Advertisement
Home พืชและสัตว์ เบื้องหลังการค้นพบ ‘นกกะลิงเขียดหางหนาม’ ในประเทศไทย

เบื้องหลังการค้นพบ ‘นกกะลิงเขียดหางหนาม’ ในประเทศไทย

สำหรับเรื่องนี้ถูกเขียนขึ้นโดย คุณสุธี ศุภรัฐวิกร นักดูนกและผู้เขียนหนังสือ "นกไทย ในบันทึกเเละความทรงจำ" แล้วผมก็ได้ไปเห็นเรื่องนี้ในเพจกลุ่มดูนก เมื่อหลายปีก่อน น่าเสียดายที่มีคนเห็นเพียงเล็กน้อยมากๆ ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องราวที่น่าสนใจมาก และหากปล่อยไว้แบบนี้ อาจจะไม่มีคนรุ่นใหม่ได้รู้เบื้องลึกเบื้องหลังของ นกกะลิงเขียดหางหนาม (Temnurus temnurus) ด้วยเหตุนี้ผมจึงได้ไปขออนุญาตจากคุณสุธี เพื่อนำมาให้ดูกัน

จุดเริ่มต้นเรื่องราว

เรื่องราวเริ่มต้นในปี พ.ศ. 2532 ได้มีการตัดถนนราดยางอย่างดี ขึ้นไปบนเขาพะเนินทุ่ง ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันตกสุดของอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เปิดโอกาสให้นักนิยมไพรและนักดูนกทั้งหลาย ได้ขึ้นไปสัมผัสความอุดมสมบูรณ์ของป่าดิบแล้งกึ่งดิบเขา บนเขาพะเนินทุ่งและน้ำตกทอทิพย์ที่ซ่อนเร้นอยู่นานแสนนาน ในปีเดียวกันนี้เอง นักดูนกจากชมรมดูนกกรุงเทพ ได้เดินทางขึ้นไปดูนกสองข้างถนนที่ตัดใหม่นี้กันบ้างแล้ว

คุณสุธี ศุภรัฐวิกร

นักดูนกเหล่านั้นได้พบนกหลายชนิดที่เคยพบเฉพาะในภาคเหนือ เช่น นกเขียวก้านตองท้องสีส้ม (Orange-bellied Leafbird) นกพญาไฟแม่สะเรียง (Short-billed Minivet) นกพญาไฟคอเทา (Grey-chinned Minivet) นกปรอดหัวตาขาว (Flavescent Bulbul) นกนิลตวาใหญ่ (Large Niltava) นกเสือแมลงหน้าสีตาล (Black-eared Shrike Babbler) และนกกะลิงเขียดสีเทา (Grey Treepie)

แต่ที่น่าแปลกใจยิ่งกว่านั้น นักดูนกเหล่านั้นยังได้พบนกหลายชนิดที่เคยพบเฉพาะในภาคใต้ด้วย เช่น นกหกใหญ่ (Blue-rumped Parrot) นกเขียวก้านตองใหญ่ (Greater Green Leafbird) นกพญาปากกว้างเล็ก (Black-and-yellow Broadbill) นกเขียวปากงุ้ม (Green Broadbill) และนกกาน้อยหงอนยาว (Crested Jay) ด้วยเหตุนี้เขาพะเนินทุ่ง จึงกลายเป็นแหล่งรวมนกจากภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง อย่างน่าอัศจรรย์

นกพญาปากกว้างเล็ก (Black-and-yellow Broadbill)

ในปีต่อมา หรือในปี พ.ศ. 2533 วงการปักษีวิทยาต้องแปลกใจมากขึ้นไปอีกเป็น 2 เท่า เมื่อมีผู้พบเห็น นกกะลิงเขียดหางหนาม (Temnurus temnurus) บนเขาพะเนินทุ่งริมถนนสายนี้ ทั้งๆ ที่ในหนังสือ A Field Guide to the Birds of South-East Asia ของ เบ็น เอฟ. คิง (Ben F. King) และ เอ็ดเวิร์ด ซี.ดิคคินสัน (Edward C. Dickinson) ซึ่งตีพิมพ์ในปี พ.ศ.2518 ระบุว่านกชนิดนี้พบเฉพาะในประเทศลาวและเวียดนามเท่านั้น

การค้นพบนกกะลิงเขียดหางหนามในภาคตะวันตกของประเทศไทย ซึ่งห่างไกลจากประเทศลาวและเวียดนามมาก ย่อมชี้ให้เห็นว่าครั้งหนึ่งในอดีตนกชนิดนี้คงมีการแพร่กระจายกว้างขวางมากกว่านี้ …จากภาคตะวันตกของประเทศไทยต่อเนื่องไปจนถึงประเทศลาวและเวียดนามเลยทีเดียว แต่เพราะเหตุใดการแพร่กระจายจึงถูกตัดขาด ยังไม่มีผู้ใดให้คำตอบที่แน่ชัดได้

