แต่! ต้องบอกว่าปลาหมอบัตเตอร์ ยังมีประโยชน์เพราะอย่างน้อยมันก็อร่อยใกล้เคียงปลานิล ในทางกลับกันปลาหมอสีคางดำไม่อร่อย แถมยังไร้ประโยชน์อีก ด้วยเหตุนี้ปลาหมอสีคางดำจึงขยายพันธุ์ได้สบายใจเฉิบ เพราะอย่างน้อยก็ไม่ตกเป็นเป้าหมายของคนส่วนใหญ่
ก่อนอื่นมาทำความรู้จักปลาหมอสีคางดำกันก่อน
แต่เดิม “ปลาหมอสีคางดำ” (Sarotherodon melanotheron) อาศัยอยู่ในทวีปแอฟริกา พวกมันแพร่กระจายอยู่ตลอดแนวชายฝั่งจนถึงแอฟริกาตะวันตกเฉียงเหนือ เช่นในประเทศไนจีเรีย แคเมรูน เซเนกัล ไอวอรี่โครส์ และในอีกหลายประเทศ มันเป็นปลาที่ชอบอาศัยอยู่บริเวณปากแม่น้ำที่เป็นน้ำกร่อย ป่าชายเลนจนถึงทะเลชายฝั่ง …แม้มันจะอยู่จืดได้แต่มันก็ไม่ชอบเท่าไร
ปลาหมอสีคางดำเป็นปลาที่ทนต่อความเค็มสูง และยังทนต่อความเปลี่ยนแปลงของค่าความเค็มในช่วงที่กว้างมาก ตั้งแต่ความเค็มที่ 0 – 40 ppt และรู้หรือไม่ว่าทะเลโดยทั่วไปจะมีความเค็มที่ 35 ppt ด้วยเหตุนี้มันจึงอาศัยในแม่น้ำ ทะเลสาบน้ำจืด ทะเล รวมถึงคลองที่น้ำไม่ค่อยสะอาดได้อย่างสบาย และแหล่งน้ำของประเทศไทยถือเป็นสวรรค์ของมันเลยทีเดียว
ปลาหมอสีคางดำจะยาวได้มากสุดคือ 20 เซนติเมตร แต่ทั่วไปจะยาวประมาณ 10 – 15 เซนติเมตร พวกมันผสมพันธุ์และวางไข่ได้ตลอดปี แต่จะลดลงในช่วงที่มีฝนตกเยอะๆ หรือในช่วงน้ำแรง ไข่และลูกปลาชนิดนี้มีโอกาสรอดค่อนข้างสูง นั้นเพราะหลังจากที่แม่ปลาวางไข่จำนวนมากแล้ว พ่อปลาจะดูแลลูกด้วยการอมไว้ในปาก โดยลูกจะใช้เวลาฟักภายใน 4 – 6 วัน และพ่อปลาจะดูแลต่ออีก 2 – 3 สัปดาห์ …จึงไม่แปลกที่พวกมันเพิ่มจำนวนได้อย่างรวดเร็ว
ปลาหมอสีคางดำ เป็นปลากินเนื้อที่ดุเดือดมาก หากพวกมันหลุดลงบ่อกุ้ง มันสามารถทำให้บ่อกุ้ง กลายเป็นบ่อปลาหมอสีคางดำได้เลย และนี้ไม่ได้เป็นการพูดเกินจริง เพราะมันตัวอย่างเกิดขึ้นมาแล้วอย่างที่เป็นข่าวใหญ่โต
อย่างเมื่อไม่นานมานี้เกษตรกรวิดบ่อเพื่อจับกุ้ง ก็พบว่าไม่มีกุ้งเหลือแม้แต่ตัวเดียว แต่สิ่งที่ได้คือปลาหมอสีคางดำเต็มบ่อ และพวกมันก็แทบไม่มีราคา …ในธรรมชาติพวกมันก็ไม่ต่างกัน
ปลาหมอสีคางดำเข้ามาในประเทศไทยได้อย่างไร?
