พลับพลึงธาร หรือ หอมน้ำ (Onion plant, Thai onion plant,Water onion) พืชน้ำชนิดหนึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ Crinumthaianum อยู่ในวงศ์พลับพลึง (Amaryllidaceae) ถือได้ว่าเป็นพืชน้ำที่สวยงามและหายากมากที่สุดชนิดหนึ่ง เป็นพืชเฉพาะถิ่น ไม่พบที่ใหนในโลก ปัจจุบันพบเหลือแค่ร้อยละ 1 เท่านั้น
พบขึ้นอยู่อย่างกระจัดกระจาย จึงได้ขึ้นเป็นบัญชีพืชที่ใกล้สูญพันธุ์ของโลก (IUCN Redlist) เมื่อปี 2011 ..สาเหตุของการลดลงเนื่องจากการเก็บหัวจำหน่ายเป็นพืชน้ำประดับ และจากสาเหตุการขุดลอกคลองเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วม
โดยต้นพลับพลึงธารนับเป็นพืชน้ำหายากที่ใกล้สูญพันธุ์หนึ่งเดียวในโลกที่พบในไทย มีอัตราการเจริญเติบโตและการรอดสูงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีพังงา
ลักษณะของพลับพลึงธาร..?
พลับพลึงธารเป็นพืชอวบน้ำ ดอกมีสีขาว มี 6 กลีบ ในก้านชูดอกหนึ่งๆ จะมีหลายก้านดอก จะทะยอยบานติดต่อกันไป ดอกหนึ่งๆ จะมีก้านเกสร 6 อัน มีเกสรสีเหลืองที่ปลายก้านเกสร ตรงกลางดอกจะมีก้านเกสรตัวเมียโผล่มาจากแกนกลางของดอก
หลังจากผสมเกสร กะเปาะเมล็ดจะเจริญเติบโตที่โคนก้านดอก กะเปาะหนึ่งจะมีจำนวนเมล็ดที่ไม่เท่ากัน มีลักษณะบูดเบี้ยวเป็นทรงที่ไม่แน่นอน พอเมล็ดแก่จะหลุดออกจากกะเปาะ พัฒนาสายรกออกด้านใดด้านหนึ่งของเมล็ด ตรงปลายสายรกจะพัฒนาเป็นต้นใหม่และมีรากยึดติดกับพื้นคลอง
ในระหว่างที่รากยังไม่สามารถเกาะยึดพื้นคลองได้ เมล็ดจะเป็นแหล่งอาหารให้กับต้นอ่อนได้นาน 3–4 เดือน หัวมีลักษณะคล้ายหัวหอม จึงมีชื่อเรียกว่า “หอมน้ำ” หัวจะโผล่ขึ้นเหนือผิวดินประมาณ 1 ใน 3 เพื่อป้องกันการเน่า ใบจะเป็นสีเขียวเรียวยาวเหมือนริบบิ้น ความยาวขึ้นอยู่กับระดับน้ำ บางพื้นที่ที่น้ำลึกใบอาจจะยาวได้ถึง 4 เมตร
ตัวอย่างความพยายามในการอนุรักษ์ พลับพลึงธาร
พลับพลึงธารถูกขึ้นบัญชีให้เป็นพืชที่ใกล้สูญพันธุ์ของโลก (IUCN Redlist) เมื่อปี พ.ศ. 2554 โดยพลับพลึงธารเป็นหนึ่งในพืชดรรชนีชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำลำคลอง เนื่องจากพลับพลึงธารจะเติบโตในบริเวณที่น้ำสะอาดและไหลเวียนที่ดี
โดยที่ผ่านมาพลับพลึงธารได้ลดจำนวนลงอย่างมาก จากหลายๆ ปัจจัย เช่น การเก็บหัวไปขายเพื่อปลูกเป็นไม้ประดับ ส่งออกไปขายต่างประเทศ การขุดลอกคลอง การสร้างฝาย หรือการเปลี่ยนทางน้ำธรรมชาติ เป็นต้น
จากบทความที่เขียนโดย คุณวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นักเขียนสารคดี นักวิจารณ์สังคมการเมืองและสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมก่อตั้งและบรรณาธิการบริหารนิตยสารสารคดี ได้เขียนเอาไว้ว่า
ลุงเลื่อน มีแสง เจ้าของฉายา “ผู้เฒ่าเฝ้าพลับพลึงธาร” ผู้ซึ่งพยายามปกป้องพลับพลึงธารมานานหลายสิบปี เล่าว่า สมัยก่อนโน่นชาวบ้านมักจะมาขุดต้นพลับพลึงธารอยู่เสมอ เนื่องจากมีนายทุนมารับซื้อเต็มคันรถ หัวของลำต้นพลับพลึงธารจะมีลักษณะคล้ายหัวหอม จนคนแถวนี้เรียกว่า “หัวหอมน้ำ”
