย เช่น ไลน์สต๊อปเปอร์ ? ..ตามอัธยาศัยครับ
ใส่ลูกปัดทำไม?
- ป้องกันปมเงื่อนมุดเข้าไปติดคาอยู่ในตะกั่ว จะทำให้เหยื่อไม่เป็นอิสระ ออกแอ็คชั่นไม่เต็มที่ เวลาตวัดตะกั่วอาจยังอยู่ในปากปลาด้วย ทำให้เบ็ด Hook เข้าปากปลายากขึ้น ตามทฤษฎีเวลาตวัด ตะกั่วควรวิ่งตามสายออกจากปากปลาไป
- ป้องกันปมเงื่อนช้ำ ลดโอกาสสายขาดบริเวณปมเงื่อน
- ลูกปัดบางชนิด เวลากระทบกับตะกั่วจะเกิดเสียง เรียกความสนใจจากปลา
ไม่ใส่ได้ไหม.? ..ตามอัธยาศัยครับ
TEXAS RIG กับปลาช่อนเมืองไทย
ผมไม่อาจสืบค้นได้ว่า นักตกปลาท่านใดเป็นท่านแรกที่ใช้ RIG แบบนี้ในการตกปลาช่อนในเมืองไทย ทราบแต่เพียงว่า ย้อนไปสัก 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีนักตกปลาหลายท่านเริ่มใช้เหยื่อยางแบบจริง ๆ จัง ๆ และสมัยนั้นรูปแบบของเหยื่อยางส่วนใหญ่จะเลียนแบบตัวหนอน กับไส้เดือน (ผมกับเพื่อน ๆ เคยซื้อกันตัวละบาท) ก็เลยเรียกนักตกปลาผู้นิยมเหยื่อเหล่านั้นว่า “โปรฯ หนอนยาง” กัน
นักตกปลาด้วยเหยื่อปลอม (Hard Bait) ทั้งหลาย มักถูกถ่ายทอดกันมาว่า ตีส่งเหยื่อออกไปแล้ว เวลากรอสายกลับ ให้ชี้ปลายคันลงน้ำ เพื่อให้เหยื่อออกแอ็คชั่นเต็มที่ (ยกเว้นเหยื่อบางประเภทต้องใช้ปลายคันช่วย) และเวลาปลากัด จะได้ตวัดเซ็ทฮุคได้ทันที
แต่เมื่อได้มีโอกาสเห็น “โปรฯ หนอนยาง” ตกปลาช่อน เล่นเอายืนงง เขาทำอะไรของเขา ตีเหยื่อออกไปแล้วยกปลายคันขึ้นสูง แล้วมีการกระตุก ๆ ยึก ๆ เป็นภาพที่ดูแปลกตามากในขณะนั้น
แต่ที่ตาเปิด เห็นแสงสว่างขึ้นมา ก็คือ “ไอ้การประกอบเหยื่อแบบนี้มันลุยไปได้ทุกที่จริง ๆ ไม่ติด ไม่เกี่ยว อุปสรรคใด ๆ เลย ”
บางเหลี่ยมบางมุมที่เราคาดว่ามีปลาช่อนซุ่มอยู่ แต่ดูแล้วมันรกเหลือใจ เขาก็ยังส่งเหยื่อเข้าไปได้อย่างหน้าตาเฉย เหยื่อตกน้ำแล้วทิ้งไว้สักพัก ไล่สายตึงแล้วเริ่มขยับปลายคันเบา ๆ ตึ้ก !!! ฟองฟ่อด……
ต่อเมื่อผมมาเริ่มใช้เหยื่อยางตกปลาช่อนด้วยสไตล์ TEXAS RIG ผ่านไปประมาณสัก 10 ทริป ภาพแปลกตา ก็กลายเป็นภาพชินตา
นิยามส่วนตัวที่ว่า การตกปลาช่อนด้วยเหยื่อยาง คือการทำเรื่องง่าย ๆ ให้เป็นเรื่องยาก แต่เพลิน เกิดขึ้น มันคือการใส่อะไรที่มากมายลงไป “ตรงกลาง” ระหว่าง “ตีเหยื่อออกไป…….ลากปลาขึ้นมา”
และนี่คือการถ่ายทอดประสบการณ์ของผมกับการตกปลาช่อนด้วยเหยื่อยาง เผื่อจะเป็นประโยชน์แก่กระทู้นี้
