กบทูด คืออะไร?
กบทูด หรือ กบภูเขา หรือ เขียดแลว (Blyth’s river frog) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ลิมโนเนคเตส บลายธ์ทิ (Limnonectes blythii) เป็นกบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย แต่ในเรื่องขนาดของกบชนิดนี้ค่อนข้างไม่ตรงกันระหว่างแหล่งข้อมูลที่นำเสนอในประเทศไทยและของต่างประเทศ เนื่องจากในไทยจะบอกความยาวจากปลายปากถึงรูก้น ไว้ที่ประมาณ 30 เซนติเมตร น้ำหนักกว่า 5 กิโลกรัม ซึ่งความยาวอาจเป็นไปได้ แต่ในเรื่องน้ำหนัก กบไม่มีทางหนักได้ขนาดนี้
ในขณะที่แหล่งข้อมูลต่างประเทศได้ระบุขนาดของกบทูด เอาไว้ที่ 9 – 26 เซนติเมตร ในตัวเมีย ส่วนตัวผู้จะยาว 8.5 – 12.5 เซนติเมตร เป็นกบที่อาจหนักได้ถึง 1 กิโลกรัม และอาจยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร และหากอ้างอิงตามขนาดดังนี้ กบทูดก็ยังตัวใหญ่ที่สุดในไทยอยู่ดี … ตัวใหญ่กว่า “จงโคร่ง” ซะอีก
โดยกบทูดมีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณป่าต้นน้ำบนภูเขาสูง ชอบอยู่ตามลำห้วย ป่าดิบ โดยพบมากทางตะวันตกของไทย ตั้งแต่ภาคเหนือจรดภาคใต้ ไปจนถึงมาเลเซียและอินโดนีเซีย เช่นในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา, อุทยานแห่งชาติเขาสก เป็นต้น นอกจากนี้แล้วยังพบได้ในกัมพูชา, ลาว และเวียดนาม
กบทูดจะมีปลายปากเรียวแหลมจนเห็นได้ชัด ส่วนลำตัวอ้วนใหญ่ ผิวเป็นตุ่มเล็กแลดูไม่สะดุดตา บางทีก็คล้ายเป็นผิวหนังเรียบ เมื่อโตเต็มที่ลำตัวจะมีสีน้ำตาลแดง ริมฝีปากดำ มีขีดดำจากท้ายตาลากมาจนถึงเหนือวงแก้วหู บริเวณสีข้างอาจมีลาย หรือจุดสีดำ น้ำตาลเข้ม ส่วนขามีลายเข้มคาดเป็นระยะ
นอกจากนี้ยังพบว่าสามารถปรับเปลี่ยนสีผิวไปตามที่อยู่อาศัย เช่น ลำตัวจะมีสีน้ำตาลแดงเมื่ออาศัยอยู่ตามพงหญ้าแห้ง หรือมีสีดำเมื่อหลบซ่อนอยู่ในโพรงไม้
กบทูดเป็นสัตว์ที่มีนิสัยหากินเวลากลางคืน ชอบสภาพอากาศค่อนข้างเย็น เวลากลางวันมักหลบซ่อนอยู่ตามที่มืดทึบ เช่น โพรงไม้, หลุม, พงหญ้า ซึ่งเป็นบริเวณที่มีสภาพชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากกบทูดไม่สามารถอาศัยอยู่ในที่แห้งแล้งหรือร้อนจัดได้นาน เพราะหากผิวหนังแห้งมันจะตายได้
ฤดูผสมพันธุ์ของกบทูดอยู่ระหว่างเดือนมกราคม – มีนาคม เมื่อช่วงฤดูวางไข่ ตัวผู้จะขุดหลุมเพื่อให้ตัวเมียวางไข่ เวลาผสมพันธุ์ตัวผู้จะลงไปอยู่ในหลุมที่ตัวเองขุด แล้วจะส่งเสียงร้องเรียกตัวเมีย ตัวเมียที่พร้อมผสมพันธุ์ก็จะลงไปในหลุม
หลังจากผสมพันธุ์เสร็จ ตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันกลบหลุมไข่ ซึ่งมีลักษณะเป็นกองหินนูนขึ้นมา ทั้งตัวเมียและตัวผู้จะผลัดกันเฝ้าหลุมไข่ พร้อมกับออกหาอาหาร
กบทูดมีประชากร 4 กลุ่ม?
เมื่อหลายปีก่อน เคยมีงานวิจัยเกี่ยวกับกบทูด ในเรื่องของการกระจายพันธุ์ของกบทูดในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งนักวิจัยได้ทำการเก็บตัวอย่างกบในพื้นที่ 4 แหล่ง โดยแหล่งที่หนึ่งคือพื้นที่อนุรักษ์กบทูด ในบ้านปางอุ๋ง จังหวัดแม่ฮ่องสอน แหล่งที่สองคือ บริเวณสถานีประมงจังหวัดแม่ฮ่องสอน แหล่งที่สามคือบริเวณชายแดนไทย-พม่า และแหล่งที่สี่คือบริเวณห้วยยูในฝั่งประเทศพม่า
โดยจากผลการศึกษาความหลากหลายทางพันธุ์กรรม นักวิจัยก็พบว่าประชากรของกบทูดมีอยู่ 4 กลุ่ม แต่ที่นักวิจัยอยากรู้มากขึ้นคือ กลุ่มไหนที่มีมากในจังหวัดแม่ฮองสอน นักวิจัยจึงสกัดดีเอ็นเอจากตัวอย่างเนื้อเยื่อกบทูดที่เก็บมา
จากผลการศึกษาเพิ่มเติมพบว่า โครงสร้างทางพันธุกรรมของประชากรกบทูดทั้ง 4 กลุ่ม อยู่ในระดับปานกลาง และความสัมพันธุ์ทางพันธุ์กรรมของกบทูดจากฝั่งพม่า ก็มีความใกล้เคียงกับบริเวณสถานีประมงจังหวัดแม่ฮ่องสอน และชายแดนไทย – พม่า อาจเป็นเพราะในแต่ละปี สถานีประมงได้ปล่อยลูกกบทูดจำนวนมากสู่ธรรมชาติ จึงทำให้มีลักษณะทางพันธุ์กรรมใกล้เคียงกัน
ในขณะที่ชายแดนไทย – พม่า กรมประมงก็มีการปล่อยลูกกบทูดอยู่ตลอดทุกปี ซึ่งจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ พบว่ามีการปล่อยมาตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2551 นับสิบปี และแต่ละปีก็ปล่อยไม่น้อยว่า 5 พันตัว อีกทั้งยังได้นำเอาพ่อแม่พันธฺุ์กบทูดมาจากชายแดนไทย-พม่าอีกด้วย ด้วยเหตุนี้ทั้งสองแหล่งจึงมีความใกล้เคียงกัน
สำหรับในตอนนี้ กบทูดเป็นสัตว์ที่หาได้ค่อนข้างยากในธรรมชาติของประเทศไทย และถึงแม้จะสามารถเพาะพันธุ์และปล่อยคืนสู่ธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง แต่เพราะสภาพแวดล้อมและถิ่นที่อยู่อาศัยเปลี่ยนไป กบชนิดนี้ในธรรมชาติจึงไม่ถือว่าปลอดภัยนัก และกบทูดจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดหนึ่งของไทย แต่ก็จัดเป็นสัตว์ป่าชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ โดยกรมประมงส่งเสริมให้มีการเพาะเลี้ยงเป็นสัตว์เศรษฐกิจ