ทะเลน้อยเป็นส่วนหนึ่งของทะเลสาบสงขลาที่เชื่อมต่อกับทะเล และเพราะอยู่ส่วนบนสุดของทะเลสาบสงขลา เลยทำให้นํ้าเค็มเข้ามาไม่ถึง หรืออาจเข้ามาบ้างเป็นบาง! แต่ก็น้อยมาก และเพราะแทบจะไม่ได้รับอิทธิพลจากนํ้าขึ้นนํ้าลงในทะเล ระบบน้ำของทะเลน้อยจึงแทบจะเป็นระบบปิด ที่แห่งนี้มีแร่ธาตุมากมายในดิน ระบบนิเวศพิเศษที่เหมาะต่อการใช้ชีวิตของสัตว์ป่ามากมาย ไม่ว่าจะเป็น นก สัตว์น้ำ แมลงต่างๆ รวมถึงพรรณไม้น้ำที่เติบโตได้ดี อาจกล่าวได้ว่า พืชและพรรณไม้น้ำ ที่มีอยู่ในไทยในอดีต สามารถพบได้ที่ทะเลน้อยเกือบทุกชนิด
ในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ทะเลน้อยมีความสำคัญอย่างมากต่อภูมิภาคและต่อโลกใบนี้ พื้นที่ชุ่มน้ำแห่งแรกของไทย มีความซับซ้อนทางระบบนิเวศสูง นอกจากจะเต็มไปด้วยพืชหายากแล้ว มีเรื่องเล่าว่า ในสมัยก่อน! ยังมีแร่ธาตุสีชมพู ที่อยู่ในดิน ซึ่งจะส่องประกายสวยงาม ประกบกับนํ้าที่ใส เมื่อพายเรือผ่านไป เราจะสามารถมองลงไปเห็นความสวยงามของแร่ธาตุในทะเลน้อยได้… แต่! เรื่องเหล่านี้ กลายเป็นอดีตไปซะแล้ว
ความเสื่อมโทรมของทะเลน้อย
หากเป็นคนในพื้นที่! น่าจะสังเกตเห็นกันอยู่แล้วว่า ทะเลน้อยเสื่อมโทรมไปมาก และหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไป ทะเลน้อยก็จะเสื่อมโทรมลงเรื่อยๆ ส่วนสาเหตุ ก็แน่นอนว่า ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากน้ำมือมนุษย์! ทั้งที่เกิดจากการท่องเที่ยว ซึ่งทะเลน้อย ขึ้นชื่อในเรื่องจุดชมบัวที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในไทย
บัวในทะเลน้อย ที่เป็นบัวดังเดิมก็คือ บัวผัน บัวเผื่อน (Nymphaea nouchaliBurm.f. ) ส่วนบัวที่ถูกนำเข้ามาในทะเลน้อยภายหลังก็คือ บัวแดง (Nymphaea lotus L.) ทั้งหมดก็เพื่อการท่องเที่ยว แต่เพราะในตอนนี้ บัวแดงเริ่มมีมากเกินไป เลยส่งผลกระทบต่อพืชท้องถิ่น
จอกหูหนู (Salviniaspp.) ผักตบชวา หรือ สวะ (Eichhorniacrassipes (Mart.) Solms) ก็เป็นพืชรกรานที่รบกวนทะเลน้อยเป็นอย่างมาก พืชเหล่านี้แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ทำให้พืชท้องถิ่นอย่างพืชในกลุ่ม ซึ่งเป็นพืชกินแมลง (Utriculariaspp.) ลดลงไปอย่างมาก นอกจากนี้! แพวัชพืชต่างถิ่น ที่มีอยู่มากมาย ก็ส่งผลกระทบต่อแร่ธาตุในดิน บดบังแสงไม่ให้ส่งมาถึงผิวดิน สุดท้ายก็ส่งผลกระทบต่อพืชท้องถิ่นเป็นวงกว้าง
การดัดแปลงสภาพของทะเลน้อย ทั้งภายในและรอบๆ ก็ส่งผลกระทบเช่นกัน โดยเริ่มจาก สร้างประตูระบายน้ำปากระวะในปี พ.ศ. 2498 เป็นเหตุให้การหมุนเวียนของน้ำในทะเลน้อยแย่ลง ทำให้ทะเลน้อยตื้นเขินอย่างรวดเร็ว จนนำไปสู่การขุดลอกทะเลน้อย และคลองบริเวณรอบทะเลน้อย ซึ่งจะทำเป็นประจำทุกๆ ปี สิ่งนี้ส่งผลกระทบต่อทะเลน้อยเป็นอย่างมาก มันทำให้ตะกอนที่มีความเป็นด่าง ซึ่งเคยอยู่ใต้ดิน! ถัดจากชั้นทรายและพืชใต้น้ำลงไป ถูกขุดกลับขึ้นด้านบน ทำให้คุณสมบัติของน้ำเปลี่ยนไป โดยปกติน้ำจะเป็นกรดอ่อนๆ ก็จะเปลี่ยนไปเป็นด่าง และเพราะน้ำที่มีความเป็นด่างจากตะกอน เลยทำให้ทะเลน้อยมีความขุ่น ไม่ใสเหมือนในอดีต
สาเหตุสำคัญอีกอย่างคือ! มีนํ้าเค็มไหลเข้ามาถึงทะเลน้อย ที่เคยเป็นพื้นที่นํ้าจืด 100% เกือบตลอดปี ซึ่งอาจมาจากการขุดคลอง ที่เชื่อมทะเลสาบสงขลา กับทะเลอ่าวไทยด้านบน โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม แต่เพราะโครงการนี้ ได้ก่อให้เกิดปัญหากับระบบนิเวศ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