พวกนายทุนจะรับซื้อหัวละ 5 บาท หากได้เป็นกอก็จะได้กอละ 20 – 30 บาท เมื่อคิดว่านี่เป็นราคาเมื่อหลายสิบปีก่อน ก็นับว่าราคาดีมาก คนขุดเยอะมาก จนสุดท้ายลุงไม่ยอมให้ใครมาขุดเอาต้นพลับพลึงธารที่คลองช่วงที่ไหลผ่านที่ดินของลุงเด็ดขาด และเพราะเรื่องนี้ก็เลยมีเหตุขัดแย้งกับชาวบ้านแถบนั้นอยู่นาน และต้องใช้เวลานานมากกว่าพวกเขาจะยอมรับ
โดยคลองที่ไหลผ่านสวนลุงเลื่อน จะถูกเรียกว่า “คลองสวนลุงเลื่อน” เป็นหนึ่งในพื้นที่ไม่กี่แหล่งที่ยังมีพลับพลึงธารอยู่มาก แม้ว่ารอบๆ จะลดลงไปมากก็ตาม
จนในปี พ.ศ. 2542 องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ก็เดินทางมาวิจัยเพื่อหาวิธีอนุรักษ์ เพาะเลี้ยงและขยายพันธุ์พลับพลึงธาร โดยเลือกคลองสวนลุงเลื่อนเป็นพื้นที่หนึ่งในการวิจัย
ในตอนนั้นลุงเองก็ได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างเกี่ยวกับพลับพลึงธารมากขึ้น และก็ได้รู้ว่ามันมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ เพราะเป็นพืชน้ำที่ขึ้นเฉพาะในน้ำสะอาด มีระบบรากที่ยาวซึ่งช่วยยึดดิน ช่วยป้องกันไม่ให้หน้าดินถูกชะล้าง ส่วนใบที่ยาวจะเป็นแหล่งอาศัย หลบภัย แหล่งอาหารและที่วางไข่ของสัตว์น้ำอย่าง กุ้งและปลาขนาดเล็ก
สมัยก่อนชาวบ้านแถวนี้ตั้งฉายาลุงเลื่อนว่า “ตาเลื่อนบ้า” ดาบตำรวจ ชนาวุฒิ มีนวล แกนนำกลุ่มรักษ์พลับพลึงธารในพื้นที่ ผู้ซึ่งเป็นแนวร่วมสำคัญของลุงเลื่อน เล่าให้ฟังว่า
สมัยก่อนคลองแถวนี้ขุดกันเกือบหมด จนกระทั่งลุงเลื่อนประกาศว่าห้ามเข้ามาขุดพลับพลึงธาร ในคลองแถวบ้านลุงเด็ดขาด คนก็เลยหาว่าแกบ้าเพราะตอนนั้นไม่มีใครสนใจจะอนุรักษ์พืชชนิดนี้ ช่วงหลังพอออกข่าวว่าเป็นพืชชนิดเดียวในโลกที่มีอยู่แถวนี้ ก็เลยมีคนสนใจและช่วยกันอนุรักษ์มากขึ้น
แต่จริงๆ แล้ว การขุดพลับพลึงธารไปขาย ก็ยังไม่ใช่สาเหตุใหญ่ที่ทำให้พืชหายากนี้ใกล้สูญพันธุ์ มันเทียบไม่ได้กับการที่หน่วยงานราชการต่างๆ เข้ามาขุดลอกคลองโดยอ้างว่าเพื่อป้องกันน้ำท่วม
ลำคลองตามธรรมชาติที่เคยมีต้นพลับพลึงธารขึ้นมากมาย ตั้งแต่คลองนาคาจังหวัดระนองจนถึงพังงา โดนบรรดารถแทรกเตอร์ขุดลากไปทิ้ง พวกเขาขุดคลองให้ลึก โดยอ้างว่าเพื่อให้น้ำไหลเร็วและสะดวก ป้องกันน้ำท่วม คลองดินเปลี่ยนเป็นคลองชลประทานแบบเทคอนกรีต สิ่งมีชีวิตในน้ำก็หายไป รวมถึงพลับพลึงธารด้วย
ในเวลาหน้าน้ำเมื่อน้ำไหลแรงตลิ่งสองฝั่งจึงเสียหายหนัก และเพราะไม่มีใบพลับพลึงธารช่วยชะลอความเร็วของกระแสน้ำ สุดท้ายก็ป้องกันน้ำท่วมไม่ได้เลย
เมื่อถามลุงเลื่อนว่า ดูแลพลับพลึงธารมากว่า 30 ปี ได้อะไรบ้าง? ลุงเลื่อนผู้ที่ไม่ค่อยพูด ก็เงียบไปสักพักก่อนจะพูดว่า “ลุงภูมิใจว่าทำให้ลูกให้หลาน ดีใจที่รักษาพลับพลึงธารได้เป็นบ้านสุดท้าย” ทุกวันนี้พลับพลึงธารบริเวณคลองลุงเลื่อน กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ของเด็กเยาวชนทั่วไป ใครสนใจวิทยาศาสตร์อาจมาวัดค่ากรดด่างในลำน้ำ หรือสังเกตการผสมเกสร ใครสนใจภาษาไทยอาจมาแต่งกลอนดอกพลับพลึงธาร
และทุกวันที่ 14 พฤศจิกายน จะจัดงาน “วันอนุรักษ์พลับพลึงธารแหล่งสุดท้ายของโลก” จิตใจอันแน่วแน่ของลุงเลื่อนจะช่วยเตือนสติว่า “ทำอะไรก็ได้ แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ต้องทำต่อเนื่องและจริงจัง สักวันหนึ่งมันจะส่งผลสะเทือนเอง”