Advertisement
Home พืชและสัตว์ ปลากดหัวผาน ปลากดไทยระดับตำนานที่เกือบเหลือแค่เรื่องเล่า

ปลากดหัวผาน ปลากดไทยระดับตำนานที่เกือบเหลือแค่เรื่องเล่า

สำหรับเรื่องนี้ อ้างอิงจากหนังสือปลาน้ำจืดไทย โดย ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ และ จาก อควาเรียมบิส โดยปลากดหัวผานจัดเป็นปลาไทยระดับตำนานอีกตัว มันมีประวัติที่น่าสนใจ และเพราะเป็นปลาที่หาได้ยากมากตั้งแต่แรก การศึกษาเกี่ยวกับปลาชนิดนี้จึงค่อนข้างจะน้อย แต่ไม่เป็นไร ผมได้รวบรวมข้อมูลเท่าที่หาได้ เพื่อเอามาเล่าให้ฟังกัน

ปลากดหัวผาน (shovelnose sea catfish) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า เฮมิอาเรียส เวอร์รูโคซัส (Hemiarius verrucosus) เป็นปลาที่ยาวประมาณ 80 – 100 เซนติเมตร และหนักประมาณ 6 กิโลกรัม จัดอยู่ในวงศ์ปลากดทะเล เป็นปลาที่มีลำตัวเพรียวยาว จมูกยื่นแหลม มีปากอยู่ด้านล่าง และมีขนวดขนาดเล็กอยู่บริเวณจมูก

ในอดีตพบอาศัยในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง และแม่น้ำโขง เป็นปลากดทะเลที่ชอบอยู่ในน้ำที่มีความเค็มต่ำ หรือน้ำกร่อยจนถึงน้ำจืด เคยพบมากเป็นพิเศษในแม่น้ำบางปะกง เขตอำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยเฉพาะในช่วงน้ำทะเลหนุนและในแม่น้ำที่มีความเค็มที่มาก ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวปลากดชนิดนี้มักจะว่ายขึ้นเหนือเพื่อหนีน้ำเค็ม

ปลากดหัวผาน (shovelnose sea catfish) / Hemiarius verrucosus

ในแม่น้ำเจ้าพระยาถือว่าพบได้ยากกว่าแม่น้ำบางปะกงมากๆ และไม่มีรายงานการพบมานานหลายสิบปีแล้ว แต่ถึงอย่างงั้นก็เคยพบซากกึ่งฟอสซิลที่ก้นแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตจังหวัดอยุธยา

และแม้จะบอกว่าปลากดหัวผานจะพบมากในแม่น้ำบางปะกง แต่ก็จับได้ปีละเพียงหลักสิบตัวเท่านั้น แถมการหายไปของปลาชนิดนี้เป็นอะไรที่รวดเร็วมาก พวกมันหายไปในช่วงปี พ.ศ. 2535 มันเป็นหลังจากการสร้างเขื่อนทดน้ำบางปะกง!

เนื่องจากเป็นปลาที่อาศัยอยู่ในน้ำที่มีความเค็มต่ำ การสร้างเขื่อนจึงสร้างความเสียหายให้กับปลากดชนิดนี้อย่างรุนแรง พวกมันไม่สามารถว่ายขึ้นเหนือเพื่อหนีน้ำเค็มได้ ส่วนปลากดหัวผานที่อยู่เหนือเขื่อนก็ต้องเจอกับน้ำเสียอีก …สุดท้ายพวกมันก็หายไปจากแม่น้ำบางปะกง และตามที่อ้างอิงจากหนังสือปลาน้ำจืดไทย ระบุว่า ปลากดหัวผานตัวสุดท้ายถูกจับได้ที่บริเวณ อำเภอเมือง จังหวัดฉะเชิงเทรา ปัจจุบันไม่มีรายงานการพบมาหลายสิบปีแล้ว

ด้วยเหตุนี้ ปลากดหัวผานจึงนับว่าสูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยตั้งแต่ช่วงปี พ.ศ. 2535 และยังอยู่ในบัญชีแดงของ IUCN อีกด้วย ในขณะที่ในแม่น้ำโขง ปลาชนิดยังพอพบได้บ้าง ซึ่งตามรายงานมีการพบที่ใต้น้ำตกหลี่ผี และน้ำตกคอนพะเพ็งลงไปจนถึงเมืองกระแจะ ในกัมพูชา และปากแม่น้ำโขง ไม่มีรายงานการพบในแม่น้ำโขงเขตประเทศไทย

ปลากดหัวผาน (shovelnose sea catfish) / Hemiarius verrucosus

ทั้งนี้ผู้เลี้ยงปลากดหัวผานคู่สุดท้ายของไทยเล่าว่า ปลากดชนิดนี้ เลี้ยงได้ไม่ยาก สามารถกินอาหารสดได้ทั้งกุ้งเป็นและกุ้งตาย ปลาขนาดเล็กก็กินได้ มันเป็นปลาที่ชอบนอนอยู่บริเวณพื้นตู้ สลับกับว่ายไปมา และสามารถเลี้ยงปลาตัวเมียให้มีไข่สมบูรณ์ได้ในน้ำจืดสนิท

Armoured sea catfish / Hemiarius stormii

หากถามว่า ยังพอจะหาปลากดหัวผานมาได้หรือไม่? คำตอบคือยากมาก ที่พอจะหาได้ง่ายกว่าคงเป็นชนิดที่อยู่ในสกุลเดียวกัน ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า เฮมิอาเรียส สตอร์มี (Hemiarius stormii) มันเป็นปลาที่พบบนเกาะบอร์เนียว ประเทศอินโดนีเซีย ในเรื่องหน้าตาถือว่าคล้ายกับปลากดหัวผานมากซะจนบางทีก็ถูกเรียกว่าปลากดหัวผานเช่นกัน ส่วนเรื่องความแตกต่างของปลาทั้งสอง ผมคงต้องขออภัยที่ยังไม่กล้วระบุให้แน่ชัด เพราะข้อมูลลักษณะทางกายภาพน้อยเหลือเกิน ยังไงใครเลี้ยงปลาชนิดนี้อยู่ ก็ออกมาแชร์เรื่องราวกันหน่อยนะครับ

อ่านเรื่องอื่น

Exit mobile version