ความเชื่อเกี่ยวกับสางห่าเป็นเช่นไร?
ยังไงก็ขอเข้าเรื่องนี้ก่อน สำหรับความเชื่อของสางห่าในไทย ซึ่งอาจแตกต่างกันในแต่ละภาค แต่ดูเหมือนที่ภาคอีสานจะค่อนข้างชัดเจน เพราะจะมีความเชื่อว่า สัตว์เลื้อยคลานชนิดนี้เป็นสิ่งมีชีวิตลึกลับ ที่ชอบอาศัยอยู่ตามแอ่งน้ำหรือในถ้ำ
เป็นสัตว์เลื้อยคลาน “มีพิษอยู่ที่เขี้ยว” หรือบางความเชื่อว่า “มีพิษอยู่ที่เล็บ” หรือแม้แต่อยู่ที่หาง ..ว่ากันว่าหากถูกหางของมันฟาดเข้า จะเกิดเป็นรอยแผลไหม้และสุดท้ายจะถึงแก่ความตายได้
ส่วนทางแถบภาคกลางก็ไม่น้อยหน้า มีเชื่อว่าสางห่าเป็นงูขนาดเล็กชนิดหนึ่งที่มีขา อาศัยอยู่ตามยอดหญ้า พอหญ้าเหี่ยวเฉา ก็จะย้ายไปหาหญ้าใหม่ บางท้องที่เชื่อว่า สางห่าเป็นคางคกป่าชนิดหนึ่งและมีเสียงร้องคล้ายเสียงสุนัขเห่า
จากความเชื่อเหล่านี้ ทำให้สางห่าได้ถูกอ้างอิงถึงในวรรณกรรมเรื่อง “เพชรพระอุมา” ของพนมเทียน ซึ่งกล่าวถึงสัตว์ประหลาดหรือธิดาของพญานาค นอกจากนี้สางห่ายังมีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น งูคา, กิ้งก่าน้อยหางยาว หรือ กระห่าง
และแม้ว่า “สางห่า” จะดูแปลกประหลาด แต่คงต้องบอกว่า สมัยก่อนมันเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่พบเห็นได้ทั่วไปแม้แต่ในกรุงเทพ แต่เพราะประชากรของพวกมันลดลงอย่างมาก จนกลายเป็นสัตว์หายากมากในบางพื้นที่ มันยากซะจนคนส่วนใหญ่ไม่รู้จักเลยด้วยซ้ำ พอได้เห็นมันเดินออกมาก็ ก็กลายเป็นข่าวใหญ่โต ทั้งๆ ที่จริงๆ ก็มันจิ้งเหลนหรือกิ้งกาธรรมชาติชนิดหนึ่งเท่านั้น
สรุปคือสางห่าไม่มีพิษและไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ มันไม่ใช่คางคก ส่วนเห่าเหมือนหมาถือเปล่า อันนี้ไม่แน่ใจ เพราะผมก็ไม่เคยได้ยินมันเห่า ในทางกลับกันมนุษย์ต่างหากที่เป็นอันตรายกับสัตว์แปลกๆ ตัวนี้ และทั่วโลกก็มีสัตว์ในสกุลนี้ประมาณ 20 กว่าชนิด
แล้วสางห่า คือตัวอะไร?
สางห่า Takydromus sexlineatus (ทาคีโดรมัส ซิกไลน์อิทัส) อยู่ในวงศ์จิ้งเหลนน้อยหางยาว (Lacertidae) และก็อยู่ในสกุลสางห่า (Takydromus) ซึ่งก็ตรงกับชื่อสามัญภาษาไทยของสัตว์ชนิดนี้
สางห่าก็คล้ายกับจิ้งเหลนหรือกิ้งกาที่พบได้ทั่วไป แต่ความพิเศษของมันคือมีขนาดลำตัวเรียวยาวและเล็กกว่า และยังมีหางที่ยาวเรียวมากๆ โดยปกติแล้ว หางจะยาวเป็น 5 เท่าของลำตัว เกล็ดของสางห่าจะปกคลุมลำตัวด้านหลังและด้านท้อง
สางห่าสามารถปล่อยหางให้หลุดจากลำตัวได้เช่นเดียวกับจิ้งจก แต่จะขาดยากกว่าจิ้งจก และสามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้ สางห่าจะขาหน้าและขาหลังค่อนข้างยาว นิ้วตีนยาว นิ้วตีนทุกนิ้วจะมีเล็บและตัวเล็บโค้งลงทางด้านล่าง หากเป็นตัวผู้จะมีจุดกลมสีขาวอมเขียว 10 – 12 จุด อยู่ที่ข้างลำตัว
หากมองดูเผินๆ จะเห็นว่าสางห่ามีลำตัวสีน้ำตาล แต่เมื่อสังเกตจะเห็นลายเส้นสีครีมพาดจากท้ายมาถึงโคนหาง และลายเส้นสีน้ำตาลเข้มจากปลายจมูกพาดผ่านตา ช่องหู ปาก ใต้คางและท้องมีสีขาว ขาและหางสีน้ำตาลอ่อน ตัวผู้มักมีสีขาวอ่อนบริเวณข้างลำตัว แต่ในบางพื้นที่ก็อาจได้เจอกับสางห่าที่มีสีสดขึ้นมาหน่อยเช่นสีเขียว
โดยปกติแล้วสางห่าจะยาวประมาณ 6.5 เซนติเมตร ซึ่งวัดจากปลายปากถึงรูก้น และหางอาจยาวได้ถึง 30 เซนติเมตร ในประเทศไทยพบสัตว์ชนิดนี้ได้ทั่วทุกภาค แม้แต่ในกรุงเทพก็มีเช่นกัน
สางห่าเป็นสัตว์ที่ว่องไว และมีพฤติกรรมการหากินในเวลากลางวัน มันจะวิ่งไปตามทุ่งหญ้า เพื่อจับแมลง ไส้เดือน หรืออะไรก็ตามที่มันกินได้ และเพราะชอบอยู่ตามป่าโปร่ง ป่าเต็งรัง หรือแม้แต่ตามนาข้าว หรือไร้ข้าวโพด ประกอบกับความว่องไว จึงเป็นสัตว์พบเห็นตัวได้ยาก แต่หากเป็นช่วงเช้าจะเห็นตัวได้ง่ายหน่อย เพราะในตอนเช้ามักจะนอนผึ่งแดดและยังชอบเหวี่ยงหางไปมาอีกด้วย
และนี่ก็คือเรื่องราวเล็กๆ ของสางห่า จิ้งเหลนน้อยหน้าตาแปลกและหางยาวสุดๆ ถ้าใครเดินไปเจอมันก็อย่าไปรังแกหรือกลัวมันนะครับ เพราะมันเป็นสัตว์ที่ไม่มีพิษมีภัยกับมนุษย์แม้แต่น้อย หากไม่อยากให้มันเข้าใกล้ ก็แค่เขี่ยเบาๆ เดี๋ยวมันก็วิ่งเข้าพุ่มหญ้าเองนั้นละ หรือถ้ามันเข้ามาในบ้านก็ขอให้จับไปปล่อยเบาๆ และอย่าไปดึงหางมันนะ เดี๋ยวหางจะขาด