การค้นพบนกกะลิงเขียดหางหนามในไทยเป็นครั้งแรก

นักดูนกคนแรกที่ได้เห็นนกกะลิงเขียดหางหนามในประเทศไทย คือ พินิจ แสงแก้ว ซึ่งดูนกมากว่า 6 ปีแล้ว พินิจเล่าว่า ในคืนวันศุกร์ที่ 4 พฤษภาคม ปี พ.ศ. 2533 เขาเดินทางออกจากกรุงเทพฯ พร้อมกับนักดูนกอีก 5 คน คือ ปิยะนิภา แสงแก้ว, สันทนา ปลื้มชูศักดิ์, ปราณี สัจจกมล, ธีรนุช อินวษา, และ ราชิศร์ เล็กวานิช เพื่อไปดูนกในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

พินิจ แสงแก้ว กับเพื่อนอีก 5 คน ได้ขึ้นไปกางเต็นท์พักแรมบนเขาพะเนินทุ่ง ทางฝั่งขวาของถนนตรงหลัก กม.ที่ 27 ซึ่งเป็นลานหญ้าที่ค่อนข้างกว้าง และอยู่ใกล้กับปากทางเดินขึ้นไปยอดเขาพะเนินทุ่ง ความสูงในบริเวณนี้ประมาณ 900 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ในเวลานั้นมีฝนมีตกบ้างเล็กน้อย เนื่องจากยังอยู่ในช่วงฤดูฝน พินิจได้ส่งรายงานการพบนกกะลิงเขียดหางหนามมาให้ผมอ่านด้วย ..โดยมีข้อความว่า

เราออกเดินดูนกในตอนเช้าของวันที่ 5 พฤษภาคม หลังจากรับประทานอาหารกันแล้ว โดยเดินไปตามถนนจากที่พักแรมขึ้นไปเรื่อยๆ ตลอดช่วง กม.ที่ 27 ถึง กม. ที่ 28 ซึ่งทางค่อนข้างชัน มีนกตามข้างทางบ้างไม่มากนัก เวลาประมาณบ่ายโมงซึ่งอากาศร้อน ท้องฟ้าโปร่ง มีแดดจ้า พวกเราเดินผ่านหลัก กม.ที่ 28 มาได้ประมาณ 200-300 เมตร ไม่พบนกใดๆ เลย ความรู้สึกบอกว่าวันนี้มีนกน้อยจัง

เราเดินมาเรื่อยๆ ช่วยกันมองหานก เมื่อเดินมาจนเกือบจะถึงช่องเขาซึ่งเป็นด่านกระทิง ผมมองออกไปข้างหน้าตรงช่องเขา บริเวณนั้น 2 ข้างถนนมีต้นไผ่ขึ้นอยู่ และกิ่งไผ่เอนเข้าหากัน ผมเห็นนกตัวหนึ่งเกาะอยู่ที่ปลายกิ่งไผ่ด้านซ้ายมือ ห่างจากจุดที่ผมยืนอยู่ประมาณ 50 เมตร จึงยกกล้องขึ้นส่องดู เห็นนกตัวสีดำๆ คล้ายนกกาแวนที่พบเห็นกันทั่วไป จึงบอกคนอื่นๆ ว่า ข้างหน้ามีนกเกาะอยู่ ไม่แน่ใจว่านกอะไรดูคล้ายๆ นกกาแวน

สันทนาบอกว่า ไม่น่าจะใช่นกกาแวน เพราะนกชนิดนี้ไม่ขึ้นมาบนที่สูงอย่างนี้ ทำให้ทุกคนหันไปส่องกล้องดูนกตัวนั้นบ้าง สิ่งที่ทุกคนเห็นก็คือ นกที่มีรูปร่างแบบเดียวกับนกกะลิงเขียด แต่ไม่ใช่นกกะลิงเขียดสีเทา หรือนกกาแวนด้วย เพราะนกกาแวนจะอยู่ที่ต่ำ พวกเรายังได้สังเกตดูที่หางของนกซึ่งผิดกับหางของนกใดๆ หางมีลักษณะเป็นแฉกแหลมๆ ยื่นออกมาทั้งสองข้าง มีลักษณะแปลกไปจากนกทุกตัวที่เราเคยเห็นกันมา

ในตอนท้ายของรายงานฉบับนี้ พินิจได้บอกว่า นกตัวนั้นเกาะให้เราดูอยู่ประมาณ 1 หรือ 2 นาที พวกเราพยายามที่จะเข้าไปให้ใกล้ตัวนกอีกหน่อย แต่ก็ไม่กล้าเข้าไปใกล้มาก เพราะกลัวว่านกจะบินหนีไปเสียก่อน เรายังเห็นลักษณะสีสันของนกไม่ชัดเจน เห็นแต่ปากของนกซึ่งออกจะหนาๆ แต่แล้วนกตัวนั้นก็โผบินข้ามถนน ลงไปยังหุบเขาทางด้านขวาแล้วหายตัวไปทันที

