ทาคาฮี (takahē) เกี่ยวอะไรกับนกอีโก้ง?
ทาคาฮี (takahē) ก็คือนกที่อยู่ในสกุล พอร์ฟิริโอ (Porphyrio) ซึ่งเป็นสกุลเดียวกับนกอีโก้ง (Porphyrio poliocephalus) ซึ่งนกอีโก้งที่เป็นนกบินได้ที่ไม่ค่อยชอบบินเท่าไร และ ในไทยจะพบนกอีโก้งได้แถวๆ พื้นที่ชุ่มน้ำ ตั้งแต่ภาคเหนือจนถึงจังหวัดนครสวรรค์
กลับมาที่ ทาคาฮี (takahē) แม้ว่ามันจะเป็นญาติใกล้ชิดกับนกอีโก้ง แต่แท้จริงแล้ว ทาคาฮี บินไม่ได้! ส่วนสาเหตุที่มันบินไม่ได้ ก็คล้ายกับนกชนิดอื่นที่อาศัยอยู่บนเกาะนิวซีแลนด์ ไม่ว่าจะเป็น นกกีวี นกแก้วคาคาโป พวกมันล้วนบินไม่ได้
ในสมัยโบราณ ก่อนที่ชนเผ่าเมารีจะมาถึงเกาะ นกเหล่านี้ไม่มีศัตรูตามธรรมชาติอยู่บนพื้นดินเลย เส้นทางการวิวัฒนาการของพวกมันจึงตัดการบินไป แถมเมื่อเทียบกับนกอีโก้งแล้ว ทาคาฮี ตัวใหญ่กว่า อ้วนกว่ามาก แต่ขาก็สั้นกว่า …ทาคาฮี จะไม่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำด้วย คิดว่าถ้ามันทำตัวเหมือนนกอีโก้ง ก็คงจะจมน้ำ
การพบเจอ ทาคาฮี (takahē)
ทาคาฮี (takahē) เป็นสัตว์ในกลุ่ม ลาซารัสแท็กซอน (Lazarus Taxon) ซึ่งถูกอธิบายครั้งแรกจากบันทึกฟอสซิล พวกมันมีอยู่ 2 ชนิด หนึ่งคือ ทาคาฮีเกาะเหนือ (North Island takahē) และ สองคือ ทาคาฮีเกาะใต้ (South Island takahē)
น่าเสียดายที่ ทาคาฮีเกาะเหนือ ถูกระบุว่าสูญพันธุ์ไปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2437 (1894) หรือเมื่อ 130 ปีก่อน! คงเหลือ ทาคาฮีเกาะใต้ มีชื่อวิทยาศาสตร์ พอร์ฟิริโอ ฮอชสเตตเตรี (Porphyrio hochstetteri) และต่อจากนี้ผมจะอธิบายถึงเฉพาะ ทาคาฮีเกาะใต้ เท่านั้น!
ส่วนเหตุการหายตัวไปของนกชนิดนี้ ตามบันทึก! ระบุว่า มันถูกล่าอย่างหนักโดยชาวเมารี และผู้ตั้งถิ่นฐานชาวยุโรปยุคแรก! วันเวลาผ่านไปเนินนาน ฟอสซิลของทาคาฮีถูกพบอยู่ทั่วเกาะใต้ ในตอนนั้นก็ไม่มีใครพบนกชนิดนี้อีกเลย และพวกมันก็ยังไม่ได้รับการอธิบายเลยด้วย
จนในช่วงปี พ.ศ. 2390 – 2391 (1847 – 1848) นกชนิดนี้ก็ได้รับการอธิบาย ซึ่งเป็นการอธิบายจากฟอสซิล และในตอนแรกก็ถูกจัดให้อยู่ในสกุล โนตอร์นิส (Notornis) แต่ภายหลังก็ถูกเปลี่ยนเป็น พอร์ฟิริโอ (Porphyrio) …โดยนักวิจัยสันนิษฐานว่า มันน่าจะเป็นนกอีกสายพันธุ์ที่สูญพันธุ์ไปแล้วเช่นเดียวกับนกโมอา (Moa)
สองถึงสามปีต่อมา กลุ่มคนจับแมวน้ำ ได้พบเข้ากลับนกตัวใหญ่ที่ไม่รู้จักตัวหนึ่ง พวกเขาไล่ล่านกตัวนั้นพร้อมกับสุนัขของพวกเขา …มีบันทึกเล่าว่า! มันวิ่งได้เร็วมาก พอถูกจับก็ส่งเสียงร้องดังๆ และต่อสู้ดิ้นรนอย่างดุเดือด มันถูกจับไว้บนเรือใบ น่าเสียดายที่มันตายหลังจากนั้น 3 – 4 วัน ลูกเรือจึงเอามาย่างกิน ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “อร่อยมาก”
ประมาณ 50 ปี หลังจากอธิบายลักษณะทาคาฮี หรือในปี พ.ศ. 2441 (1898) ก็มีรายงานการพบเห็นนกสีน้ำเงินและเขียวขนาดใหญ่ ในตอนนั้นมันถูกเรียกว่า ปูคากิยักษ์ (giant pukakis) พวกเขาไล่ตามแต่ก็ไม่สามารถจับได้ …สถานะของทาคาฮี จึงยังถือว่าสูญพันธุ์อยู่
การค้นพบที่ได้รับการยืนยันและทำให้ทาคาฮี ถูกถอดออกจากการสูญพันธุ์ เกิดขึ้นในวันที่ 20 พฤศจิกายน ปี พ.ศ. 2491 (1948) … ซึ่งผ่านมากว่า 100 ปี หลังการอธิบายลักษณะของทาคาฮีครั้งแรก
คณะสำรวจที่นำโดย เจฟฟรีย์ ออร์เบลล์ แพทย์ประจำเมืองอินเวอร์คาร์กิลล์ (Invercargill) ซึ่งเป็นเมืองทางใต้สุดประเทศนิวซีแลนด์ และเมืองนี้ก็เป็นหนึ่งในเมืองที่อยู่ใต้สุดของโลกใบนี้
โดยการสำรวจเริ่มต้นขึ้นเมื่อพวกเขาพบรอยเท้าของนกที่ไม่รู้จัก ที่ใกล้ทะเลสาบเทอาเนา (Lake Te Anau) พวกเขาติดตาม จนพบกับนกตัวใหญ่สองตัว ซึ่งพวกเขาได้ทราบว่ามันคือทาคาฮี และมันก็ถูกจับได้แบบเป็นๆ แต่ก็ปล่อยอย่างปลอดภัย หลังจากถ่ายรูปเสร็จเรียบร้อย มันเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า ทาคาฮีเกาะใต้ ยังมีชีวิตอยู่บนเกาะใต้ของนิวซีแลนด์จริงๆ
ลักษณะของ ทาคาฮีเป็นเช่นไร?