มีหลาย ๆ สำนวน หลาย ๆ วรรค ถูกคัดลอก ถูกนำไปดัดแปลง เพิ่มเติม ปะติดปะต่อ ปรากฏในสื่อ ในเว็บไซต์บางแห่ง แต่ผมไม่ได้คิดอะไร เพราะเราคิดตรงกันได้ ไม่แปลก
- Rig แบบ Texas ค่อนข้างเป็นที่นิยมในบ้านเรา เพราะการประกอบ เข้าสาย เกี่ยวเหยื่อ ทำได้ง่าย ดูตัวอย่างครั้งเดียวก็เข้าใจ
- เหยื่อยางใน Texas Rig นักตกปลามักจะเลือกเหยื่อที่ถูกออกแบบมาให้เกิดแอ็คชั่นได้ง่ายด้วยตัวมันเอง ซึ่งมักจะให้ความมั่นใจแก่นักตกปลามากกว่าเหยื่อที่มีรูปทรงที่ดูแล้วมองไม่ออกว่าจะทำยังไงให้มันดูเหมือนมีชีวิตและเป็นที่สนใจของปลา
- นักตกปลาด้วยเหยื่อปลอมบ้านเรา เคยชินกับการตีเหยื่อออกไป แล้วก็ลากกลับเข้ามา เหยื่อแต่ละประเภทก็ออกแอ็คชั่นต่างกันไป แต่พอมาลองใช้เหยื่อยางก็ยังติดการลากกลับมา ให้เหยื่อว่ายน้ำ ที่จริงการสร้างแอ็คชั่นให้เหยื่อมีมากมายมหาศาลจนแทบหาข้อยุติไม่ได้ “จินตนาการ” จึงเป็นข้อสรุป ก็คือ ลองไปเลยครับ ลองหลาย ๆ วิธี หลาย ๆ รูปแบบ ปลาไม่กัดก็เปลี่ยนวิธี เปลี่ยนเหยื่อ ปลากัดก็จดจำไว้ สำคัญคือ “อย่าเบื่อ อย่าท้อ” ใช้เหยื่อยางผมบอกได้เลย ถ้าไม่อดทนก็แทบโยนคันทิ้ง ทั้งที่รู้ว่าปลาเต็มบ่อ แต่บทพ่อจะไม่กัดขึ้นมา ใครจะทำไม
- การสร้างแอ็คชั่น สำหรับ Texas Rig ถ่ายทอดจากประสบการณ์ที่พอมีเล็กน้อยให้ฟังนะครับ
– ส่งเหยื่อไปตรงจุดที่คิดว่ามีปลา โดยส่งเหยื่อให้ต่ำ ๆ เรียดผิวน้ำหน่อย ถ้ามีลักษณะเป็นตลิ่ง ก็ส่งขึ้นขอบตลิ่งไปเลย กระตุกเบา ๆ พอเหยื่อตกน้ำ หยุดก่อน ถ้ามีปลาตรงนั้น ส่วนใหญ่จะกัดทันที แต่ถ้าไม่มีปลากัด พอวงคลื่นน้ำหายไป ค่อย ๆ กรอสายตึง เจิร์คเบา ๆ 1 ครั้ง แล้วหยุด ถ้าปลาว่ายตามเสียงเหยื่อตกน้ำมา มักจะกัดจังหวะนี้
– เหยื่อที่มีลักษณะผิวไม่เรียบ เช่น หนอนขน หนอนบั้ง ลากมากกว่าเจิร์ค ลากช้าแค่ไหน ? ช้าสุดขีดเท่าที่รู้สึกได้ว่าหนอนมันกระดึ๊บ ๆ มากับพื้น เหยื่อพวกนี้หางสั้น เวลาลากมาลำตัวจะสร้างแรงสั่นสะเทือนที่ปลารู้สึกได้ ขูดกับดินมาเลยแต่หางจะโบกแบบระริก ๆ มา ถ้ารู้สึกว่าหนืด ๆ คือพื้นใต้น้ำเป็นโคลนเหลวเกินไป ก็เจิร์คให้โดดบ้างก็จะดี
– ปลาไม่กัดเหยื่อยางที่อยู่นิ่ง ๆ เฉย ๆ ปลากัดเพราะคิดว่าเจ้านี่มีชีวิต เป็นอาหาร กัดเพราะว่าเจ้านี่มันดูกะปลกกะเปลี้ย ร่อแร่ ๆ กัดเพราะว่า เจ้านี่ละเมิดอธิปไตย ล้ำถิ่น ปล่อยให้ผ่านหน้าไปเฉย ๆ ได้ไง เอาซะหน่อย
