โครงการที่จะรับประกันแว่าแทสเมเนียนเดวิลจะไม่สูญพันธุ์
แทสเมเนียนเดวิล (Tasmanian Devil) แม้มันจะมีขนาดเท่าสุนัขตัวเล็กๆ แต่มันก็สัตว์ที่มีกรามขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับขนาดตัว และยังเป็นสัตว์ที่ทรงพลังที่สุดในโลกเมื่อเทียบปอนด์ต่อปอนด์
แต่แทสเมเนียนเดวิลมีปัญหาใหญ่อยู่นั้นคือ “โรคระบาด” ที่พบเฉพาะพวกมัน ด้วยเหตุนี้มันจึงเป็นหนึ่งในสัตว์ที่นับเวลาถอยหลังสู่การสูญพันธุ์ แม้มนุษย์จะพยายามช่วยแล้วก็ตาม แน่นอนว่าที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่และนักอนุรักษ์ก็พยายามแก้ไขเรื่องนี้ พวกเขานำเอาแทสเมเนียนเดวิลที่ปลอดเชื้อไปปล่อยตามเขตอนุรักษ์บางแหล่ง ซึ่งรวมถึงแผ่นดินใหญ่ออสเตรเลีย ซึ่งส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรมากนัก แต่มีอยู่ที่นึ่งที่เจ้าหน้าที่หน้าเสียไปตามๆ กัน นั้นคือเอาไปปล่อยที่เกาะมาเรีย (Maria Island)
เกาะมาเรีย (Maria Island) มันเป็นเกาะ 116 ตารางกิโลเมตร ตั้งอยู่ทางตะวันออกของแทสเมเนีย แต่เกาะแห่งนี้มีผู้อาศัยเดิมอยู่ ซึ่งก็คือเพนกวินน้อย (Little penguin) ด้วยความสูงแค่ 33 เซนติเมตร และหนัก 1.5 กิโลกรัม มันจึงเป็นเพนกวินขนาดเล็กที่สุดในโลก และมันไม่สามารถต่อต้านนักล่าหน้าใหม่ได้เลย
โดยจากรายงานของ BirdLife Tasmania พวกเขาระบุว่าแทสเมเนียนเดวิล ถูกนำมาปล่อยบนเกาะมาเรีย เมื่อปี พ.ศ. 2555 โดยประชากรเริ่มต้นที่ 28 ตัว จนในปี พ.ศ. 2559 ก็เพิ่มเป็น 100 ตัว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับแทสเมเนียนเดวิล
แต่! สิ่งที่ต้องเสียไปมันก็หนักหนาไม่แพ้กัน เพราะที่ผ่านมาเกาะมาเรีย ต้องสูญเสียเพนกวินน้อยไปกว่า 3 พันคู่แถมยังมีแนวโน้มจะมากขึ้นด้วย ซึ่งความจริงเรื่องนี้นักอนุรักษ์ก็คาดการณ์เอาไว้แล้ว พวกเขากล่าวว่า การสูญเสียชีวิตนกถือเป็นผลลัพธ์ที่น่าเศร้าแต่ก็ไม่น่าแปลกใจ
“ทุกครั้งที่มนุษย์นำเอาสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเข้ามาในหมู่เกาะ ทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ ผลลัพธ์จะออกมาเหมือนเดิมเสมอ… เพราะมันจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อนกหนึ่งสายพันธุ์หรือมากกว่านั้น”
แต่! “การสูญเสียนกเพนกวิน 3,000 คู่ ทั้งๆ ที่เกาะแห่งนี้ควรเป็นที่หลบภัยสำหรับนกสายพันธุ์นี้ โดยพื้นฐานแล้วถือว่าเป็นความเสียหายครั้งใหญ่จริงๆ” ….แน่นอนว่าสัตว์ชนิดอื่นก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน และสัตว์บางชนิดก็พยายามปรับตัวเพื่อหลบแทสเมเนียนเดวิล ดังเช่น
ในรายงานเกี่ยวกับห่านบนเกาะมาเรีย ที่พยายามทำรังบนต้นไม้แทนที่จะทำบนพื้นดินเหมือนอย่างเคย พวกมันทำแบบนี้ก็เพื่อหลีกเลี่ยงการล่าจากแทสเมเนียนเดวิลเช่นกัน
สุดท้าย! ความพยายามในการอนุรักษ์แทสเมเนียนเดวิล โดยส่งให้ไปอยู่บนเกาะมาเรีย ได้ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อระบบนิเวศน์ของนกประจำเกาะมาเรีย และจะมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อประชากรแทสเมเนียนเดวิลเพิ่มขึ้น ซึ่งคงต้องรอดูกันต่อไปว่าพวกเขาจะแก้ไขกันอย่างไร
เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ โรคมะเร็งแทสเมเนียน หรือ DFTD
เมื่อปี พ.ศ. 2563 ทาง Nationalgeographic ได้ลงบทความเกี่ยวกับความหวังที่ โรคระบาดของแทสเมเนียนเดวิล จะมีการติดเชื้อที่น้อยลง เมื่อเทียบกับทศวรรษที่ผ่านมา แต่ก็เป็นเพียงการยืดเวลาสูญพันธุ์ไป หากมนุษย์ยังหาทางรักษาให้พวกมันไม่ได้
โรค DFTD ถูกพบครั้งแรกในช่วงกลางทศวรรษ 1990 มันได้คร่าชีวิตแทสเมเนียนเดวิลไปหลายหมื่นตัว มันเป็นโรคที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว เป็นโรคมะเร็งที่ติดต่อได้ ทำให้เกิดก้อนเนื้อขนาดใหญ่ขึ้นรอบปากและศีรษะของสัตว์ ทำให้กินได้ยากจนไม่ได้เลย สุดท้ายพวกมันก็จะอดตาย และเพราะโรคติดต่อชนิดนี้ เลยทำให้ประชากรแทสเมเนียนเดวิล ลดลงจาก 140,000 ตัว เหลือเพียง 20,000 ตัว
และถึงแม้แทสเมเนียนเดวิล จะถูกระบุว่า หากไม่สามารถคิดค้นหาวิธีรักษาได้ มันอาจจะสูญพันธุ์ภายใน ปี พ.ศ. 2578 ซึ่งจนถึงตอนนี้ นักวิจัยก็ยังพยายามที่ทำความเข้าใจโรคและหาทางรักษา แต่ก็ยังไม่สำเร็จ มีเพียงแนวโน้มที่ได้เห็นได้ว่า แทสเมเนียนเดวิลบางตัวสามารถปรับตัวให้เข้ากับโรคได้ ..เราหวังว่าพวกมันจะมีชีวิตรอด และมีจำนวนเพิ่มขึ้นและสามารถกลับมาอาศัยในถิ่นกำเนิดได้อย่างปลอดภัย