พวกเราวิ่งตามไปยังตำแหน่งที่นกหายไปทันที แต่ก็หาตัวนกไม่พบเสียแล้ว อย่างไรก็ดี ขณะที่นกกำลังบินข้ามถนนนั้น ทุกคนได้เห็นหางของนกซึ่งมีลักษณะเป็นแฉกแหลมๆ ตามขอบหาง ไม่มีใครในคณะบอกได้ว่านกตัวนั้นเป็นนกชนิดใด แต่สันทนาบอกว่า คล้ายๆ นกตัวหนึ่งในหนังสือ A Field Guide to the Birds of South-East Asia จึงได้หยิบหนังสือเล่มนั้นขึ้นมาเปิดดู

ในหนังสือเล่มนี้บอกว่าเป็นนกที่ชื่อ แรคชิท- เทลด์ ทรีพี (Ratchet-tailed Treepie) หรือ นกกะลิงเขียดหางหนาม ซึ่งมีถิ่นอาศัยอยู่ในลาว เวียดนามและจีนตอนใต้ ทำให้ทุกคนเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า นกตัวที่เห็นเป็นนกชนิดใดกันแน่ จะใช่นกกะลิงเขียดหางหนามหรือไม่ ถ้าไม่ใช่? จะเป็นนกอะไร? หลังจากกลับมาถึงกรุงเทพฯ แล้ว ต่างคนต่างก็นำเรื่องนกตัวนี้ไปเล่าให้นักดูนกคนอื่นๆ ฟัง

วันที่ 2 มีนาคม ปี พ.ศ. 2534 สันทนา ได้พาคณะของเขาขึ้นไปดูนกในบริเวณเดิมอีกครั้ง แต่คราวนี้เขาโชคดีกว่าคราวที่แล้ว เพราะเขาได้เห็นนกกะลิงเขียดปริศนาถึง 5 ตัว และในครั้งนี้ได้มีการบันทึกเสียงร้องของนกชนิดนี้ลงไว้ในเทปด้วย และยังถ่ายภาพนกชนิดนี้ได้อีก ทำให้มีหลักฐานยืนยันได้มากขึ้นว่า พบนกกะลิงเขียดหางหนามในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานจริง

การยืนยันว่าใช่นกกะลิงเขียดหางหนาม

ในวันที่ 7-9 เมษายน ปี พ.ศ. 2534 จอห์น อีมส์ (John Eames) และ เคร็ก ร็อบสัน (Craig Robson) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องนกจาก โอริเอนเทิล เบิร์ด คลับ (Oriental Bird Club) ซึ่งคุ้นเคยกับนกในย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นอย่างดี ได้เดินทางขึ้นไปดูนกบนเขาพะเนินทุ่งในบริเวณเดิม และได้พบนกชนิดนี้ถึง 2 ตัว ทั้งสองยืนยันว่านกที่เขาพบมีรูปร่าง สีสันและเสียงร้องเหมือนกับนกกะลิงเขียดหางหนามที่เขาเคยพบในเวียดนามอย่างแน่นอน

ในที่สุดนักปักษีวิทยาทั่วโลกต่างยอมรับว่า พบนกกะลิงเขียดหางหนามในประเทศไทย ในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี จริงๆ นอกเหนือจากลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้

จนในปี พ.ศ. 2536 สตีฟ แม็ค (Steve Madge) และ ไฮลารี่ เบอร์น (Hilary Burn) ได้ร่วมกันแต่งหนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับนกในเหล่ากา (Tribe Corvini) ที่พบทั่วโลก มีชื่อว่า Crows and Jays, A Guide to the Crows, Jays and Magpies of the World ซึ่งระบุว่า พบนกกะลิงเขียดหางหนาม (Ratchet-tailed Treepie) ในประเทศไทยด้วย หนังสือเล่มนี้จึงเป็นเอกสารฉบับแรกที่ยืนยันว่าพบนกชนิดนี้ในประเทศไทย

สำหรับนกกะลิงเขียดหางหนาม เป็นนกประจำถิ่นที่พบได้เฉพาะในบางพื้นที่ และเท่าที่ทราบในตอนนี้ ในไทยจะพบได้เฉพาะในอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และแม้จะเป็นนกที่อยู่ในสถานะความเสี่ยงต่ำ (LC) และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของไทย แต่ก็เป็นนกที่ไม่ใช่จะพบเจอได้ง่ายๆ

อ่านเรื่องอื่น

Exit mobile version