– เหยื่อประเภท Grub ที่หางยาวกว่าลำตัว ไส้เดือนยาง พวกนี้แอ็คชั่นอยู่ที่หาง เจิร์คเข้าไปครับ เจิร์คโดด ปล่อยตก ลดคันเก็บสายพอตึง เจิร์คอีก เจิร์คเร็วแค่ไหน ? ตามใจพระเดชพระคุณครับ แต่อย่าให้เร็วขนาดโดดสามทีเหยื่อกลับถึงตัวต้องตีใหม่
– บนใบบัว ตีลงไปเลยครับ ลากเหยื่อให้ตกลงร่องระหว่างใบเบา ๆ ฟรีสปูล ส่งสายไปหน่อย ทำไงต่อ ? อ๋อ ปู่เราเรียกว่า “หยก” ครับ จับที่สายหน้ารอก กระตุกขึ้น ปล่อยลง ระวังให้ดีละกันครับ ถ้า “ปั๊บ” !! เข้าให้ก็อย่าส่งนาน วัดหนัก ๆ แล้วรีบเอามันออกมาในชัยภูมิที่เราได้เปรียบกว่า อ้อ หมายใบบัวนี่ จิ้งจกยางเป็นพระเอกครับ และ Weightless หรือไร้ตะกั่วจะเวิร์คมาก กลัวตีไม่ออกก็พันตะกั่วฟิวส์ที่ท้องเบ็ดไปซะหน่อย หรือจะใช้เบ็ดที่หุ้มตะกั่วสำเร็จรูปเลยก็ได้ครับ
– จังหวะได้เสีย
1. เหยื่อตกน้ำใหม่ ๆ
2. กำลังลากหรือเจิร์คเพลิน ๆ
3. ระยะ 5 เมตร ตรงหน้าเรานี่แหละ
การสร้างแอ็คชั่น
ลากและหยุด (walk & wait)
วิธีนี้ใช้ดีกับเหยื่อยางที่มีลักษณะผิวไม่เรียบ (ห้ามคิดลึก) เหยื่อไม่มีหางตัวอ้วน ๆ เหยื่อหางสั้น ๆ เช่น หนอนขน หนอนบั้ง เหยื่อที่หัวโต ๆ หัวตัด เหยื่อพวกนี้จะสร้างฟองอากาศ ความสั่นสะเทือน ขุดดินให้ฟุ้ง จากการลาก เวลาลากให้ลากช้า ๆ ลากประมาณ 1 หลา แล้วหยุดรอ แต่ถ้าจับความรู้สึกได้ว่า ลากแล้วเกิดความหนืดขึ้นมาก ๆ แสดงว่าเหยื่อมุดเลน ให้กระตุกเบา ๆ 1 ครั้ง แล้วเริ่มลากต่อ
กระตุกโดดแล้วปล่อยตก (jerk & drop)
วิธีนี้ใช้ได้ดีกับเหยื่อยางที่มีหางงอทั่วไป เช่น Grub ไส้เดือนยาง ให้กระดกปลายคันเป็นจังหวะช้า ๆ แล้วหยุด เหยื่อจะถูกกระตุกขึ้น แล้วหัวทิ่มลงตามน้ำหนักตะกั่ว หางจะโบกสร้างคลื่นและความสั่นสะเทือน ตามประสบการณ์ ปลามักจะกัดเมื่อเหยื่อตกลงถึงหน้าดิน คือ พอเริ่มจะกระดกคันครั้งต่อไป พบว่าสายหนักแล้ว ดังนั้น พยายามไล่สายให้เกือบตึงเสมอก่อนกระดกคันแต่ละครั้ง
กระตุกแบบถี่ ๆ (jerk)
วิธีนี้ใช้กับเหยื่อยางประเภท กบยาง (Toad, Frog) (ไม่ใช่กบยางผิวน้ำ เช่น scum frog) และหนอนสองหาง ให้ลดปลายคันลงต่ำออกด้านข้างตัว กระตุกเบา ๆ และถี่ เหยื่อจะออกแอ็คชั่นในลักษณะกบว่ายน้ำมาเรี่ย ๆ หน้าดิน วิธีนี้เหยื่อจะกลับถึงตัวค่อนข้างเร็ว และปลามักจะชาร์จเหยื่อด้วยความรุนแรง