ตามบันทึกโครงการนำปลาหมอสีคางดำ จากประเทศกานา ทวีปแอฟริกา เริ่มเมื่อปี พ.ศ. 2549 โดยบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร ซึ่งการนำเข้าครั้งนี้กรมประมงรับทราบและอนุญาตให้นำเข้ามาได้ โดยเป้าหมายในการนำเข้าคือเพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิลแบบมีเงื่อนไข
จนในปี พ.ศ. 2553 บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร ก็นำเข้าปลาหมอสีคางดำจำนวน 2,000 ตัว เพื่อเพาะเลี้ยงที่ศูนย์เพาะพันธุ์ ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม หลังจากเลี้ยงไม่ถึงเดือนปลาก็ทะยอยตายกันหมด บริษัทจึงทำลายและฝังกลบซากปลาทั้งหมด
จากนั้นจึงแจ้งให้กรมประมงทราบด้วยวาจา แต่ไม่ได้จัดทำรายงานอย่างเป็นทางการ และยังไม่เก็บซากปลาส่งให้กับกรมประมงตามเงื่อนไข …ด้วยเหตุนี้จึงไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ปลาตายจริงหรือหลุดลงแหล่งน้ำธรรมชาติกันแน่
จนในปี พ.ศ. 2555 เกษตรกรในพื้นที่ตำบลยี่สาร อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม ก็พบการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำเป็นครั้งแรก …และนี่คือจุดเริ่มต้นของหายนะที่แท้จริง
วันเวลาผ่านไปอีกหน่อย ก็มีรายงานว่า เกษตรกรที่เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงครามและจังหวัดเพชรบุรี ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำอย่างหนัก จนกระทั่งมีการร้องไปที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ …หลังจากนั้นกรมประมงถึงจะเริ่มขยับตัว
ความพยายามของกรมประมง ที่ไม่ได้ทำให้ดีขึ้นสักเท่าไร
จนในเดือนกรกฎาคม ปี พ.ศ. 2560 ดูเหมือนกรมประมงเพิ่งจะตืนนอน หลังจากที่โดน กสม. กระทุ้ง และตามด้วยข่าวใหญ่ในประเด็นชาวบ้านจังหวัดสมุทรสงคราม เพชรบุรีและราชบุรี ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ
ในเดือนสิงหาคม ปีเดียวกัน กรมประมงได้จัดวาระการประชุมเร่งด่วน เพื่อกำหนดนโยบายในการแก้ไขทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เพื่อหยุดวงจรการแพร่ระบาดของปลาสายพันธุ์นี้ ไม่ให้ไปทำลายสัตว์น้ำพื้นถิ่นของประเทศ …และหลังจากการระดมสมองก็คิดแผนการสุดยอดขึ้นมาได้
โดยแผนระยะสั้นคือ โครงการรับซื้อปลาหมอสีคางดำ เพื่อลดปริมาณปลาในธรรมชาติและบ่อเลี้ยง ในตอนนั้นรับซื้อกิโลกรัมละ 20 บาท แต่น่าเสียดายที่มีงบประมาณเพียง 11.4 ล้านบาท แถมยังมีเวลาจำกัดอีกด้วย …และหากมองในคลองแถวจังหวัดสมุทรสงคราม จะเห็นว่าโครงการนี้ไม่สามารถทำอะไรปลาหมอคางดำได้เลย
อีกโครงการที่กรมประมงคิดมาได้คือ การปล่อยปลากะพงขาวลงแหล่งน้ำเพื่อตัดวงจรการแพร่ขยายพันธุ์ปลาหมอสีคางดำ แต่ไม่รู้ตอนนี้ปล่อยไปหรือยัง เพราะดูเหมือนจะอ้างว่าปลากระพงขาวส่วนใหญ่จะเป็นปลาบ่อที่เลี้ยงอาหารเม็ด พวกมันจึงไม่ไล่ปลาหมอสีคางดำ ก็เลยต้องเอาไปฝึกก่อน
แต่! ในฐานะที่ผมตกปลากะพงบ่อยมากๆ ถึงจะเป็นปลาบ่อ มันก็มีสัญชาตญาณในการล่าอยู่ดี แต่ผมว่าถ้าปล่อยกะพงขาวอย่างที่กรมประมงคิด ก็ต้องปล่อยตัวใหญ่และจำนวนเยอะมากด้วย คิดหรือว่าปลาราคาดีพวกนี้จะไม่โดนชาวบ้านจับระหว่างทางจนหมด และถ้าปล่อยเยอะมันจะพังพินาศ เพราะไม่ใช่แค่ปลาหมอสีคางดำที่โดนกิน ปลาท้องถิ่นชนิดอื่นก็โดนเช่นกัน …สรุปว่าความคิดนี้ค่อนข้างแย่
แผนต่อไปคือ ประชาสัมพันธ์ให้จับปลาหมอสีคางดำไปแปรรูปและกินซะ! เนื่องจากปลาชนิดนี้สามารถกินได้ไม่มีพิษแน่นอน แต่ดูเหมือนจะไม่เป็นผล เพราะปลาหมอสีคางดำเนื้อน้อยและไม่อร่อย …แปรรูปไปก็เอาไปขายในราคาที่คุ้มค่าไม่ได้ แจกฟรีบางทียังไม่มีคนเอาด้วยซ้ำ และอย่าบอกให้เอาไปบดเป็นอาหารสัตว์ แค่ต้นทุนจับขึ้นมาก็ไม่คุ้มแล้ว
และมีเรื่องตลกร้ายที่กรมประมงยอมรับว่า เป็นเรื่องยากที่จะหาผู้รับผิดชอบในการปล่อยปลาหมอสีคางดำลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ เนื่องจากมันผ่านมาหลายปีแล้ว และกรมประมงก็เพิ่งมารู้เรื่องว่าปลาระบาดในปี พ.ศ. 2560
จนในปี พ.ศ. 2561 กรมประมงจึงออกประกาศ กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่านหรือเพาะเลี้ยง โดยมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม ปี พ.ศ. 2561 โดยในประกาศฉบับนั้น มีปลาหมอรุกราน 3 ชนิดคือ ปลาหมอสีคางดำ, ปลาหมอมายัน และ ปลาหมอบัตเตอร์ โดยมีโทษปรับสูงสุด 1 ล้านบาท!
และนี่ก็คือเรื่องราวของปลาหมอสีคางดำ กรมประมง บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร และดูทรงล่าสุดในปี พ.ศ. 2566 ปลาหมอสีคางดำก็มีจำนวนมหาศาลเหมือนเดิม และมันก็น่าจะอยู่คู่ประเทศไทยไปอีกหลายร้อยปี