ทาคาฮีเกาะใต้ มีความยาวประมาณ 63 เซนติเมตร ตัวผู้จะมีน้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ 2.7 กิโลกรัม ในขณะที่ตัวเมีย อาจหนักได้ถึง 4.2 กิโลกรัม ในธรรมชาติพวกมันมีอายุขัย 18 ปี แต่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์พบมีอายุขัย 22 ปี พวกมันเป็นนกที่กินหญ้า หนอน แมลง ใบไม้บางชนิด เคยมีบันทึกว่าพวกมันกินลูกเป็ดด้วย
ทาคาฮี เป็นนกที่สูงประมาณ 50 เซนติเมตร แต่ก็แข็งแรงมาก มีขาที่สั้นสีส้ม ปากใหญ่สีส้ม สามารถจิกกัดได้อย่างรุนแรง พวกมันบินไม่ได้ แต่ก็สามารถใช้ปีกช่วยในการเคลื่อนที่ขึ้นหรือลงในทางลาดได้ ในเรื่องสีสันของทาคาฮีค่อนข้างโดดเด่น พวกมันมีขนที่อ่อนนุ่ม มีสีน้ำเงิน เขียว ฟ้า และดำ ความเข้มอ่อนไม่แน่นอนและมันเป็นสีรุ่งอีกด้วย …สำหรับเสียงร้องจะเป็นประมาณนี้
สถานะและการอนุรักษ์
มันเป็นเรื่องยากที่ทาคาฮี จะมีชีวิตรอดในธรรมชาติ แม้จะมีการเฝ้าระวังอย่างดีแล้วก็ตาม เนื่องจากมีสัตว์นักล่าจำนวนมาก เข้ามาอาศัยบนเกาะใต้ของนิวซีแลนด์ ทั้งยังมีการนำกวางแดงเข้ามาอีก ซึ่งกวางได้เข้ามาแย่งอาหาร แน่นอนว่ามีสัตว์กินเนื้ออย่าง หนู หมา แมว ที่เขามาก่อนกวน ซึ่งแม้จะทำอันตรายทาคาฮีโตเต็มวัยไม่ได้ แต่ลูกๆ ของพวกมันก็ได้รับผลกระทบอย่างมาก
และเพราะแบบนี้ ประชากรส่วนใหญ่ของพวกมันจึงต้องอาศัยอยู่ใน อุทยานแห่งชาติฟยอร์ดแลนด์ (Fiordland National Park) ซึ่งเป็นอุทยานแห่งชาติขนาดใหญ่ที่สุดในนิวซีแลนด์ แต่ถึงอย่างงั้นหากมนุษย์ไม่ช่วยเหลือ! ประชากรของทาคาฮี ก็มีแต่จะลดลงและอาจถึงกลับสูญพันธุ์ไปจริงๆ
จนในที่สุด ปี พ.ศ. 2528 (1985) ศูนย์เพาะพันธุ์ทาคาฮี แห่งแรกก็ถูกก่อตั้งขึ้น โดยพวกเขาจะเก็บไข่จากรังในเขตอนุรักษ์ เพื่อนำมาฟักและเลี้ยงดูลูกของทาคาฮีในเขตที่ปลอดภัย ก่อนจะปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ และเพื่อรับประกันว่าพวกมันจะไม่สูญพันธุ์ ทาคาฮี ยังถูกส่งไปยังเกาะเล็กๆ 5 แห่งของนิวซีแลนด์ ซึ่งเกาะเหล่านี้ปราศจากสัตว์นักล่า
สำหรับเป้าหมายระยะยาวของนักอนุรักษ์คือ ประชากรทาคาฮีในธรรมชาติ ที่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวเองอย่างน้อย 500 ตัว ซึ่งจากการเก็บข้อมูลก็พบว่า ในปี พ.ศ. 2562 (2019) มีทาคาฮีเกาะใต้จำนวน 418 ตัว และในปี พ.ศ. 2566 (2023) เพิ่มเป็น 500 ตัว!
และเพราะแบบนี้ สถานะของทาคาฮี ค่อนข้างดี แต่เพราะพวกมันอาศัยอยู่ในพื้นที่เล็กๆ บนเกาะใต้ของนิวซีแลนด์ พวกมันจึงอาจหายไป หากได้รับผลกระทบที่รุนแรงเพียงครั้งเดียว ด้วยเหตุนี้ทาคาฮีจึงอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ในระดับโลก และเปราะบางในประเทศนิวซีแลนด์