มีวิธีการเจิร์คที่ส่วนตัวชอบใช้คือ กระตุกสองครั้ง คือ ครั้งแรกกระตุกขึ้นเบา ๆ แล้วกระตุกครั้งที่สองทันทีโดยให้แรงขึ้น แล้วลดคันลงทันที วิธีนี้ตะกั่วจะวิ่งรูดขึ้นมาตามสายระยะหนึ่งแล้วตกลงก่อนเหยื่อเหยื่อจะตกลงช้าๆ ตามลงมา ดูเป็นธรรมชาติมากกว่า และเมื่อเหยื่อตกถึงพื้นจะตกในตำแหน่งห่างกว่าตะกั่ว ลอยตัวขึ้นนิด ๆ ถ้ามีปลากัด จะกัดได้เต็มที่ คือการประยุกต์จากการเข้าสายหน้าแบบ Carolina Rig มาใช้ อธิบายให้เห็นภาพลำบาก
เมื่อปลากัดเหยื่อ จะรู้สึกสะดุด และมีฟองอากาศให้เห็น การสะดุดจะเบาหรือแรง มีฟองอากาศมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง ได้แก่ สายหย่อนหรือตึงอยู่ ความลึกของน้ำ ขนาดของปลา และความสามารถของคันเบ็ดและสาย
เมื่อปลากัดแล้ว ถ้าน้ำตื้น ๆ จะเห็นพรายฟองขึ้นล้อมสาย ต้องรีบลดคันลง ฟรีสปูล สาวสายออกมากส่งให้ปลา สัก 2 เมตร (ทั้งหมดทำด้วยความรวดเร็วพร้อม ๆ กัน ให้เคยชิน) เพื่อลดความระแวงของปลาในการพาเหยื่อไป ถ้าปลาสมัครใจว่ายน้ำพาเหยื่อไป สายจะเริ่มเดินออก อันนี้จะง่ายหน่อย สบายเรา ดูทิศทางการว่ายน้ำของปลาให้ชัดเจน
ปัญหาที่พบ และเป็นเสน่ห์ในการชิงไหวชิงพริบกับปลา คือ ปลากัดแล้วไม่เดิน (ไม่ว่ายน้ำไป กัดแล้วนิ่งเฉย) ทำให้ไม่กล้าตวัดเพราะไม่แน่ใจว่าปลากลืนเหยื่อแล้ว หรือกำหนดทิศทางการตวัดไม่ได้ จึงต้องมีวิธีการ “เตือนปลา” โดย
สาวสายออกจากรอกมาถือไว้ กระตุกสายเบา ๆ หรือใช้ปลายคันกระดกสายเบา ๆ (ย้ำว่าเบา ๆ) หลอกปลาว่าเหยื่อกำลังดิ้น ปลาจะเริ่มออกว่ายน้ำพาเหยื่อไปขยอกกลืน ทำให้กำหนดทิศทางการตวัดได้ แต่บางพื้นที่ปลาอาจจะคายเหยื่อทันที ถ้าตกใจมาก ๆ ปลาจะกระโดดขึ้นสะบัดเหยื่อทิ้งกลางอากาศ ซึ่งเป็นภาพที่สวยงาม แต่เสียดแทงหัวใจเราอย่างมาก
เมื่อมั่นใจว่าเหยื่อและเบ็ดอยู่ในปากปลาแล้ว สับแขนหมุนปลดฟรีสปูล ไล่เก็บสายให้ตึง หรือถ้าปลาลากอยู่ สายก็จะตึงเอง ตวัดสวนทิศทางปลาด้วยความเร็ว (ย้ำว่า สายต้องตึง สวนทิศทาง และด้วยความเร็วไม่ใช่ความแรง) ตวัดแล้วคาคันไว้ เพื่อให้แอ็คชั่นของคันช่วยย้ำคมเบ็ด