นอกจากนี้ยังมีการใช้สารเคมีทำการเกษตรเป็นวงกว้าง พฤติกรรมนี้ได้ส่งต่อมลพิษลงไปในน้ำ และยังทำให้ค่าน้ำเปลี่ยนไป ซึ่งสำหรับสัตว์และพืชน้ำ ไม่ใช่เรื่องที่ดีเลย
ในเมื่อคุณภาพนํ้าในทะเลน้อยเสื่อมโทรมลง พืชหลายชนิดก็จะอยู่ไม่ได้ สัตว์นํ้าต่างๆ ก็ลดลง นกน้ำชนิดต่างๆ ที่พึ่งพิงสัตว์น้ำขนาดเล็ก โดยเฉพาะ นกเป็ดแดง ก็พลอยหายไปเป็นจำนวนมาก ควายน้ำในทะเลน้อยที่ว่าแน่ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน มีการล้มตายจากภาวะขาดอาหาร หลังจากที่แปลงหญ้าถูกน้ำท่วมขังจนเน่าเปื่อย วัชพืชประเภทจอกแหนปกคลุมผืนน้ำ จนเป็นอุปสรรคในการเจริญเติบโตของหญ้าใต้น้ำ ซึ่งเป็นทั้งแห่งอนุบาลสัตว์น้ำขนาดเล็ก และ อาหารของสัตว์กินพืชอย่างควายน้ำ
สุดท้าย! ผลกระทบก็ย้อนกลับมาหาผู้คน โดยเฉพาะชาวประมงท้องถิ่น ซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรง! จากปัญหาน้ำเน่าเสีย ทำให้ปลาน้ำจืดท้องถิ่นมีปริมาณลดลง ซ้ำยังพบว่า มีปลาหลายชนิดที่เป็นปลาต่างถิ่นเข้ามาอยู่ในพื้นที่ทะเลน้อย ซึ่ง! พวกมันปรับตัวให้อยู่ได้ในสภาพน้ำที่เปลี่ยนแปลงไปได้ดีกว่า สัตว์น้ำท้องถิ่น ซึ่งหลายชนิดทนไม่ไหว ก็ทยอยตายและค่อยๆ หายไปจากทะเลน้อย
สัตว์ที่มีเฉพาะในทะเลน้อย?
เอาจริงๆ นึกไม่ออกเหมือนกัน ทะเลน้อยไม่มีปลา หรือ นก ที่พิเศษและพบได้เฉพาะในทะเลน้อย ซึ่งต่างจากบึงบอระเพ็ด ที่มีปลาเสือตอเป็นปลาประจำถิ่นของบึง แต่หากนึกดูดีๆ ก็คงนึงถึง ควายน้ำแห่งทะเลน้อยได้ เพราะดูเหมือนตอนนี้ องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ ได้ประกาศให้ ระบบการเลี้ยงควายปลักในพื้นที่ทะเลน้อย เป็นพื้นที่มรดกโลกทางการเกษตรแห่งแรกของไทย แม้ในตอนนี้ควายพวกนี้จะลดจำนวนลงทุกปีก็ตาม
คำว่าควายน้ำ ในทะเลน้อย ไม่ได้หมายถึงชนิดของควาย แต่มันคือระบบการเลี้ยงควายปลักหรือควายน้ำ ซึ่งนิยมทำกันในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย ใช่แล้ว มันไม่ใช่ความป่า แต่เป็นควายเลี้ยงธรรมดาๆ เนียล่ะ พวกมันปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตท้องถิ่น กล่าวคือ เมื่อน้ำในทะเลน้อยลดต่ำลง จนมีสันดอนพื้นดินโผล่ มีทุ่งหญ้าขึ้น ควายพวกนี้ก็จะเดินขึ้นมาเล็มหญ้ากินบนบก แต่เมื่อยามหน้าน้ำ ทะเลน้อยมีปริมาณน้ำสูง จนท่วมทุ่งหญ้า ท่วมแหล่งหากินของควาย พวกมันก็จะปรับตัว เปลี่ยนมากินพืชน้ำอย่างสายบัว ใบบัว หรือสาหร่ายแทน
พวกมันจะพร้อมใจกันลงไปหากินภายในน้ำ จนทำให้คนเรียกพวกมันว่า “ควายน้ำ” โดยในไทยควายเลี้ยงหลักๆ จะมีอยู่ 2 ชนิด คือ ควายปลัก หรือ สวอมป์ บัฟฟะโลว (Swamp buffalo) กับอีกชนิดคือ ควายแม่น้ำ หรือ รีเวอร์ บัฟฟะโลว (River buffalo) ซึ่งผมไม่แน่ใจว่า ควายที่เลี้ยงในพื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อยเป็นชนิดไหน ใครรู้ชัดก็ฟันธงให้หน่อย หรือ เป็นชนิดอื่น?
ไม่เพียงเท่านี้ ควายพวกนี้ยังว่ายน้ำ ดำน้ำ เก่งมาก ควายแต่ละฝูงสามารถหากินได้ทั้งบนบกและในน้ำ พวกมันสามารถว่ายน้ำได้นาน ทั้งหมดก็เพื่อเปลี่ยนจุดหากิน จากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง โดยจะมีจ่าฝูงนำทาง และรองจ่าฝูงปิดท้าย นับเป็นภูมิปัญญาดังเดิม ในการเลี้ยงควายของคนในพื้นที่