ลักษณะการตวัดเบ็ด ไม่มีข้อจำกัดใด ๆ ผมย้ำเพียง “สายตึง สวนปลา อย่ากระชาก” ถ้าเบ็ดที่ใช้คมเพียงพอ ด้วยรูปทรงของเบ็ดเกี่ยวเหยื่อยาง มันจะทะลุเหยื่อแล้วฮุคเข้าอวัยวะของปลาเองอย่างง่าย ๆ ผมเห็นหลายท่านที่ชำนาญ ตวัดเพียงแค่ข้อมือไม่ต้องเต็มวงแขน ถ้าสายตึง แม้จะใช้สายขนาดแรงดึงเพียง 4 – 6 ปอนด์ เบ็ดก็ยังติดปลาได้ดี สายก็ไม่ขาด ตวัดแล้วคาอย่างที่บอก แอ็คชั่นของคันจะย้ำคมเบ็ดให้เอง
การเลือกสีของเหยื่อในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน อยู่ที่สภาพแวดล้อม ความเคยชินของเหยื่อที่ปลาล่าเป็นอาหาร เราต้องหาให้เจอ
โดยปกติเรามักคิดแทนปลาว่า เลือกสีที่ปลามองเห็นชัด ๆ “เราเห็น ปลาก็ต้องเห็น” ความคิดนี้ จึงถูกบัญญัติเป็นพื้นฐานของการเลือกสีของเหยื่อ ว่า “ควรเลือกสีที่ตัดกับสภาพแหล่งน้ำ” เป็นอันดับต้น ๆ ข้อเท็จจริงจึงถูกมองข้ามไปว่า…
ปลามีสัมผัสพิเศษ คือ “เส้นประสาทรับความรู้สึกข้างลำตัว” (Lateral Line)
และการรับรู้จากกลิ่น… เพื่อเป็นข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่านั่นคือ “อาหาร”
ถ้าปลาใช้ตาเป็นหลัก ในน้ำขุ่น ๆ ปลาคงอดอาหารตายเพราะหาเหยื่อไม่เจอ ปลาที่อาศัยอยู่ในถ้ำหรือในทะเลลึกมาก ๆ ที่แสงไปไม่ถึงก็จะหาอาหารไม่ได้เลย
และถ้าปลาใช้ตาเป็นหลัก ปลาล่าเหยื่อจะไม่กัดเหยื่อปลอม เราจะใช้เหยื่อปลอมหลอกปลาไม่ได้เลย เพราะปลามันรู้ว่า “ปลอม”
ผมจึงเชื่อว่าแอ็คชั่นของเหยื่อที่สร้างการสั่นสะเทือนได้ใกล้เคียงกับสิ่งที่เป็นอาหารของปลา เรียกความสนใจของปลาเป็นลำดับที่หนึ่ง ลำดับที่สองคือกลิ่น (ซึ่งเหยื่อปลอมต้องมองข้ามไป) และลำดับสุดท้ายของการตัดสินใจโจมตีเหยื่อคือสายตา ซึ่งที่จริงแล้วไม่ใช่องค์ประกอบสำคัญเลย เราจะพบว่าบางครั้งเพียงเหยื่อตกน้ำ ปลาก็หลับหูหลับตาเข้ากัดแล้ว (ถ้ารู้ว่ากินไม่ได้มันก็คายทิ้ง) ปลาล่าเหยื่อมีสัญชาตญาณที่รู้ดีว่ามันมีโอกาสไม่มากนักในการเข้ากัดเหยื่อ ปลาเหล่านี้จึงอาศัยความเร็วเป็นหลักในการเข้าโจมตีเพื่อไม่ให้เหยื่อได้ทันตั้งตัว…
แต่แน่นอนว่า ถ้าสีไม่สำคัญ เหยื่อปลอมในโลกนี้คงมีสีเดียวแน่ ๆ ซึ่งน่าจะเป็นสีขาว
สำหรับเหยื่อยาง การเลือกเหยื่อออกจากกล่องมาใช้ เชื่อว่า หลายคนมีเหยื่อตัวเก่งส่วนตัว ประเภทนี้ สีนี้ ไม่เคยทำให้ผิดหวัง อย่างน้อยก็เพื่อให้ได้ตัวเอาฤกษ์เอาชัยไว้ก่อน เหยื่อตัวเก่งจึงมักถูกอัญเชิญมาประเดิมหมายใหม่ ๆ ก่อนเป็นลำดับแรก….
ถ้าได้ตัว ก็มีโอกาสที่เหยื่อประเภทนั้น สีนั้น จะถูกใช้ไปตัวเดียวทั้งวัน ทั้ง ๆ ที่ยังมีแบบอื่นอยู่เต็มกล่อง พกเหยื่อมาเต็มกล่องใหญ่ ๆ เดินแบกไปด้วยระยะทางเป็นกิโล ๆ ใช้เหยื่อตัวแรกตีไปสองไม้กัดเลย ได้ตัว เลยใช้อยู่แบบเดียวสีเดียวทั้งวัน แล้วจะแบกที่เหลือไปทำไม
เสน่ห์ของการใช้เหยื่อยาง (รวมทั้งเหยื่อปลอมทุกประเภท) ก็เลยหายไป เพราะต้องการให้ได้ตัวแน่ ๆ และเยอะ ๆ อย่างเดียว จริงหรือเปล่า ถามใจตัวเองดู
ยังมีความเข้าใจผิดอยู่พอสมควรเกี่ยวกับ TEXAS RIG โดยเฉพาะมือใหม่ ที่เรียกว่า “การตกปลาแบบเท็กซัส” ที่จริงแ้ล้ว TEXAS RIG เป็นเพียงวิธีการเข้าสายหน้าเกี่ยวเหยื่อยางวิธีหนึ่ง ในจำนวนหลากหลายแบบ เป็นของสากล ไม่ใ่ช่ของใครคนใดคนหนึ่ง การสร้างแอ็คชั่นให้เหยื่ออยู่ที่ความถนัด ความชำนาญ ประสบการณ์ และความชอบของแต่ละบุคคล แต่ด้วยความที่การเข้าสายหน้าแบบเท็กซัส มันค่อนข้างลงตัวกับการใช้ตกปลาช่อนในเมืองไทย ทั้งที่ต้นตำรับฝรั่งคิดค้นไว้ตกปลาแบส อย่างที่ผมกล่าวถึงไว้ในบทความ
เมื่อเข้าถึงจุดนี้ อีกนิยามหนึ่งจึงผุดขึ้นในใจผม
“One Pattern Twenty Actions Thousand Practices” (หนึ่งแพ็ทเทิร์น ยี่สิบแอ็คชั่น หนึ่งพันแพร็คทีส)
หมายความว่า
– เมื่อเริ่มใช้เท็กซัสริก เราท่านต่างเริ่มต้นด้วยแพ็ทเทิร์นเดียวกัน คือเข้าสายแบบเท็กซัสริกเหมือนกัน
– แล้วไปสร้างแอ็คชั่นให้เหยื่อซึ่งมีมากมายหลายสิบวิธี ตามแต่ความถนัด ความชำนาญ ประสบการณ์ และความชอบ ไม่มีใครมาบังคับได้ ท่านหยุด เหยื่อมันก็หยุด ท่านอยากให้เหยื่อมันดีดดิ้นยังไง พริ้วไหวยังไง ระริกระรี้ยังไง ท่านต้องใช้ปลายคันเบ็ดบังคับมัน
– ปลากัด หรือปลาไม่กัด มันคือบทเรียน ได้ตัว ไม่ได้ตัว มันคือบทเรียน ที่ต้องศึกษากันไปเสมอ ใช้ไม่บ่อยก็เป็นสิบบทเรียน ใช้บ่อย ๆ ก็เป็นร้อย เป็นพันบทเรียน
สูตรสำเร็จรูปแบบอื่นไม่มี มีเพียงวิธีการเข้าสายที่เหมือนกันทุกคน ที่เหลือมันคือตำราปกแข็งที่มีเนื้อหาอยู่หน้าเดียว บรรทัดเดียว และบรรทัดนั้นมันเขียนว่า “จินตนาการ”
เรื่องโดย MrShark
อ่านเรื่องอื่น พื้นฐานตกปลาด้วยเท็กซัสริก กับแมวบ้าตกปลา